info. กาดหลวง อ.เมือง จ.เชียงใหม่
กาดในย่านนั้นเปิดค้าขายกันทั้งกลางวันกลางคืน ไม่มีวันหยุด ไม่มีวันลาป่วย ลาพักร้อน ผู้คนมากหน้าหลายตาหลากชนชาติ ซื้อขายแลกเปลี่ยนกันทั้งวันทั้งคืน คนเหล่านั้นยังได้นำพาเอาวัฒนธรรมการกินของชนชาติตัวเองมาเผยแพร่ทั้งที่ไม่ตั้งใจบ้างและไม่ตั้งใจเลย ใจจริงๆก็แค่อยากจะรับประทานที่ตัวเองคุ้นเคยเสียมากกว่า คนชาติอื่นเห็นก็อยากลิ้มลองซักหน อุเหม่!!! เห็นท่าทางเขากินอย่างเอร็ดอร่อยก็อยากมีส่วนร่วมบ้างเป็นธรรมดา
วันนี้จะพาไปลองลิ้มชิมรส “ตือคาโค” ในบริเวณชุมชนกาดแห่งนี้ แม้จะไม่ได้มีชื่อเสียงใหญ่โตมโหฬารขนาดที่คนจากเมืองหลวงของประเทศที่มีลักษณะเป็นขวาน (บางท่านว่าเป็นหัวช้าง) พากันแซ่ซ้องว่า “ถ้ามาเชียงใหม่นะ ต้องไปกิน…..นะ” แม้ว่าร้านนั้นจะเป็นร้านที่คนเชียงใหม่ที่อยู่มายี่สิบสามสิบปีไม่เคยคิดจะย่างกรายเลยเพียงครั้งเลยก็ตาม
หากเดินทางไปตามถนนอเมริกา เส้นทางสายเดียวในเชียงใหม่ที่มีการสัญจรอย่างต่างประเทศ บริเวณด้านหลังวัดแสนฝาง(แสนฝัง) ข้างร้านขนมไข่นามอุโฆษ “อื้อ ชื่อ เช้ง” (ไม่แน่ใจสะกดถูกหรือไม่) เป็นร้านเล็กๆๆๆๆ อยู่ตรงหัวมุม เปิดให้บริการตั้งแต่ตะวันตกดินหรือสิบแปดนาฬิกาตามเวลาสยามประเทศ จนถึงเวลายี่สิบเอ็ดนาฬิกาโดยประมาณหรือจนกว่าของจะหมดหรือจนกว่าจะเบื่อ อยากกลับบ้านไปนอนตีพุงดูละครหลังข่าว แหม…บางครั้งคนเราก็อยากมีอารมณ์สุนทรีย์แบบศิลปินบ้าง
“ตือคาโค” เป็นภาษาจีนแต้จิ๋ว หมายความว่า “ขาหมู” เป็นขนมที่ผสมแป้งกับเผือกเข้าด้วยกันนำไปทอดในแม่พิมพ์ลักษณะกลมๆ เมื่อทอดเสร็จจะมีลักษณะเหมือนกับลายของเนื้อบริเวณขาหมูเมื่อเราใช้มีดหั่นเป็นชิ้นๆเอาไว้กินเมื่อขาดเนื้อในยามศึกสงคราม แต่ไม่ได้มีประวัติน่ารันทดถึงขั้น “ปาท่องโก๋” ตือคาโคจะรับประทานคู่กับน้ำจิ้มสูตรเฉพาะ แตกต่างกันไปตามความนิยมของแต่ละภูมิภาค โดยหลักจะมีรสชาติหวานอมเปรี้ยว บางที่มีการใส่ถั่วลิสงบดลงในน้ำจิ้มด้วย เพิ่มความข้นและรสสัมผัสให้เพลิดเพลินเวลาเคี้ยว
เมนูจะมีแค่สองอย่าง คือ ตือคาโคและเต้าหู้ทอด เป็นเต้าหู้ธรรมดาที่พบเจอได้ใน “เย็นตาโฟ” นำมาหั่นเป็นสามเหลี่ยมแล้วทอด รสชาติจืดๆ ไม่ค่อยถูกปากนัก แต่มันกลับเข้ากันได้ดีกับน้ำจิ้มปานว่าเป็นเนื้อคู่กันมาแต่ชาติปางก่อน หากได้ชิมแล้วอยากจะรัวลิ้นเลียลิ้มฝีปากอีกสองสามรอบ ราคาก็สบายกระเป๋ายิ่งนัก เพียงแค่มีธนบัตรไทยสีเขียวก็สามารถอิ่มอร่อยกับของทานเล่นได้แล้ว แนะนำให้ทานเป็นของหวานหลังอาหารจะดีกว่า เพราะถ้าหากเป็นอาหารเรียกน้ำย่อย เกรงว่าท่านจะต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายเพราะน้ำย่อยเกเรขอเพิ่มแน่นอน (ฮ่าๆๆ) จะสั่งไปกินพร้อมหน้าทั้งครอบครัวหรือจะนั่งกินร้อนๆกรอบๆใหม่ๆลวกลิ้น ทางร้านก็มีโต๊ะเก้าอี้ไว้บริการ
ว่าแล้วก็นั่งลงบนโต๊ะประหนึ่งกับนั่งในโรงเตี๊ยม แต่มิได้ตบโต๊ะพลางสบถว่า “บัดซบ” ตามความเถื่อนถ่อยของใบหน้าข้าพเจ้า คุณป้าใจดีทั้งสองก็ยิ้มแย้มแจ่มใส เอื้อนเอ่ยถามไถ่ด้วยความนิ่มนวล ข้าพเจ้าได้ตอบคำถามของคุณป้าใจดีด้วยเสียงดังฟังชัดว่า “จัดหนัก!!! จัดเต็ม!!! เหมือนเดิมครับ” สิ้นเสียงข้าพเจ้าก็ควักเอาธนบัตรไทยสีเขียวให้คุณป้าใจดีด้วยท่าทางเขินอายเล็กน้อย
ไม่นานนัก คุณป้าก็ยกตือคาโคและเต้าหู้ทอดแบบหั่นเป็นชิ้นเล็กเรียบร้อย เพื่อความสะดวกในการกิน ทั้งตือคาโคและเต้าหู้ทอดนั้น มีผิวภายนอกเป็นสีน้ำตาลอ่อน แค่เห็นก็ได้ยินเสียงกรอบลั่นอยู่ในโสตประสาทแล้ว ภายในเป็นสีขาวนวลมีกลิ่นหอมเล็กๆจากส่วนผสมที่เป็นสูตรลับเฉพาะที่สืบทอดกันมากว่าห้าสิบปี ก่อนที่จะหายกรอบ จึงรีบจิ้มลงไปในน้ำจิ้มสูตรเฉพาะที่มีความเหนียวเกาะติดตัวตือคาโคและมีถั่วลิสงบดเล็กๆติดมากับน้ำจิ้มด้วย คำแรกที่เข้าไปสัมผัสชิวหาดั่งกับลอยละลิ่วปลิวขึ้นสวรรค์ชั้นฟ้า เพราะแป้งผสมเผือกทอดนั้นกรอบนอกนุ่มในผสานกับน้ำจิ้มหวานอมเปรี้ยวได้เกินกว่าจินตนาการไปไกลนัก เรียกได้ว่าเอาเข้าปากเคี้ยวแต่ละคำ เคี้ยวเพลินจนตื่นจากภวังค์อีกทีก็พบเจอแต่จานเปล่าแล้ว ทำให้นึกสงสัยอยู่หลายครั้งว่าหนูหรือแมลงสาบแถวนี้(ที่ชาติหน้าอาจจะได้เกิดเป็นคนอย่างเราบ้าง) แอบเอาของเราไปกินตอนไหน
ความสุขมักผ่านไปเร็วเสมอ เพียงแค่ไม่กี่นาที ตือคาโคกรอบนอกนุ่มในแสนอร่อยก็อันตรธานหายไปหมด ก็ได้แค่ถอนหายใจ น้อยใจในโชคชะตาที่วันนี้พกมาเพียงแค่ธนบัตรสีเขียวฉบับเดียว นั่งอยู่ซักพักไม่ยอมลุกไปไหนซักที คุณป้าใจดีเลยจัดให้อีกจาน พร้อมกับบอกว่า ไม่อิ่มก็กินอีกได้ ค่อยเอาตังมาให้ป้าวันหลังก็ได้ น้ำตาข้าพเจ้าคลอเบ้า นี่กระมังคงเป็นเหตุที่ร้านแห่งนี้ดำรงอยู่มาได้กว่าครึ่งศตวรรษ หากมีน้ำใจให้กัน สังคมย่อมมีแต่ความสงบสุข เปรียบดั่งเช่นคนอื่นเป็นเหมือนกระจกเงา หากครั้งใดเรายิ้มให้คนในกระจก เราจะได้รับรอยยิ้มกลับมาให้เราเสมอ ต่อไปในภายภาคหน้า หากข้าพเจ้ามีธนบัตรไทยสีเขียวมาครอบครอง ข้าพเจ้าจะไม่ลืมที่จะ “จัดหนัก!!! จัดเต็ม!!! เหมือนเดิมครับ” เป็นแน่แท้