เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีสุดปลื้มสามารถเพาะพันธุ์สัตว์ป่าหายากยิ่งของไทยที่จัดเป็นสัตว์ป่าสงวนใกล้สูญพันธุ์และถูกจัดอยู่ในบัญชีลำดับ 1

เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีสุดปลื้มสามารถเพาะพันธุ์สัตว์ป่าหายากยิ่งของไทยที่จัดเป็นสัตว์ป่าสงวนใกล้สูญพันธุ์และถูกจัดอยู่ในบัญชีลำดับ 1 ในอนุสัญญา CITES   “ลูกกวางผา” และ “ลูกเลียงผา” เตรียมนำออกสู่แสดงให้นักท่องเที่ยวได้ชม

ดร.ศราวุฒิ  ศรีศกุน ผู้อำนวยการสำนักงานเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เปิดเผยว่า เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีได้รับสมาชิกใหม่  “ลูกกวางผา” และ “ลูกเลียงผา” สัตว์ป่าสงวนของไทย ซึ่งเป็นสัตว์ป่าหายาก และจัดเป็นสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์  โดยเป็นการเพาะพันธุ์ด้วยวิธีการธรรมชาติในพื้นที่เฉพาะในส่วนแสดงที่สัตว์ทั้งสองชนิดนี้อาศัยอยู่   ซึ่งต้องอาศัยความเอาใจใส่และการดูแลจากผู้เลี้ยง  รวมทั้งสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน

สมาชิกใหม่ “ลูกกวางผา” จำนวน 1 ตัว ยังไม่ทราบเพศ เกิดเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2556 จาก“แม่แสงดาว” อายุ 3 ปี  และ “พ่อศิลป์” พ่อพันธุ์ชั้นดีที่ให้กำเนิดลูกกวางผาที่แข็งแรงแล้วหลายคอก  โดยลูกกวางผาตัวนี้ นับเป็นสมาชิกลูกกวางผาที่เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีเพาะพันธุ์ได้เองเป็นตัวที่ 20  โดยในปัจจุบันเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีมีสมาชิกกวางผา ทั้งหมด 26 ตัว

กวางผา หรือ ม้าเทวดา จัดเป็น 1 ใน 15 ชนิดของสัตว์ป่าสงวนของประเทศไทยและอนุสัญญาไซเตส นับเป็นสัตว์ป่าที่หาดูได้ยาก โดยในธรรมชาติสามารถพบได้บริเวณเทือกเขาต้นน้ำปิง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อยและแม่ตื่น จังหวัดเชียงใหม่และตาก และเทือกเขาบริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าแม่เลา แม่แสะ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว

กวางผา มีนิสัยชอบออกหากินตามที่โล่งในตอนเย็นและตอนเช้ามืด หลับพักผ่อนตามพุ่มไม้และชะง่อนหินในเวลากลางคืน อาหาร ได้แก่ พืชที่ขึ้นตามสันเขาและหน้าผาหิน เช่น หญ้า ใบไม้ กิ่งไม้ และลูกไม้เปลือกแข็งจำพวกลูกก่อ โดยปกติมักอาศัยรวมกันเป็นฝูง4-12 ตัว ผสมพันธุ์ราวเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม ออกลูกครอกละ 1-2 ตัว ตั้งท้องนาน 6 เดือน


ในปัจจุบันประชากรกวางผาได้ลดจำนวนลงไปมาก เนื่องจากสภาพถิ่นที่อยู่อาศัยจำกัดเป็นหน้าผาสูงชันที่สัตว์อื่นไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ ประกอบกับนิสัยที่ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง มีอาณาเขตครอบครองแน่นอน ทำให้ถูกพรานชาวเขาตามล่าได้ง่าย ขณะเดียวกัน ชาวบ้านมีความเชื่อกันว่าน้ำมันกวางผามีสรรพคุณใช้เป็นยาสมานกระดูกเช่นเดียวกับน้ำมันเลียงผา ทำให้กวางผาถูกฆ่าตายเพื่อเอาไปทำน้ำมัน นับว่าสถานการณ์ความอยู่รอดของกวางผาไทยยังคงอยู่ในขั้นวิกฤต

สมาชิกใหม่อีกชนิดหนึ่ง “ลูกเลียงผา” จำนวน 2 ตัว  ตัวแรกเกิดจากแม่ปีใหม่ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2556 เป็นเพศผู้ และตัวที่ 2 เกิดจากแม่ตองหก เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2556 เป็นเพศเมีย   โดยเกิดจากพ่อตัวเดียวกันคือ “พ่อตองอู” ซึ่งลูกเลียงผาที่เกิดใหม่นี้ นับเป็นลูกเลียงผาที่เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีเพาะพันธุ์ได้เองเป็นตัวที่  5 และตัวที่ 6   ปัจจุบันเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีมีสมาชิกเลียงผาทั้งหมดจำนวน 8 ตัว เป็นเพศผู้ 5 ตัว เพศเมีย 3 ตัว


Relate Posts :