ตู้มายา เชียงใหม่ ซู อควาเรียม กลับมาแล้ว!!!!

   ตู้มายา ณ โซนสำรวจลุ่มน้ำในป่าลึก Jungle Explorer ที่เชียงใหม่ ซู อควาเรียม กลับมาพร้อมกับรูปโฉมใหม่ เปิดให้นักท่องเที่ยวได้ชมแล้วจ้า….. หลังจากที่ปิดปรัปรุงไปได้ระยะหนึ่ง เพื่อเปลี่ยนสายพันธุ์ปลาและเพิ่มความแปลกใหม่ เพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวกลับมาเยี่ยมชมอีกครั้ง โดยสายพันธุ์ปลาที่นำมาจัดแสดงใหม่นี้ มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างไปจากปลาทั่วไปคือ เป็นปลาสีขาวเผือก โดยได้นำมาจัดแสดงมีอยู่ 5 สายพันธุ์ด้วยกัน คือ ปลาตะเพียนทองเผือก, ปลาแรดเผือก, ปลาหมอคอนวิคท์, ปลาถ้ำตาบอด และปลาบิเชียร์ ซึ่งตามธรรมชาติของปลาสายพันธุ์เหล่านี้จะไม่มีสีเผือก แต่เนื่องจากความผิดปกติทางพันธุกรรม ทำให้ปลาที่นำมาจัดแสดงนี้มีสีขาวเผือก อีกทั้งตู้จัดแสดงปลาในครั้งนี้ มีการตกแต่งให้เข้ากับบรรยากาศโซนมายา ซึ่งมีลักษณะเป็นส่วนจัดแสดงของศิลปะเขมร ตกแต่งด้วยไฟสีขาว ทำให้บริเวณดังกล่าวมีความโดดเด่นมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยในการถ่ายภาพของนักท่องเที่ยวให้ได้ภาพที่สวยงามอีกด้วย


ข้อมูลของปลาที่นำมาจัดแสดง

     ปลาตะเพียนทอง ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Barbonymus altus อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae) วงศ์ย่อย Cyprininae มีรูปร่างคล้ายปลากระแห (B. schwanenfeldi) ซึ่งอยู่ในสกุลเดียวกัน แต่ปลาตะเพียนทองมีเกล็ดขนาดใหญ่กว่า และครีบหลัง ครีบหางไม่มีแถบสีดำมีขนาดโตเต็มที่ประมาณไม่เกิน 30 เซนติเมตร ปลาตะเพียนทอง เป็นปลาที่คนไทยรู้จักกันดี โดยบริโภคเป็นอาหารมายาวนาน และใช้สานเป็นปลาตะเพียนใบลาน พบอยู่ทั่วไปตามห้วยหนอง คลองบึง และแหล่งน้ำขนาดใหญ่ของภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคอีสานของไทย มักจะอยู่ปะปนกับปลากระแห ปลาตะเพียนเงิน (B. gonionotus) ด้วยกันเสมอ ๆ ปลาตะเพียนทอง มีชื่อเรียกอื่น ๆ อีก เช่น “ตะเพียนหางแดง” หรือ “ลำปำ” หรือ “เลียนไฟ” ในภาษาใต้ ซึ่งซ้ำกับปลากระแห

ปลาแรด (อังกฤษ: Giant gourami-แปลตรงตัว “ปลากระดี่ยักษ์”; ชื่อวิทยาศาสตร์: Osphronemus goramy) เป็นปลาน้ำจืดในสกุลปลาแรดในวงศ์ Osphroneminae ซึ่งอยู่ในวงศ์ใหญ่ Osphronemidae นับเป็นปลาแรดชนิดที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด ลำตัวป้อมและแบนข้าง เกล็ดสากมือเป็นรูปหยัก มีก้านครีบท้องคู่แรกเป็นเส้นเรียวยาวคล้ายหนวด ใช้สำหรับสัมผัส ปลายหางมนกลม ปากแหลม ริมฝีปากหนา ภายในปากมีฟันซี่เล็ก ๆ แหลมคมเรียงอยู่ภายใน ส่วนหัวเล็กและป้าน เมื่อโตขึ้นมาโดยเฉพาะในปลาตัวผู้จะมีโหนกนูนขึ้นมาเรื่อย ๆ จนดูคล้ายนอแรด อันเป็นที่มาของชื่อในภาษาไทย โคนหางมีจุดสีดำคล้ำอยู่ทั้ง 2 ข้าง เมื่อโตขึ้นจุดดังกล่าวจะหายไป เป็นปลาที่กินได้ทั้งพืชและสัตว์น้ำ แต่นิยมกินพืชมากกว่า มีการกระจายพันธุ์ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในส่วนที่เป็นแผ่นดินใหญ่ และที่เป็นหมู่เกาะ ในประเทศไทยพบได้ในพื้นที่ภาคกลางและบางส่วนของภาคใต้ มีขนาดโตเต็มที่ได้ถึง 90 เซนติเมตร จึงนับว่าเป็นปลาชนิดที่ใหญ่ที่สุดในวงศ์ Osphronemidae แต่ว่าขนาดโดยเฉลี่ยทั่วไปจะมีขนาดประมาณ 30-40 เซนติเมตร


ปลาหมอคอนวิคท์ หรือ ปลาหมอม้าลาย (อังกฤษ: Convict cichlid, Zebra cichlid) เป็นปลาน้ำจืดในวงศ์ปลาหมอสี (Cichlidae) ชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Amatitlania nigrofasciata มีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลาง จัดเป็นปลาหมอสีขนาดเล็ก มีขนาดความยาวเต็มที่ไม่เกิน 6 นิ้ว ตัวผู้และตัวเมียสามารถแยกได้อย่างชัดเจน โดยตัวผู้จะมีลายสลับขาวดำ 8-9 ปล้อง หัวโหนก ครีบแหลมยาว และมีลำตัวใหญ่กว่าตัวเมีย ในขณะที่ตัวเมียครีบก้นมีสีเหลือบเขียว ส่วนท้องมีสีส้ม และขนาดเล็กกว่าตัวผู้ นอกจากนี้ยังมีปลาที่มนุษย์คัดสายพันธุ์จนเป็นสีขาวจากการขาดเมลานิน ซึ่งพบเห็นเป็นปลาสวยงามได้ทั่วไปเช่นเดียวกับปลาสีดั้งเดิม ปลาหมอคอนวิค เป็นปลาหมอสีชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม ถึงแม้จะเป็นปลาหวงถิ่นที่ก้าวร้าว แต่ก็มีขนาดเล็กและเลี้ยงง่ายมีความทนทาน สามารถเพาะขยายพันธุ์ในที่เลี้ยงได้ โดยปลาจะสามารถแพร่พันธุ์ได้ตั้งแต่มีความยาว 1.5 นิ้ว ปลาในที่เลี้ยงที่จับคู่กันแล้ว มักวางไข่ในภาชนะดินเผาโดยปลาทั้งตัวผู้และตัวเมียจะช่วยกันดูแลไข่และลูกอ่อน

ปลาไบเคอร์ หรือที่นิยมเรียกกันในประเทศไทยว่า ปลาบิเชียร์ (อังกฤษ: Bichir) เป็นปลากระดูกแข็งในอันดับ Polypteriformes จัดเป็นปลาน้ำจืดที่มีโครงร่างแตกต่างไปจากปลากระดูกแข็งและปลากระดูกอ่อนทั่วไป โดยเป็นปลาที่มีพัฒนาการมาจากยุคก่อนประวัติศาสตร์ คือ ในส่วนของกระดูกแข็งนั้นพบว่ามีกระดูกอ่อนเป็นจำนวนมาก มีช่องน้ำออก 1 คู่ และภายในลำไส้มีลักษณะขดเป็นเกลียว ซึ่งจะเป็นลักษณะเฉพาะของปลาในกลุ่มฉลามและกระเบน ทั้งยังมีเหงือกแบบพิเศษอยู่หลังตาแต่ละข้าง เกล็ดเป็นแบบกานอยด์ ซึ่งเป็นเกล็ดที่พบในปลามีกระดูกสันหลังในยุคแรก มีรูปทรงเป็นสี่เหลี่ยมรูปว่าวและมีส่วนยื่นรับกับข้อต่อ ระหว่างเกล็ดแต่ละชิ้น ซึ่งปัจจุบันจะพบปลาที่มีลักษณะเช่นนี้ ได้แก่ ปลาในอันดับปลาเข็ม, ปลาฉลามปากเป็ดและปลาสเตอร์เจียน เป็นต้น หัวมีขนาดเล็กแต่กว้าง ช่วงลำตัวรวมกับส่วนอก ลำตัวมีลักษณะเรียวยาวคล้ายกับงูมากกว่าจะเหมือนปลาทั่วไป ส่วนอกนั้น มีครีบที่ค่อนข้างแข็งแรง มีลักษณะเป็นฐานพูเนื้อคลุมด้วยเกล็ด คอยช่วยยึดเส้นครีบทั้งหลายที่แผ่ออกมาเป็นแฉก ๆ เหมือนจานพังผืด ซึ่งช่วยในการเคลื่อนไหวในพื้นน้ำเหมือนกับการเดินคล้ายกับปลาซีลาแคนท์ ในส่วนท้องจะมีถุงลม 2 ถุง ช่วยในการหายใจทำหน้าที่คล้ายกับปอด ถุงลมด้านซ้ายมีการพัฒนาน้อยกว่าด้านขวา เช่นเดียวกับปลาปอด ตั้งอยู่บริเวณช่องท้องโดยยึดติดกับหลอดอาหาร โดยที่ทำงานร่วมกับเหงือก ทำให้สามารถอยู่โดยปราศจากน้ำได้เป็นเวลาหลายชั่วโมงมีท่อจมูก สำหรับดมกลิ่น 2 ท่อ เนื่องจากเป็นปลาที่สายตาไม่ดี ต้องใช้การดมกลิ่นในการหาอาหาร ส่วนหลังจะมีชุดครีบ ประกอบไปด้วย 5-18 ครีบ ซึ่งรวมกันเป็นครีบหลัง แต่ละครีบนั้นจะมีแกนครีบเดี่ยว 1 แกน รองรับด้วยพังผืดเล็ก ๆ ในแต่ละครีบ ครีบหางมีลักษณะกลมใหญ่ปลายแหลม นับได้ว่าปลาไบเคอร์เป็นรอยต่อที่สำคัญที่แสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการจากปลาขึ้นมาจากน้ำมาใช้ชีวิตอยู่บกอีกจำพวกหนึ่ง ซึ่งในช่วงฤดูแล้งหรือฤดูร้อน ที่แหล่งน้ำที่อยู่อาศัยเหือดแห้ง ปลาไบเคอร์สามารถที่จะขุดรูเข้าไปจำศีลในใต้พื้นดินเพื่อรอให้ถึงฤดูฝน เช่นเดียวกับปลาปอด

ปลาถ้ำ คือปลาที่อาศัยอยู่ในถ้ำที่มืดมิด โดยมากจะเป็นปลาที่มีผิวหนังสีขาวซีดเผือกและตาบอดหรือตาเล็กมากเนื่องจากไม่ได้ใช้สายตาให้เป็นประโยชน์เลย เพราะแสงสว่างส่องเข้าไปไม่ถึง ปลาถ้ำจะมีระบบนิเวศน์และพฤติกรรมของตัวเองโดยเฉพาะ แตกต่างจากปลาที่พบทั่วไป ซึ่ง ปลาถ้ำสามารถพบได้ในถ้ำทุกภูมิภาคของโลก


View Larger Map

Relate Posts :