เมื่อวันที่ 5 พฤษภษาคม 2560 เวลา14.30 น. ณ เชียงใหม่ฮอลล์ เซ็นทรัลพลาซา เชียงใหม่แอร์พอร์ต ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานเปิดงาน Northern Digital Expo 2017 พร้อมด้วย นายกฤษณ์ ธนาวณิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นางวิภาวัลย์ วรพุฒิพงค์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ และ อาจารย์ ดร.ภราดร สุรีย์พงษ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และ เทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณาจารย์ นักศึกษา จาก 15 มหาวิทยาลัยในภาคเหนือ ผู้ประกอบการ ร่วมงาน
โดย ดร.พันธ์ศักดิ์ กล่าวว่าในฐานะของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม การจัดงานครั้งนี้ขึ้น เพื่อตอบสนองนโยบายของภาครัฐในส่วนของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อพัฒนาประเทศ ปัจจุบันรัฐบาลได้ตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนาประเทศไทยให้ไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยได้แถลงนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ซึ่งจะเร่งส่งเสริมภาคเศรษฐกิจดิจิทัลและวางรากฐาน Digital Economy ให้สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งหวังให้ภาพรวมเศรษฐกิจทุกภาคส่วนก้าวหน้าได้ทันในยุคใหม่ และเพิ่มขีดความสามารถของภาคเศรษฐกิจไทยก้าวไปสู่การแข่งขันตลาดระดับโลกในอนาคต โดยเชื่อมโยงธุรกิจดิจิทัลรองรับภาคธุรกิจอื่น หนุนนำกันเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ที่ยั่งยืน ทั้งการผลิต หรือการพัฒนาอย่างสร้างสรรค์ รวมถึงปรับปรุงบทบาทของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องให้ร่วมกันผลักดันและขับเคลื่อน Digital Economy ในทุกพื้นที่ของประเทศอย่างจริงจัง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปพัฒนาทุกภาคส่วน ทั้งระบบข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศ การให้บริการของหน่วยงานองค์กร การนำนวัตกรรมที่ทันสมัยและหลากหลายมาใช้เพื่อเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินธุรกิจ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต ของประชาชนส่วนรวม ลดช่องว่างในการดำเนินงานระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน
ซึ่งในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่เอง ก็ได้ตอบสนองนโยบายส่วนนี้และเร่งขับเคลื่อนทุกภาคส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ให้พัฒนาสู่การเป็น Chiang Mai Smart City เพื่อกระตุ้นให้เกิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ในการพัฒนายุทธศาสตร์แผนงานทุกภาคส่วน เกิดความเท่าเทียมกับของทุกพื้นที่ในการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ พัฒนาชุมชนจัดตั้งศูนย์ดิจิทัล ซึ่งล้วนส่งเสริมให้ Digital Economy มีความเป็นไปได้อย่างเป็นรูปธรรม
ภาคเหนือเองถือเป็นอู่ข้าวอู่น้ำอีกหนึ่งส่วนที่สำคัญของประเทศไทย โดยจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นเหมือนศูนย์กลางของยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาคเองก็มีความพร้อมในเรื่องของการพัฒนาฐานเศรษฐกิจดิจิทัลในหลายด้าน ทั้งในเรื่องของมหาวิทยาลัยที่มีหลักสูตรการศึกษาเพื่อรองรับอุตสาหกรรมดิจิทัลในอนาคต ทั้งยังได้สร้างทรัพยากรมันสมองทางด้านดิจิทัลไอทีที่มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์การพัฒนาของประเทศ
จากงานนี้ผมได้เห็นภาพการผนึกกำลังร่วมกันของหลายฝ่าย ได้เห็นศักยภาพของผู้ประกอบการด้านดิจิทัลไอทีในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งเข้มแข็งและมีอยู่เป็นจำนวนมาก หลายท่านอาจจะไม่ทราบว่าผู้ประกอบการและบริษัทเหล่านี้ล้วนเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศในด้านของการผลิต สร้างสรรค์ พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในหลายด้านมาโดยตลอด
ด้านอาจารย์ ดร.ภราดร กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงานนี้ถือเป็นความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วน ทั้งมหาวิทยาลัยและคณะที่มีหลักสูตรสอดคล้องกับองค์ความรู้ด้านดิจิทัลไอที ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา เชียงใหม่, มหาวิทยาลัยแม่โจ้, มหาวิทยาลัยพายัพ, มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่, มหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น, มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, มหาวิทยาลัยพะเยา เป็นต้น รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ที่ร่วมสนับสนุนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล อาทิ หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล, เซ็นทรัลพลาซา เชียงใหม่ แอร์พอร์ต, JOBs DB, CHICHANG และ Maker Space ฯลฯ โดยการสนับสนุนภายใต้งบประมาณจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และความร่วมมือสนับสนุนการจัดงานโดยผู้ประกอบการในเครือพันธมิตร
โดยภายในงานจะมีกิจกรรมที่ทำเพื่อสร้างการรับรู้และทำให้เกิดการตื่นตัวของผู้ประกอบการ แรงงาน และกำลังคนทางด้านดิจิทัล ซอฟต์แวร์ ตลอดจนผู้ประกอบการ SMEs ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และภาคเหนือ ให้ได้รับทราบและมีส่วนร่วมในงานจัดแสดงสินค้า ซึ่งรวมนวัตกรรมที่น่าสนใจ ผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุด และเกิดประโยชน์ต่อยอดการพัฒนาพื้นที่สู่ Smart City การรับสมัครงานจากภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องอันจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือหลักในการสร้างสรรค์นวัตกรรมการผลิต การบริการ และสร้างโอกาสทางสังคมอย่างเท่าเทียม ด้วยการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ การบริการต่างๆ ผ่านสื่อดิจิทัลเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ที่สำคัญคือได้พัฒนาทุนมนุษย์สู่ยุคดิจิทัลด้วยการเตรียมความพร้อมให้บุคลากรทุกกลุ่ม มีความรู้และทักษะที่เหมาะสมต่อการดำเนินชีวิต และการประกอบอาชีพในยุคดิจิทัลในอนาคตต่อไป