1. ที่ร้านสุนทรารมณ์-แม่โจ้
ตอนแรกเรานัดกันประมาณสี่-ห้าโมงเย็น เพราะจะได้มีเวลาคุยกันตอนที่วงทำซาวน์เช็ค แต่เอาเข้าจริงๆก็มีการเลื่อนเวลากันเล็กน้อย พี่ตุลกับพี่บอลมาถึงที่ร้านก่อน ทั้งคู่เดินยิ้มแย้มทักทายทีมงานในร้านอย่างเป็นกันเอง ไม่มีทีท่าวางมาดเย่อหยิ่งแบบคนดังและไม่เคยปฎิเสธใครก็ตามที่มาขอถ่ายรูปด้วย
“เดี๋ยวรอแป้บนึงนะครับ รอให้มากันครบวงก่อน จะได้คุยกันครับ” พี่ตุลบอกกับเรา
ประมาณครึ่งชั่วโมงสมาชิกที่เหลือทั้งพี่ปั้ม พี่ใหม่และพี่จ้าก็มาถึง หลังเตรียมเครื่องไม้เครื่องมืออยู่ไม่นาน พวกเขาก็เริ่มทำ ซาวน์เช็ค
(จากซ้าย พี่ปั้ม-กีตาร์ พี่ใหม่-เบส พี่ตุล-ร้องนำ พี่บอล-กีตาร์ และพี่จ้า-กลอง)
… การสั่นสะเทือนทำสติฟั่นเฟือน
ความเมามันส์ทำให้สมองเลอะเลือน
เฮ้ เยาวชน คุณต้องระวัง
คุณอาจขายวิญญาณให้เสียงเพลงที่แผดดัง
ไม่มีเอกราช อนาคตของชาติ
Rock n Roll นั้นทำให้คุณกลายเป็นทาส
ติดกับบทกวี ติดกับเสียงดนตรี
ติดกับชีวิตโลดแล่นยามราตรี
พร้อมหรือยังครับ พร้อมหรือยังครับ
พร้อมหรือยังครับ ถ้าผมร้องส่งขอให้คุณร้องรับ
เราคือระเบิดเวลาที่ทำลาย dance floor
เพื่อล้างแค้นชาวร็อคที่ไม่รู้จักพอ
เราคือระเบิดเวลาที่ทำลาย dance floor
พวกเรามีความรักที่ไม่รู้จักรอ ….
“ระเบิดเวลา” ถูกใช้เป็นเพลงแรกสำหรับซาวน์เช็ค ด้วยเสียงกีตาร์กวนๆสองประสานและไลน์เบสยียวนในลีลาพังก์ เราเห็นพี่ตุลเริ่มโยกย้ายไปตามจังหวะ และเดินไปมาเพื่อฟังเสียงจากจุดต่างๆในร้าน
“เยี่ยมครับ โอเคครับ ใช้ได้แล้วครับ” พี่ตุลบอกกับสมาชิกในวงและทีมงานคนอื่นๆ
2 “ดื่ม”
หลังทำซาวน์เช็ค เรามานั่งคุยกันตรงโต๊ะหน้าร้าน ขณะที่ทีมงานในร้านกำลังวุ่นวายอยู่กับการจัดเตรียมสถานที่ เพื่อเตรียมรับลูกค้าที่จะมาดูมินิคอนเสิร์ตในคืนนี้
บนโต๊ะระหว่างพูดคุยมีเฟรนช์ฟรายด์ทอดจานใหญ่ ไส้กรอกทอดสีซีดๆ น้ำดื่มยี่ห้อที่เป็นสปอนเซอร์ในงานและควันบุหรี่ ที่กำลังโรยตัวเปล่า-ไม่ใช่ควันบุหรี่จากมวนของพี่ตุล เพราะมวนที่พี่แกคีบเอาไว้ขณะพูดคุย แกจุดสูบหลังบทสนทนาบทนี้
หลังงานครบรอบสิบสามปี มีงานอะไรใหม่ออกมาบ้างครับ ?
“ตอนนี้ก็มีซิงเกิ้ลที่ปล่อยออกมาสามเพลงครับ คือเพลงเปลือก ระเบิดเวลา แล้วก็เพลงโลกระยำ แต่ที่เป็นอัลบั้มเต็มก็คงอีกซักพัก น่าจะราวๆปีหน้านี่แหละครับ”
ชื่อชุดอะไรครับ พอจะบอกได้ไหม ?
“ได้ครับ บอกได้เลย ชื่อชุดลักษณะนิยม”
คอนเซ็ปต์ก็ยังพูดถึงสังคมและความสัมพันธ์ เหมือนเดิม ?
“ใช่ครับ เพราะมันเป็นเรื่องที่อยู่กับเรา เป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นเรื่องที่เราคิด เรารู้สึกกับมันตลอด” ตุลบอกกับเรา
“มันเป็นเรื่องที่เราหนีมันไม่พ้นน่ะ เป็นเรื่องเดิมๆที่มันมีอะไรเงื่อนไข มีอะไรเปลี่ยนไป แต่ก็ยังอยู่กับเรา อย่างเรื่องสังคม การเมืองหรืออะไรก็ตาม เราหนีมันไม่พ้นหรอก แต่ในนั้นมันจะมีเงื่อนไขอะไรที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆตามยุคตามสมัย” พี่บอล กล่าวเสริม
“อย่างเรามีเพลงโทรธิปไตย ตอนนั้นตอนที่เขียน ช่วงนั้นคนเพิ่งจะติดมือถือกันใหม่ๆ แล้วเดี๋ยวนี้เห็นไหม คนยิ่งติดมากขึ้น สมัยนั้นยังแค่โทรอย่างเดียว ไม่มีไลน์ ไม่มีอะไรเลย แต่เดี๋ยวนี้คนยิ่งติดกันมากขึ้น” พี่ตุลว่า
“คือบางทีเรื่องเดิม สังคมเดิมๆ แต่มันมีอะไรมีเงื่อนไขมากไปอีก อย่างตอนนั้นคนก็ติดโทรศัพท์แล้ว แต่เดี๋ยวนี้ยิ่งกว่าเดิมมันกลายเป็นอวัยวะเป็นปัจจัยอะไรไปแล้ว ลองคุณไม่มีโทรศัพท์สักวันสิ เรื่องใหญ่เลย มันขาดไม่ได้แล้ว คือยิ่งกว่าเก่าอีก” พี่บอลว่า
เป็นศัตรูที่ลื่นไหลในสังคมเดิมๆ?
“ใช่ครับคือมันมีอะไรมากขึ้นไปอีก จากเรื่องที่เราพบเราเจอ อย่างเมื่อก่อน ผมมีเพลงกำแพง ซึ่งพูดถึงเรื่องค่ายเพลง (จะไม่มีกำแพงขวางกั้นคนดนตรี จะหลับตานอนฝันถึงวันพรุ่งนี้ที่ดี จะไม่มีอาร์เอส หัวลำโพง หรือแกรมมี่ จะไม่มีสมอลล์รูม เบเกอรี่ หรือโซนี่ ด้วยกลไกการตลาด มันเป็นเรื่องของคนขลาด ที่ปฎิเสธความจำเป็นของอ็อกซิเจนในอากาศ อยากให้มองบทเพลงในแง่ของศิลปะ ที่ไม่ใช่สินค้าพอเอามาขายแล้วคือขยะ – ท่อนหนึ่งในเพลงกำแพง)
แต่ตอนนี้กำแพงเรื่องค่ายเพลงมันไม่มีแล้ว ทุกค่ายร่วมงานกันได้แล้ว เพราะมันคือเรื่องของการทำงานไม่ต้องมาแบ่งค่ายอะไรกัน ดนตรีมันเป็นเรื่องของศิลปะ เราเล่นด้วยกันงานออกมาดีทุกคนก็วินวิน ไม่มีอะไรเสียแต่ตอนนี้ มันก็มีปัญหาใหม่อีก มีกำแพงอันใหม่มาขวางกั้นอีก” พี่ตุลอธิบาย
เรื่องกำแพงค่ายจบไปก็มีกำแพงอะไรใหม่อีก?
“ครับ คราวนี้เป็นกำแพงสปอนเซอร์ เป็นกำแพงที่นักการตลาดเขาคิดขึ้นมา เพื่อกั้นผลประโยชน์ อย่างในชุดนี้ ผมมีเพลงหนึ่ง ชื่อเพลง”ดื่ม” ซึ่งเป็นซิงเกิ้ลใหม่ซึ่งจะปล่อยเร็วๆนี้ คือผมพูดถึงเรื่องของเครื่องดื่มแต่ละค่าย ซึ่งการเป็นสปอนเซอร์นี่มันเหมือนกับการกั้นค่ายไปเลย ยกตัวอย่างถ้าเครื่องดื่มยี่ห้อนี้มาสนับสนุนงานนี้ ในงานคุณจะหาอย่างอื่นดื่มไม่ได้เลย ซึ่งมันแย่นะ บางทีเราอยากดื่มยี่ห้อนี้ก็ไม่ได้ ต้องดื่มแต่เฉพาะที่เป็นสปอนเซอร์ ผมว่ามันเป็นการจำกัดสิทธิกันเกินไป อย่างในงานบางที่คุณแค่ติดป้าย ติดแบรนด์เนอร์ไว้คนก็รู้แล้ว ไม่ต้องบังคับควบคุมกันขนาดนั้น”
กลายเป็นยุคที่กำแพงถูกสร้างโดยสปอนเซอร์ ?
“ครับ กลายเป็นว่าพรีเซนเตอร์ยี่ห้อนี้จะไปเล่นกับคนที่เป็นพรีเซนเตอร์อีกยี่ห้อไม่ได้ มันคืออะไร คือจริงๆคนเห็นหน้าก็รู้แล้วว่าคุณเป็นพรีเซนเตอร์ยี่ห้ออะไร ไม่ต้องไปบังคับขนาดนั้นมันเป็นการบังคับด้วยเงื่อนไข ของโฆษณามากไป” พี่ตุลบอกเราก่อนจิ้มไส้กรอกในจานเข้าปาก
“เหมือนอย่างผมดูละคร บางทีเดี๋ยวนี้มีการให้ดาราเดินไปจิบน้ำต้องบอกด้วยว่า คอแห้งจังดื่มน้ำยี่ห้อนี้ดับกระหายดีกว่า (หัวเราะ) ซึ่งมันเป็นบทพูดที่เราไม่พูดกันในชีวิตประจำวัน หรืออย่างฉากในบ้านก็ต้องมีน้ำมีอะไรที่เป็นสปอนเซอร์ตั้งเอาไว้ในบ้าน” พี่จ้าพูด
“มันเยอะไป คือถ้าแบบนี้นักบอลที่มีสปอนเซอร์คนละข่าย มีโลโก้ยี่ห้อรองเท้าหรืออะไรก็เตะกันไม่ได้สิ เพราะสปอนเซอร์คนละตัวกัน แบบนี้ผมว่ามันไม่ถูกนะ” พี่ตุลพูด
สปอนเซอร์เลยกลายเป็นกำแพงเหมือนปีศาจตัวเก่าไปก็มีปีศาจตัวใหม่มา?
“มันไม่ถึงกับปีศาจหรอก เพียงแต่ผมว่าเขาควบคุมและคิดอะไรแคบไป อย่างผมกับตุลก็เรียนการตลาดมา คือเราก็เข้าใจในการทำงานในทฤษฎีของเขา เพียงแต่ว่าในโลกทุนนิยมนี่มันควรจะมีทางเลือกมากกว่านี้ ไม่ใช่คิดแคบๆแบบนี้” พี่ปั้มพูดบ้าง
“คือ เราเข้าใจเรื่องโลกทุนนิยมนะ เราหนีมันไม่ได้หรอก แต่เราต้องอยู่กับมันให้ได้ แต่จะอยู่ยังไง อย่างเดี๋ยวนี้เวลาไปงานบางที เขามีเรื่องขอให้ใส่สีนี้ๆไป ซึ่งก็โอเคว่าเป็นธีมของงานมันก็สนุกดีแต่สีที่เป็นธีมคือเหมือนบังคับให้เราต้องใส่สีที่เป็นสีของสปอนเซอร์คือถ้าใส่ผิดไปก็ไม่ได้อีก” พี่ตุลพูด
“มันมีงานหนึ่งผมอยากดื่มน้ำอัดลมมาก แต่สปอนเซอร์ในงานเป็นเครื่องดื่มชูกำลัง ในงานจะไม่มีน้ำอัดลม ไม่มีน้ำดื่มอะไรขายเลย มีแต่เครื่องดื่มชูกำลังของยี่ห้อที่เป็นสปอนเซอร์ คิดดูแบบ เราหิวน้ำแต่ไม่มี ใครมันจะไปดื่มแต่เครื่องดื่มชูกำลังมันเกินไป” พี่บอลเสริม
“คืออย่างงานดนตรีที่อื่น อย่างแกลสตันเบอรี่ (งานเทศกาลดนตรีที่อังกฤษ) เขาก็มีสปอนเซอร์มีอะไร แต่ในงานคือเขาก็เปิดกว้าง มีของขายมีอะไรที่มันไม่ได้ถูกจำกัดแบบบ้านเรา ผมถึงว่าเราต้องอยู่กับทุนนิยมให้ได้แต่จะอยู่ยังไงให้มันบาลานซ์กัน ให้มันเกิดสมดุลกัน แล้วก็วินวินทั้งคู่ ไม่ต้องถูกควบคุมหรือถูกบังคับอะไร” พี่ตุลพูดสรุปก่อนจุดบุหรี่สูบ
3.เชียงใหม่วันนี้
“เมื่อก่อน ผมเคยคิดอยากมีที่ มีอะไรที่เชียงใหม่เหมือนกัน แต่ตอนนี้มันแพงมากนะ เรื่องราคาที่ราคาบ้าน คือมันเจริญเร็วมาก ซึ่งมันห้ามไม่ได้หรอก เรื่องของความเปลี่ยนแปลงเรื่องของความเจริญ แต่คือที่นี่มันจะมีลักษณะ มีรูปแบบเฉพาะของมันอย่างมันเป็นเมืองที่เจริญแต่ก็ยังมีศิลปะมีรูปแบบอะไรของมันอยู่ ” พี่ตุลว่า
“ปกติผมจะมาเชียงใหม่บ่อยมาก คือผมชอบแล้วก็คุ้นเคยกับเชียงใหม่ แต่ที่เปลี่ยนไปคือเดี๋ยวนี้รถติดมาก แล้วบางมันก็มีอะไรเกิดขึ้นเรื่อยๆอย่างเรามาก็เห็นไอ้นี่ พอมาอีกที อ้าวตรงนี้มันมีตึกใหม่ขึ้นอีกแล้ว มาอีกที อ้าว ตรงนี้กลายเป็นมีพลาซ่าเปิดอีกแล้ว คือมันโตขึ้นเรื่อยๆ” พี่บอลเสริม
“คือพอเรามาแล้วก็มีอะไรเปลี่ยนไปเรื่อย ทุกครั้งที่เรามาแต่ที่ยังอยู่ก็คือบรรยากาศ” พี่จ้าพูด
“แต่สำหรับผม ผมว่าเชียงใหม่มันมีเอกลักษณ์อยู่อย่าง อย่างเรื่องศิลปะหรือดนตรี ที่อื่นไม่มีน่ะ เชียงใหม่มี อย่าง Minimal Records โอ้โห อันนี้สุดยอดเลย เรื่องดนตรีเรื่องอะไร” พี่ปั้มว่า
แล้วพี่ใหม่ล่ะครับ?
“พี่ใหม่เขาชอบสาวเชียงใหม่ครับ” พี่ตุลแหย่พี่ใหม่ เรียกเสียงหัวเราะได้ทั้งวง
“ผมชอบอากาศชอบอะไรหลายๆอย่างที่นี่ครับ” พี่ใหม่บอก
คืนนี้เล่นสี่ทุ่มครึ่ง ซาวน์เช็คเสร็จแล้วจะไปไหนกันต่อหรือเปล่าครับ?
“เดี๋ยวผมคงไปเดินเล่นในเมืองก่อนครับ เดี๋ยวสักสี่ทุ่มจะมาสแตนด์บายที่ร้านครับ แล้วคืนนี้จะมาดูหรือเปล่าครับ” พี่ตุลถาม
“มาครับเดี๋ยวเจอกันตอนค่ำๆ” เราตอบก่อนจะแยกย้ายกันจากวงสนทนา ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เบียร์ยี่ห้อที่เป็นสปอนเซอร์ของมินิคอนเสิร์ตที่ร้านนี้ กำลังขนของลงจากรถพอดี
4.ร็อกแอนด์โรลเราเล่น หรือ เราเล่นร็อกแอนด์โรล
สุนทรารมณ์เป็นร้านเหล้าไซส์ s อยู่แถวแม่โจ้ ถ้ามาจากในเมืองทางเส้นแม่โจ้-พร้าวให้ยูเทิร์นตรงสามแยกไฟแดงแม่โจ้ ชิดซ้ายเอาไว้แล้วเลี้ยวเข้าซอยเล็กๆตรงร้านพ้วย ข้าวต้มเข้าไปจะเจอร้านอยู่ทางขวามือ มินิคอนเสิร์ตครั้งนี้เขาคิดค่าโต๊ะพันห้า นั่งได้หกคนและมีเบียร์ให้ดื่มโต๊ะละหนึ่งลัง
เราไปถึงที่ร้านอีกทีประมาณสองทุ่มบอย อิมเมจิน กำลังเล่นเพลงของเขาอยู่บนเวที ในฐานะวงเปิด และต่อมากับวงเดอะดั๊ก ก่อนจะปิดท้ายด้วยร็อกแอนด์โรลกวนๆแบบพังก์ของอพาร์ทเม้นต์คุณป้า ที่ทำเอาคนดูเกือบทั้งร้านถึงกับนั่งไม่ติดเก้าอี้
การแสดงจบในราวเที่ยงคืน ตอนหนึ่งที่เราออกมายืนสูบบุหรี่กันตรงหน้าร้าน พี่บอลถามว่า “สนุกไหมครับ?” เราไม่รู้จะบอกว่ายังไงเลยได้แต่ยิ้มพยักหน้าให้พี่เขา ก่อนจะร่ำลาและแยกย้ายกันไป แบบมึนๆด้วยฤทธิ์ของเครื่องดื่มที่เป็นสปอนเซอร์ของงาน