รศ.ประเสริฐ ฤกษ์เกรียงไกร ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ดำเนินงานด้านพลังงานก๊าซชีวภาพ หรือที่เรียกว่า ไบโอแก๊ส ในภาคปศุสัตว์ทั่วประเทศ มาเป็นระยะเวลากว่า 18 ปี โดยการสนับสนุนการดำเนินงานจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และกระทรวงพลังงาน เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2538 กระทั่งปัจจุบัน ได้ให้การสนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบกิจการฟาร์มปศุสัตว์ทั่วประเทศ ได้แก่ ฟาร์มสุกร ฟาร์มโคนม ฟาร์มไก่ และโรงฆ่าสัตว์ รวมทั้งสิ้นเป็นจำนวนมากกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ ในการนำเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพที่วิจัย คิดค้นและออกแบบโดยสถาบันฯ มาใช้ในการสร้างระบบก๊าซชีวภาพให้กับฟาร์มปศุสัตว์ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อผลิตพลังงานทดแทน และนำไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบพลังงานต่างๆ โดยเฉพาะการผลิตพลังงานไฟฟ้า การดำเนินงานที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน มีฟาร์มเข้าร่วมโครงการจำนวนทั้งสิ้น 1,062 แห่ง สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ 170 เมกะวัตต์ ปริมาณก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้ 676,399,572 ลูกบาศก์เมตร และปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ประมาณ 946,959,401 หน่วย คิดเป็นมูลค่าประมาณ 3,300,000,000 บาท
รศ.ประเสริฐ กล่าวต่อว่า ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ดังกล่าว สามารถนำไปใช้ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้เป็นระยะเวลานานถึง 6 ปี เลยทีเดียว นอกจากนั้น สถาบันฯ ยังประสบความสำเร็จในการนำพลังงานก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้นำไปอัดลงในถัง LPG เพื่อใช้ทดแทนการใช้ก๊าซหุงต้มในภาคครัวเรือนได้ด้วย ทั้งคุณภาพ CBG ที่สถาบันฯ ผลิต ได้นำไปใช้เติมในรถยนต์ที่สมัครเข้าร่วมโครงการเติม CBG จากสถาบันฯ ฟรี เป็นเวลา 2 ปีที่ผ่านมา รถก็ยังวิ่งได้ดี ไม่มีปัญหากับเครื่องยนต์แต่อย่างใด ดังนั้น พลังงานก๊าซชีวภาพ จึงเป็นพลังงานทดแทนที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ และใช้ทดแทนพลังงานต่างๆ ในประเทศได้อย่างมากมายมหาศาล และที่สำคัญเป็นพลังงานทดแทนที่เป็นพลังงานสะอาด สามารถแก้ไขและรักษาสิ่งแวดล้อมได้ด้วย รวมทั้งเป็นพลังงานที่ยั่งยืน เพราะวัตถุดิบเป็นของเสีย หรือของเหลือใช้ทางการเกษตรในประเทศ อีกทั้งยังใช้เทคโนโลยีในประเทศที่ไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และสามารถผลิตพลังงานได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ขึ้นกับดินฟ้าอากาศ ทั้งนี้สถาบันฯ จึงพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการผลักดันให้ประเทศมีพลังงานทดแทนใช้ตามแผนและเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ และเพื่อให้คนไทยทุกคนมีพลังงานใช้อย่างยั่งยืนต่อไป