โรงงานยาสูบควบคุมคุณภาพวัตถุดิบจนผ่านมาตรฐานการผลิตระดับสากล นำหลักการ “การปฏิบัติด้านเกษตรกรรมที่ดี Good Agricultural Practices: GAP” มาใช้เป็นมาตรการในการผลิตวัตถุดิบใบยา ลั่นพร้อมเทียบชั้นต่างชาติ หวังช่วยลดต้นทุน สร้างผลกำไรแก่ชาวไร่อย่างยั่งยืน คาดปี 56 จะส่งรายได้เข้าคลังกว่า 6,400 ล้านบาท
นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ผู้อำนวยการยาสูบ โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า “เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่การเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ในปี พ.ศ. 2558 เพราะต่อไปตลาดบุหรี่ของเราจะไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะภายในประเทศไทยเท่านั้น แต่ตลาดบุหรี่จะมีขนาดใหญ่ขึ้น จากจำนวนประชากรที่จำกัดเฉพาะแต่คนไทยเพิ่มขึ้นเป็นคนในภูมิภาคอาเซียนนี้แทน ทำให้เราต้องหาทางปรับทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมยาสูบให้เทียบเท่ามาตรฐานโลก โดยเฉพาะในเรื่องของการพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบที่ใช้ผลิตบุหรี่ ซึ่งมีใบยาสูบเป็นส่วนผสมหลัก โรงงานยาสูบจึงให้ความสำคัญกับการศึกษาค้นคว้า วิจัยและพัฒนาเพื่อแสวงหาความรู้เกี่ยวกับยาสูบ เพื่อมุ่งสู่แนวทางการผลิตใบยาและบุหรี่ที่มีคุณภาพหรือทำลายสุขภาพน้อยที่สุด”
“เราจึงมีการสร้างสถานีทดลองยาสูบแม่โจ้ ที่วันนี้ทุก ๆ ท่านได้มาเยี่ยมชมขึ้นมา เพื่อให้สถานีแห่งนี้มีภารกิจค้นคว้า ทดลองวิจัยด้านยาสูบโดยเฉพาะ เพื่อหาวิธีการผลิตใบยาที่ดีที่สุด เหมาะสมที่สุด ที่จะได้ใบยาที่มีคุณภาพดีเลิศ ในราคาที่แข่งขันได้ ภายใต้มาตรฐานของหลักการ GAP (Good Agricultural Practices) หรือการปฏิบัติด้านเกษตรกรรมที่ดี ตามแนวทางของ CORESTA ซึ่งเป็นองค์กรที่สนับสนุนการค้นคว้า วิจัย เพื่อผลิตใบยาที่มีคุณภาพป้อนให้อุตสาหกรรมยาสูบ โดยมีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนส่งเสริมความร่วมมือในงานวิจัยเกี่ยวกับยาสูบในระดับนานาชาติ”
โดยการผลิตใบยาภายใต้หลักเกณฑ์ของ CORESTA จะมุ่งเน้นให้กิจกรรมต่าง ๆ ไม่ก่อผลกระทบด้านลบต่อเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบ ผู้บริโภค สภาพแวดล้อม สังคมและชุมชนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตใบยา เช่น มีการจัดการดินและน้ำเพื่อให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เกิดความยั่งยืน ควบคุมความสมบูรณ์ของพันธุ์ มีการคัดเลือกพันธุ์ที่มีคุณภาพและตรงตามพันธุ์ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่ามีการใช้พันธุ์ยาสูบที่ถูกต้อง ซึ่งสถานีทดลองฯ มีการทดสอบพันธุ์ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง และพบว่าพันธุ์ดีที่เหมาะสมจะให้คุณภาพใบยาเป็นที่ต้องการของตลาด และให้ผลผลิตสูง
ล่าสุด โรงงานยาสูบยังจับมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อปรับรูปแบบการผลิตต้นกล้าวิธีใหม่ ด้วยการพัฒนากรรมวิธีและเครื่องมือในการพอกให้เมล็ดยาสูบที่จากเดิมมีขนาดเล็กให้มีขนาดใหญ่มากขึ้นเพื่อสามารถเพาะโดยตรงในกระบะชำ ภายใต้แนวคิด “กล้าดี แค่คลิกเดียว” ซึ่งหากสามารถทำได้ตามผลวิจัยจากพื้นที่เพาะปลูกทั้งประเทศ จะต้องใช้ต้นกล้า 540 ล้านต้น และจะลดค่าใช้จ่ายในการย้ายชำกว่า 50 ล้านบาท
นอกจากนั้นแล้ว เราก็ยังมีการจัดการสารเคมีทางการเกษตรเพื่อให้เกิดความปลอดภัย ทั้งตัวเกษตรกรผู้ใช้สารเคมี ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จากการพัฒนาโรงบ่มประหยัดพลังงาน ซึ่งจะสามารถลดต้นทุนในการบ่มใบยาเวอร์ยิเนียได้กว่า 73,000 บาทต่อรายต่อปี หรือกว่า 54 ล้านบาท จากชาวไร่ 744 ราย และสามารถประหยัดเชื้อเพลิงในการบ่มปีละกว่า 30,000 ม3 นอกจากนั้น ยังเพิ่มรายได้จากการรับจ้างอบพืชผลการเกษตรและช่วยชาวสวนลำไยลดการใช้ LPG ได้ถึงปีละ 0.58 ล้านกิโลกรัม เป็นมูลค่าปีละกว่า 10 ล้านบาท
“สิ่งต่าง ๆ ที่โรงงานยาสูบได้ทำเหล่านี้ท้ายที่สุดแล้วก็เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตบุหรี่ให้ได้ระดับมาตรฐานสากล ซึ่งเรากล้าพูดได้ว่าบุหรี่ของเราหากเทียบกับบุหรี่จากต่างประเทศ มาตรฐานถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่แตกต่างกัน ทั้งกระบวนการผลิตซึ่งเรายืนยันได้ว่าเราไม่มีการเติมสารแอมโมเนียหรือเพิ่มฤทธิ์ของนิโคตินอย่างที่บริษัทบุหรี่ต่างประเทศบางบริษัทใช้กันอยู่ ตรงกันข้าม เรามีขั้นตอนการกำจัดหรือดึงแอมโมเนียในกระบวนการผลิตอีกด้วย”
นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ผู้อำนวยการยาสูบ โรงงานยาสูบ กล่าวปิดท้ายว่า “และอีกหนึ่งภารกิจสำคัญของโรงงานยาสูบที่เราดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดก็คือการนำรายได้ส่งเข้ากระทรวงการคลัง ซึ่งในปีนี้เราคาดว่าโรงงานยาสูบจะสามารถนำส่งรายได้เข้าคลังเป็นเงิน 6,400 ล้านบาท มียอดประมาณการจำหน่าย 67,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 62,390.14 ล้านบาทในปี 55 และมีกำลังการผลิต 32,000 ล้านมวน ซึ่งปัจจุบันบุหรี่ไทยที่ผลิตจากโรงงานยาสูบมีส่วนแบ่งตลาดในสัดส่วน 33% บุหรี่ต่างประเทศ (ถูกกฎหมาย) 12% ส่วนบุหรี่หนีภาษีอยู่ที่ 10% ขณะที่บุหรี่มวนเองมีสัดส่วนถึง 45%”
โรงงานยาสูบมีการสั่งสมประสบการณ์ในการผลิตจากรุ่นสู่รุ่นของบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญจากรุ่นสู่รุ่น ตั้งแต่ชาวโรงงานยาสูบ ชาวไร่และระบบเครือข่ายยาวนานมากว่า 75 ปี จึงทำให้ผู้สูบมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ของเรามีคุณภาพ เพราะเรามีการควบคุมกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ รวมไปจนถึงการบริหารจัดการตรงตามมาตรฐานระดับสากล