เปิดให้ชมแล้ว “Earth Manual Project – อยู่รอดก็ปลอด ‘ภัย’” ณ ห้องแกลเลอรี TCDC เชียงใหม่

 
1. อิซะ! คะเอะรุ คาราวาน! (Iza! Kaeru Caravan!)  โดย เอ็นพีโอ พลัส อาร์ตสฺ (NPO Plus Arts) (ญี่ปุ่น)
 
Fun & Learn คือ คอนเซปต์หลักของโครงการนี้ ที่มุ่งเน้นให้เด็กๆ ได้สนุกเพลิดเพลินไปกับเกม ควบคู่กับการเรียนรู้วิธีรับมือภัยพิบัติที่มักเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งในประเทศญี่ปุ่น อย่าง แผ่นดินไหว ซึ่งในปัจจุบันโครงการนี้ได้ขยับขยายไปยังประเทศอื่นๆ อีกกว่า 15 ประเทศทั่วโลก โดยมีการปรับปรุงเนื้อหาให้เหมาะสมกับการป้องกันภัยพิบัติในแต่ละภูมิภาค รวมถึงเปลี่ยนตัวการ์ตูนสัญลักษณ์ที่ใช้แทนมนุษย์ให้เป็นสัตว์ชนิดอื่นตามที่เด็กในพื้นที่นั้นๆ ชื่นชอบ อาทิ กบ – ญี่ปุ่น, หมี – ตุรกี หรือ กวาง – อินโดนีเซีย
 
 
2. จิชิน อิท์สึโมะ (Jishin ITSUMO) โดย บุมเป โยะริฟุจิ (Bunpei Yorifuji), เอ็นพีโอ พลัส อาร์ตส  (NPO Plus Arts) (ญี่ปุ่น)
 
คู่มือรวมวิธีการรับมือภัยพิบัติหลากหลายรูปแบบ อาทิ ผ้าเช็ดหน้า โปสเตอร์ แฟลชการ์ด หรือ แผ่นพับ ซึ่งนำเสนอด้วยภาพประกอบสีสันสดใส เข้าใจง่าย และใช้งานได้จริง โดยได้รับความร่วมมือจากบริษัท Tokyo Gas, Tokyo Metro, Muji และกลุ่มบริษัทอื่นๆ อีกกว่า 10 แห่ง ในการออกแบบและเผยแพร่
 
 
3. โครงการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ (Red Bear Survival Camp) โดย เอ็นพีโอ พลัส อาร์ตส (NPO Plus Arts) (ญี่ปุ่น)
 
“Red Bear Survival Camp” โปรแกรมฝึกฝนให้เยาวชนมีความรู้และทักษะในการเอาตัวรอดยามเกิดเหตุภัยพิบัติ ผ่านกิจกรรมฝึกฝนและแรลลีตะลุยฐานต่างๆ โดยผู้ที่สามารถพิชิตฐานได้สำเร็จจะได้รับ “เข็มตราทักษะ” เชิดชู ความสามารถในแต่ละด้านเป็นรางวัลตอบแทนความพยายามและความตั้งใจ 
 
 
4. ท่วมได้…ออกแบบได้ (Design for Flood) โดย ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (ประเทศไทย)
รวมผลงานจากโครงการวิจัยและประกวดแนวคิดเพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์สำหรับใช้งานยามเกิดภัยพิบัติ ที่จัดขึ้นโดยศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ในปี พ.ศ. 2554 หลังเกิดเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ในจังหวัดกรุงเทพฯ และทางภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งได้รับความร่วมมือจากองค์กรด้านการออกแบบ และนักศึกษาสาขาออกแบบจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ภายในประเทศ ในการสัมภาษณ์ผู้ประสบภัย ก่อนดำเนินการรวบรวมข้อมูลที่ได้มาครีเอทเป็นผลงาน เช่น สุขาลอยน้ำ ป้ายฉุกเฉินยามน้ำท่วม และชุดโต๊ะเก้าอี้โรงเรียนลอยน้ำ เป็นต้น
 
 
5. ไคลเมท สคูล : โครงการโรงเรียนภูมิอากาศ (Climate School Project) โดย ดาคีลา (Dakila) (ฟิลิปปินส์)
 
ดาคีลา กลุ่มอาสาสมัครซึ่งประกอบด้วยศิลปิน นักออกแบบ และนักสร้างสรรค์ชาวฟิลิปปินส์ จัดทำโครงการนี้ขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่สาธารณชนให้เห็นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันนำมาซึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ โดยนำแนวความคิดที่กล่าวมาข้างต้นมาผสมผสานและถ่ายทอดผ่านผลงานศิลปะ อาทิ โครงการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะจากขยะ หรือโครงการที่ดึงดูดผู้คนให้หันมาสนใจประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมผ่านเสียงดนตรีและศิลปะแขนงอื่นๆ
 
 
6. จิตวิญญาณชาวฟิลิปปินส์ต้านภัยน้ำ (The Filipino Spirit is Waterproof) โดย พิพิธภัณฑ์อายาลา (ฟิลิปปินส์)
 
เมื่อครั้งที่กรุงมะนิลาเมืองหลวงของฟิลิปปินส์ประสบภัยน้ำท่วมจากพายุไต้ฝุ่นหมายเลข 11 ในปี พ.ศ. 2555  เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์อายาลาจึงเกิดความคิดที่จะบำรุงขวัญชาวเมืองผู้ประสบภัย โดยโพสต์ข้อความให้กำลังใจว่า “จิตวิญญาณชาวฟิลิปปินส์ต้านภัยน้ำ” (The Filipino Spirit is Waterproof) ลงในทวิตเตอร์ พร้อมชักชวนผู้คนมาร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานศิลปะเพื่อฟันฝ่าวิกฤตินี้ไปด้วยกัน ซึ่งผลปรากฏว่ามีผู้ร่วมแคมเปญจำนวนมาก และได้มีการเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงสื่อต่างๆ จนเกิดเป็นความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ กระทั่งในภายหลังทางพิพิธภัณฑ์อายาลาจึงได้รวมเอาผลงานดังกล่าวมาทำเป็นรูปแบบโปสเตอร์ พร้อมนำมาจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์
 
 
7. Paper Partition System 4 : ระบบกั้นห้องด้วยกระดาษ โดย ชิเกรุ บัง (Shigeru Ban) (ญี่ปุ่น)
 
นี่คือ โครงการต้นแบบในการทำระบบกั้นห้องสำหรับสถานพักพิงผู้ประสบภัย ที่ประเทศญี่ปุ่นภาคภูมิใจนำเสนอต่อประชาคมโลก
ผลงานชิ้นนี้ออกแบบโดยทีมสถาปนิกชื่อดังระดับโลก ชิเกรุ บัง (Shigeru Ban) ซึ่งได้พัฒนาระบบกั้นห้องขึ้นจากท่อกระดาษและแผ่นกระดาษที่ทนทานแข็งแรง ทั้งยังมีวิธีการประกอบที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ทำให้ไม่ว่าใครก็สามารถติดตั้งได้อย่างง่ายดาย
 
โดยผลงานชิ้นนี้เคยถูกนำไปติดตั้งเพื่อใช้เป็นที่พักพิงของผู้ลี้ภัยในหลายๆ เหตุการณ์สำคัญ อาทิ สงครามกลางเมืองในรวันดา, แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ฮันชิน-อะวะจิ, แผ่นดินไหวชุเอะสึในนีกะตะ, แผ่นดินไหวใต้ทะเลหลวง เกาะสุมาตรา และแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ทางภาคตะวันออกของญี่ปุ่น เป็นต้น
 
 
8. รู้สู้! Flood (Roo su Flood) โดย ธวัชชัย แสงธรรมชัย, เกรียงไกร วชิรธรรมพร, ณัฐพร บุญประกอบ, วรรธนะ รุจิโรจน์สกุล (ประเทศไทย)
 
ในช่วงปลายปี พ.ศ.2554 อาสาสมัครนิสิตเก่าคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รวมตัวกันและริเริ่มโครงการให้ข้อมูลความรู้เรื่องสภาวะน้ำท่วมและการควบคุมน้ำท่วมด้วยแอนิเมชั่น เพื่อเผยแพร่ข้อมูลที่แม่นยำ เข้าใจได้ง่าย  และทันต่อเหตุการณ์ในช่วงอุทกภัยครั้งใหญ่ปลายปี พ.ศ.2554 โดยกลุ่มอาสาสมัครนิสิตเก่าคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งทันทีที่ผลงานชิ้นนี้ถูกนำไปเผยแพร่ทางเว็บไซต์ยูทูป รวมถึงมีโอกาสออกอากาศผ่านสื่อสาธารณะของรัฐ ก็ได้ทำให้ชาวกรุงเทพฯ จำนวนมากได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องน้ำท่วม เข้าใจวิธีการปรับตัวรับมือและเอาตัวรอดท่ามกลางภัยพิบัติที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที 
 
 
9. โครงการฟื้นสภาพเมืองด้วยแบบจำลอง “Lost Homes” (“Lost Homes” Model Restoration Project) โดย โอะซะมุ สึกิฮะชิ (Osamu Tsukihashi) (ญี่ปุ่น)
 
โครงการแบบจำลองย่อส่วนเพื่อฟื้นฟูสภาพเมืองต่างๆ ที่ถูกทำลายจากภัยสึนามิ ซึ่งริเริ่มโดยโอะซะมุ สึกิฮะชิ (Osamu Tsukihashi) อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยโกเบ ร่วมกับคณะนักศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ กว่า 23 แห่ง จาก 31 พื้นที่ทั่วประเทศญี่ปุ่น ซึ่งโครงการนี้เป็นการสร้างแบบจำลองสภาพเมืองในอดีตก่อนที่จะเกิดเหตุภัยพิบัติ โดยประติดประต่อสภาพภูมิประเทศ สิ่งปลูกสร้าง และกิจกรรมที่ดำเนินขึ้นในพื้นที่ต่างๆ จากความทรงจำของผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาฟื้นฟูสภาพพื้นที่ดังกล่าวหากเป็นไปได้ หรือใช้เป็นแบบอย่างสำหรับพัฒนาพื้นที่ใหม่ในอนาคต
 
 
10. Core House : ชีวิตขยับขยายได้หลังธรณีพิบัติ (Core House: Extensive Live Post Earthquake) โดย อิคะปุตรา (Ikaputra) (อินโดนีเซีย) 
 
 “บ้านแกนหลัก” (Core House)  โครงการนวัตกรรมที่อยู่อาศัย ที่ผสมผสานลักษณะของสถานพักพิงชั่วคราวและบ้านเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยจากเหตุแผ่นดินไหวในภาคกลางของชวา โดยผลงานชิ้นนี้มีลักษณะเด่นอยู่ที่สามารถต่อเติมขยับขยายบ้านได้ในภายหลังตามความต้องการของผู้อยู่อาศัย ด้วยรูปแบบที่ประหยัด ฟังก์ชั่นเหมาะสม และไม่มีปัญหาเรื่องโครงสร้าง โดยมีคู่มือประกอบการต่อเติมบ้านอย่างถูกวิธีแจกสำหรับทุกหลังคาเรีอน   
 
 
11. FLOATING WOMBS : โครงการบำบัดด้วยศิลปะ – heARTS (Floating Wombs A healing project through the arts –he ARTS)  โดย อัลมา กินโต (Alma Quinto) (ฟิลิปปินส์)
 
นิทรรศการสารคดีที่ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับกิจกรรมเวิร์กช็อปศิลปะบำบัด ของอัลมา กินโต นักศิลปะบำบัดชาวฟิลิปปินส์ ที่ลงพื้นที่ไปจัดกิจกรรม ร่วมกับผู้ประสบภัยฝนตกหนักในภูมิภาคบีกอล (Bicol), ผู้ประสบภัยไต้ฝุ่นเซ็นดงในกากายัน เด โอโร และผู้ประสบภัยพิบัติอื่นๆ เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้ปลดปล่อยประสบการณ์แง่ลบที่ฝังใจจากเหตุการณ์ภัยพิบัติ ผ่านกิจกรรมบำบัดหลากหลาย เช่น วาดภาพ เย็บผ้า ดนตรี ละคร นาฏศิลป์ หรือแม้กระทั่งทำอาหาร
 
 
12. อยู่อย่างไรปลอดภัยจากหมอกควัน (How to live safely from the City’s Smog?) 
 
การจัดแสดงผลงานไอเดียสร้างสรรค์เพื่อรับมือกับปัญหาภัยพิบัติหมอกควัน โดยเปิดโอกาสให้นักออกแบบในพื้นที่ภัยพิบัติได้เรียนรู้ ร่วมคิด ก่อนออกแบบแนวทางการแก้ปัญหา และลงมือสร้างสรรค์ตัวอย่างแนวคิด งานออกแบบ หรือเครื่องมือสื่อสาร  ด้วยกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ผ่านการเข้าร่วมเวิร์กช็อป “อยู่อย่างไรปลอดภัยจากหมอกควัน” (EARTH MANUAL PROJECT) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนเชียงใหม่
 
ใครที่สนใจสามารถร่วมชม 1 ใน 12 โครงการ ร่วมนิทรรศการ “Earth Manual Project – อยู่รอดก็ปลอด ‘ภัย’” ที่จัดแสดง ณ ห้องแกลเลอรี TCDC เชียงใหม่ เปิดให้เข้าชมฟรี! ตั้งแต่ วันนี้ – 3 เมษายน 2559
 

Relate Posts :