Humans Of Chiang Mai ปิงปอง : แม่ค้าหมูย่าง : Power Of Social Media “Nobody to Somebody”

Humans Of Chiang Mai : อรวี สิงห์แดง (ปิงปอง) อายุ 22 ปี

        ว่ากันว่าปัจจุบันสิ่งที่เปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนมากมาย หรือในบางคราอาจจะเปลี่ยนชีวิตของคนคนหนึ่งจากคนธรรมดาไปสู่การเป็นบุคคลสาธารณะที่มีผู้คนมากมายติดตามและรู้จักได้มากเป็นสิ่งต้นๆ คือสิ่งที่เราเรียกว่า โลกโซเชียลมีเดีย (Social Media) เมื่อโลกเสมือนจริงนี้เกิดขึ้น วิถีชีวิตในโลกแห่งความเป็นจริงของมนุษย์ก็จำต้องเปลี่ยนไปตลอดกาล การสื่อสารก็เปลี่ยนแปลง สะดวกขึ้น รวดเร็วขึ้น ที่สำคัญไปกว่านั้น ปัจจุบันไม่ว่าใครก็สามารถเป็นที่รู้จักได้ไม่ว่าจะในทางใดก็ตามผ่านโลกโซเชียลมีเดียนี้ เพียงแค่ปลายนิ้วคลิกสู่ Facebook, Youtube, Instagram หรือ โปรแกรมออนไลน์อื่นๆ ก็เท่ากับเป็นการประกาศตัวตนของเราให้คนอื่นๆในโลกออนไลน์ได้รู้จักแล้ว

        แต่ใช่ว่าโซเชียลมีเดียจะมีแต่ข้อดี อย่างที่เราทราบหากสิ่งที่เราทำได้เปิดเผยต่อ “พื้นที่สาธารณะ” บนโลกออนไลน์แล้ว บางทีมันก็อาจเป็นตัวที่ทำลายชีวิตเราได้เลย หากสิ่งที่เราทำไปนั้นไม่ใช่เรื่องดี

        สำหรับชาวเชียงใหม่เมื่อไม่นานมานี้มีกระแสข่าวที่กำลังมาแรงคือ “แม่ค้าหมูย่างหน้าตาดี” ซึ่งเป็นเรื่องราวของ “ปิงปอง” อรวี สิงห์แดง สาวน้อยวัย 22 ปี จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เธอเป็นอีกคนที่เรียกได้ว่ามีผู้คนรู้จักจากการถูกอัพโหลดภาพลงในโซเชียลมีเดีย จนเกิดเป็นกระแสพูดกันปากต่อปากถึงแม่ค้าหมูย่างรายนี้ เธอเป็นอีกคนที่โซเชียลมีเดียได้เปลี่ยนชีวิตเธอไปตลอดกาล อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาเช่นนี้ วันนี้เรามีโอกาสได้พูดคุยกับเธอถึงมุมมองที่มีต่ออาชีพนี้ และการที่โลกโซเชียลมีเดีย ได้เปลี่ยนชีวิตของเธอ

ปิงปอง อรวี สิงห์แดง

-แนะนำตัวเองหน่อย

        “ชื่อ ปิงปอง ค่ะ อรวี สิงห์แดง อายุ 22 ปีแล้ว ตอนนี้เรียนอยู่ ปี4 คณะครุศาสตร์การประถมศึกษาที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ค่ะ เป็นคนเชียงใหม่ ก่อนหน้านี้ไปเรียนแม่โจ้มาปีนึง เรียนศิลปศาสตร์ภาษาอังกฤษ แล้วก็ตอนนั้นอยากเป็นครู ตอนแรกไปสอบพยาบาลแล้วไม่ติด ก็เลยมาลองสอบครูแล้วสอบได้ครูประถม ป.1-6 แม่กับพ่อก็เลยให้มาเรียนค่ะ “  ชอบเป็นครูเหรอ ? “ใช่ค่ะ ก็ชอบ รักเด็กด้วย ก่อนหน้านี้ก็เคยไปทดลองสอนมา 5 วัน แล้วเด็กก็รู้จักเราหมดเลย เพราะบ้านหนูขายของชำ อยู่ใกล้โรงเรียนด้วย เด็กๆก็จะชอบมาซื้อ”

-ตอนนี้ทำอะไรอยู่บ้าง

        “ก็ทำหมูย่างน้ำพริกข่า เปิดได้ 4 เดือน ก่อนหน้านี้จริงๆก็เคยขายดอกกุหลาบ ดอกละ 20 บาทแถวร้านอาหารกลางคืนกับเพื่อนๆ ชื่อ ดอกกุหลาบ ปอปิงปอง แต่ฝนมันตกก็ขายยาก เลยมาเปิดร้านเหล้าชื่อร้าน จอจิงจอง อยู่ข้างๆร้านหัวลำโพง เปิดได้ 8 เดือนก็มีปัญหา เลยหยุดไปค่ะ หลังจากนั้นก็ขายเหล้า แล้วก็มาทำหมูย่างขาย”

-มาเริ่มขายหมูย่างได้ยังไง

        “คือ สูตรหมูย่างนี้แม่เคยสอนนานแล้วค่ะ แล้วก็เลยมาเปิดเป็นเมนูพิเศษของร้าน จอจิงจอง ตอนนั้นขายจานละ 150 บาท ก็ขายดีมาก แต่ไม่ค่อยได้สนใจเท่าไหร่ หลังร้านปิดตัวลง เราก็คิดว่าน่าจะเอามาขายต่อได้ ก็เลยมาเปิดขาย 70 บาทในตอนแรก แต่เห็นว่าแถวราชภัฎนักศึกษาเยอะ ก็ลดเหลือแค่ 60 บาท”

-ช่วงแรกที่ขายเป็นอย่างไรบ้าง

        “ช่วงแรกก็ดีค่ะ เพื่อนมาอุดหนุนเยอะ แต่พอวันที่สาม สี่ไป เริ่มขายไม่ดี เพราะลูกค้าขาจรไม่ค่อยรู้กัน แต่หลังจากเดือนที่สาม เดือนที่สี่หลังมีข่าวก็เริ่มดีขึ้นค่ะ”

-กระแสใน Facebook มันเริ่มมาได้ยังไง

        “จริงๆปิงปองมีคนติดตามในเฟสบุคเยอะจากการทำอาชีพแต่ละอาชีพที่ผ่านมา ก็เลยโปรโมตหมูย่างในเฟสบุคของตัวเองไปเลย เพราะก่อนหน้านี้มีเว็บเพจหลายอันแล้วกลัวเพื่อนๆจะงง ก็เลยเอาเป็นเฟสของตัวเอง ก็อัพรูปอะไรแบบนี้ไป”

        “หลังจากนั้นมีพี่นักข่าวอิสระจากสำนักหนึ่งมาติดต่อ ตอนแรกก็แค่ถ่ายรูปเฉยๆ แต่พอถ่ายเสร็จเขาก็ชวนเพื่อนๆนักข่าวจากช่องหนึ่งในโทรทัศน์มาถ่ายด้วย ประมาณ 2-3 คน เขามาถ่ายตอนประมาณ 4 โมง หลังจากนั้นชั่วโมงเดียว ตอน 5 โมง เริ่มมีข่าว หลังจากนั้นช่วง ตี1 ก็ได้ออกข่าวในรายการข่าวดึกเลย พอดีเพื่อนไปเที่ยวกันแล้วเขาเห็น หลังจากนั้นช่วงเช้าก็ออกในรายการข่าวใหญ่เลย หลายช่องด้วย ก็ดีใจมาก”

-หลังเกิดกระแสแล้วร้านเป็นอย่างไรบ้าง

        “ดีค่ะ ก็ได้ขายเยอะ จากวันละ 50 ชุด เป็นวันละ 70 ชุด เลยปิงปองก็ไม่ต้องไปขายตอนกลางคืนแล้ว ปกติจะเดินขายตอนกลางคืนถ้ามันเหลือ ปกติร้านจะเปิด 10 โมง ถึง หกโมง แต่เดี๋ยวนี้บางวัน บ่ายสามก็ขายหมดแล้ว”

-ก่อนและหลังมีกระแสข่าวจาก Social Media ชีวิตเปลี่ยนไปเยอะมั้ย

        “เยอะมากค่ะ อย่างเรื่องขายของก็ไม่คิดมาก่อนว่าจะขายหมดเร็วมาก หมดก่อนเวลาปิดร้านอีก แล้วก็มีพี่ๆ เพื่อนๆมาถ่ายรูปเยอะ ไปมหาลัยก็มีแต่คนรู้จัก ตื่นเต้นนิดหน่อย ก็รู้สึกดีแล้วก็ปลื้ม มีกำลังใจจะทำต่อ”


        “ความจริงเราก็ใช้ Social ให้เป็นประโยชน์ในการขายหมูย่าง เพราะแม่เราเป็นแม่ค้า เขาก็เล่นไม่เป็น แต่เราเล่นเป็นเราก็ใช้จุดนี้มาประกอบในการค้าขาย ตอนนี้ก็รู้สึกเหมือนว่าเราเป็นคนของสาธารณะมากขึ้น จะทำอะไรก็ต้องระมัดระวังรอบคอบ”

-ก่อนหน้านี้ตามกระแสข่าวเราเคยเป็นพริตตี้มาก่อน รู้สึกอย่างไร

        “จริงๆแล้วพูดรวมๆก็คือได้ใช้ชีวิตวัยรุ่นมาแบบสุดๆเหมือนกัน แล้วมันก็จบแบบสวยงาม ถือว่าไม่เคยอายที่เคยทำอะไรมาแล้ว เพราะว่าเป็นบทเรียน แล้วก็ไม่ได้ผิดพลาดในชีวิต ชอบที่ได้ทำ ดีกว่าไม่ได้ทำ”

        “ในส่วนของพริตตี้ก็ได้ทำ แต่งานน้อย คนสวยก็เยอะ เลยรู้สึกว่าเรามานี้อาจจะไม่ถนัด ก็เลยเปลี่ยน แต่ก็รับถ่ายรูปบ้างเป็นบางครั้ง”

-เคยคิดหรือตั้งใจมั้ยว่า Social Media จะพาเรามาไกลขนาดนี้ มีคนรู้จักขนาดนี้

        “จริงๆตอนเล่นเฟสบุคก็ไม่ได้คิดว่าจะมีคนมารู้จัก จะได้ออกข่าว ออกทีวีอะไรขนาดนี้ เพราะคนติดตามเราก็พอมี ซึ่งเพื่อนเราก็มีคนติดตามเยอะเหมือนกัน ก็คิดแค่ว่ามันเป็นเฉพาะบางกลุ่ม เราก็รู้จักคนเยอะด้วย”

-แน่นอนว่าต้องมีกระแสบางกลุ่มที่ตั้งคำถามว่าหน้าตาดีแต่มาขายหมูย่างไม่อายหรือ เรารู้สึกอย่างไร ?

        “คืออยากจะบอกทุกคนว่า หลายคนนะ รวมถึงหนูด้วยเป็นคนที่มาจากชนบท (อ.ไชยปราการ) บางคนเข้ามาในเมืองก็มาเป็นพนักงานห้าง ไม่เคยอายที่ต้องไปตะโกนเรียกลูกค้าอยู่หน้าร้านไอศครีม แต่พอไปในตลาดสดกลับอาย เพราะเขาคงคิดว่ามันดูน่าอาย ไม่มีจุดเด่น ความจริงหนูคิดว่าเราทำอะไรก็ได้ เช่นขายของ เราก็ทำให้มีจุดเด่น มีจุดขาย หนูภูมิใจเสียอีกที่มาขายหมูย่าง ก็เหนื่อยมาเยอะนะ ไม่ได้มาขายปุ๊ปแล้วก็ดังเลย ต้องตื่น 7 โมงเช้า นอนก็ประมาณ ตี 1 ทุกวัน เพราะหมูมันขายไม่หมด”

        “เรียนหนังสือก็ต้องเข้าเรียน ถ้าไม่เข้าก็ไม่ได้คะแนน หมู น้ำพริกก็ต้องทำ บางวันต้องตำเอง ช่วงสองเดือนแรกทำเองหมดเลย แล้วก็ทิ้งให้พี่ร้านข้างๆดูให้ฟรี พอเหนื่อย เรียนเสร็จปิดร้าน 1 ทุ่ม เราก็ต้องไปเปลี่ยนเสื้อผ้าเพื่อเอาหมูที่เหลือไปขายกับน้องชายอีกคน ชื่อ ดิว ที่จะมาช่วย เพราะหมูจะเอาทิ้งก็เสียดาย”

        “บางครั้งก็อายนะเป็นผู้หญิงคนเดียวต้องไปในกลุ่มผู้ชายเพื่อขายอาหาร”

        “ตอนนี้ถึงไม่ต้องไปขายกลางคืนแล้วแต่ก็ยังรักษาลูกค้าที่เขาเคยช่วยตามร้านอาหาร ร้านละ 5 ชุด  10 ชุด ต่อวัน ก็เอาไปส่งขาย”

-เรื่องการแต่งตัวตอนนี้เป็นยังไง จากเมื่อก่อนที่ต้องแต่งตัวค่อนข้างแรงในการขายของ

        “ตอนนี้ก็จะเริ่มใสๆขึ้นค่ะ (ยิ้ม) เพราะเราเรียนครูด้วย ต้องรักษาภาพลักษณ์ เมื่อก่อนคิดว่าไม่จำเป็นนะ แต่ตอนนี้ก็คิดได้แล้วว่ามันจำเป็น พอโตขึ้นมุมมองก็เปลี่ยนไป”

ช : ดิว (วิทยาลัยนานาชาติ สาขา ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฎ เชียงใหม่) น้องชายที่มาช่วยขายหมูย่าง

-ทำไมถึงเลือกที่จะทำหมูย่าง

        “เพราะมันอร่อยไม่เหมือนใคร อีกอย่างเป็นสิ่งที่แม่ภูมิใจว่าเขาทำได้ เขาถ่ายทอดให้เรามาทำต่อได้ เราก็เลยรู้สึกว่าสิ่งนี้แหละมันสามารถสร้างรายได้ให้เรา ให้ครอบครัวได้”

        “สูตรนี้แม่ทำให้กิน สอนให้ทำตั้งแต่ประถมแล้วค่ะ เป็นเมนูที่ปิงปองชอบที่สุด”

        “หลังจากมีข่าวแล้ว แม่บอกเลยยังไม่ต้องกลับบ้าน ขายหมูก่อนๆ (หัวเราะ)”


        “ตอนนี้ก็ตั้งใจจะทำหมู ทำน้ำพริกให้ดีขึ้นเรื่อยๆค่ะ”

-หลังเรียนจบตั้งใจวางแผนอย่างไร

        “หลังเรียนจบ ก็อยากเป็นครูค่ะ เป็นครูก็ทำอาชีพขายหมูย่างไปด้วยได้นะ เสาร์-อาทิตย์ก็หยุด วันธรรมดาโรงเรียนเลิก 4 โมง ก็ไปขายต่อได้ ส่วนตัวก็อยากเป็นครูประถม”

-มีความใฝ่ฝันด้านอื่นอีกหรือไม่

        “อยากเป็นนักธุรกิจ(ยิ้ม) แตกต่างกันเลยใช่มั้ย คืออยากมีสินค้าเป็นของตัวเอง ครูเป็นสิ่งที่พ่อแม่เรารัก พ่อแม่อยากให้รับราชการ ซึ่งเราก็ชอบ แต่เราก็อยากทำในสิ่งที่เรารักอีกอย่างด้วยคือธุรกิจ สมัยนี้มันทำงานสองสามอย่างพร้อมกันได้”

        “ในส่วนธุรกิจตอนนี้ก็คงเป็นหมูย่าง เป็นของกินนี่แหละค่ะ เพราะว่าไม่มีโอกาสเหมือนคนอื่น เป็นผู้หญิงที่ไม่มีโอกาสเล่นหุ้นหรือขายเพชร ขายพลอย อสังหาริมทรัพย์อะไรใหญ่ๆแบบนั้น เพราะเราเริ่มจากศูนย์หมดเลย แต่เรื่องตลาดนี่เราถนัดเลย ไปบ่อย”

-ในส่วนของร้านหมูย่าง

        “ยังไม่คิดให้เป็นธุรกิจใหญ่โตอะไร กลัวจะมีปัญหาเหมือนร้านเหล้าที่เคยทำค่ะ ก็ค่อยเป็นค่อยไป ทำร้านนี้ให้แน่นก่อน ดูระยะเวลาว่าลูกค้ายังเหมือนเดิมมั้ย เขายังชอบอยู่มั้ย แล้วค่อยมาดูอีกทีว่าจะขยายอย่างไรค่ะ”

หมูย่างและน้ำพริก (ขอขอบคุณรูปจาก facebook ปิงปอง)

        ในการพูดคุยวันนี้เราเห็นถึงสองด้านหลักๆที่เราได้เรียนรู้จากปิงปอง ด้านแรกคือ “โลกเสมือนจริง” หรือ Social Media เป็นพื้นที่สาธารณะที่พร้อมเปิดโอกาสให้ใครก็ได้สามารถเป็นที่รู้จักในวงกว้างได้ ไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม ในส่วนนี้ พื้นที่สาธารณะที่เรียกว่า Facebook ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของแม่ค้าคนหนึ่งไปมากมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่เราจะใช้ตัวโซเชียลมีเดียให้เกิดประโยชน์ ท่ามกลางปัญหามากมายในปัจจุบันที่เกิดจากพื้นที่เหล่านี้ สอนให้เรารู้ว่าหากเรามีความตั้งใจที่จะใช้โลกออนไลน์ให้มีคุณค่า มันก็สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิต และที่สำคัญสร้างรายได้ให้เราได้ด้วย

        อีกด้านหนึ่ง ในกลุ่มวัยรุ่นปัจจุบันส่วนมากมักมองว่าอาชีพค้าขายเป็นสิ่งที่น่าละอาย ไม่มีเกียรติ ไม่มีตำแหน่งใหญ่โต แต่เธอกลับภาคภูมิใจในอาชีพนี้ ภูมิใจในความเป็นแม่ค้าขายหมูย่าง ภูมิใจในตัวอาหารที่แม่ ที่บ้านเกิดของเธอได้สั่งสอนมา บางทีมันอาจสะท้อนให้เห็นก้อนความคิดของวัยรุ่นปัจจุบันบางคนที่มักจะมองและตัดสินเลือกแต่สิ่งที่โก้หรูเกินความจำเป็นก็ได้ ,มิใช่หรือว่าอย่างน้อย สิ่งที่เธอได้ทำมันบ่งบอกให้เราเห็นว่าคนที่ไม่เคยลืมบ้านเกิดตนเอง อย่างไรเสียก็ไม่มีวันอับโชค ,มิใช่หรือว่าอย่างน้อยที่สุด เธอได้ยืนบนลำแข้งของตัวเองด้วยความภาคภูมิใจแล้ว

ข้อมูลเพิ่มเติม

ชื่อร้าน: หมูย่าง น้ำพริกข่า ปป.

เปิด-ปิด: ทุกวัน 10:00-18:00 ยกเว้นวันอาทิตย์

ที่ตั้ง: ปากซอย ถนนหมื่นด้ามพร้าคต 7

FB: Aorawee Singhdang

เรื่องราวชีวิตของ  Humans of  Chiang Mai คนต่อไปจะเป็นใคร ติดตามกันได้ที่นี่ และถ้าหากใครมีบุคคลแห่งแรงบันดาลใจที่อยากแนะนำ ก็อย่าลืมแวะมาเม้นท์มาแชร์ให้เราได้รู้ตามช่องคอมเม้นท์ด้านล่าง หรือ
  
เจ๋งจะได้ตามไปเจาะลึกกันอย่างทันท่วงที ราตรีสวัสดิ์ครับพี่น้องชาวเชียงใหม่

Relate Posts :