สงกรานต์ที่แรกในเชียงใหม่ที่วัดเชียงมั่น

ตามกำหนดการประเพณีสงกรานต์ที่จะจัดในที่ต่างๆของเชียงใหม่ ผมไล่เรียงอ่านลองแวะไปดูบรรยากาศว่ามันเป็นยังไงบ้างซึ่งวัดเชียงมั่นคือสถานที่แรกที่เริ่มจัดงานก่อนใคร

กำหนดวันคือ 1-3 เมษายน โดยมีประเพณีสรงน้ำพระเสตังคมณี และการแสดงศิลปะพื้นบ้านล้านนา เริ่มสตาร์ทกันตั้งแต่ช่วงเก้าโมงเช้ายันสามทุ่ม

พอสบโอกาสเหมาะเจาะก็เลยแวะไป บรรยากาศด้านในไม่มีอะไรหวือหวา แต่ที่แปลกตาไปเห็นจะเป็นมีกางตงกางเต็น เวทีงานแสดง และมีพระพุทธรูปปางต่างๆมาไว้สรงน้ำต้อนรับสงกรานต์กัน


ผมได้ยินเสียงคุณยายแก่ๆท่านนึง แกบอกสรงน้ำพระมั้ยลูกจะได้บุญกุศล หยิบเอาแก้วน้ำไปเลยนะ

ผมสรงน้ำเสร็จแล้วเดินเข้าไปไหว้พระเสตังคมณี ก่อนจะออกมาด้านนอกท่ามกลางแดดร้อนระอุพร้อมจะกลับ เลยหยุดอ่านป้ายเล่าประวัติความเป็นมาของพระเสตังคมณี และความสำคัญว่าเป็นอย่างไร

เอาอย่างย่อๆแบบรวบรัด พระเสตังคมณี หรือ พระแก้วขาว เป็นพระพุทธรูปสลักจากแก้วสีขาวใส มีขนาดหน้าตักกว้าง 4 นิ้ว สูง 6 นิ้ว ตามตำนานกล่าวว่าเป็นศิลปะสกุลช่างละโว้ ปัจจุบันประดิษฐานคู่กับพระศิลาซึ่งเป็นพระปางปราบช้างนาฬาคีรี ภายในพระวิหารวัดเชียงมั่น


ส่วนวัดเชียงมั่นตามที่ปรากฎในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่และพงศาวดารโยนก เล่าว่าหลังจากที่พญางำเมือง พญาร่วง และพญามังรายทรงสร้างเมืองเชียงใหม่ สำเร็จในปี พ.ศ.1839 แล้ว ทั้งสามพระองค์ทรงโปรดให้สร้างเจดีย์ขึ้นตรงที่หอนอนบ้านเชียงมั่น ซึ่งพญามังรายทรงสร้างเป็นที่ประทับชั่วคราว ในระหว่างที่ควบคุมการสร้างเมืองใหม่ โดยให้ชื่อที่ประทับแห่งนั้นว่า “เวียงเล็ก” หรือ “เวียงเหล็ก” หมายถึง”ความมั่นคงแข็งแรง” ต่อมาเมื่อพญามังรายเสด็จแปรพระราชทาน ไปยังพระราชนิเวศน์มณเฑียรสถานแห่งใหม่ซึ่งเรียกว่า “เวียงแก้ว” (ปัจจุบันคือเรือนจำกลางเชียงใหม่) แล้ว ทรงอุทิศตำหนักคุ้มหลวงเวียงเหล็ก ถวายแด่พระศาสนา โดยตั้งเป็นพระอารามหลวงแห่งแรก และพระราชทานนามอันเป็นมงคลว่า “วัดเชียงมั่น” อันหมายถึงบ้านเมืองที่มีความมั่นคง

แม้การไปวัดครั้งนี้จะไม่มีอะไรแปลกไปจากเดิมสำหรับผม คือไปเสร็จ ไหว้พระ ถ่ายรูป เป็นอันจบ แต่ในเวลาที่อากาศร้อน แถมในใจก็ร้อนด้วยหลายเรื่อง บางครั้งไปนั่งสงบๆในพระวิหาร ข้างในมันก็รู้สึกเย็นดี และคงจะเย็นกว่านี้ในวันสงกรานต์


ดู วัดเชียงมั่น ในแผนที่ขนาดใหญ่กว่า

Relate Posts :