กระหึ่ม!! ล้านนา ดีป้าจัด Digital Thailand Big Bang Regional 2018 ครั้งที่ 2 @เชียงใหม่ พบสุดยอดเทคโนโลยีดิจิทัลจากทุกภาคส่วน ปักธงเป็นต้นแบบแห่งการสร้างเมืองนวัตกรรมของประเทศ เชียงใหม่
20 กรกฎาคม 2561 – กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa (ดีป้า) จัดงาน “Digital Thailand Big Bang Regional 2018” ครั้งที่ 2 ภายใต้แนวคิด “Digital Transformation Thailand : โลกเปิด เราปรับ ประเทศเปลี่ยน” ชวนท่องเมืองเชียงใหม่ในโลกเสมือนจริงกับโมเดล 3 มิติ พร้อมถอดบทเรียนหมูป่ากับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและเครื่องมือกู้ภัยยุคใหม่ เรียนรู้การใช้นวัตกรรมพัฒนาเมืองผ่านการจำลองเมืองอัจฉริยะ ร่วมลุ้นร่วมเชียร์กับการแข่งขันเกมส์ออนไลน์ระดับนานาชาติ ‘Aqua Republica International Serious Game Competition 2018’ เพื่อจัดการวิกฤตการณ์น้ำของโลก พลาดไม่ได้ 20-22 กรกฎาคมนี้ ณ เชียงใหม่ฮอลล์ เซ็นทรัลพลาซา แอร์พอร์ต เชียงใหม่
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวในโอกาสเดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดงานว่า จังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางของภาคเหนือทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การศึกษา การแพทย์ ทั้งในปัจจุบัน นอกจากเป็นเมืองแห่งศูนย์กลางของอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจและการพัฒนาทางด้านสังคม อันนำไปสู่การพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืนแล้ว ยังเป็นเมืองศูนย์กลางการลงทุนด้านเทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งรัฐบาลต้องการสร้างจังหวัดเชียงใหม่ให้เป็น “ซุปเปอร์คลัสเตอร์” ด้านการพัฒนาดิจิทัล เพื่อการท่องเที่ยว การรักษาความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม สุขภาพและการศึกษา ด้วยเหตุนี้ depa จึงได้เข้ามาขับเคลื่อนโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในจังหวัดเชียงใหม่ โดยมุ่งเน้นส่งเสริมเกษตรกรรม การท่องเที่ยว และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการเมือง ให้ผู้ใช้ได้เรียนรู้และต่อยอดไปสู่การใช้งานจริง ดร.พิเชฐ กล่าวว่า ทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นว่าเชียงใหม่ คือเมืองต้นแบบแห่งการสร้างนวัตกรรม
ดังนั้น ในงาน Digital Thailand Big Bang Regional 2018: Chiangmai จึงได้จำลองเมืองอัจฉริยะ Chiangmai Smart City – Smart Agriculture เพื่อให้ผู้เข้าชมงานได้เรียนรู้การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาเมือง รวมทั้งได้นำโมเดล 3 มิติของเมืองเชียงใหม่ และมีโซนให้ทุกคนได้ท่องเที่ยวชมภูมิทัศน์ของเชียงใหม่ผ่านเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง โดยโมเดลนี้จะนำไปใช้อ้างอิงในการวางผังเมืองในอนาคต รวมถึงวิเคราะห์และจำลองโซลูชั่นส์ต่างๆ อาทิ การเกษตรแบบอัจฉริยะ การขนส่งแบบอัจฉริยะ การรักษาความปลอดภัยแบบอัจฉริยะ การท่องเที่ยว และอื่น ๆ อีกมากมาย ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เปิดเผยว่า การจัดงานครั้งนี้ เป็นโอกาสที่ดีที่เยาวชน ประชาชน และทุกภาคส่วนในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงในภาคเหนือ ได้มีโอกาสเข้ามาเรียนรู้โลกดิจิทัลในมุมมองที่หลากหลาย เพื่อพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล โดยรูปแบบของงานจะเป็นการประชุม สัมมนา และ Workshop โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายวงการ มีกิจกรรมพิเศษ และนิทรรศการให้ความรู้และนำเสนอภาพรวมของการพัฒนาประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล พบกับการแสดงนวัตกรรมชั้นนำที่น่าตื่นตาตื่นใจ อาทิ VR จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี, นำเสนอสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมด้านความฉลาดเชิงการคำนวณ วิศวกรรมชีวการแพทย์และวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เช่น เครื่องตรวจจับการล้ม, เครื่องวัดหัวเอียงแบบ 360 องศา , หูฟังอัจฉริยะ รวมทั้งการแสดงแพลตฟอร์มและเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะรองรับไลฟ์สไตล์ของผู้คนที่มีความน่าสนใจและเป็นเรื่องใกล้ตัว ดร.ณัฐพล กล่าวว่า อีกหนึ่งกิจกรรมที่ไม่ควรพลาด คือ การถ่ายทอดความรู้และแบ่งปันประสบการณ์ในการสัมมนาตลอด 3 วันของการจัดงานจากวิทยากรผู้มีความเชียวชาญจากหลากหลายวงการ โดยมีหัวข้อการบรรยาย เสวนาที่น่าสนใจ อาทิ การถอดบทเรียนหมูป่า เทคโนโลยีดิจิทัลและเครื่องมือกู้ภัยยุคใหม่ ที่ทำให้ประเทศไทยเป็นที่จดจำของคนทั่วโลก Digital Marketing กับตลาดต่างประเทศ AEC, Digital Transformation ปรับโฉมธุรกิจด้วยแนวคิดดิจิทัล ระบบ IoT จะช่วยเกษตรกรให้เป็น Smart Farm ได้จริงหรือไม่ การปรับตัวทั้งธนาคารและผู้ประกอบการ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงธุรกรรมทางการเงิน Thailand 4.0 เป็นต้น
นอกจากนี้ในโซนนิทรรศการยังประกอบด้วยความน่าสนใจมากมาย อาทิ Big Bang Pavilion, Smart City, Digital Transformation, eSports, Digital Playground และการแสดงผลงานของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) : CAT ที่ให้การสนับสนุนระบบเครือข่ายอินเตอร์เนตผ่านไฟเบอร์ออปติกความเร็วสูงในบริเวณพื้นที่การจัดงาน และติดตั้งสัญญาณ wi-fi ให้บริการแก่ผู้จัดแสดงนิทรรศการและผู้ร่วมงานตลอดการจัดงาน “พลาดไม่ได้กับไฮไลท์สำคัญของงานคือการแข่งขันเกมส์ออนไลน์ ‘Aqua Republica International Serious Game Competition 2018’ สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษา เพื่อจัดการวิกฤตการณ์ปัญหาน้ำของโลก อาทิ การขาดแคลนน้ำ ภาวะน้ำท่วม ปัญหาประชากรเพิ่มขึ้น มลพิษทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้เล่นจะต้องใช้การวางแผนเชิงกลยุทธ์ในการแก้ปัญหาแบบบูรณาการเพื่อควบคุม จัดการกับปัญหาดังกล่าว การแข่งขันอีสปอร์ตนี้ depa ได้ร่วมกับ UNEP-DHI Center for Water and Environment, Hydro informatics Society (Singapore) และ UNESCO Bangkok ร่วมกันจัดขึ้น ปัจจุบัน การแข่งขันอีสปอร์ตกำลังเป็นที่นิยมมากในโลกไซเบอร์ มีการแข่งขันแบ่งออกเป็นระดับสมัครเล่น กึ่งอาชีพ และระดับมืออาชีพ รวมถึงมีรายการแข่งขันและลีกต่างๆ เช่นเดียวกับกีฬาทั่วไป สถิติในปี 2017 มีผู้ชมอีสปอร์ต มีจำนวนรวมทั้งสิ้นประมาณ 385 ล้านคนทั่วโลก” ดร.ณัฐพล กล่าว