Humans of Chiang Mai: ลุงยาว ช่างซ่อมรถมือกุด (ชีวิตนี้ท้อได้ แต่อย่าถอย)

      ผมไม่แน่ใจว่าทุกวันนี้เมื่อเรามองไปยังบุคคลที่ขาดตกบกพร่องบางสิ่งบางอย่างในส่วนอวัยวะของร่างกาย หรือในที่นี่ผมหมายถึง ‘พิการ’ เราจะมองคนเหล่านั้นเป็นอย่างไร แต่ผมแน่ใจว่าหลายคนคงตัดสินพวกเขาเหล่านั้นไปก่อนแล้วว่าเป็นคนที่ ‘ใช้การไม่ได้’ แต่บางทีสิ่งที่เราคิดไม่ใช่สิ่งที่ถูกเสมอไป คนธรรมดาอย่างเราทำสิ่งใดได้ คนพิการก็ทำได้เหมือนกัน เฉกเช่นเดียวกับ ‘ลุงยาว’ อิทธิพัทธ์ หมอกมุงเมือง คุณลุงช่างซ่อมรถมือกุด ที่เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในเรื่องการซ่อมรถจักรยานยนต์ของแถบมหาวิทยาลัยพายัพ

      ลุงยาวเป็นอีกคนหนึ่งที่เราทั่วไปอาจจัดให้เขาอยู่ในกลุ่มเดียวกับ ‘คนพิการ’ แต่ความพิการ ก็ไม่ได้นำมาซึ่งความท้อแท้ สิ้นหวัง หรือยอมแพ้ต่อชะตาชีวิต กลับกันมันเป็นสิ่งที่คอยเตือนในการใช้ชีวิตให้กับลุงยาวเป็นอย่างดี และชีวิตทุกวันนี้ลุงยาวก็ยังมีความสุขอยู่กับอู่ซ่อมรถเล็กๆแม้จะสูญเสียมือในการทำงานไปข้างหนึ่งก็ตาม ไปค้นพบกันว่าลุงยาวต้องผ่านอะไรมาบ้าง และมีทัศนคติในการใช้ชีวิตที่คนอื่นมองว่าเสียเปรียบอย่างไร

บรรยากาศหน้าร้านลุงยาว

 เปิดซ่อมรถมานานหรือยัง

ทีแรกทำที่บ้าน ภายหลังย้ายมาอยู่ตรงนี้ก็ประมาณ 16 ปีแล้ว ช่วงที่ย้ายนั้นเป็นช่วงที่พายัพเริ่มเปิด แถวนี้ก็เริ่มเจริญตอนแรกแถวนี้ไม่ได้เป็นแบบนี้นะ ยังเป็นดิน เป็นป่า ตอนย้ายมาก็ต้องขอเพื่อนฝูง พรรคพวกมาช่วยกันเก็บกวาดแล้วก็ตั้งเพิง ตอนแรกใช้รถตู้เก่าๆเป็นอู่นะ ใช้ขับจอดทำงาน แล้วไป-กลับที่บ้าน แต่พอทำไปสักพักของเริ่มเยอะขึ้น เราก็คิดว่าต้องทำเพิงพักขึ้นมาละ เพราะเรามีบ้านก็จริง แต่อุปกรณ์ช่างเราอยู่ที่นี่หมดเลย มันมีโอกาสสูญหายได้เยอะ อีกอย่างคือจะได้กันแดด กันลม กันฝน

 

 ทำไมจึงมาเปิดร้านซ่อมรถ

คืออย่างแรกเลยเพื่อเป็นการวางรากฐานให้ลูก ให้ครอบครัว คือลุงก็มีครอบครัว ลุงก็ผ่านงานมาเยอะ แต่อาชีพนี้เป็นอาชีพที่ไม่ต้องไปเร่ร่อนหาทำกับคนอื่นเหมือนกับพวกก่อสร้างเร่ร่อนน่ะ เสร็จจากนี่ ก็ไปนู่น เสร็จจากนู่นก็ไปอีก ต้องไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด ต้องหางานไปเรื่อยๆ แต่มาเปิดตรงนี้ ลูกค้าจะมาหาเราโดยที่ว่าอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือเรามีพร้อม พร้อมชนิดที่ว่ามาถึงก็ทำได้เลย ทีนี้เราก็เห็นว่าสิ่งนี้ลูกเราก็ทำได้ เราไม่ต้องการให้แกไปเร่ร่อนอย่างที่ลุงว่า อีกอย่างคือมันเสี่ยงที่ต้องไปแย่งงานกับคนอื่น อยากให้แกอยู่กับที่เพราะที่นี่ยังไงงานมันก็เข้ามา แต่อยู่ที่ว่าแกจะบริหารเป็นมั้ยทั้งเรื่องเงินเรื่องงาน

เครื่องมือหากินครบครัน

ก่อนหน้านี้ทำอะไรมา

ก่อนหน้านี้เคยไปขับรถส่งพวกหนังสือวิชาการกับเอกสาร ไปส่งตามมหาวิทยาลัย ร้านหนังสือ หรือมินิมาร์ทที่มีชั้นวางหนังสือขาย แต่เราต้องเสี่ยงชีวิตอยู่บนถนนตลอด ต้องใช้ความเร็วตลอด คือเราต้องไปถึงตามกำหนดที่เขาสั่งมา นั่นก็คือระบบลูกน้อง เราต้องเป็นลูกน้องเขา รับคำสั่งเขา แต่ถามใจจริงชอบมั้ยก็ไม่ชอบ คือเวลามันเป็นของเขา อะไรมันเป็นของเขาหมดเลย

สัมภาษณ์ที่ร้านลุงยาว วงเวียน ม.พายัพ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2557
 ชีวิตในอดีตเป็นอย่างไรบ้าง

ก็เกเรไปตามประสาวัยรุ่น แต่ว่าในระหว่างที่เราเกเรเนี่ย สถานภาพทางครอบครัวใหญ่เรามันไม่ดี พ่อแม่ก็ไม่มีเงิน วันๆได้เงินไปโรงเรียน 3 บาท ไม่พอกินนะ (หัวเราะ) เพราะตอนนั้นถึงไม่มีกินยังไงอย่างน้อยก็ต้องมีติดตัว 5 บาท 10 บาท นะ แต่เรามีเท่านี้ ลุงก็เลยใช้วิธีหาเงินเพิ่ม โดยการตื่นเช้าไปปั่นสามล้อถีบไปพาคนเที่ยว ตีสี่ต้องออกบ้านละ เจ็ดโมงก็ต้องเลิกเพราะโรงเรียนเข้า เราก็ไปจอดรถที่ตลาด เปลี่ยนเสื้อผ้าแล้วก็ไปเรียนต่อ พอเข้าช่วงวัยรุ่น ลุงก็เรียนไปทำงานไป เสาร์ – อาทิตย์จะไปทำงานกับร้านทำสังกะสี ที่เขาทำถังน้ำแข็ง รางน้ำ ท่อแอร์ ปล่องควัน ตอนนั้นก็ไปเป็นลูกน้องเขา ช่วยหยิบจับโน่นนี่ พอเขาเผลอเราก็ทำ เขาไม่ได้สอนเรานะ เราต้องแอบเรียน ส่วนชีวิตกับเพื่อนฝูงก็เต็มที่นะ เราก็ร้ายไปตามประสา แต่เราร้ายแบบศึกษา ไมได้ร้ายแบบกินยา ตีกัน เหมือนวัยรุ่นปัจจุบัน


เล่าให้ฟังเรื่องมือหน่อย

ตอนนั้นขี่รถแข่ง ไปซ้อมสนามแข่งรถเอ็นดูโร่ (Enduro) หรือรถวิบากนี่แหละ ก็ขับแบบเล่นลอยตัว แล้วมันก็ตกลงมากระแทกพื้นข้างล่าง มือที่มันจับรถอยู่ก็กระแทก ตอนนั้นมือแหลกเลยนะ เลยต้องตัดทิ้ง ก็ประมาณ 30 ปีมาแล้ว ก่อนจะมาเปิดอู่ซ่อมรถนี่อีก

 ณ ตอนนั้นรู้สึกอย่างไร ที่รู้ว่าต้องเสียมือไปข้างหนึ่ง

มันก็มีความท้ออยู่นะว่าเราจะไปทำอะไร ใครจะรับเราทำงาน เราคิดได้แค่นั้นนะ แต่ใครก็ช่วยเราไม่ได้หรอก เพียงแต่เราต้องตั้งต้นใหม่ ต้องเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ความท้อตอนนั้นมันมีเป็นธรรมดา แต่เราไม่ถอยนะ เราก็สู้ต่อของเรา

ชีวิตที่ต้องเริ่มใหม่โดยไม่มีมือข้างหนึ่งเป็นอย่างไร ลำบากมั้ย

 ตอนนั้นอะไรคือแรงผลักดันให้สู้ต่อ

จริงๆก็ไม่ยากนะ เพราะเราไม่ถอย ตอนนั้นก็คิดหาทางว่าจะสู้อย่างไร เรามีความรู้แค่ไหน แล้วเราจะเอาไปทำอะไร โห ตอนนั้นลุงยังทำงานเชื่อมเหล็กต่อได้เป็นสิบปีโน้น มีลูกน้องเป็นยี่สิบคน บ้านพักประทวนที่สนามบินเชียงใหม่ลุงไปรับเชื่อม 7 หลังเลยนะ ถ้าเราท้อแต่ไม่ถอย เราจะมองเห็นลู่ทางของเราเอง แต่ถ้าท้อแล้วอะไรก็ไม่เอานั่นก็คือจบเลย ลุงไม่ได้ไปปรึกษาใครเลยนะตอนนั้น ลุงนั่งคิดเอาคนเดียว แต่ถึงอย่างนั้น ณ ตอนนี้ลุงก็คิดว่า ถ้าเราท้อ เราต้องถามคนหลายๆคน อย่างน้อย 2 ใน 3 หรือ 6 ใน 10 ต้องให้คำแนะนำเราได้ เพียงแต่เราต้องชั่งน้ำหนักคำปรึกษานั้นให้ถูก มันต้องมีคนที่เราเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย คน 10 คนให้คำตอบไม่เหมือนกันหรอก อย่างตอนนี้ก็มีคนมาขอคำปรึกษา คำแนะนำจากลุงเยอะนะ ที่ช่วยไปได้ก็มีเยอะอยู่

อย่างแรกคืออายุเรายังน้อยนะ ประมาณ 20 กว่าอยู่เลย สอง คือเรายังไม่ถึงกับดับชีพ สาม เรายังมีภาระที่ต้องดูแลคือลูก ตอนนั้นสิ่งเหล่านี้ก็เหมือนผลักดันให้เราคิดว่า เราทำอะไรได้ก็ทำ ช่วยอะไรใครได้ก็ช่วย เราพิการก็จริงแต่เราต้องคำนึงด้วยว่าทำอะไรได้บ้าง ไม่ใช่คิดว่าตัวเองพิการแล้วก็ทิ้งทุกอย่าง บอกคนอื่นว่าเราพิการ ไม่อยากให้ใครยุ่ง ไม่อยากให้ใครมาพึ่ง ก็ไม่ใช่ นั่นมันเป็นการตัดช่องโอกาส ตัดตัวเองออกจากสังคม ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ เพราะเราเป็นสัตว์สังคม มนุษย์ล้วนเป็นสัตว์สังคม

คิดว่าลำบากหรือเสียเปรียบมั้ย ที่ต้องสูญเสียมือไปในการทำงาน

 มีช่วงที่ท้อแท้บ้างมั้ย

ถามว่าลำบากหรือเสียเปรียบมั้ย ลุงคิดว่าเราเอาสิ่งนี้มันเป็นเสาตั้งตาชั่งดีกว่า คือเราเป็นเสาตรงกลาง แล้วดูตาชั่งสองข้างว่าเราเสียเปรียบด้านไหน บางทีเรามีความรู้มากกว่า ด้านการเรียนรู้ของเราก็มี ด้านการศึกษาของเราก็มี ด้านกำลังเราก็มี ถึงแม้เราไม่มีกำลังทรัพย์ แต่กำลังกายเรายังมี เราท้อเราไม่ถอย ไม่ต้องกลัวตายหรอก

ไม่มี ถ้าเราตั้งใจจะสู้แล้ว จะไม่มีคำว่าท้อแท้ เดินหน้าไปเรื่อยๆ เราไม่ถอย ส่วนเรื่องการเปรียบเทียบกับสิ่งของอย่างอื่นก็ไม่มี ลุงจะสมมติให้ฟัง เช่น สมมติว่าวันนี้อยู่ในร้าน เราได้เงิน 100 บาท อีกร้านหนึ่งเขาได้มากกว่า เราไม่ต้องไปอิจฉาเขา เราดูที่ตัวเรา  ดูที่เสาตาชั่งเรา เราไม่ต้องไปชั่งแบบเขา บางทีร้านเขาได้เยอะ เพราะเขาต้องใช้คนช่วย ต้องใช้รายจ่ายเยอะ แต่ของเรา เราเหนื่อยแต่เราใช้แค่กำลังเรา ถามว่าอยู่ได้มั้ย ก็อยู่ได้ เพราะเราไม่ได้ทะเยอทะยานไปกับสิ่งล่อลวงรอบตัวเราตรงนั้น เราวางตัวเป็นกลาง ตราบใดถ้ายังมี รัก โลภ โกรธ หลง นำนั่นคือบรรลัย แต่หากไม่เอาสักอย่าง ก็บรรลัยเหมือนกัน เราต้องอยู่กลางๆ ไม่ใช่อันนั้นก็จะเอา อันนี้ก็จะเอา ถ้ามันเกินกำลังเกินสติปัญญา อย่าไปสู้ ต้องเอาแค่พอตัว แล้วมันจะอยู่ได้

มองชีวิตเป็นอย่างไร ระหว่างก่อน/หลัง สูญเสียมือ

ต่างนะ รู้สึกว่าไม่มีมือดีกว่า เพราะถ้ามีมือชีวิตลุงอาจทะเยอทะยานกว่านี้ อาจไปสร้างความเดือดร้อนอะไรมากกว่านี้ คือพอเราเป็นแบบนี้พอเราวางใจ วางตัวได้ เราก็คิดว่าตัวเองเป็นเสาตาชั่งเปรียบเทียบกับคนอื่น เราคิดว่าเราลำบาก แต่พอมองดูอีกคน เขาเป็นอัมพฤกษ์ครึ่งตัว ขาลีบ แต่ต้องใช้ไม้เท้าพยุงตัวไปขายหวยหาเศษเงินมาเลี้ยงชีพ แต่พอมองดูเรา เรายังทำงานได้ ขี่รถได้ กิน เที่ยวได้ อีกอย่างที่สำคัญ มือที่หายไปมันก็คอยเตือนลุงนะ เช่น วันนี้อยากขี่เอ็นดูโร่อีก มันก็จะคิดแล้วว่า ขี่ได้เหรอ ก็ไม่ได้ เพราะเอ็นดูโร่จะขี่ด้านขวา ด้านซ้ายจะเป็นคลัช เหมือนกับว่ามือจะเป็นตัวคอยฉุดความคิดของเราไว้ ไม่ได้บอกเป็นการสรุปไปเลยนะว่า มือไม่มีขี่ไม่ได้ แต่มันจะเป็นตัวคอยฉุดให้เราฉุกคิดเพิ่มขึ้นอีกหน่อยก่อนจะทำอะไร ว่าดีหรือไม่ เหมาะสมกับเราหรือไม่


ความสุข ณ วันนี้

ความสุขคือ ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย เงินทองเป็นเรื่องธรรมดา ได้บ้าง เสียบ้าง เป็นเรื่องธรรมดา หามาก็ต้องจ่ายไป ไม่มีอะไรเป็นหลักเก็บไว้เพื่อชีวิต ด้วยสถานภาพครอบครัวเก่าเราไม่ดี เราก็ไม่ไปโทษตรงนั้น เพราะมันอยู่ที่เราจะขวนขวายหามาได้หรือเปล่า อีกอย่าง ลุงยาวสบายใจตรงที่ว่า ลุงยาวชอบมองตัวเองเป็นเสาตาชั่ง แล้วมองตาชั่งสองข้างให้มันสมดุล ชอบคิดแบบนั้น จะมองซ้าย มองขวา คิดหน้า คิดหลัง ก่อนจะทำอะไร

 ชีวิตทุกวันนี้ยืนหยัดอยู่เพื่อ อะไร/สิ่งใด

ก็คงเป็นครอบครัวครับ ทำเพื่อลูก ถ้าเราคิดว่าเราเป็นผู้ใหญ่พิการ แล้วไม่ทำอะไร อยู่ไปวันๆ มันก็จะเสียส่วนลูกด้วย แต่หากเราเป็นตัวคุมเกมส์ คุมงาน คุมสถานการณ์ต่างๆให้ดี มันก็จะดีกับตัวลูกเราด้วย

ฝากอะไรถึงผู้อ่าน

อย่าไปท้อ ต้องสู้ หรือท้อได้แต่ห้ามถอย ให้ถือศีล 5 ข้อ ให้ได้ แล้ว รัก โลภ โกรธ หลง อย่าไปมีมากเกิน และอย่าไม่มีเลย ให้อยู่กลางๆ จะทำอะไรก็ต้องคิดหน้าคิดหลังให้ดี ทำอะไรก็ได้ที่มันจะไม่ไปสร้างภาระ ก่อหนี้สิน หรือปัญหาใส่ตัว ต้องคิดให้เยอะ ถ้าไม่รู้ให้ถาม อีกอย่างคือต้องทำตัวเป็นเสาตาชั่ง ต้องตั้งหลักตัวเองอยู่ตรงนั้น ถ้าตาชั่งเราเอนไปทางใดทางหนึ่งมากเกิน มันก็ไม่ดี เพราะฝั่งหนึ่งเราเอา อีกฝั่งหนึ่งเหมือนกับเราทิ้ง ดังนั้นต้องทำตัวเป็นกลางให้ตาชั่งสองฝั่งมันสมดุลดีที่สุด

 ดังเช่นสิ่งที่ลุงยาวเปรียบเทียบให้เราฟังในการสัมภาษณ์อยู่บ่อยครั้ง เราต้องลองคิดให้ตัวเองให้เป็นเสาตาชั่ง คอยดูตาชั่งทั้งสองข้างอย่าให้มันเอนไปทางใดทางหนึ่งแต่ให้มันอยู่ตรงกลางและสมดุล ตราบใดที่ตาชั่งทั้งสองข้างของเราไม่เอนไปทางใดทางหนึ่ง นั่นเปรียบได้กับความสุข สุขที่ไม่ต้องไปลงน้ำหนักให้กับสิ่งใดมากจนเกินจำเป็น และเมื่อเราย้อนมามองชีวิตของเรา เราทุกคนมีปัญหา ไม่ว่าจะรวย ดี มี จน พิการ ไม่พิการ แต่ถ้าวันนี้เราทำใจยอมรับได้เร็ว และเปลี่ยนให้มันเป็นตัวคอยเตือนการใช้ชีวิตต่อไปในวันข้างหน้า ปัญหาเหล่านี้ก็จะไม่มีผลกระทบกับเราได้เลย ดังคำลุงยาวที่ว่า ‘’ชีวิตเราท้อได้แต่อย่าถอย และเราจะมองเห็นลู่ทาง เพราะถ้าเราท้อแล้วเลิก ทุกอย่างคือจบ’’

เรื่องราวชีวิตของ Humans of Chiang Mai คนต่อไปจะเป็นใคร ติดตามกันได้ที่นี่ และถ้าหากใครมีบุคคลแห่งแรงบันดาลใจที่อยากแนะนำ ก็อย่าลืมแวะมาเม้นท์มาแชร์ให้เราได้รู้ตามช่องคอมเม้นท์ด้านล่าง หรือ
เจ๋งจะได้ตามไปเจาะลึกกันอย่างทันท่วงที ราตรีสวัสดิ์ครับพี่น้องชาวเชียงใหม่

ข้อมูลร้าน
ร้านซ่อมรถลุงยาว
เวลาเปิดปิด: 10.00-18.00 น. ทุกวัน
ที่ตั้ง: วงเวียน ม.พายัพ ถนนวงแหวนรอบกลาง

Relate Posts :