“ฮักแม่ลาน้อย” ชื่อร้านกาแฟและรับถ่ายเอกสารขนาดเล็ก
ตั้งอยู่ริมทางหน้าตลาดแม่ลาน้อย ต.แม่ลาน้อย อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน หน้าร้านมีโต๊ะเก้าอี้ 2-3 ชุด บรรยากาศดูสบายๆ เป็นกันเอง ผมนั่งหลบฝนที่ร้านพร้อมดื่มกาแฟรสเข้มข้น ต้นกำเนิดจากบ้านห้วยห้อมที่ผลิตส่งให้กับร้านยี่ห้อดังที่หลายคนรู้จักกันดี
“ก๊านกำว่าฮัก” น้องนามคนทำกาแฟและคนถ่ายเอกสารในร้านบอกว่า “แพ้คำว่ารัก” ผมนึกถึงภาพหนุ่มสาวที่หยอกเย้า งอนง้อกันในมิวสิควีดีโอเพลงรักหวานๆ ผมว่ามันคลาสสิคดี
รถเมล์ที่โดยสารมาจากขุนยวม วิ่งผ่านแม่ลาหลวงถึงแม่ลาน้อยราวๆ 11 โมง ภาพชาวบ้านจากหลายพื้นที่ สวมชุดชนเผ่า สะพายย่ามใบเดียว เดินจับจ่ายซื้อของกินของใช้ในตัวอำเภอ ส่วนใหญ่มากันเป็นกลุ่มด้วยรถกระบะยกสูง บรรยากาศช่วงสายๆ จึงดูคึกคัก เป็นภาพแปลกตาสำหรับผมตั้งแต่แรกก้าวที่ลงจากรถเมล์
อำเภอแม่ลาน้อยมีภูมิประเทศที่เป็นภูเขาโอบล้อม ดูคล้ายเป็นเพียงแค่อำเภอทางผ่านระหว่างขุนยวมกับแม่สะเรียง วิถีของคนในพื้นที่คล้ายกับอำเภออื่นๆ ที่ผ่านมา แตกต่างกันบ้างตามรูปแบบของที่ละท้องที่ ประชากรส่วนใหญ่ที่เห็นจะเป็นชาวปกาเกอะญอ , ไทยใหญ่ , ม้งและชาวละว้า สวมเครื่องประดับเป็นพวงลูกปัดสีส้ม สีแดง ส่วนมากเป็นคนสูงวัย
สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมในอำเภอแม่ลาน้อยหลักๆมี 3 ที่ อย่างถ้ำแก้วโกมลเป็นถ้ำที่มีผลึกแร่แคลไซต์ ถามคนแถวนี้เขาบอกไม่สามารถถ่ายภาพภายในถ้ำได้ แสงไฟจากแฟลชจะไปทำปฏิกิริยากับผนังถ้ำและช่วงหน้าฝนนี้ต้องปิดชั่วคราวเพราะเกรงว่าจะเป็นอันตรายแก่นักท่องเที่ยว
โฮมสเตย์บ้านห้วยห้อม หมู่บ้านชาวปกาเกอะญอ ระยะทางห่างจากตัวอำเภอราว 40 กิโลเมตร ที่นี่ขึ้นชื่อเรื่องปลูกไร่กาแฟพันธุ์อาราบิกาและการทอผ้าขนแกะ ชาวบ้านนับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์
นาขั้นบันไดที่โครงการหลวงแม่ลาน้อย (บ้านดง) เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร ช่วงเดือนกันยายนจะเป็นช่วงทำนาข้าวและช่วงปลายเดือนตุลาคม ต้นข้าวจะออกรวงสีทองอร่าม ผมอยากจะเห็นนาขั้นบันไดทุ่งรวงทอง
อาชีพเสริมของคนที่นี่คือเก็บเห็ดถอบและหาของป่า เป็นอาชีพหมุนเวียนตามฤดู ว่ากันว่าเห็ดถอบที่นี่มีกลิ่นหอมและอุดมสมบูรณ์กว่าที่อื่นๆ (เขาเล่าให้ฟัง จริงเท็จแค่ไหนผมไม่รู้) ชาวบ้านจากหลายๆ พื้นที่จึงเดินทางมาแม่ลาน้อย ปีนี้เห็ดถอบเยอะ ไปเดินตลาดก็เจอแต่เห็ดถอบ ราคาขายกันเป็นลิตร ลิตรหนึ่งหลายร้อยบาทและลดลงเหลือลิตรละไม่ถึงร้อย แต่ถ้าไปถึงกรุงเทพก็หลายร้อยบาททีเดียว ส่วนรสชาติอร่อยเพียงไรคนถึงนิยม ผมก็ได้แค่เห็นยังไม่เคยลองกินสักที
ชุมชนกองมู ห่างจากถนนสายหลักราวกิโลกว่ามีวัดและพระธาตุกองมูเป็นศาสนสถานศิลปะแบบไทยใหญ่ ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวแม่ลาน้อย ถัดไปเป็นวัดแม่ลาน้อย ที่นี่จะมีประเพณีเขาวงกตและลอยกระทงในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี
ในทุกวันพฤหัส ชุมชนกองมูจะมีตลาดนัดของคนในพื้นถิ่น ส่วนมากจะเป็นพืชผักสดและอาหารคาวหวานหลากหลายประมาณ 20 กว่าร้าน ให้คนในละแวกมาจับจ่าย
อาชีพหลักของคนที่นี่ส่วนใหญ่ทำเกษตรกรรม เช่นปลูกข้าว, ข้าวโพด ,ถั่วเหลือง, กะหล่ำปลีและกาแฟอาราบิก้า นักเรียนที่มาเรียนในตัวอำเภอแม่ลาน้อยก็จะมาจากหลายพื้นที่ในบริเวณรอบตัวอำเภอ บางคนมาจากห้วยห้อมซึ่งมีระยะทางไกลหลายสิบกิโลเมตร
ในอำเภอมีรถรับ-ส่งนักเรียนทุกเช้า เย็น นักเรียนบางคนก็อยู่หอพักเครือข่ายนอกโรงเรียน ความได้เปรียบของเด็กนักเรียนที่นี่คือความแข็งแรงของร่างกาย ไม่ว่าจะเรื่องของอากาศ, อาหาร หรือแม้แต่กิจวัตรประจำวัน นักเรียนบางส่วนแวะทำศาสนกิจในโบสถ์ที่ตั้งระหว่างทางขึ้นโรงเรียน
นักเรียนเดินเป็นแถวยาวไปโรงเรียนที่ตั้งอยู่บนเนินดอยสูง เดินชึ้น-ลง ทุก เช้า-เย็น ทุกวัน ผมเดินตามขึ้นไปถ่ายรูปนักเรียนยังรู้สึกหายในแทบไม่ทัน นักเรียนบางคนยกมือไหว้ บางคนยิ้มให้ บางคนพูดคุยหัวเราะคิกคัก ผมไม่รู้ว่าเด็กๆเขามองผมยังไงและไม่แน่ใจว่า จำเป็นจะต้องมีการทำกายบริหารหน้าเสาธงก่อนเข้าห้องเรียนอีกไหม แน่นอนความได้เปรียบคือ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขาที่พอกพูน
ตกค่ำร้านค้าส่วนใหญ่ก็ปิด บรรยากาศดูเงียบสงบ มีเพียงร้านก๊วยเตี๋ยว ร้านอาหารตามสั่งประปราย มีร้านสะดวกซื้อเปิด 24 ชั่วโมงและเป็นที่สำหรับจองตั๋วรถตู้ไปเชียงใหม่ ใครจะไปแม่สะเรียง เชียงใหม่ก็ต้องมาจองก่อนล่วงหน้า เพราะรถตู้จะไม่จอดรับผู้โดยสารรายทาง หรือหากพลาดรถตู้ก็ต้องรอรถเมล์ส้ม ซึ่งจะมาถึงแม่ลาน้อยราวๆ 11 โมง ควรมายืนดักรอก่อนเวลา ที่ศาลาหน้าโรงพยาบาล เพราะถ้าพลาด อาจต้องโบกรถ หรือต้องเดินทางกลางคืนในรอบ 5 ทุ่มกับเที่ยงคืน ซึ่งดึกเกินไปที่ผมจะมายืนรอขึ้นรถ