กาดเมืองพร้าวออนไลน์
Facebook : กาดเมืองพร้าวออนไลน์
เว็บไซต์ : www.phraomarket.com
โทรศัพท์. 086-3612100
ในโลก “ออนไลน์” ไม่มีกำแพงขวางกั้นอีกต่อไป ไม่ว่าใกล้หรือไกลแค่ไหน ทุกอย่างก็ย่นย่อมาเจอกันได้แค่ในพริบตาเดียว สำหรับคนที่รักถิ่นฐานบ้านเกิดอย่างหมดใจ โลกออนไลน์นี่แหละคือเครื่องมือบุกโลกโดยไม่ได้ต้องจากบ้านนอกไปไหนเลย
คุณการะเกต์และคุณกิ่งกาญจน์ ศรีปริญญาศิลป์ สองพี่น้องคนเมืองพร้าวเจ้าของเว็บไซต์กาดเมืองพร้าวออนไลน์ เล่าให้รีวิวเชียงใหม่ฟังว่า หลังจากไปทำงานอยู่กรุงเทพฯ ในฐานะนักเขียน บรรณาธิการและคนทำงานด้านการออกแบบมานาน วันหนึ่งก็คิดถึงบ้านที่เป็น “รากชีวิต” ของตัวเอง ประกอบกับคุณพ่อมีอายุมากขึ้น ทั้งสองจึงตัดสินใจกลับมาอยู่ที่บ้านเมืองพร้าวในจังหวัดเชียงใหม่อย่างจริงจัง
สำหรับคนเชียงใหม่แล้ว อำเภอพร้าวดูเหมือนจะเป็นเพียงเมืองทางผ่านหรือต้องตั้งใจไปถึงเท่านั้น หากสำหรับเธอทั้งสองแล้ว ไม่ว่าอย่างไรพร้าวก็คือ “บ้านที่น่ารัก” เสมอ “พร้าวเป็นเมืองเล็กๆ อาจไม่มีอะไรในสายตาคนอื่น แต่ในความเล็กก็มีเสน่ห์ในแบบฉบับของมัน พร้าวเป็นอำเภอที่มีภูเขาล้อมรอบ ที่บ้านเราก็จะมองเห็นภูเขาทุกด้าน เราสามารถตื่นมาดูพระอาทิตย์ขึ้นจากด้านนี้ พอช่วงเย็นแค่เดินอ้อมระเบียงไป ก็ดูพระอาทิตย์ตกจากอีกด้านได้ สิ่งเหล่านี้คือความสวยงามของเมืองพร้าวที่เรารักมัน” คุณการะเกต์เล่า
โดยพื้นฐานแล้วทั้งสองเป็นคนชอบทำอาหารและทำกินกันเองในครอบครัวอยู่เสมอ มีวัฒนธรรมการกินอาหารพร้อมหน้ากันทั้งครอบครัวเป็นประจำ ทำให้บทสนทนาจึงมักเกี่ยวข้องกับวัตถุดิบที่เกี่ยวข้องกับอาหารในแต่ละมื้อ
“อย่างเช่นบางวันเราคุยกันว่าผักกาดวันนี้อร่อยจัง มาจากคุณตาคุณยายบ้านไหน รสชาติไม่เหมือนกับที่เราเคยกินนะ เป็นอย่างนี้เสมอทุกมื้อนานๆ เข้ามันก็อิน เราอินกับสิ่งที่ชุมชนทำ เราทำลาบทีได้ผักกับลาบมา 20-30 ชนิดโดยไม่ต้องไปซุปเปอร์มาร์เก็ต ผักแต่ละอย่างมาจากแต่ละบ้านอย่างละนิดละหน่อย สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่ความอร่อยแต่เป็นเสน่ห์ของชุมชนที่เรารู้สึกว่าเราน่าจะช่วยส่งต่อคุณค่าแบบนี้ไปให้คนอื่นๆได้สัมผัสบ้าง” และนั่นเองที่ทำให้กาดเมืองพร้าวออนไลน์ได้ถือกำเนิดขึ้น
อาหารใน กาดเมืองพร้าว ออนไลน์
มีทั้งอาหารสำเร็จรูปที่สองพี่น้องทำกันเอง เช่น น้ำพริกต่างๆ อย่างน้ำพริกคั่วทราย น้ำพริกข่า น้ำพริกน้ำอ้อย รวมทั้งวัตถุดิบต่างๆ ที่รับมาจากชุมชน เช่น หน่อไม้ดอง ผักกาดดอง น้ำปู๋ ปลาแห้ง ปลาแดดเดียว เป็นต้น
“เราคิดว่าเสน่ห์ของอาหารพื้นถิ่นคือความหลากหลายไม่ใช่แพทเทิร์น แค่หน่อไม้ดองอย่างเดียวก็ไม่เหมือนกันแล้ว เป็นหน่อไม้บ้าน หรือหน่อจากภูเขา แต่ละบ้านก็ทำไม่เหมือนกัน ดองแบบใช้น้ำเปล่า ใช้น้ำเกลือ น้ำซาวข้าว ทุกอย่างให้รสชาติที่แตกต่างกันหมดเลย”
“เราตั้งใจทำกาดเมืองพร้าวออนไลน์ให้เป็นตัวกลางที่เชื่อมต่อชุมชนกับโลกภายนอกเข้าด้วยกัน โดยที่ชาวบ้านไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรมากมาย ทำอย่างที่เขาเคยทำนั่นเแหละ เพราะถ้าสิ่งที่เขาทำมันลงตัวอยู่แล้วและทำด้วยความสุข เราเองมองเห็นคุณค่าในสิ่งที่เขาทำก็อยากจะให้คนอื่นๆ ได้สัมผัสเหมือนเราบ้าง เลยรู้สึกว่า เดี๋ยวเราจะช่วยขายของให้เอง…
“เพราะฉะนั้น ของในกาดเมืองพร้าวออนไลน์ บางอย่างมีแค่ตามฤดูกาลเท่านั้น อย่างเห็ดถอบ หน่อไม้ไร่ น้ำปู๋ หมดแล้วก็หมดเลย เราจะไม่ไปบังคับชาวบ้านว่าต้องทำมาให้ได้ตามออเดอร์ที่ลูกค้าสั่งมา เราไม่ได้ตั้งเป้าที่การผลิตแบบอุตสาหกรรม คนเราไม่จำเป็นต้องได้ทุกอย่าง แต่การ “รอเป็น” อาจทำให้ได้อาหารที่รสชาติยอดเยี่ยม ได้ของดีที่สุดในแต่ละฤดูกาล อย่างผักกาดที่อร่อยก็ต้องรอหน้าหนาวเพราะรสมันจะเข้มข้นขึ้น ของอย่างเดียวกันแค่เปลี่ยนฤดู รสชาติก็ต่างกันแล้ว
“อย่างน้ำปู๋ของเรา ก็เน้นทำจากปูนาในนาจริงๆ พยายามให้ได้ปูจากแปลงนาที่ไม่ใช้สารเคมี ถ้าไม่มีเราก็พอ ไม่ฝืนว่าต้องไปหามาให้ได้ หรือปลาแดดเดียว คนขายบางคนเขาก็เคยชินที่ต้องใส่สีให้มันสวย กลัวเนื้อปลาไม่แดงแล้วขายไม่ได้ เราก็จะบอกกับชาวบ้านที่ทำปลาให้เราว่า ไม่ต้องใส่สีหรอก อาหารของเรามีความสด ความใหม่ และสีสันตามแบบธรรมชาตินั้นดีกับสุขภาพอยู่แล้ว
“เพราะฉะนั้น เราเลยอยากสื่อสารกับลูกค้าด้วยว่า ทำไมของบางอย่างในร้านเราจึงมีราคาที่แตกต่างกัน บางอย่างถูกมากกว่าที่อื่นๆ นั่นเพราะเราอยู่ในแหล่งผลิตโดยตรง สินค้าเป็นการส่งตรงระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค แต่บางอย่างก็อาจจะดูแพง เพราะเราทำอย่างประณีตคัดสรร ใช้กรรมวิธีที่ยุ่งยากซับซ้อนกว่าการทำขายให้ได้ปริมาณมากๆ เร็วๆ
“เราทำกาดเมืองพร้าวกันอย่างตั้งใจ ทุ่มเททำงานร่วมกันกับชาวบ้าน ชุมชน และให้ความสำคัญมากกับข้อมูลของสิ่งที่เราขาย ที่มาของอาหารเป็นเรื่องสำคัญ เพราะอาหารเป็นสิ่งที่ใกล้ชิดเราที่สุด ส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพของเรา เรารับอาหารเข้าในร่างกายของเราทุกวัน สิ่งมหัศจรรย์ที่ดลบันดาลให้เราได้ทั้งร้ายและดี ง่ายและใกล้ที่สุดก็คืออาหารนี่เอง อาหารจึงมีความศักดิ์สิทธิ์ในตัวมันเองและเราต้องดีลกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์นี้ด้วยความเคารพและความจริงใจ เช่นเดียวกับที่เรารู้สึกแบบนี้ทั้งกับลูกค้าและคู่ค้าของเราทุกคน”
คุณการะเกต์ทิ้งท้ายสำหรับชุมชนเล็กๆ หรือคนตัวเล็กๆ ที่อยากทำธุรกิจออนไลน์ว่า “ในท้องถิ่นเรามี “คุณค่า” และ “มูลค่า” อยู่แล้ว เมื่อใดก็ตามที่เราข้ามพรมแดนทางกายภาพด้วยเทคโนโลยีได้ เช่น ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต เราจะไม่มีข้อจำกัดในการค้าขายอีกต่อไป สำหรับคนที่อยากทำการค้าออนไลน์แบบนี้ ข้อสำคัญคือ เราต้องรู้จักตัวเองอย่างดี รู้จักสิ่งที่เราจะขาย รู้จักความเป็นมาของมัน อย่างลึกซึ้ง เมื่อลึกซึ้งแล้วเราก็จะรักมัน จะอินกับมัน เราจะสามารถส่งต่อเรื่องเล่าแล้วสื่อสารออกไปให้ลูกค้ารู้ ถึงตอนนั้นเราจะขายอะไรก็ได้ทั้งนั้น เพราะถ้าสินค้าเราดีพอ มันก็ขายได้ด้วยตัวของมันเอง เรื่องเล่าจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ และจะมีความหมายมากขึ้นถ้ามาจากพื้นฐานความเป็นจริง”
สองปีจากการตอบรับอย่างดีต่อกาดเมืองพร้าวออนไลน์ ตอนนี้ทั้งสองกำลังขยับขยายพื้นที่เพื่อพัฒนาเป็นร้านค้าเล็กๆ เป็นจุดรับซื้อสินค้าจากชาวบ้านเพื่อให้คนมาจับจ่ายซื้อของ รวมถึงร้านอาหารเล็กๆ ที่มีห้องสมุด ลานอเนกประสงค์และอาจมีห้องพักเล็กๆ สำหรับผู้ที่ต้องการชื่นชมเสน่ห์เมืองพร้าวด้วย แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังอยู่ในระหว่างการลงมือทำ หากพร้อมบริการเมื่อไร รีวิวเชียงใหม่จะรีบรายงานทันที
สำหรับคนที่สนใจผลิตภัณฑ์อาหารที่ปรุงด้วยรัก สร้างสรรค์ด้วยใจก็สามารถสั่งซื้อได้ที่เพจเฟสบุ๊คกาดเมืองพร้าวออนไลน์และในเว็บไซต์ มีอาหารน่าสนใจหลายอย่างทั้งไส้อั่วเมืองพร้าว จิ้นส้มเมือง น้ำพริกต่างๆ ปลาแดดเดียว หนังปอง จิ๊นแห้ง แหนมเห็ดถอบ แหนมปลาส้ม หน่อส้มเมือง น้ำปู๋ (โปรดสอบถามร้านค้า สินค้าบางอย่างมีตามฤดูกาล) ส่วนผักผลไม้สดในฤดูนี้ มีอโวคาโด ผักเมืองหนาวหลากชนิด ในอนาคตอันใกล้จะมีบริการจัดส่งผักสดถึงในตัวเมืองเชียงใหม่ด้วย ต้องติดตามกันต่อไปนะ
การได้ทำงานที่ตัวเองรักและคนรอบข้างได้ประโยชน์ไปด้วย นี่คือชีวิตแสนวิเศษเลยจริงๆ มองหาคุณค่ารอบตัวเรา แล้วสร้างสิ่งนั้นขึ้นมา เราทุกคนก็ล้วนมี “การงานแห่งชีวิตที่มีคุณค่า” เช่นเดียวกัน ลองหามันให้เจอล่ะ 🙂
ขอบคุณภาพจากกาดเมืองพร้าวออนไลน์