ปิง ETC. ชวนทำการใหญ่ เพราะใครๆ ก็เป็นนักแต่งเพลงได้

ปล่อยให้ฉันนอนหลับตาก็ยังดีกว่ารู้ว่าเธอไม่รักกัน
ได้โกหกตัวเองอยู่ในความฝันที่ฉันยังไม่ยอมตื่น
จะยอมเป็นเจ้าชายนิทรา
และใช้เวลาที่ยังมีทั้งคืน
ข่มตานอนหลับฝันไม่ยอมตื่นให้รักเรายั่งยืนอยู่ในฝัน”

(เจ้าชายนิทรา วงETC)

พยายามจะตัดใจ ตัดปัญหาให้พ้นไป แต่ก็ทำไม่ได้เลยสักที
คิดถึงเขาอยู่เสมอ อยากให้เขาอยู่ตรงนี้ ได้แต่คิดทั้งๆที่มันไม่มีทาง
บอกตัวเองทุกวัน ให้หันไปทางอื่น เวลาที่เขานั้นเข้ามา
บอกตัวเองซ้ำๆ เลิกทำเป็นคนเจ้าน้ำตา
อย่าเสียดายเวลา อย่าให้เขารู้ว่าเราไม่เปลี่ยนจากเดิม”

(คนเจ้าน้ำตา นิวจิ๋ว)

เคยไหม..ที่รู้สึกว่า เพลงบางเพลงเหมือนถูกแต่งมาเพื่อเราโดยเฉพาะ เพลงบางเพลงบีบคั้นอารมณ์ที่ซ่อนเร้นภายในจนราวกับว่าคนเขียนเพลงนั้นนั่งอยู่ในหัวใจและถ่ายทอดความรู้สึกของเราออกมาจริงๆ บทเพลงไพเราะจึงไม่ได้แค่จับใจคนฟังเท่านั้น แต่ยังเป็นเหมือนความทรงจำส่วนหนึ่งที่ร่วมเป็นประวัติศาสตร์ในช่วงชีวิตได้เลยทีเดียว

img_7396

ปิงจิรวัฒน์ ตันตรานนท์ คือคนที่อยู่เบื้องหลังถ้อยคำงดงามของบทเพลงเหล่านี้ เขาเป็นทัพหลังที่แข็งแกร่งของวงดนตรีสายเลือดเชียงใหม่อย่างETC. ฝากความทรงจำทั้งสุขทั้งเศร้าในหลายบทเพลงทั้งของETC เช่น เพลงเจ้าชายนิทรา เธอคือใคร และศิลปินดังคนอื่นๆอีกมากมาย เช่น เพลงคนเจ้าน้ำตาของนิวจิ๋ว และเพลงสายลมของเจนนิเฟอร์ คิ้ม เป็นต้น

img_7393


เพลงก็เหมือนเรื่องเล่า” พี่ปิงบอกเราอย่างนั้น

ชีวิตคนเราดำเนินไปผ่านเรื่องราวหลากรสหลายอารมณ์ หากนำมาเรียงร้อยเป็นบทเพลงจะได้เพลงเพราะมากมายมหาศาล เพราะเชื่อเช่นนั้น เขาจึงเชื่อมั่นว่าคนทุกคนเป็นนักแต่งเพลงได้ เพราะเราต่างมีเรื่องเล่าในแบบของเราเอง

ตอนอยู่ม.2 หัดแต่งเพลงครั้งแรก คือวัยนี้มันเหมือนกับเพลงที่พี่เสกโลโซบอกเลยนะ ว่าตอนอายุ 14 ทุกอย่างมันเริ่มตรงนั้น อยากจีบสาวก็ตอนนั้น อยากลองกินเหล้าสูบบุหรี่ก็ช่วงนั้น ขับรถเป็นก็ช่วงนั้น พอฮอร์โมนมันทำงาน เราก็อยากมีความรู้สึกดีๆกับเพศตรงข้าม เพราะฉะนั้นจุดเริ่มต้นมันก็คงเป็นอยากจีบสาว..ประมาณนั้นแหละ” พี่ปิงเล่าย้อนเรื่องราววันวานที่พาเขามาบนเส้นทางสายนี้ด้วยเสียงหัวเราะ ก่อนเล่าต่อไปว่า “การเป็นนักแต่งเพลงที่ดี มันต้องเริ่มมาจากนักแปลงเพลงที่ดีก่อน ถ้าไปถามนักแต่งเพลงท่านอื่นก็จะได้ข้อแนะนำคล้ายๆกันคือ ให้เอาเพลงคนอื่นที่เราชอบ มาดัดแปลงเนื้อในแบบของตัวเอง คิดเนื้อหาในแบบที่ตัวเองอยากเล่า เราก็จะได้เพลงแปลงมา ซึ่งมันสนุกนะ เป็นเพลงแนวทะลึ่งๆกันไป แต่มันใช้จีบสาวไม่ได้หรอกนะใช่ไหม (หัวเราะ) ”

img_7413

สำหรับเด็กหนุ่มคนอื่น พออารมณ์อยากจีบสาวเริ่มลดน้อยลงไปเรื่องราวเหล่านี้ก็อาจจืดจางลงไปด้วย แต่พี่ปิงกลับมุมานะมากขึ้นเรื่อยๆ “ตอน ม.ปลายก็เริ่มแต่งเพลงจริงจัง แล้วพอเข้าเรียนมหาลัยก็โชคดีที่เจอคนที่ชอบคล้ายๆกัน เริ่มมีกลุ่มเล่นดนตรีด้วยกันถึงขั้นเก็บเงินซื้อเครื่องดนตรีเอง และไปแข่งโค้กมิวสิคอวอร์ดในปี 2538 ซึ่งนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เจอสมาชิกETC. อันที่จริงพวกเราไม่ได้อยู่วงเดียวกันหรอกนะ เพราะ A cappella7อยู่ทีมนึง ETC.อยู่ทีมนึง(เฉพาะบีกับโอเล่) เราก็อยู่อีกทีมนึง แต่ความที่เรามีอะไรคล้ายๆกันก็เลยร่วมหัวจมท้ายกันมาถึงทุกวันนี้”

แล้วโอกาสของการเขียนเพลงเพื่อเผยแพร่ในวงกว้างก็มาถึง เมื่อนักร้องนำวงA cappella7 มาขอให้พี่ปิงช่วยแต่งเพลงซึ้งๆให้หนึ่งเพลง “บุคลิกของวง A cappella7 จะเป็นวงที่สนุกๆตลกๆ เขามีทีมงานที่เก่งมากๆ แต่พอเขาอยากได้เพลงซึ้งๆและมาขอให้เราช่วยแต่งให้ ก็เลยได้เพลง “ดึก” ออกมาในท้ายที่สุด”

เพียงไม่นานโอกาสครั้งที่สองก็มาเยือนเมื่อแมวมองจากค่ายยักษ์ใหญ่ได้ยื่นข้อเสนอให้กลุ่มดนตรีกลุ่มนี้ทำเพลงของตัวเองได้ในแบบที่ชอบจริงๆ “ตอนนั้นพวกเราเล่นดนตรีกลางคืน และพี่อ้อมชุมพล สุปัญโญมาเจอ เขาชอบสไตล์การเล่นของเรา เพราะใกล้เคียงกับวงอินฟินิตี้ซึ่งเป็นสไตล์แจ๊ส แต่ของเราเป็นเพลงร้องที่มีกลิ่นอายแบบนั้น เขาให้เราลอง ให้หาซาวน์ในแบบตัวเองดู” และนั่นคือวันที่กลุ่มดนตรีนี้กำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ ความชอบที่หลากหลายของสมาชิกทำให้เลือกแนวทางที่ลงตัวไม่ได้ จนทุกคนเห็นชอบกับคำว่า ETC. ที่ให้ความหมายที่ว่า “หลายๆอย่างปะปนกัน”

ในอัลบั้มชุดแรก มีเพลงที่น่าประทับใจอยู่เพลงหนึ่งชื่อว่า “งามแต๊แม่ปิง” เล่าเรื่องความงดงามของมนต์เมืองเหนือผ่านถ้อยคำสำเนียงพื้นถิ่น แม้อาจไม่ใช่เพลงฮิต แต่เพลงที่งดงามด้วยฝีมือการประพันธ์ของผู้ชายคนนี้ ก็ทำให้วงดนตรีวงนี้เข้าไปยืนอยู่ในระดับแนวหน้าและทำให้เกิดภาพจำว่าเป็น “วงดนตรีของคนเชียงใหม่” ได้อย่างสมภาคภูมิและเป็นแรงบันดาลใจแก่วงดนตรีเชียงใหม่รุ่นน้องอีกมากมายในช่วงเวลาต่อมา


นักแต่งเพลงที่ดีต้องเป็นคน “เฉลียว” ไม่ต้องฉลาดก็ได้ แต่ถ้าทั้งเฉลียวและฉลาดก็ยิ่งดี ความเฉลียวคือการฉุกคิดจากเรื่องเล็กๆน้อยๆรอบๆตัว อย่างเช่น เพลง “เจ้าชายนิทรา” ก็มีจุดกำเนิดมาจากตอนที่เรานั่งทำงานกัน แล้วเพื่อนๆหลับกันหมด ปล่อยเราทำงานอยู่คนเดียว เราเอาเหตุการณ์นั้นแหละมาเป็นประเด็นแต่งเพลง หรือบางครั้งอ่านข่าวฆ่าตัวตาย เราหยิบเอาประเด็นเรื่องการวนเวียนกับความรู้สึกที่หลุดพ้นไปไม่ได้ กลายเป็นเพลง “เจ็บและชินไปเอง” หรือ เวลาขับรถเราสังเกตเลขทะเบียนรถคันข้างหน้า คิดไปถึงเรื่องหวย คิดไปประเด็นเรื่อง “ครั้งนี้โชคชะตาจะเข้าข้างฉันไหม” อะไรแบบนี้ (จะเป็นเพลงใหม่ของวงETC.) เขาถึงเรียกว่าเฉลียว เพราะมันมาจากเรื่องเล็กๆน้อยๆในชีวิตของเราเอง”

img_7421

พี่ปิงจึงยืนยันหนักแน่นว่า คนทุกคนเป็นนักแต่งเพลงได้ทั้งนั้น

ทุกวันนี้ การเขียนเพลงไม่ใช่วิธีการที่ตายตัวอีกต่อไป มันมีวิธีสร้างสรรค์มากมาย ทิ้งเรื่องสเต็ปขั้นตอนการเรียนแบบเดิมๆไปเลย ในการเรียนรู้ พี่อาจจะให้แต่ละคนแต่งนิทานมาหนึ่งเรื่อง ในเรื่องมีตัวละคร มีเหตุการณ์ และท่อนฮุคของเพลงจะมาจากไหน ก็มาจาก “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า” นั่นแหละ อยากได้แบบไหนก็แต่งไปเลย เพราะโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว ความเหงาเดี๋ยวนี้มันอาจหมายถึง “การลงโพสต์แล้วไม่มีใครมาไลค์เลย” ก็ได้..ใช่ไหม (หัวเราะ) ความเศร้าอาจหมายถึง “การคอมเมนท์แล้วโดนด่า” อะไรแบบนี้ก็ได้ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของมุมมองและยุคสมัย การแต่งเพลงที่ต้องการมุมมองแบบนี้เลยต้องมาอาศัยนักแต่งเพลงยุคใหม่ๆที่อายุน้อย แบบเพลงนักเลงคีย์บอร์ดของแสตมป์

คอร์สเขียนเพลงของเราจะไม่มาแจกแจงว่าเราแต่งเพลงยังไง คิดยังไง เพราะวิธีการแบบนั้นมันเหมือนเชิญให้ทุกคนเดินมาบนเส้นทางของเรา ซึ่งมันไม่ควรเป็นแบบนั้น แต่เราจะสอนเทคนิควิธีทุกอย่าง จะเอาอะไรไปใช้ก็เรื่องของคุณเพื่อให้คุณได้เป็นตัวคุณเอง อยากให้ทุกคนได้มาเรียนรู้แล้วสนุก ได้เป็นแบบที่ตัวเองเป็นจริงๆ และบอกได้เลยว่า แค่ชั่วโมงแรกก็จะปล่อยของทั้งหมด รับรองว่าทุกคนจะต้องสนุกและอึ้งมากแน่นอน ”

เทคนิคการสอนแต่งเพลงของพี่ปิง (ที่แอบเล่า)ให้เราฟังนั้นน่าสนุกมาก เป็นวิธีการสร้างสรรค์ความคิดด้วยวิธีการที่แตกต่างอย่างที่สุด และถือว่าเป็นการเผยเคล็ดลับความคิดที่ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อนเลยจริงๆ นอกจากเทคนิคแต่งเพลงส่วนตัวแล้ว พี่ปิงยังจะเผยเคล็ดลับการแต่งเพลงแบบปานธนพรให้ฟังด้วยว่า ทำไมเพลงปานถึงดังทุกเพลง แถมยังมีวิทยากรและศิลปินเบื้องหน้าและเบื้องหลังมาร่วมให้ความรู้อีกเพียบ 

ไม่อยากให้คนกังวลว่าฉันไม่มีความรู้ เล่นดนตรีไม่เป็นจะเรียนได้ไหม บอกเลยเรียนได้หมดทุกคนครับ และสิ่งที่เราสอนมันเป็นเรื่องวิธีคิด ซึ่งเอาไปปรับใช้กับในชีวิตได้อีกหลายเรื่อง ทั้งเรื่อง เรื่องชีวิต เรื่องการทำงาน เรื่องการปรับองค์กร ไม่ใช่ต้องเป็นนักแต่งเพลงเท่านั้น ETC.มาได้ไกลขนาดนี้ส่วนสำคัญมันก็เป็นเรื่องของโอกาสด้วย เหมือนคนถูกหวย ถ้าไม่ใช้โอกาสไปออมหรือลงทุนวันนึงก็หมดไป หรือบางคนถูกหวย แต่ไม่ตรวจสลาก ก็ไม่รู้ว่าตัวเองถูกหวย ทั้งๆที่ถือลอตเตอรี่อยู่ในมือ รางวัลที่หนึ่งก็ผ่านไปโดยที่เขาไม่ได้อะไรเลย คอร์สแต่งเพลงนี้ก็เช่นกัน มันเหมือนโอกาสที่มาถึงและอยากให้ทุกคนรีบคว้าเอาไว้ เพราะโอกาสดีๆ ไม่ได้มีบ่อยๆ” พี่ปิงทิ้งท้ายอย่างนั้น

หากชีวิตเป็นบทเพลง เรื่องราวตลอดชีวิตของเราจะเล่าผ่านเพลงกี่บทกันนะ ลองให้โอกาสตัวเองไปค้นหาศักยภาพที่ซ่อนอยู่ภายใน แล้วบางทีเราอาจจะได้พบ “เพลงของเรา” บ้างก็เป็นได้ 🙂

คอร์ส “ คิดเป็นเพลง” โดย ปิงETC.
ระยะเวลาจัดงาน : เดือนตุลาคม 2559 
โทรศัพท์ : 095-6911923 และ 081-6719155

Relate Posts :