30 อาหารเหนือ ตี้คนเมืองเปิ้นกินกั๋น!

อาหารเหนืออาหารเมือง ของกิ๋นบ้านเฮา เลือกเอาเต๊อะนาย เป๋นของปื้นเมือง เป๋นเรื่องสบาย ล้วนซะป้ะมากมี ฟังฮื้อดีเน้อ ฟั่งใค้อยากจนเผลอ มาบลืนน้ำลาย คุ้นหูกันหรือเปล่ากับเพลง “ของกิ๋นคนเมือง” ของจรัล มโนเพ็ชร ที่ในเพลงถ่ายทอดเมนูอาหารเหนือกว่า 30 เมนู ซึ่งเป็นเมนูลับเด็ดเฉพาะที่คนเมืองเปิ้นกิ๋นกั๋น มีครบตั้งแต่ น้ำพริก ม๊อก แกง จอ คั่ว ลาบ ตำ ยำ เจียว นึ่ง หมก ปิ้ง ย่าง ทอด แอ็บ อ่อง หมักดอง แต่ด้วยสภาพสังคมและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ทำให้บางเมนูในเพลงหากินได้ยาก อย่างไรก็ตามยังมีเมนูเฉพาะที่คนเหนือทำกินกันอีกมากมายนอกเหนือจากในเพลง วันนี้รีวิวเชียงใหม่เลยจะชวนทุกคนมาเช็คลิสต์ 30 อาหารเหนือ อาหารเมือง ตามกาด ปลุกความเหนือในตัวคุณไปพร้อมกัน!


1. น้ำพริกอ่อง

มาเริ่มกันที่เมนูแรกในหมวดน้ำพริกอย่างน้ำพริกอ่อง ที่เด็กกินได้ ผู้ใหญ่กินดี เป็นน้ำพริกที่ไม่เผ็ดมากและได้ประโยชน์เต็มๆ จากวิตามินเอ เพราะมีนางเอกชูโรงอย่างมะเขือเทศ เพิ่มสีสันให้น้ำพริกเป็นสีส้ม ผนวกกับเครื่องแกงที่กลมกล่อมด้วยพริกแห้ง กระเทียม หัวหอม รากผักชี กะปิ และเกลือ บางสูตรใส่ถั่วเน่าเเข็บหรือเต้าเจี้ยวเข้าไปด้วยในการปรุงรส น้ำพริกจะมีรสชาติ เปรี้ยว เค็ม เผ็ดเล็กน้อยและหวานตาม กินได้กับทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นผักสด ผักต้ม แคปหมู ฯลฯ

2. น้ำพริกหนุ่ม

ชื่อก็บอกอยู่ว่าพริกหนุ่ม ก็คือพริกที่ยังไม่แก่จัด เป็นพระเอกชูโรงในการนำมาตำเป็นน้ำพริก น้ำพริกหนุ่มถืออาหารพื้นบ้านล้านนาที่เป็นที่รู้จัก มีขายทั่วไป และนิยมซื้อเป็นของฝาก มีวัตถุดิบอื่นๆ เช่น พริก กระเทียม หอมแดง บางสูตรใส่ปลาร้าสับ และกะปิห่อใบตองย่างไฟเพิ่มความหอมและความกลมกล่อมด้วย น้ำพริกจะลักษณะข้นและรสชาติเผ็ด ได้กับทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นผักสด ผักต้ม แคปหมู ฯลฯ

3. น้ำพริกข่า

ข่าาาสมชื่อ น้ำพริกเด็ดของคนเหนือ ที่หาวัตถุดิบได้ตามสวนหลังบ้าน น้ำพริกที่เผ็ดร้อนแบบตัวแม่ ไม่ต้องพึ่งพริกเยอะเลยเพราะข่ามีความเผ็ดร้อนในตัวอยู่เเล้ว นอกจากจะมีข่าเป็นตัวชูรสเเล้ว ยังมีพริกแห้ง กระเทียม หอมแดง มะแขว่นเป็นตัวเพิ่มรสชาติอีกด้วย บางสูตรจะมีการใส่เนื้อสัตว์ลงไปด้วยตามความชอบ เช่น ปลาเกล็ดขาวอบเกลือ ปลาแห้งย่าง หรือปลาป่น มักกินกับจิ้นนึ่ง ควายนึ่ง หัวหมูนึ่ง เห็ดนางฟ้านึ่ง หรือผักต้ม

4. น้ำพริกน้ำปู๋

น้ำพริกสีดำจากปูนาแท้ๆ ในท้องไร่ท้องนา ที่ชาวบ้านนิยมเก็บปูกันในช่วงปลูกข้าว แต่ด้วยขั้นตอนการทำที่พิถีพิถันและใช้ระยะเวลาในการทำนาน ปัจจุบันจึงนิยมใช้แบบสำเร็จตามตลาดแทน แต่รสชาติก็ออกมาเข้มข้นไม่แพ้กับทำเองแน่นอน ซึ่งน้ำปู๋ถือเป็นวัตถุดิบหลักในการทำน้ำพริกน้ำปู๋นั่นเอง และมีกระเทียม หอมแดง พริกสด ตะไร้ ผักชี เสริมรสชาติให้กลมกล่อมมากขึ้น มักกินกับหน่อต้ม ไข่ต้ม ผักสด ยอกกับข้าวเหนียวร้อนๆ บอกเลยว่าเด็ด

5. ม๊อกปู

มอบปู๋  ม๊อกปู หรือแกงม๊อปู เป็นของกินพื้นเมืองที่เกือบจะถูกลืม มีวัตถุดิบหลักคือปูนาปัจจุบันหากินค่อนข้างยาก บอกเลยว่าต้องพิถีพิถันทุกขั้นตอนตั้งแต่หาปู กรองน้ำปู และทำเครื่องแกง วัตถุดิบในการทำเครื่องแกง เช่น ตะไคร้ ข่า กระเทียม พริกแห้ง หอมแดง เม็ดผักชี มะแขว่น ที่สำคัญคือต้องใส่ข้าวคั่วเเละไข่ตบท้าย รสชาติจะคล้ายแกงเเค เพราะใช้ผักเหมือนแกงเเคเลย แต่พิเศษตรงที่น้ำจะหอมกลิ่นปูนา

6. แกงกระด้าง

มีอีกชื่อว่าแกงหมูหนาว เป็นแกงที่คนเหนือนิยมทำในหน้าหนาว โดยมีวัตถุดิบหลักอย่างขาหมูเป็นโปรตีนชั้นดี เพิ่มความอบอุ่นแก่ร่างกาย แถมยังเป็นส่วนที่มีเอ็นมาก ทำให้แกงข้น เกาะตัว กระด้างได้ง่าย แต่ปัจจุบันมีการเติมผงวุ้นเย็น ช่วยให้กระด้างได้ดีและเร็วขึ้น แกงกระด้างมี 2 สูตร คือสูตรแบบเชียงใหม่และเชียงราย โดยสูตรของเชียงรายจะมีการใส่เครื่องแกงลงไปด้วย ทำให้มีสีส้มจากพริกแห้ง เคล็ดลับคือต้องเอาขาหมูไปเผาไฟก่อนจะได้เลาะออกง่าย เพิ่มความนัวร์ด้วยกระเทียม พริกไทย รากผักชี ผักชี และต้นหอม กระบวนการเเข็งตัวอาจเกิดจากการนำไปใส่ตู้เย็น หรือทิ้งไว้ค้างคืนในหน้าหนาวก็ได้

7. แกงฮังเล

แกงข้นสีส้มพร้อมหมูสามชั้นนิ่มๆ ภาพจำที่ใครหลายคนก็คุ้นเคย แต่ใครจะไปรู้ว่านับเป็นหนึ่งในแกงที่ทำยากและใช้เวลานานมาก เนื่องจากเครื่องแกงต้องสดและละเอียดจริง ถ้าได้กินละก็ติดใจสุดๆ แกงฮังเลมี 2 ชนิด คือ แกงฮังเลม่าน และ แกงฮังเลเชียงแสน โดยแกงฮังเลเชียงแสนจะแตกต่างตรงที่มีถั่วฝักยาว มะเขือยาว พริกสด หน่อไม้ดอง งาขาวคั่วเพิ่มเข้ามา มีวัตถุดิบอื่นๆ เช่น พริกแห้ง กระเทียม ตะไคร้ซอย ข่า รากผักชี หอมแดง ถั่วดินขั่ว ขิง และน้ำมะขาม

8. แกงอ่อมหมู

ถ้าถามว่าอ่อมคืออะไร อ่อมก็คือการต้มให้ความร้อนที่ไม่สูงมาก แต่ใช้เวลานานๆ เหมือนการเคี่ยว เพื่อให้เนื้อสัตว์นุ่มเปื่อย สมัยก่อนนิยมทำในหม้อดิน เพราะต้องเคี่ยวด้วยความร้อนต่ำเป็นระยะเวลานานจนเนื้อเปื่อย จึงจะได้น้ำแกงที่หอมหวานอร่อยถึงเครื่อง แต่ปัจจุบันปรับมาใช้แก๊สเเทนเพื่อความสะดวกรวดเร็ว มีวัตถุดิบในการทำพริกแกง เช่น พริกแห้ง รากผักชี กระเทียม หอมแดง ข่า ตะไคร้ ตบท้ายด้วยผักกาดขม ผักชีฝรั่ง และต้นหอมผักชี ซดกับข้าวเหนียวร้อนๆ รสชาติถึงใจสุดๆ

9. แกงหอย

กาสะลอง เฮาจะกิ๋นแกงหอย! นาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักแกงหอย แกงที่ดังมาจากละครเรื่องกลิ่นกาสะลอง ถือเป็นละครที่สร้างชื่อเสียงให้อาหารเหนืออย่างแกงหอยและแกงอื่นๆ เป็นอย่างมาก นอกจากจะมีหอยเป็นแม่ทัพเเล้ว ยังมีกระเทียม ตะไคร้ พริกแห้ง หอมแดงคอยเสริมรสชาติให้กลมกล่อมด้วย แต่จะมีแค่หอยอย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องปิดท้ายด้วยการใส่ผัก ไม่ว่าจะเป็นยอดฟักทอง ถั่วฝักยาว ใบมะกรูด ยอดตำลึง ผักชะอม ใบชะพลู มะเขือพวง ลูกโดด และข้าวคั่วด้วย จุ๊บหอยเพลินๆ ถึงเครื่อง มีประโยชน์ ครบจบที่แกงหอย

10. แกงหน่อไม้เมือง

เรียกสั้นๆ ว่าแกงหน่อ มักใช้หน่อไม้สดในการปรุง โดยหน่อไม้ที่นิยมนำมาแกง ได้แก่ หน่อไม้ไผ่ตง หน่อไม้บง หน่อไม้ไล่ หน่อไม้ไผ่สีสุก นิยมใส่กระดูกหมู ปลาดุก ปลาช่อน ปลาย่าง แคปหมู หรือบางทีก็ใส่น้ำปูลงไปด้วยเพื่อเพิ่มรสชาติของน้ำแกง มีวัตถุดิบในการทำพริกแกง เช่น พริกหนุ่ม หอมแดง กระเทียม กะปิ ปลาร้า ที่ขาดไม่ได้คือผักชะอมและผักแค บอกเลยว่าหน่อทุบหนึบหนับ จับใจคนชอบซดแน่นอน


11. จอผักกาด

เคยกิ๋นผักกาดจอ บ่เคยกิ๋นพิซซ่า หากว่าลงต๊องจะยะจะได! เนื้อเพลง ไว้ใจ๋ได้ก่าที่ติดหู ติดปากกันมาถึงปัจจุบัน ใครจะไปเชื่อว่ามีเมนูอาหารเหนือแท้ๆ อยู่ในนั่น ร้องมาตั้งแต่เด็ก จำความได้ก็กินจอผักกาดมาตั้งแต่ตอนนั้นเลยเหมือนกัน เมนูสุดฮิตของคนเหนือที่ห้ามพลาด พูดถึงจอผักกาด วัตถุดิบหลักก็ต้องเป็นผักกาดจ้อน แต่ทีเด็ดอยู่ที่เนื้อสัตว์อย่างกระดูกหมูและหมูสามชั้น เสิร์ฟความหอมของน้ำมะขาม ถั่วเน่าแข็บ กะปิ หอมแดง ผักชี และที่ขาดไม่ได้เลยคือหอมเจียวปิดท้ายก่อนยกหม้อ บอกเลยว่าหอมไป 8 บ้าน 10 บ้าน เด็ดจริงต้องลอง

12. แกงเห็ด

ทำแกงอะไรก็ไม่ง่ายเท่าทำแกงเห็ด จะเด็ดแค่ไหนต้องลองมาทำ คนเหนือส่วนมากมักจะใส่เห็ดนางฟ้า เห็ดฟาง เห็ดหิมะ หรือเห็ดลม ทำพริกแกงด้วยพริก ตะไคร้ กะปิ เเละเพิ่มความนัวร์ของแกงด้วยปลาร้า เเล้วที่ขาดไม่ได้เลยคือใส่ผักชะอม ใบชะพลู และใบแมงลักเพิ่มความกลมกล่อม ซดน้ำแกงร้อนๆ รสชาติจัดจ้าน ขมนิดๆ แต่ประโยชน์อัดเเน่นไม่ว่าจะทำให้ผิวอ่อนเยาว์และป้องกันมะเร็งไปในตัวด้วย

13. คั่วโฮะ

ขึ้นชื่อว่าโฮะ ก็คือการรวม เอาอาหารหลายๆ อย่างมารวมกัน สมัยก่อนมักเอาอาหารที่เหลือหลายๆ อย่างมารวมกัน แล้วเติมบางอย่าง เช่น วุ้นเส้น หน่อไม้ ใบมะกรูด ตะไคร้ ปัจจุบันนิยมใช้ของสดในการปรุง รวมถึงใช้แกงฮังเลเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องปรุงด้วย พริกแกงก็จะคล้ายกับแกงอื่นๆ ที่พูดมา ไม่ว่าจะเป็น พริกแห้ง ตะไคร้ ข่า กระเทียม หอมแดง กะปิ ทั้งยังมีวัตถุดิบอื่นๆ เสริมความนัวร์ เช่น มะเขือเปราะ ถั่วฟักยาว มะแข่วน หน่อส้ม ผักชะอม ผักกาดขาว ฯลฯ

14. ลาบหมูคั่ว

เป็นเมนูที่นิยมทำกินกันในโอกาสพิเศษ งานเลี้ยงหรือในเทศกาลต่างๆ ขึ้นชื่อว่าลาบหมู วัตถุดิบหลักชูโรงก็คงหนีไม่พ้นหมู และที่ขาดไม่ได้เลย ต้องเสริมทัพด้วยเครื่องในหมูด้วยนะ ไม่ว่าจะเป็น ตับหมู ไส้อ่อน หนังหมู แต่อีกอย่างที่ทำให้ลาบเหนือเด็ดไม่แพ้ใครเลยคือ น้ำพริกลาบ เพราะประกอบด้วยเครื่องเทศหลากหลายชนิด ทำให้มีกลิ่นและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ โดยมีมะเเขว่นเป็นส่วนผสมหลัก ซึ่งทำให้ลาบหมูคั่วเมืองเหนือของเรามีรสชาติจัดจ้าน หอมถึงเครื่องมากๆ แค่ได้กลิ่นก็น้ำลายสอเเล้ว เสริฟ์พร้อมผักลาบบอกเลยว่าคือที่สุดดด

15. ลาบดิบ

กิ๋นลาบดิบ หูดับได้แต้กา บอกเลยว่ากินหมูดิบได้ เเต่ต้องสดและสะอาด เพราะเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้หูดับจะอยู่ในหมูที่ป่วยเป็นโรคเท่านั้น  มาต่อกันที่เรื่องของลาบ คนเหนือมักเรียกว่า ลาบจิ้นหรือลาบเลือด มีการใช้เนื้อสัตว์ทั้งหมูและเนื้อ สับ สับ สับ เสียงลาบ เสียงสับหมู ต้องมาเเล้ว คนเหนือจะลาบหมูกับเลือดสดๆเข้าด้วยกัน สับให้ละเอียด จนมีความเหนียว เพิ่มความอร่อยด้วยเครื่องใน เติมความกลมกล่อมด้วยเครื่องเทศในพริกลาบและดีวัว เสิร์ฟพร้อมผักสด ผักลาบ ข้าวเหนียวร้อนๆ ใครจะไปอดใจไหว

16. ตำบ่าหนุน

หรือรู้จักกันดีในชื่อตำขนุน ขึ้นชื่อว่าคนเหนือ มักผักมักลาบไม่แพ้จิ้น และแน่นอนว่าวัตถุดิบชูโรงคือขนุนอ่อนต้ม ชูรสด้วยพริกแกงที่ประกอบด้วย ข่า พริกแห้ง กระเทียม หอมแดง บางสูตรใส่แคปหมูลงไปคั่วด้วย เพิ่มความกรุบขณะกิน หรือจะเอามากินกับก็ได้นะ มะเขือเทศ ใบมะกรูดก็ห้ามขาดเด็ดขาด ทีเด็ดสุดท้ายต้องมีกระเทียมเจียวหอมๆ และพริกแห้ง โรยหน้าด้วย พูดเเล้ว อยากกุ้ยข้าวเหนียวกับตำบ่าหนุนเลยเจ้า

17. ยำจิ๊นไก่

หลังจากที่มีการทำพิธีเลี้ยงผีด้วยไก่ต้มแล้ว คนเหนือมักนำไก่ต้มมายำเสมอ บ้างนำพริกลาบหรือเครื่องปรุงลาบมาปรุงยำจิ๊นไก่ นอกจากพริกลาบเเล้วยังเพิ่มความนัวร์ได้ด้วยเครื่องเทศ ตะไคร้ ผงขมิ้น และกะปิอีกด้วย จะมีแต่ไก่อย่างเดียวก็คงไม่ได้เพราะต้องมีผักแพว สาระแน ต้นหอม ผักชีเพิ่มความหอมด้วย อี้ก่าเหมาะ อย่างคืออะสู

18. ยำหนัง

หนังอะไรหนังเอ่ย หนังหมู หรือหนังไก่ บอกเลยว่าไม่ใช่ทั้งคู่ เพราะยำหนัง หรือ คนเหนือเรียกกันว่ายำหนังฮอ คือยำหนังวัวหรือหนังควายแห้งที่ต้มเปื่อยแล้ว นำมาขูดเป็นชิ้นบางๆ บ้างก็หั่นเป็นชิ้น แล้วนำมาคลุกเคล้ากับเครื่องปรุง ถ้าถามว่าฮอคืออะไร ก็คือการทำให้บาง ทำให้ละเอียดนั่นเอง ยำแบบแห้งๆ ยำแบบเมียงๆ บ้านเฮา เข้มข้น สีสันน่ากินสุดๆ ปัจจุบันหากินยากมาก แต่ถ้าได้กินละก็ต้องร้องว้าวเลย คอนเฟิร์ม

19. ยำหน่อไม้ส้ม

มีแกงหน่อเเล้วก็ต้องมียำหน่อด้วยสิ ยำหน่อไม้นิยมใช้หน่อไม้ไล่ ต้มให้สุกจนมีรสหวาน ทีเด็ดต้องอย่าลืมขูดหน่อไม้หรือทำให้เป็นเส้นๆ ด้วยนะ นางเอกในการชูรสคือน้ำปูนั่นเอง เพิ่มความจัดจ้านด้วยพริก กระเทียม หอมแดง ปลาร้า หรือบางสูตรอาจใส่ใบขิงหั่น หรือไพล (ปูเลย) หรือหมูสับลงไปด้วยก็ได้นะ ผักก็ห้ามขาด โดยเฉพาะใบแมงลัก ต้นหอม ผักชี

20. ห่อนึ่ง

อีกหนึ่งเมนูที่นิยมมากของคนภาคเหนือ ลักษณะภายนอกหอด้วยใบตองคล้ายแอ๊บ แต่แยกง่ายๆ คือ แอ๊บจะแบนๆ แต่ห่อนึ่งจะเป็นห่อสามเหลี่ยมขึ้นมา มีวัตถุดิบหลักคือเนื้อหมู นำมาคลุกเคล้ากับเครื่องปรุงไม่ว่าจะเป็น ข่า ตะไคร้ หอมแดง มะเเข่วน พริกแห้ง กะปิ พร้อมผักใบเลื่อย ตำลึงใบพริก ผักเผ็ด ถั่ว มะเขือ บางสูตรใช้วิธีนำเครื่องแกงลงผัดกับน้ำมันให้หอมก่อน จึงใส่เนื้อหมูลงไปผัดให้เข้ากัน นำไปห่อใบตอง และนึ่งเป็นลำดับต่อไป

21. ผักเชียงดาผัดไข่


ผักเชียงดามีคุณค่าและประโยชน์เหลือล้น หาได้ตามสวนหลังบ้าน สังเกตง่ายๆ มีลักษณะเป็นไม้เรื่อย ใบสีเขียวรูปไข่ ปลายแหลม ขอบบางๆ เป็นผักสมุนไพรชนิดหนึ่งที่ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ มีแคลเซียมสูง มีเส้นใยอาหารที่ช่วยในเรื่องของระบบขับถ่ายได้อย่างดีเยี่ยม เมนูง่ายๆ ที่ใครก็ทำได้ เด็กกินได้ ผู้ใหญ่กินดีอีกเเล้ว เคล็ดลับง่ายๆ เพิ่มความหอมด้วยกระเทียม

22. จิ๊นส้มหมกไข่

จิ๊นส้มก็คือแหนมนั่นเอง บางที่เรียกหมูส้ม ทำมาจากเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อควาย เรียกชื่อตามเนื้อสัตว์ เช่น จิ๊นส้มหมู จิ๊นส้มงัว จิ๊นส้มก้าง ปัจจุบันนิยมใช้เนื้อหมูเป็นหลัก จะซื้อจากกาดแถวบ้านหรือทำเองก็ได้ นำมาตอกไข่ใส่ เอามาปิ้งเตาถ่าน หอมสุดๆ กินกับข้าวเหนียวร้อนๆ คือฟินมาก

23. จิ้นแดง

สูเขา บะฮู้จักจิ้นแดงในตำนานแต้ก่า! จิ้นแดง หรือจิ้นเกลือ เป็นหมูแดดเดียวสูตรเฉพาะของลำปาง สีแดง กรอบ รสชาติหวาน เค็ม นัวๆ กินกับข้าวเหนียวอร่อยมาก เดี๋ยวนี้หากินค่อนข้างยาก แต่ถ้าเดินตามกาดก็ยังพอมีให้เห็นบ้าง ใครยังไม่เคยลอง ต้องไปหากินนะ เด็ดมากจริงๆ

24. ไส้อั่ว

ถ้าพูดถึงอาหารเหนือ แล้วไม่ได้พูดถึงไส้อั่วก็คงไม่ได้ เพราะถือเป็นของฝากสำคัญ คู่หูกับแคปหมู เป็นอาหารที่นิยมและมีขายทั่วไป มีสูตรหลากหลายแตกต่างกันไปตามพื้นที่ แต่ที่สำคัญต้องหอมเครื่องเทศ จริงๆ เเล้วคำว่า อั่ว มีความหมายคือ แทรก หรือยัดไว้ตรงกลาง ไส้อั่วจึงหมายถึงไส้ที่มีการนำสิ่งของยัดไว้ การทำไส้อั่วเป็นหนึ่งในวิธีการถนอมอาหาร ให้สามารถกินได้นานขึ้น ประมาณ 1-2 วัน แต่ถ้าเก็บไว้ในที่เย็นหรือมีการบรรจุถุงแบบสูญญากาศก็เก็บไว้ได้นานมากยิ่งขึ้น

25. แคบหมู

คู่หูของฝากกับไส้อั่ว มีไส้อั่วก็ต้องมีแคปหมู นอกจากจะเป็นที่นิยมสำหรับนักท่องเที่ยวและมีขายทั่วไปแล้ว ยังเป็นทั้งเครื่องเคียงและส่วนผสมของเมนูเหนือต่างๆ ที่ขาดไม่ได้เลยก็ว่าได้ ปัจจุบันแคบหมูมีทั้งแบบติดมันและไม่ติดมัน หรือเรียกว่า แคบหมูไร้มัน บอกเลยว่าอร่อยทั้งคู่ อร่อยคนละแบบ เเล้วแต่คนชอบ เคล็ดลับสำคัญคือต้องกินสดใหม่ถึงจะอร่อย เพราะยิ่งถ้าทิ้งไว้นานจะมีกลิ่นเหม็น

26. แอ็บอ่องออ

หรือแอ็บสมองหมู ชื่ออาจจะดูไม่ค่อยชวนให้น้ำลายไหล แต่ถ้าได้ชิมละก็บอกเลยว่าต้องอยากซ้ำแน่นอน กินกับข้าวเหนียวร้อนๆ คือที่สุด อย่างที่บอกไปว่าแอ็บจะห่อด้วยใบตองและมีลักษณะแบน ขั้นตอนการทำเเละเครื่องปรุงจะคล้ายกับห่อนึ่ง แต่ต่างที่ทำให้สุกโดยปิ้งหรือย่าง ด้วยไฟอ่อนๆ จนข้างในสุก ปัจจุบันมีทั้งแอ็บปลา แอ็บกุ้ง ฯลฯ แต่แอ็บอ่องออจะต่างจากแอ็บอื่นตรงที่ใส่ไข่ไก่เข้าไปด้วย

27. อ่องปู

เมนูโปรดของใครหลายๆ คน กินกันมาตั้งแต่เด็กๆ เพราะกินง่าย รสชาติ มัน เค็ม นัว อร่อย ถ้าถามว่าสีส้ม สีเหลืองที่อยู่ในกระดองต่างกันยังไง ตอบได้เลยว่าสีส้ม ส่วนมากจะเป็นปูอ่องล้วนๆ ไม่ผสมไข่ไก่ ส่วนถ้าเป็นสีเหลืองจะมีการผสมไข่ไก่และราคาถูกกว่ามาก ต่างกันที่ความเข้มข้นของรสชาติ ปัจจุบันปูอ่องแท้ๆ เริ่มหากินยากเเล้ว ส่วนมากจะผสมไข่หมด จริงๆ แล้วปูอ่องเป็นอาหารพื้นบ้านของชาวล้านนา ชาวไทลื้อ ชาวไทเขินที่ยังนิยมอยู่ ซึ่งปูอ่องจะอร่อยที่สุดในช่วงฤดูเกี่ยวข้าว เนื่องจากปูมีมันมากนั่นเอง

28. ข้าวเงี้ยว

หรือจิ๊นส้มเงี้ยว เมนูเลือดที่อร่อยที่สุดในโลก แค่เตวกาดก็หาซื้อได้ แล้วแต่คนชอบเพราะมีความเลี่ยนนิดๆ เชื่อว่าเป็นอาหารของชาวไทใหญ่หรือเงี้ยว บางสูตรไม่ใส่เนื้อสับ แต่ใส่เลือดคลุกเคล้ากับข้าวอย่างเดียว เป็นการคลุกข้าว เลือด และหมูสับเข้าด้วยกัน แล้วนำไปห่อใบตอง นึ่งจนสุก หอม กินกับกระเทียมเจียว พริกทอด ผักชี แล้วจะปฏิเสธความอร่อยไม่ได้

29. ข้าวซอย

ตำนานอาหารเหนือที่ไม่พูดถึงก็คงจะไม่ได้ ใครมาภาคเหนือก็ต้องได้กิน ปัจจุบันมีหลากหลายสูตร ทั้งแบบดั้งเดิมตามท้องที่ และมีการนำไปประยุกต์เป็นแบบฟิวชัน ยกระดับอาหารพื้นบ้านให้มีราคามากกว่าความอร่อย เป็นอาหารเหนือที่ได้อิทธิพลจากอาหารของชาวมุสลิม โดยชาวจีนฮ่อมุสลิม ซึ่งบางแห่งเรียกชื่อเต็มว่า ข้าวซอยฮ่อ หรือ ข้าวซอยอิสลาม นั่นเอง ปัจจุบันมีหลากหลายเนื้อสัตว์ให้เลือกไม่ว่าจะเป็นไก่ หมู เนื้อ กระดูกอ่อน ฯลฯ บอกได้เลยว่ากินกับอะไรก็อร่อย ที่สำคัญเครื่องเคียงต้องครบ เพิ่มความแซ่บด้วยพริกเผา หอมแดงซอย ผักกาดดอง และบีบมะนาว ปิดท้ายออกไปตามหา 20 ข้าวซอย เชียงใหม่ อร่อยๆ ได้เน้อเจ้า

30. ขนมจีนน้ำเงี้ยว

มาถึงเมนูสุดท้ายอย่าง ขนมจีนน้ำเงี้ยว ที่กินกันง่ายๆ ไปตามกาด นั่งก้อม ดูดเส้น ซดน้ำเงี้ยว ตามด้วยแคบหมู ข้าวปอง เหมาะ! มีหลากหลายสูตรแตกต่างกันไปตามท้องที่ ขาดไม่ได้เลยคือดอกงิ้ว เลือดไก่ก้อน และมะเขือเทศ และที่สำคัญจะอร่อยหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับพริกแกงน้ำเงี้ยวนั่นเอง บอกเลยว่าจะซื้อกินหรือทำเองที่บ้านก็ง่าย บางสูตรใช้ถั่วเน่าเเข็บหรือถั่วเน่าแผ่นย่างไฟใส่ในเครื่องแกง แทนการใส่เต้าเจี้ยวเพื่อเพิ่มความหอมอีกด้วย


ทำเองก็ง่าย หาซื้อตามกาดก็สะดวก เป็นยังไงกันบ้างกับการมัดรวมอาหารเด็ดที่คนเมืองเปิ้นกิ๋นกั๋น พูดมาขนาดนี้ ยังไม่ได้ลองเมนูไหน พลาดไม่ได้เเล้ว เชื่อว่าทุกเมนูล้วนอยู่ในความทรงจำของปี้น้องชาวเหนือไม่มากก็น้อย ถ้าพร้อมเเล้ว กลับไปรำลึกความทรงจำผ่านการลิ้มรส รสชาติ 30 อาหารเหนือนี้ไปด้วยกัน สตาร์ทรถเวฟ แง้นไปแวดกาด ซื้อกับข้าวมายอกกิ๋นกั๋น มาเหนือแค่ไหนก็ต้องสยบให้อาหารเหนือ เพราะของเฮามันลำแต้ๆ ข้าวเหนียวร้อนๆ ต้องมา เเล้วอย่าให้เสียชื่อโอ้งคะโล่งควายนอนเน้อเจ้า แหล่งรวมอาหารเหนือ ครบจบที่เดียวที่กาดธานินทร์ หรือตลาดศิริวัฒนา

  • พิกัด : กาดธานินทร์ หรือตลาดศิริวัฒนา 
  • เวลาเปิด-ปิด : 08.00-20.00
  • โทร : 053-221-298
  • Map : กาดธานินทร์

อ่านรีวิวจากรีวิวเชียงใหม่เพิ่มเติมได้ที่นี่

Relate Posts :