ที่มาของหนี้สิน
ผมก็ไม่ต่างจากคนอื่นในสังคมที่ต้องมีภาระในการผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ผ่อนมือถือ และผ่อนต่างๆนาๆตามประสาคนทั่วไปที่ไม่ได้มีเงินถุงเงินถัง เมื่ออยากได้มาก็ต้องใช้วิธีกู้ยืมและก็ผ่อนชำระโดยยอมเสียดอกเบี้ยให้เขาไป อัตราดอกเบี้ยของแต่ละสัญญาก็ไม่เหมือนและไม่เท่ากันแล้วแต่เงื่อนไขการกู้ยืม สรุปก็คือ มีหนี้อยู่หลายก้อนนั่นเอง ทั้งก้อนเล็กหลักหมื่น และก้อนใหญ่หลักล้าน
การผ่อนชำระหนี้สิน
หนี้ทั้งหมดของผมจะผ่อนเป็นรายเดือน ส่วนมากก็จะเป็นช่วงสิ้นเดือนช้าสุดไม่เกินวันที่ 5 ของอีกเดือน หากล่าช้ากว่านั้นก็จะมีเบี้ยปรับเพิ่มเติม บริษัทของผมเลยแก้ปัญหาด้วยการปรับวันที่เงินเดือนออก จากออกทุกสิ้นเดือนให้มาออกทุกวันที่ 28 เพื่อพนักงานรวมทั้งตัวผมเองจะได้นำเงินไปจ่ายหนี้สินต่างๆได้ทันเวลา ข้อเสียของระบบนี้คือเงินเดือนจะออกเร็วและหมดเร็ว ความจริงคือเงินหมดตามปกติเพียงแต่ความรู้สึกมันยังไม่ถึงสิ้นเดือน
ดอกเบี้ยของสัญญากู้ยืมแต่ละสัญญา
สัญญากู้ซื้อบ้านดอกเบี้ยจะถูกในสองหรือสามปีแรกแล้วแต่โปรโมชั่น จากนั้นก็จะลอยตัวโดยเงินก้อนที่จ่ายไปจะเป็นเงินต้นและดอกเบี้ยประมาณอย่างละครึ่งและเมื่อนานวันเข้าดอกจะน้อยลงและต้นจะมากขึ้น ส่วนดอกเบี้ยรถยนต์จะเป็นแบบตายตัวคือคิดดอกมาเรียบร้อยเท่ากันทุกเดือนตั้งแต่วันแรกที่ออกรถมา ถ้าเอาเงินไปโปะก็อาจได้ลดดอกลงเล็กน้อย
ทำไมถึงต้องปิดหนี้ก้อนเล็กให้ได้ก่อน
หนี้ก้อนเล็กที่สุดคือ หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล เป็นหนี้ที่ธนาคารส่งจดหมายมาถามว่า อยากได้เงินฉุกเฉินไปใช้หรือไม่ สามารถมาเซ็นเอาเงินไปได้เลยโดยไม่ต้องมีอะไรค้ำประกัน ปัญหาคือ ดอกเบี้ยของสัญญาแบบนี้จะแพงมาก คือ ประมาณครึ่งนึงของเงินที่ชำระไปทั้งหมดจะเป็นค่าดอกเบี้ย นั่นคือ สมมุติว่ากู้มาสี่หมื่นบาท เมื่อผ่อนชำระตามโปรแกรมจนแล้วเสร็จ คุณต้องจ่ายเงินไปจำนวนถึงเกือบแปดหมื่นบาทเลยทีเดียว นั่นคือเหตุผลที่ควรจะกำจัดมันทิ้งเสียถ้ามีโอกาสจะทำได้
สรุปข้อควรทำเมื่อจะตัดสินใจเป็นหนี้
1. มีหนี้เฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น
2. ศึกษาและสอบถามเจ้าหน้าที่ให้แน่ใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยให้ชัดเจน
3. หากหนี้มีหลายก้อน ให้เลือกกำจัดก้อนที่เล็กที่สุดและเสียดอกเบี้ยมากที่สุดก่อน
4. เมื่อภาระหนี้ลดลงแล้ว ให้หลีกเลี่ยงการก่อหนี้เพิ่ม
5. เมื่อปลดหนี้ได้แล้ว ให้เลิกนิสัยการชอบก่อหนี้และให้ศึกษาเรื่องการลงทุนแทนการเป็นหนี้
ขอบคุณข้อมูลดีๆจากบล็อกเกอร์ชาวเชียงใหม่ @itong2go – https://www.itong2go.com/2018/06/blog-post.html