หอศิลป์สุทฺธจิตฺโต
ที่ตั้ง: ในวัดหมื่นสาร ถนนวัวลาย ตำบลหายยา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
ในเมืองเชียงใหม่ มีวัดต่างๆมากมายที่มีชื่อเสียงทั้งด้านประวัติศาสตร์ ความงดงาม และอายุ แต่น้อยนักที่เป็นของสร้างใหม่ งดงาม และมีคุณค่าแก่การไปเยี่ยมชม แต่แล้วก็ยังมีอยู่วัดหนึ่ง ซึ่งดึงเอาฝีมือศิลปะคนในท้องถิ่นมาสร้างเป็นวัดหลังงาม ทั้งโครงสร้างและรายละเอียด สร้างขึ้นมาเพื่อบอกเล่าประวัติศาสตร์ เพื่อบอกให้ลูกหลานได้รู้ประวัติความเป็นมา รวมทั้งเรื่องราวในวรรณกรรมด้วย เราสามารถเยี่ยมชมสิ่งเหล่านี้ได้ที่ วัดหมื่นสาร
ที่วัดหมื่นสารนั้น ได้ทำการก่อสร้างอารามหลังใหม่ ซึ่งเรียกว่า หอศิลป์สุทฺธจิตฺโต ซึ่งตั้งอยู่ทางซ้ายของมือจากปากทางเข้าวัด ก่อนที่เราจะเข้าไปชมความงดงามของหอศิลป์นั้น เราจะเจอรูปอนุสาวรีย์ของครูบาศรีวิชัย ซึ่งอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ มีลักษณะงดงามจากฝีมือของช่างศิลปะของที่นี่
หอศิลป์สุทฺธจิตฺโต เดิมเรียกกันว่า หอเงิน และศาลาโลหะ ๓ ครูบา ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น “หอศิลป์สุทฺธจิตฺโต” หอศิลป์ที่ประดิษฐานหุ่นขึ้ผึ้งรูปเหมือน ๓ ครูบา ได้แก่ ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา, ครูบาอินตา อินทปัญโญ (ครูบาอินต๊ะ) และพระครูโอภาสคณาภิบาล (ครูบาบุญปั่น ปุญญาคโม) อดีตเจ้าอาวาสวัดหมื่นสาร หอ ศิลป์สุทฺธจิตฺโต เป็นหอศิลป์ที่สร้างขึ้นจากดำริของ พระครูสุทธิจิตตาภิรัต เจ้าอาวาสวัดหมื่นสารในปัจจุบัน ร่วมกับคณะกรรมการวัด และคณะศรัทธาวัดหมื่นสาร
ด้านการออกแบบก่อสร้างที่สร้างแบบล้านนาประยุกต์ มีออกแบบโครงสร้างโดย นายอำนวย นันตากาศ ส่วนการออกแบบลวดลายประดับหอศิลป์มี นายจิรศักดิ์ กาวิละ ช่างเงินบ้านวัวลาย โดยได้นำลวดลายที่เป็นลายพื้นเมืองล้านนาดั้งเดิม ซึ่งเป็นลายเอกลักษณ์เครื่องเงินบ้านวัวลาย ดุนลายโลหะประดับตกแต่งภายในและภายนอกหอศิลป์ โดยมีช่างฝีมือชาวบ้านวัวลายทั้งชาย-หญิง หลายคนช่วยกันต้องลาย
ขึ้นมาเราจะเจอกับรวดลายภายนอกอาคาร ซึ่งสลักได้ปราณีตและละเอียดสุดๆ เป็นเรื่องราวของวรรณกรรมชื่อดังเรื่อง รามเกียรติ์ เป็นภาพแกะสลักในเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งทำออกมาได้อย่างดีเยี่ยม
ขออธิบายเป็นฉากๆนะคะ บริเวณผนังซ้ายเป็นรูปพระพิฆเณศ ซึ่งเป็นเทพแห่งศิลปะและความสำเร็จ อยู่ติดกับรูปรามเกียรติ์ ตอนทศกัณฑ์ยกทัพ ส่วนผนังด้านขวาติดกับรูปพระศิวะ เป็นเทพที่จะคอยขับไล่สิ่งชั่วร้าย และทำให้เกิดความดีงามเป็นศิริมงคล ข้างรูปพระศิวะ เป็นรูปรามเกียรติ์ ตอนพระรามยกทัพ
เข้ามาเราจะเจอกับประตูบานใหญ่ ซึ่งมีประตู 2 ฝั่งซ้ายขวา แต่ละบานจะมีตัวละครหลักในรามเกียรต์ เริ่มจากทางซ้ายมือ บานแรก ลายบนประตูเป็นลายหนุมาน ซึ่งเป็นตัวละครเอกในเรื่องรามเกียรติ์ และอีกบานนึงเป็นรูป มัจฉานุ ลูกของหนุมานนั้นเอง
เข้ามาภายใน เราจะเจอกับหุ่นขี้ผึ้งของ ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา, ครูบาอินตา อินทปัญโญ (ครูบาอินต๊ะ) และพระครูโอภาสคณาภิบาล (ครูบาบุญปั่น ปุญญาคโม) และเรื่องราวที่เล่าเรื่องการสร้างดอยสุเทพ
ครูบาศรีวิชัย มรณภาพ เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พงศ. ๒๔๘๑ ณ วัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน รวมอายุได้ ๖๑ ปี ศพของท่านตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดบ้านปางได้ ๒ ปี หลังจากนั้นจึงเคลื่อนศพมาตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดจามเทวี อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เป็นเวลานานถึง ๗ ปี (เหตุเพราะเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒) และได้ทำพิธีพระราชทานเพลิงศพ ในวันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ อัฐิของท่านได้แบ่งไปตามที่ต่างๆ ส่วนหนึ่งได้นำมาเพื่อบรรจุโกฎิเก็บไว้ที่วัดสวนดอก แต่เนื่องจากในขณะนั้นวัดสวนดอกร้างเจ้าอาวาส ครูบาขาวปี๋ซึ่งเป็นศิษย์เอกของครูบาศรีวิชัย ซึ่งมีความคุ้นเคย สนิทสนามกับครูบาอินต๊ะ เจ้าอาวาสวัดหมื่นสาร และนายอินทร์ ดำรงฤทธิ์ คหบดีชาวบ้านวัวลายเป็นอย่างดี อีกทั้งครูบาขาวปี๋เคยมานั่งหนักช่วยบูรณปฏิสังขรณ์วิหารหลังเก่าวัดหมื่นสารด้วย ท่านได้นำอัฐิครูบาศรีวิชัยส่วนดังกล่าว ฝากเก็บไว้ที่วัดหมื่นสาร ต่อมาครูบาอินต๊ะ พร้อมด้วยคณะศรัทธาวัดหมื่นสารได้นำอัฐิของท่านบรรจุโกฎิไว้ที่วัดหมื่นสาร
รูปในภาพจะเล่าเรื่องราวต่างๆที่เกี่ยวข้องกับครูบาศรีวิชัย ดอยสุเทพ และวัดหมื่นสาร ซึ่งทุกๆรูปจะมีคำว่าอธิบายใต้รูป เพื่อให้ท่านผู้ชมที่มาแวะเวียนเข้าใจได้ และเอาไว้ศึกษาประวัติศาสตร์ได้ด้วย
และยังมีอีกหลายๆรูป ที่ยังรอให้คุณไปเยี่ยมชม ซึ่งจะมีสักกี่ที่ในเมืองเชียงใหม่ ที่จะลงทุนก่อสร้างเพื่อที่จะเล่าเรื่องประวัติศาสตร์โดยสื่อออกมาเป็นศิลปะแกะสลักทั้งนูนสูงนูนต่ำ ทำให้มีอรรถรสในการศึกษาและให้ความรู้ได้อย่างสวยงาม แถมยังเป็นฝีมือของคนในท้องถิ่นแห่งนี้อีกด้วย
คุณรู้หรือไม่?!
1. วัดหมื่นสาร ถือเป็นวัดประวัติศาสตร์ของจังหวัดเชียงใหม่ สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์เม็งราย เป็นวัดที่เก่าแก่ และเป็นแหล่งเรียนรู้อักขระที่สำคัญ เป็นสถานที่แปลพระราชสาสน์ และเคยเป็นที่จำพรรษาของพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่
2. งบประมาณในการสร้างหอศิลป์แห่งนี้ ใช้เงินไปทั้งหมดประมาณ 10 ล้านกว่าบาท (จำนวนเงินรวมกับจิตศรัทธาของพ่อแม่พี่น้องด้วย)
3. ต้นเค้าของเรื่องรามเกียรติ์น่าจะมาจากเรื่องรามยณะ ของอินเดีย ซึ่งเป็นนิทานที่แพร่หลายอยู่ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียใต้ ต่อมาอารยธรรมอินเดียได้แพร่หลายเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พ่อค้าชาวอินเดียได้นำอารยธรรมและศาสนาเข้ามาเผยแพร่ด้วย ทำให้เรื่องรามยณะแพร่หลายไปทั่วภูมิภาค กลายเป็นนิทานที่รู้จักกันเป็นอย่างดี และได้ปรับเปลี่ยนเนื้อหาให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมของประเทศนั้นจนกลายเป็นวรรณคดีประจำชาติไป