เที่ยวแบบได้ข้อคิดที่ พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 (ฝาง)

info. อ.ฝาง จ.เชียงใหม่

 

และแล้วนี่คือภารกิจสุดท้ายของการตะลอนเที่ยวอ่างขาง หลังจากไล่เรียงกันมาหลายที่ ตั้งแต่ไร่สตรอเบอร์รี่ สวน 80 เรือนดอกไม้ สวนสมเด็จย่า และก็พาไปกินข้าวสโมสรอ่างขาง

ที่สุดท้ายที่จะพาไปก่อนกลับมาตุภูมิ ผมพร้อมคณะสื่อมวลชนเชียงใหม่ และ ททท. เรามีนัดปิดทริปด้วยการแวะมาดูพิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 (ฝาง)

พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 วางตัวอยู่ในหมู่บ้านยาง ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง โดยพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ จัดตั้งขึ้นเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ในการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงการศึกษาด้านอุตสาหกรรมการเกษตรแปรรูป และเป็นสถานที่รวบรวมและจัดแสดงแนวพระราชดําริในการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

จุดเริ่มต้นของการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้สืบเนื่องมาจากการเกิดภัยพิบัติจากน้ำท่วมและดินโคลนถล่มอย่างหนัก เมื่อวันที่ 8 – 9 ตุลาคม 2549 โดยสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ในตําบลแม่งอน และตําบลแม่ข่า อําเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งรวมถึงโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) ที่ได้รับความเสียหายเกือบทั้งหมด


ถึงบรรทัดนี้ขออนุญาตเช็ดน้ำตาซักหน่อยนะครับ เพราะว่าผงเข้าตา ถุย…ไอ้บ้า! กูล่ะนึกว่ามึงจะดราม่า ที่แท้ยังกวนไม่เลิกอีก

วกกลับมาต่อกันครับ ภายหลังเหตุการณ์อุทกภัยนี้ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เสด็จเยี่ยมผู้ประสบภัยในพื้นที่ และรับสั่งกับเจ้าหน้าที่กรมชลประทานให้หาแนวทางป้องกันการเกิดภัยพิบัติดังกล่าว พร้อมกันนี้ได้มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมแก้ไขปัญหาด้วย

จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2550 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดําเนินทอดพระเนตรพื้นที่ และโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) เพื่อหารือกับคณะทำงาน เรื่องแนวทางการฟื้นฟูโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๑ (ฝาง) ภายหลังการหารือ เลขาธิการ กปร. แจ้งพระราชดําริเรื่อง การฟื้นฟูสภาพพื้นที่โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๑ (ฝาง) และชุมชน รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำแม่งอน ซึ่งมอบหมายให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นผู้วางแผนแม่บทในการพัฒนาฟื้นฟูโรงงานหลวงฯ

ส่วนการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ครั้งนี้ เราก็มีเจ้าหน้าที่ของทางพิพิธภัณฑ์เป็นไกด์นำเที่ยวให้ ซึ่งในแต่ละวันจะเปิดบริการให้เข้าชมกันตั้งแต่ 08.30 – 16.30 น. รอบละครึ่งชั่วโมง แต่ช่วงเดือนธันวา-มกรา นี้ มีการปรับเปลี่ยนเวลาเล็กน้อยเป็น 09.00-15.30 น.

พอไกด์มาถึงปุ๊บก็ไม่พูดพร่ำทำเพลงมาก เริ่มกันตั้งแต่ประตูทางเข้า ไกด์สาวเราก็เริ่มร่ายบรรยายกันทันทีแบบไม่ทันได้ตั้งตัว เล่าประวัตินู้นนี้นั้นว่าเป็นมายังไง ทำไมถึงมาก่อตั้ง ก่อนจะค่อยๆไล่เรียงไปทีละส่วนๆในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งก็ได้แก่ ประวัติก่อตั้ง ส่วนจำลองข้างของเครื่องใช้ วิถีชีวิต ชาวจีนยูนนานที่อาศัยในหมู่บ้านนี้ ส่วนแสดงของโรงงานจำลอง นิทรรศการภาพถ่ายต่างๆ ทั้งในเรื่องชาติพันธุ์ และภาพเหตุการณ์อุทกภัย สิ่งของสะสมจำพวกอุปกรณ์โรงงานเมื่อครั้งน้ำท่วม ห้องสมุดของพิพิธภัณฑ์ ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ดอยคำ และที่สำคัญมีวิดีทัศน์ฉายให้ดูถึงเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนั้นด้วยว่าสูญเสียกันขนาดไหน

ซึ่งรวมๆแล้ว ก็ต้องบอกว่าเป็นสถานที่รวบรวมและจัดแสดงแนวพระราชดําริของในหลวง ที่ต้องการให้ประชาชนที่นี้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง


ทางเจ้าหน้าที่ก็จัดการนำน้ำผลไม้จากผลิตภัณฑ์ดอยคำมาแจกจ่ายให้เราได้ลองชิมกันเพื่อจะแก้ง่วงกันในตอนบ่ายได้บ้าง

ต่างคนต่างก็หยิบไปดื่มกันหลากหลายรส

และเมื่อถึงเวลาต้องลาจากกลับบ้าน ก็ถือโอกาสขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่อำนวยความสะดวกให้เป็นเราอย่างดี ไว้คราวหน้ามา จะมารบกวนอีกรอบ ฮ่าๆๆ

มาดูพิพิธภัณฑ์ครั้งนี้ถือว่าได้ความรู้ประดับบารมีมากครับ หลายสิ่งหลายอย่างที่ผมยังไม่รู้เกี่ยวกับในหลวงของเรา เมื่อได้มาดูแล้ว ผมทึ่งในพระอัจฉริยะภาพของพระองค์ รวมทั้งแนวคิด การทรงงานต่างๆ เพื่อให้ราษฎรชาวไทยอยู่อย่างมีความสุข

สมแล้วกับที่คนไทยทั้งแผ่นดินเรียกพระองค์ว่า “พ่อของแผ่นดิน”

เจ้าหน้าที่ผู้แสนจะใจดีนำคณะสื่อและ ททท. เชียงใหม่ตะลุยพิพิธภัณฑ์
รอบเข้าชมในแต่ละวัน
ลานตรงกลางพิพิธภัณฑ์ ที่จำลองเหมือนบ้านคนจีนยูนนาน
ตรงนี้เป็นข้างของเครื่องใช้ของชาวจีนยูนนาน
ตามภาพครับ
นิทรรศการภาพถ่ายด้านใน
รถคันแรกและคันเดียวที่ชาวเขาที่นี้ใช้ในสมัยก่อน จะไปไหนมาไหนต้องคันนี้เท่านั้น
ภาพวาดสีน้ำจากอดีตกรรมกรชาวจีนยูนนาน ที่ต้องการสื่อถึงความซาบซึ่งพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
จุดนี้แสดงภาพถ่ายกระบวนการผลิตของโรงงานหลวง
ป้ายพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ภาพถ่ายของนักบวชชาวจีน ซึ่งที่นี้มีคนนับถือศาสนากันเยอะแยะ ทั้งพุทธ พราหมณ์ คริสต์ อิสลาม และนับถือผีสางเทวดา
วิดีทัศน์ตอนเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่นี้ เมื่อปี 2549
ภาพถ่ายแสดงถึงความเสียหายโรรงานและหมู่บ้านเมื่อครั้งน้ำท่วม
อุปกรณ์โรงงานที่โดนน้ำท่วมครั้งนั้น ถูกเก็บเอามาไว้สะสมในพิพิธภัณฑ์
ด้านบนพิพิธภัณฑ์มีห้องสมุด
ภาพถ่ายก็มีการจัดแสดงในห้องสมุดด้วย
พระราชดำรัสของในหลวงในการพัฒนาที่นี้
ตรงนี้เป็นศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ดอยคำ
น้ำผลไม้ แยม ไวน์ และอีกหลากหลายผลิตภัณฑ์
สื่อมวลชนขณะกำลังนั่งพักเหนื่อย
ตรงข้ามพิพิธภัณฑ์เป็นโรงงานหลวง


ดู อ.ฝาง ในแผนที่ขนาดใหญ่กว่า

Relate Posts :