ทำความรู้จักกันซักหน่อยกับ ถนนต้นยาง เชียงใหม่ – ลำพูน

เป็นความสงสัยตั้งแต่ก้าวแรกที่ผ่านเข้ามาย่างกรายในตัวเมืองเชียงใหม่แล้วครับ กับถนนเส้นเชียงใหม่ – ลำพูน หรือที่เรียกกันอย่างคุ้นปากว่าถนนต้นยาง ว่าใครกันหนอใคร ถึงได้มาปลูกต้นยางริมสองข้างทางถนนยาวเหยียดเป็นหลาย 10 กิโลเมตรแบบนี้

ข้อสงสัยแรกเลยคือ ต้นยางมีการเอามาปลูกก่อนสร้างถนน หรือว่า พอสร้างถนนเสร็จแล้วค่อยเอามาปลูกกันแน่  และที่สำคัญการปลูกในลักษณะนี้มีจุดประสงค์อันใดกันเล่าท่านทั้งหลายปลูกเพื่อให้ร่มเงา ปลูกเพื่อการค้า หรือว่าปลูกเท่ๆเฉยๆ ใครจะทำไมพอความสงสัยเริ่มก่อตัวทวีความรุนแรงมากยิ่ง หนทางเดียวที่จะต้องปลดปล่อยมัน คือต้องไปค้นหาข้อมูลครับว่า ถนนสายนี้มันมีความเป็นมากันยังไง

บิดเข็มนาฬิกากลับไปใน ในปี พุทธศักราช 2454 ที่ได้ก่อกำเนิดต้นไม้สองข้างทาง โดยหลวงเจ้าพระยาสุรสีหวิสิษฐ์ศักดิ์ ข้าหลวงคนแรกของมณฑลพายัพ ได้นำต้นยางนามาให้ชาวบ้านช่วยกันปลูกจำนวนกว่าพันต้นตลอดแนวถนนเชียงใหม่-ลำพูน ตั้งแต่เชิงสะพานนวรัตน์เป็นต้นไปจนสุดเขตจังหวัดเชียงใหม่ ถนนเชียงใหม่-ลำพูน


โดยในเขตเชียงใหม่นั้นจะปลูกต้นยางทั้งสองฟาก และพอเลยเขตเชียงใหม่เข้าเขตลำพูนก็ให้ปลูกต้นขี้เหล็กแทน เพื่อเป็นการบ่งบอกให้รู้ว่าเป็นเขตแบ่งของสองจังหวัด ซึ่งต้นไม้ตลอดเส้นทางของถนนสายนี้มีร่วมสองพันต้น มีการปลูกเป็นแถวอย่างมีระเบียบ มีระยะห่างกันระหว่างต้นประมาณ 10 ถึง 20 วา ตลอดเส้นทาง

พอปลูกกันสองข้างทางแล้ว และเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย จึงมีการตั้งกฎข้อบังคับขึ้นมาใช้ในการดูแลรักษา ประมาณว่าปลูกแล้วก็ต้องช่วยๆกันดูแลนะเฟ้ย ประเดี๋ยวมันจะไม่โต

กฎก็มีอยู่ว่า หากสัตว์เลี้ยงของผู้ใดเหยียบย่ำต้นไม้ที่ปลูกไว้จะต้องเสียค่าปรับไม่เกิน 20 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 เดือน (หนักเหมือนกันนะครับ) และถ้าต้นยางนาปลูกตรงกับหน้าบ้านใคร ก็ให้เจ้าของบ้านผู้นั้นเอาใจดูแลถนุถนอมเลี้ยงเหมือนลูกเหมือนหลาน มีไม้อะไรก็ทำการล้อมรอบเป็นรั้วให้มันซะ วัวควายจะไม่ได้เข้ามาเหยียบย่ำให้ช้ำอุรา เท่านั้นยังไม่พอ ต้องหัดหมั่นรดน้ำพรวนดิน ดายหญ้า ใส่ปุ๋ย มันด้วย


สำหรับต้นยางนาที่ไม่ตรงกับหน้าบ้านผู้ใด ก็จะมอบหมายให้หมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียงรับผิดชอบไป โดยให้หัวหน้าหมู่บ้านจะนำลูกบ้านมาช่วยกันดูแลรักษา และด้วยกฎเหล็กที่โหดแบบนี้  จึงทำให้ต้นยางนาเจริญเติบโตได้ดีและสวยงาม ประหนึ่งลูกคนรวยที่ได้รับการเลี้ยงดู อย่างสมบูรณ์ พูนสุข

ปัจจุบัน ในช่วง 10 ปีที่หลังมานี้  ต้นยางถูกลดจำนวนลงไปอย่างมาก เหตุเพราะ มีการขยายตัวของชุมชนเข้าสู่การเป็นชุมชนเมืองมากยิ่งขึ้น กอปรกับการขาดการวางแผนการป้องกันระยะยาวอย่างจริงจัง ทำให้มีการก่อสร้างอาคารร้านค้าและที่พักอาศัยใกล้ชิดติดแนวถนน และการใช้ที่สาธารณะข้างถนนโดยขาดการอนุรักษ์ต้นไม้ โดยหันมามองเฉพาะด้านความปลอดภัยและผลประโยชน์ของบุคคลและกลุ่มคนแทน ไอ้ความสวยงามของต้นยางที่เคยเรียงรายในอดีต ตลอดสองฝากฝั่ง ก็เลยดูร่อยหรอลงไปมากและหากสภาพเหตุการณ์ยังเป็นเช่นนี้ เอกลักษณ์ของต้นยาง-ต้นขี้เหล็กที่เคียงคู่กับถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน คงจะเหลือเพียงแค่ตำนานที่เล่าขาน กับรูปถ่ายเก่าๆ เอาไว้ให้เหล่าลูกหลาน ได้ดูได้ฟังกันเท่านั้นแหละครับ

Relate Posts :