พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา
หากใครมีโอกาสได้ผ่านมาแถวอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เมืองเชียงใหม่ ก็คงต้องสะดุดตากับอาคารทรงยุโรปสีขาว ที่ตั้งตระหง่านอยู่ฝั่งตรงข้ามกับอนุสาวรีย์กันบ้าง ซึ่งอาคารแห่งนี้ก็คือ พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนานั่นเอง เมื่อพูดคำว่า “พิพิธภัณฑ์” ขึ้นมาแล้ว ก็อย่าเพิ่งเบนหน้าหนีกันก่อนล่ะ วันนี้เราจะพาคุณไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนเมืองเชียงใหม่กัน
พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนาเป็น 1 ใน 3 พิพิธภัณฑ์ของเครือข่ายพิพิธภัณฑ์กลางเวียงเชียงใหม่ โดยก่อนหน้าที่จะมาเป็นพิพิธภัณฑ์นั้น พื้นที่นี้เคยเป็นคุ้มไม้สักของเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ เจ้าหลวงองค์ที่ 8 ของเชียงใหม่ ต่อมาเมื่อมีการปฏิรูปการปกครอง คุ้มหลวงแห่งนี้จึงถูกใช้เป็นอาคารที่ทำการของเค้าสนามหลวง หรือสถานที่ทำราชการของขุนนางและข้าราชการในพ.ศ. 2458 ต่อมาได้รับการปรับปรุงให้เป็นศาลจังหวัดเชียงใหม่และศาลแขวง แต่เมื่อได้มีการย้ายสถานที่ราชการออกไปในที่ใหม่ ตึกนี้จึงถูกปล่อยทิ้งร้าง จนกระทั่งเทศบาลนครเชียงใหม่ต้องการทำให้พื้นที่กลางเวียงเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ จึงได้ปรับปรุงให้เป็นพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนาขึ้นในปีพ.ศ. 2556
ซึ่งภายในอาคารสีขาวทรงยุโรปนี้จัดแสดงเกี่ยวกับวิถีชีวิต ความเชื่อ และงานศิลปะต่างๆ เช่น งานพุทธศิลป์ พิธีกรรมทางศาสนา สถาปัตยกรรม จิตรกรรม และประติมากรรมไว้ด้วยกันอย่างลงตัว โดยเน้นความเหมือนจริง ดังนั้นอย่าตกใจหากเข้าไปในห้องจัดแสดงแล้วคุณจะพบหุ่นขี้ผึ้งที่ตั้งอยู่รายล้อมห้อง ส่วนการเดินชมเชื่อมในแต่ละห้องนั้นก็ให้เดินตามลูกศรสีแดงที่พื้นไปเรื่อยๆ
มาเริ่มกันที่ห้องแรก คือห้องข่วงแก้วล้านนา ที่ได้จำลองลานกว้างบริเวณวัดที่ใช้ทำกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น การสรงน้ำพระ การแห่ไม้ค้ำสะหรีหรือไม้ค้ำโพธิ์ ที่จะทำกันเป็นประจำในวันสงกรานต์ นอกจากนี้ก็ยังมีการจำลองวิหารโถงหรือวิหารแบบเปิด ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมเอกลักษณ์ของล้านนาที่หาชมได้ยากแล้วในยุคปัจจุบัน ที่งานสถาปัตยกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นล้านนากำลังสูญหายไปตามกาลเวลา ส่วนภายในวิหารมีการจำลองข้าวของเครื่องใช้ และเครื่องสักการะต่างๆที่เป็นสื่อกลางในการน้อมนำตนเองเข้าสู่พระพุทธศาสนา ซึ่งด้วยความเสื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาของชาวล้านนานั้นเอง ได้ส่งผลให้เกิดประเพณีที่สำคัญทางศาสนาและงานจิตรกรรม ไม่ว่าจะเป็นประเพณีแห่ครัวทาน งานจิตรกรรมฝาผนังของสกุลช่างเชียงใหม่และไทใหญ่ ที่ทางพิพิธภัณฑ์ได้จำลองมาจากวัดที่สำคัญของเชียงใหม่หลายวัดด้วยกัน รวมถึงงานจิตรกรรมบนกระจกที่ในปัจจุบันหาชมได้ยากแล้ว นอกจากนี้ก็ยังมีการจำลองงานประติมากรรมปูนปั้น งานแกะสลักไม้ และงานโลหะหล่อที่สำคัญของเมืองเชียงใหม่ไว้ให้ชมอีกด้วย
เมื่อเดินขึ้นมาชั้นสองจะพบการจัดแสดงวิถีชีวิตของชาวล้านนา ทั้งงานหัตถกรรมที่ใช้วัสดุจากธรรมชาติมาสร้างสรรค์เป็นรูปข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ งานประณีตศิลป์ล้านนา อุปกรณ์การทำมาหากิน อาหารการกิน อาหารพื้นเมือง การเลือกคู่ครองของชาวล้านนาสมัยก่อน พร้อมทั้งมีการจัดแสดงเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีกด้วย และอย่างที่ได้กล่าวแล้วว่าเดิมอาคารแห่งนี้เคยเป็นศาลมาก่อนในห้องถัดมาจึงมีการจำลองห้องพิจารณาคดีไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ชมอีกด้วย เรียกได้ว่าลักษณะของการจัดแสดงมีความเสมือนจริงจนทำให้คุณต้องขนลุกกับบรรยากาศอย่างแน่นอน
และตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2559 เป็นต้นไป ทางพิพิธภัณฑ์ก็ได้เปิดนิทรรศการใหม่ที่น่าสนใจอีก 2 นิทรรศการ ก็คือนิทรรศการเสื้อ ซิ่น ย่ามและงานทอผ้าของชาวไทลื้อ ที่ได้นำผ้าซิ่นและเสื้อของชาวไทลื้อที่หายากและสวยงามมาจัดแสดงไว้ด้วย ส่วนอีกหนึ่งนิทรรศการที่จัดแสดงก็คือ นิทรรศการ มงคล ข่าม คง ของมงคลและของวิเศษล้านนา ไม่ว่าจะเป็นเป๊ก แก้วแสง ตุ๊กตาว่านยาสัก และผ้ายันต์สิหิงค์หลวง ซึ่งเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กับความเชื่อของชาวล้านนา
ในเร็วๆ นี้ก็จะมีการจัดการบรรยายพิเศษของนิทรรศการใหม่อีกด้วย สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารได้ทาง Facebook Fanpage ของเครือข่ายพิพิธภัณฑ์กลางเวียงเชียงใหม่ ผู้ที่สนใจเข้ามาชมสามารถเข้าชมได้ทุกวันอังคาร – อาทิตย์ เวลา 08.30 – 17.00 น. เราเชื่อว่าหากคุณได้เข้ามาสัมผัสกับกลิ่นอายความเป็นล้านนาคุณต้องประทับใจและเข้าใจวิถีชีวิตของชาวล้านนามากขึ้นอย่างแน่นอน
เรื่องและภาพ : นางสาวปาณิสรา ศรีปรางค์, นางสาววราภรณ์ นิลแนม นิสิตฝึกงานเครือข่ายพิพิธภัณฑ์กลางเวียงเชียงใหม่