Humans Of Chiang Mai ป๊อก จตุจักร เผยเคล็ดลับจับของเก่ายังไงไม่ให้โดนหลอก และเทคนิคง่ายๆพ่อค้ามือใหม่หัดขายของเก่า

ป๊อก วีระวัฒน์  ชยางกูร หรือป๊อก เรานัดเจอกันที่สนามกีฬา 700 ปี ป๊อกเป็นผู้ชายร่างเล็ก แต่ดูแข็งแรง ทะมัดทะแมงเหมือนบรรดาผู้นิยมการออกกำลังกายด้วยการปั่นจักรยานทั่ว ๆ ไป ยิ่งถ้าเขาอยู่ในกลุ่มนักปั่นด้วยกัน เขาก็ยิ่งดูธรรมดา ๆ ไม่มีอะไรโดดเด่น แต่เมื่อเราได้นั่งคุยกับเขาในของงานศิลปะ ประเภทพระเครื่องและบรรดาวัตถุโบราณนั่นแหละ เราถึงได้รู้ว่าเขามีความเชี่ยวชาญในเรื่องเหล่านี้ขนาดไหน ก็ขนาดที่ว่าใช้ประกอบอาชีพและตั้งตัวเปิดกิจการร้านขายของเก่าได้หลายสาขาก็แล้วกัน

จริงๆแล้วบทเริ่มต้นของป๊อก ก็ไม่ต่างจากบรรดาบุคคลที่ประสบความสำเร็จท่านอื่นๆ เพราะเขาเริ่มต้นมาจากคนที่ไม่มีต้นทุนเป็นเงินทองมหาศาล แต่สิ่งที่เป็นต้นทุนมูลค่ามหาศาลของเขาก็คือความรู้ ความรัก และความเข้าใจในเรื่องพระเครื่องและวัตถุโบราณ

“ตอนนี้ผมอายุ 39 ครับ เพื่อนเรียกผม ป๊อกจตุจักร ชื่อในวงการ ป๊อกเจเจ แรกทีเดียวผมก็เริ่มมาจากไปเปิดแผงขายพระอยู่ที่จตุจักรนั่นแหละ ก็เริ่มมาจากตรงนั้นคือเรานั่งอยู่ข้างใน มันจะมีกลุ่มค้าของเก่าอยู่ ก็มีพอค้าระดับล่างมาเดินดู มาซื้อ ก็จะทำให้เรารู้ราคาไปด้วย ซื้อผิดซื้อถูกบ้าง จะรู้ไปเองครับ”

ป๊อกจตุจักร-4

คือตอนที่ไปเปิดแผงขายนี่คือเริ่มต้นจากยังไม่มีทุนเลย

“ใช่ครับคือว่ามันไม่มีต้นทุนเลย ก็หาทุนไปเรื่อย ๆ ค่อย ๆ ซื้อ ค่อย ๆ ขายจนเราโตขึ้นโตขึ้น แต่ตอนนั้นคือเราชอบเราสนใจพวกพระเครื่องอยู่แล้ว ผมสนใจพวกของเก่าพวกพระเครื่องมาตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ แล้ว แล้วอีกส่วนก็คือ เราชอบงาน ART ผมมองแล้วศึกษาพระเครื่องในมุมของงาน ART ผมชอบมาตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ นะ ก็เข้าวัดบ่อยไปดูของเก่าที่วัดตั้งแต่เด็ก ๆ เลยครับผมชอบไปเที่ยววัดร้าง แถวลำปางมีวัดร้าง เราก็เข้าไปดูพวกหน้าบานประตูบานหน้าต่าง ดูพระพุทธรูปในวัด พวกพระที่เป็นงานไม้ ที่ลำปางมีวัดเก่า ๆ เยอะนะครับ ก็ชอบไป สมัยเด็ก ๆ ก็ปั่นจักรยานไปเที่ยววัด บางทีก็ไปขุดพระกับเขาด้วย สนุกดีครับ”

เรียกว่าเป็นต้นทุนที่เราศึกษามาตั้งแต่เด็ก ๆ

“ใช่ครับ ใช่ คล้าย ๆ กับมันซึมซับมาตลอด คือของเก่าพวกนี้ มันมีทริค มีวิธีการดูอยู่นิดเดียวเอง คือถ้าดูเป็น มันเป็นนิดเดียวเองนะครับ คือถ้าดูไม่เป็นก็ไม่เป็นตลอด บางคนฝึกแค่สี่ห้าวันแล้วเป็นก็มี มันเหมือนการปั่นจักรยานนั่นแหละ ถ้าปั่นได้เดี๋ยวมันก็ไม่ล้ม ทีนี้ก็ขี่ไปได้เรื่อย ๆ แต่บางคนหัดยังไงก็ไม่เป็น พอไม่เป็นยังไงก็ไม่เป็นเลยนะ คือว่ายังไงดี มันต้องใช้ เซนส์ มีเทคนิคเวลาดูของเก่า ต้องมีประสบการณ์ มีความเข้าใจ เรื่องของยุคสมัยคือในทุกยุคทุกสมัย มันก็มีศิลปะ มีรูปแบบต่าง ๆ อย่างเช่น อยุธยา เชียงแสน สุโขทัย มันมีฟอร์มของมัน  ก็เหมือนอย่างเสื้อผ้านั่นแหละ ถ้าเราเข้าใจก็จะรู้ว่าป็นศิลปะอยุธยา หรือเป็นงานสมัยไหน  ซึ่งถ้าทำของเก๊มา ยังไงมันไม่เหมือนกันนะ มาปั้นที่หลังยังไงก็ไม่เหมือน มันมีมิติมีอะไรหลาย ๆ อย่างของมัน มาปั้นใหม่ยังไงก็ไม่เหมือน นอกจากถอดแบบจากของแท้มาถอด อันนี้จะเหมือน มันจะมีรูปแบบของมันเป็นเซตไปเลยว่า อันนี้อยุธยา อันนี้เชียงแสน อันนี้สุโขทัย”

ป๊อกจตุจักร-3

ดูจากฟอร์มจากยุคสมัย คล้าย ๆ กับดูรูปเขียนหรืองานปั้นในเชิงศิลปะ

“ใช่ครับ มันจะมียุคสมัยมีฟอร์มตามยุคสมัยของมัน เราต้องดูศิลปะให้ออก ให้ศิลปะถูกต้องตามสมัยก่อน ต้องฝึกความรู้ศิลปะ ดูว่าเป็นงานของช่างพวกไหน ยกตัวอย่างง่าย ๆ อย่างเช่นยุคนี้เราใส่เสื้อผ้าอย่างนี้ พออีก 100 ปีผ่านไป คนสมัยนั้นก็จะศึกษาว่าเสื้อผ้ายี่ห้อนี้กำลังดังในยุคนั้น เขาก็จะรู้ว่า ศพพวกนี้ตายมาช่วงปีนี้”


แล้วจากที่คลุกคลีกับของเก่ามาตลอด ตามรสนิยมส่วนตัวมีชอบงานสมัยไหนเป็นพิเศษไหม

“จริง ๆ แล้วงานภาคเหนือ อย่างความละเอียดอ่อน ความเป็นช่างฝีมือ สู้ภาคกลางไม่ได้นะพี่  แต่ภาคเหนือมันมีความเป็นโฟล์ค มันเป็นศิลปะแบบพื้นถิ่น เสน่ห์ของมันคือความประณีตของงาน อย่างภาคเหนือก็จะดีกว่างานของลาวและงานภาคอีสาน  แต่งานภาคกลางก็จะดีกว่าภาคเหนือ แต่ถ้าเอาส่วนตัวที่ผมชอบเป็นพิเศษ ผมจะชอบงานลาว ชอบงานที่ช่างฝีมือชาวบ้าน ๆ ไม่ต้องมีสกุลช่างสูง แต่งานดูเป็นศิลปะ ผมชอบอย่างนั้นมากกว่า ผมไม่ชอบสุโขทัย ผมชอบงานโฟล์ค อย่างพระสกุลล้านช้าง ผมชอบ อย่างฝีมือช่างสาย ลำปาง แพร่ น่าน ผมก็ชอบ คือดูเหมือนเขาตั้งใจทำดี ฝีมือเขาไม่ดีนะ แต่เขามีความตั้งใจ งานมันออกมาก็จะเห็ฯถึงความตั้งใจ”

ถ้าพูดถึงงานสกุลช่างชาวบ้านแบบนี้ ตอนนี้ใครรู้จักเก็บอนาคตก็อาจมีค่ามีราคา

“ใช่ครับ อย่างเช่นชุดบ้านทวาย ชุดสมัยก่อน ชุดยี่สิบ สามสิบ ปีที่แล้ว ที่เข้าเก็บกันมา พวกงานดี ๆ ตอนนี้มันก็มีราคานะ พระพุทธรูปที่เขาหล่อก็เริ่มมีราคาแล้วนะ จากเมื่อก่อนแค่องค์สองสามหมื่น ที่เก็บมาตอนนี้มีราคาหมด แต่มันก็ไม่ใช่ทุกชิ้น มันต้องเป็นงานศิลปะดี ๆ นะครับ”

ถามจริง ๆ เถอะ พวกพ่อค้าขายของเก่านี่เขาเคยถูกหลอกหรือพลาดกันบ้างไหม

“ไม่มีครับ มันไม่มีแน่ มันไม่ใช่ถูกหลอก หรือซื้อของปลอมมาแน่นอน เพราะเราดูออกครับ แต่เป็นเรื่องอื่นมากกว่า เช่น บางที่เราซื้อของมาผิด ซื้อตามสเปคลูกค้าแต่เป็นของแพงมาก คาดว่าจะขายให้ลูกค้ารายนี้ไป แต่มันก็ไม่ดังหวังก็ต้องไปขายให้ร้าน ก็ไม่ได้กำไรอย่างที่หวังไว้ล่ะ มันก็เป็นเรื่องธรรมดาของพ่อค้าของเก่า บางที่ซื้อแพง มันเป็นจังหวะด้วย แต่ถูกหลอกนี่คงไม่มี เพราะจริง ๆ ในวงการค้าขายแบบนี้มันจะมีกลุ่มพ่อค้ากลุ่มที่คบหากันสนิทกัน ก็รวมตัวกันไปเปิด ก็เป็นลูกค้าสนิทกันมาสิบกว่าปี พวกพี่ ๆ เขาก็รู้จักกันมาตั้งแต่เด็ก ๆ ก็มีกลุ่มลูกค้ามา  join กันตลอด”

ป๊อกจตุจักร-7

Business tips เทคนิคสั้น ๆ สำหรับคนที่อยาเป็นพ่อค้าแอนธิคจากแผงลอยสู่กิจการ Tawa Antiques

“ผมเรียนออกแบบจิลเวอรี่มาครับ ผมทำอินทีเรียก็จะตกแต่งให้ลูกค้าแนวแบบเอาของเก่า เอาของเก่าไปตั้ง แล้วก็เริ่มขยายจากแผงพระ คราวนี้เลยเอามาขาย ก็ค่อย ๆ ดูค่อย ๆ เริ่มตามความต้องการของลูกค้า  คือเรางานมันจะมี Design มันก็เกิดจากความชอบจากของเก่า มันแต่งแล้วสวย มันดูมีรสนิยมไงครับ เอามาแต่งมันดูไม่เชย เราก็เลยในจังหวะซื้อมาก็ขายไป ขายได้ก็เลยเปิดร้านเลยคราวนี้ คือร้านไทยตะวา ตะวาเป็นคำเมืองครับ แปลว่าเมื่อวานเหมือน yesterday”

“ก็เริ่มมาประมาณ 2548 ครับ เริ่มขยับมาจากแผงพระ ก็ไปเปิดที่พัทยา ไปเปิดที่จตุจักรในกรุงเทพ แล้วก็มาเปิดที่เชียงใหม่ เปิดไล่กันเป็นปี ๆ ที่กรุงเทพเป็นร้านใหญ่สองร้าน ที่เชียงใหม่ร้านหนึ่ง พอดีช่วงนั้นลูกค้าผมไปเจอพวกดีลเลอร์พวกต่างประเทศ พวกพ่อค้าด้วยกัน มันก็ดึงเพื่อน ๆ กันมา มันก็มีความต้องการของเยอะไง ผมก็เลยต้องเพิ่มทุน เพิ่มการขาย เปิดร้านเพิ่มหาของมาลงเพิ่ม จังหวะนั้นก็กลายเป็นจังหวะที่ลูกค้าเยอะขึ้น เราก็กลายเป็นคนกลาง คอยหาของมาป้อน”

ป๊อกจตุจักร-8

“เทคนิคของผมคือเวลาทำอะไร เราก็ต้องคิดเผื่ออนาคตด้วย ไม่ได้นั่งขายไปเรื่อยเปื่อย ผมก็ยังต้องคิดงานใหม่ๆเรื่อยๆ ตอนผมทำอสังหาด้วยเล็กๆ ไม่ได้ทุนเยอะแยะอะไรมากมาย ผมสร้างบ้านขายที่แม่แตง แล้วก็ที่ลำปาง เป็นรีสอร์ท สร้างไว้ขายกับพวกที่ชอบของเก่าสไตล์นี้เหมือนกัน คือเราเอาวิธีการตกแต่งในสไตล์ของเรามาทำบ้านนั่นแหละ คืออย่างที่ผมบอกว่าอย่าแบบนั่งขายกันไปเรื่อยเปื่อย เพราะของเก่ามันก็มีวันหมดมันไม่ได้ผลิตเองได้นี่ครับ อย่างทุกวันนี้มันก็หมดแล้วนะ อย่างของที่ขายทุกวันนี้มันก็วนเวียนจากพ่อค้าด้วยกัน ก็ขอซื้อต่อ ๆ กัน บางที่ก็จากชาวบ้านที่ร่ำรวยที่สุดมาเก็บไป นาน ๆ จะเจออย่างนั้น ตอนนี้ค้าขายทุกวันนี้คือพ่อค้าด้วยกันนั่นแหละราก็ต้องมองทางอื่นไว้บ้าง”


“ส่วนเทคนิคสำหรับคนที่อยากเอาดีทางขายของเก่า อย่างง่ายๆเลยนะคือเราต้องหาลูกพี่ให้ได้ก่อน แล้วไปเกาะเขา ไปเป็นลูกน้องเขาบ้าง หาคนที่เขาเก่งๆไปดูไปขอช่วยเขา หัด ไปซื้อๆไปขายๆ ฝึกกับเขา ของพวกนี้มันก็ต้องมีคนนำนิดหนึ่ง แล้วเราค่อยสังเกตหาลูกค้า หาลู่ทางกันออกมา”

ป๊อกจตุจักร-2

Humans Of Chiang Mai

“เชียงใหม่เป็นเมืองน่าอยู่ ผมมาอยู่ตั้งแต่เรียน เรียนจบก็ทำงานที่นี้เลย คือมันพอดี ความเจริญก็พอดีและความเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นก็ยังเหลืออยู่บ้างโรงพยาบาลการศึกษาก็พร้อม อยู่กรุงเทพก็วุ่นวายไป แต่อยู่เชียงใหม่กำลังพอดี ผมรู้จักคนกรุงเทพเยอะมาเลยเขาก็มาอยู่เชียงใหม่เยอะมากเลยนะทั้งฝรั่งทั้งคนไทย”

ป๊อกจตุจักร-11

“ผมชอบปั่นจักรยานครับ เพราะแต่ก่อนผมตีเทนนิส แล้วหัวเข่ามันกระแทกก็เลยเข้าโรงพยาบาล หมอก็แนะนำให้ไปว่ายน้ำ แต่ผมเป็นคนขี้หนาวผม ก็เลยมาปั่นจักรยานดู ตอนแรกผมก็ยังสองจิตสองใจอยู่ว่าจะปั่นดีหรือเปล่า เพราะมันเหนื่อย แต่พอดีไปได้เพื่อนคนเขาปั่นเก่ง ๆ มาเทรนให้ มันมีวิธีปั่น ปั่นอย่างไรให้ได้ระยะไกล ด้วยความเร็วสูง เดี๋ยวนี้พอปั่นเป็นก็เลยชอบ ก็เลยติดมันเลยครับ แล้วเวลาปั่นเราก็ได้ก็คิดเรื่องงานเรื่องอะไร มันเพลินดี ยิ่งเวลาเราปั่นไกล ๆ 100 200 กิโล ผมคิดเรื่องงานตลอด คิดไปเรื่อย มันคลายเครียดด้วย ยิ่งปั่นไปในประเทศลาว ผมชอบ มันเงียบดี คือจริง ๆ มันมีโครงการและมีอะไรหลาย ๆ อย่างนะครับ ที่ผมคิดได้ตอนขี่จักรยานนี่แหละ ก็เลยชอบครับ จะเรียกว่ามีความสุขกับการปั่นจักรยานก็ได้ครับ”

ป๊อกจตุจักร-5

ป๊อกจตุจักร-10

เรื่องราวชีวิตของ  Humans of  Chiang Mai คนต่อไปจะเป็นใคร ติดตามกันได้ที่นี่ และถ้าหากใครมีบุคคลแห่งแรงบันดาลใจที่อยากแนะนำ ก็อย่าลืมแวะมาเม้นท์มาแชร์ให้เราได้รู้จะได้ตามไปเจาะลึกกันอย่างทันท่วงที ราตรีสวัสดิ์ครับพี่น้องชาวเชียงใหม่

Relate Posts :