คลื่นเสียงจากเชียงใหม่ – สายกลาง จินดาสุ [นีโอ ล้านนาอะคูสติก]

สายกลาง จินดาสุ หนุ่มเมืองแพร่ นักโบราณคดีปฏิบัติการ จากรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้มาประจำการเป็นเจ้าหน้าที่สำนักศิลปากรหน่วยที่ 8 แถว ๆ วัดเจ็ดยอดและอาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และยังได้ใช้เวลาว่างไปกับสิ่งที่หลงรักและผูกพันมาเนิ่นนานแต่ตั้งสมัยเป็นักเรียนนักศึกษานั่นคือเสียงดนตรี

โดยเฉพาะดนตรี โฟล์คซอง ซึ่งได้รับอิทธิพลและแรงบันดาลใจหลักจากราชาเพลงโฟล์คซองคำเมือง จรัล มโนเพ็ชร ประกอบกับแนวคิดในการเขียนเพลงของศิลปินอีกหลายนามของเมืองไทย เช่น เฉลียง หรือ ดิ อินโนเซ้นต์ ฯลฯ ทำให้เพลงของสายกลางมีความละเมียดละไม ละมุนไปกับท่วงทำนองที่ฟังง่าย ไปกับคอร์ดไม่ยากเย็นแต่แฝงไปด้วยเทนชั่น รวมทั้งน้ำหนักของนิ้วมือในการเกาะเกี่ยวสายกีตาร์ที่ไม่ธรรมดา ประกอบไปกับมุมมองต่อเรื่องราวต่าง ๆ รอบ ๆ ตัวที่กลั่นกรองออกมาเป็นเนื้อเพลง การคัดเลือกคำ ทำให้บทเพลงของสายกลางมีเอกลักษณ์ ไพเราะน่าฟังยิ่งนัก เริ่มจากมีรุ่นน้องซึ่งศึกษาอยู่วิทยาลัยดุริยศิลป์ มหาวิทยาลัยพายัพ ได้นำบทเพลงที่สายกลางเคยเขียน ๆ เอาไว้ มาผลิตเป็นงานดนตรีนิพนธ์เพื่อใช้เป็นตัวจบการศึกษา ทำให้ผลงานของสายกลางได้เดินทางมาพบกับ ครูโจ บฤงคพ วรอุไร ซึ่งในช่วงเวลานั้นได้เริ่มทำค่ายเพลงเมดอินเชียงใหม่ จึงชักชวนสายกลางให้มาร่วมงานและผลิตผลงานเพลงออกมาในรูปแบบมินิอัลบั้ม อีกทั้งยังเคยปล่อยซิงเกิ้ลเพลงป็อปน่ารัก อย่าง“ฮักแต๊ฮักว่า” ซึ่งเป็นอะคูสติกกำเมือง ออกมาให้ได้ติดหูมาแล้วเมื่อหลายปีก่อน

จนกระทั่งครั้งนี้ ได้มีโอกาสร่วมงานกับ Sleeper 1 หรือพี่หนึ่ง เกรียงไกร วงษ์วานิช หรือหนึ่ง วง Friday นั่นเอง ซึ่งพี่หนึ่งได้เข้ามานั่งตำแหน่งโปรดิวเซอร์และร่วมผลักดันอัลบั้มเต็มของสายกลางออกมาในชื่อว่า “กลาง ๆ” 13 แทร็ค พร้อมกับอีก 1 เพลงที่ซ่อนไว้ ถ่ายทอดความสามารถทางดนตรีและการเขียนเพลงของความสายกลางได้ค่อนข้างสมบูรณ์แบบที่สุด ทั้งเสียงกีตาร์โปร่งที่โดดเด่น ท่วงทำนองที่มีกลิ่นอายของลูกกรุงเก่า ๆ บ้าง การเลือกใช้คำที่ไพเราะหูมากมาย สรรพนามผม, คุณ ที่หาไม่ค่อยเจอในเพลงทุกวันนี้


“Interlude กลาง ๆ” เสียงบรรเลงกีตาร์นำเข้าสู่อัลบั้ม ที่ไพเราะฟังสบาย แต่มีความละเมียดละไมเป็นอย่างยิ่ง ค่อย ๆ พาผู้ฟังเข้าสู่เรื่องราวของเพลงอื่น ๆ ในอัลบั้ม “หนาว” เพลงเหงา ๆ หนาว ๆ ที่เหมาะกับหนาวนี้เหลือเกิน คนที่มีหัวใจเหงา ๆ ต่อให้ร่างกายอุ่นแค่ไหนก็ยังไม่คลายหนาวลงได้ เพลงนี้ร่วมร้องกับน้องสบาย ศิลปินร่วมค่าย

หนาว กี่ปีที่หนาว ห่มผ้าเอาเดี๋ยวมันก็อุ่น ห่มก็ยังต้องลุ้น ทำไมไม่อุ่นไม่อุ่นสักที

หนาว เพราะมือเรานั้นว่างเกิน เดินก็เดินคนเดียวใช่ไหม ถุงมือ ไม่ต้องไปหาสวมใส่


ความหนาวจะคลาย ต้องทำยังไง เธอต้องหาใคร มาคอยจับมือ

“กุหลาบ” พูดเปรียบเทียบ ระหว่าง หญิงสาว กับดอกกุหลาบ ระหว่าง ความงามกับหนามแหลม ดอกไม้บางดอกก็อาจจะจับต้องได้เพียงแค่สายตามิฉะนั้นจะนำพาแผลมาให้หัวใจ

“แว่นหนา” อีกบทเพลงที่เขียนจากเรื่องราวส่วนตัวในอดีต เป็นเพลงที่สายกลาง มักนำมาแสดงสดหลายครั้งก่อนจะถูกบันทึกเสียงในอัลบั้มนี้  ด้วยทำนองท่อนคอรัสที่ติดหูจากเสียงผิวปาก และท่อนร้อง “รัก รัก ผมขอแอบรัก รักแม่คนแว่นหนา” อาจจะคุ้นหูหลาย ๆ คนที่ติดตามสายกลางแสดงสดมา “หนุ่มนครนอนเชียงใหม่” อีกเพลงที่สายกลาง แต่งขึ้นเฉพาะกิจเพื่อร่วมงาน แสดงดนตรีอะคูสติก ร่วมกับพี่ ๆ น้อง ๆ ในงาน หนุ่มนครนอนเชียงใหม่ กลิ่นอายลูกกรุงเก่า ๆ กับเนื้อหาไอ้หนุ่มนคร (นครไหนไม่รู้ มาตามหาความรักที่เชียงใหม่) “รักธรรมดา” เพลงความรักเรียบ ๆ ง่าย ๆ ที่ให้ความรู้สึกอบอุ่น ผ่อนคลาย แถมมีเสียงร้อง featuring จากเพื่อนพ้องร่วมค่าย กิว คูเมือง รวมทั้ง Sleeper1 โปรดิวเซอร์อัลบั้มนี้ พร้อมเสียงฟลุ้ตจาก ครูโจ ทำให้เพลงนี้เป็นเพลงธรรมดาที่แสนพิเศษขึ้นมาช่วงหลังแม้สายกลางจะมีภาระหน้าที่ของงานประจำอยู่มากก็ยังแบ่งเวลาหาโอกาส มาแสดงดนตรีสดตามกิจกรรมดนตรีต่าง ๆ ที่เพื่อนพ้องน้องพี่ชักชวนอยู่เสมอ ๆ

ผลงานอัลบั้ม “กลางๆ” อัลบั้มเต็มชุดแรกที่ผลิตออกมานี้ รวบรวมเพลงไพเราะฟังสบาย ด้วยเนื้อหาผ่านมุมมองแบบ “สายกลาง” ต่อเรื่องต่าง ๆ ฟังรวมๆให้ความรู้สึกอุ่น ๆ เหงา ๆ บ้าง เสียใจก็ไม่ฟูมฟายภาคดนตรีที่ได้ทีมบันทึกเสียงซึ่งส่วนใหญ่เป็นพี่ ๆ น้อง ๆ ยอดฝีมือร่วมค่าย เมดอินเชียงใหม่ ด้วยกัน ช่วยเพิ่มให้ตัวเพลงมีมิติน่าสนใจมากยิ่งขึ้น หน้าหนาวนี้ อัลบั้ม “กลาง ๆ” ของสายกลางเหมาะอย่างยิ่งที่จะเปิดฟังได้ทั้งวันหรือจะซื้อติดมือเป็นของฝากจากเมืองเชียงใหม่ไปมอบให้ผู้คนต่างที่ต่างถิ่น เคียงคูไปกับแคบหมู น้ำพริกหนุ่ม ก็น่าจะสร้างความประทับใจให้ผู้รับมิใช่น้อย เสียดายเล็ก ๆ ว่า สายกลางน่าจะมีเพลงที่เป็นกำเมืองอยู่บ้าง จึงแอบหวังอย่างยิ่งว่าผลงานถัด ๆ ไปของสายกลาง น่าจะลองทำเพลงซึ่งมีคำร้องเป็นกำเมือง อย่างที่เขาถนัดมาผสมผสานเข้ากับภาษาไทยหรือ ภาษาอื่น ๆ รวมถึงสไตล์และสำเนียงการเล่นกีตาร์ที่โดดเด่นอยู่แล้ว น่าจะถือเกิดเป็นผลงานโฟล์คซองคำเมืองในยุคใหม่ที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้น และสามารถสร้างแรงบันดาลใจต่อยอดให้กับวงการดนตรีบ้านเราได้ดีทีเดียว

Relate Posts :