คณะพัฒนาการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จัดกิจกรรมฝึกอบรมระยะสั้นสำหรับผู้บริหารระดับสูงและเจ้าของธุรกิจท่องเที่ยว (Senior Executive Education: SEE)

คณะพัฒนาการท่องเที่ยว ม.แม่โจ้ นำผู้บริหารและเจ้าของธุรกิจ ศึกษาดูงาน Service Innovation เสริมวิสัยทัศน์ผู้นำ สร้างสรรค์นวัตกรรมในองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ

คณะพัฒนาการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จัดกิจกรรมฝึกอบรมระยะสั้นสำหรับผู้บริหารระดับสูงและเจ้าของธุรกิจท่องเที่ยว (Senior Executive Education: SEE) มุ่งพัฒนาทักษะการบริหารขั้นสูง เพิ่มพูนวิสัยทัศน์และเปิดประสบการณ์ใหม่ พัฒนาภาวะผู้นำก้าวทันการเปลี่ยนแปลง (Accelerated Leadership Programme) ให้กับกลุ่มเจ้าของธุรกิจ ผู้นำชุมชน คณาจารย์และนักวิจัย ตลอดจนเกษตรกรหัวก้าวหน้า เพื่อส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมในองค์กร ควบคู่กับการสร้างกลไกขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมให้กับกลุ่มนวัตกรขององค์กรได้อย่างคล่องตัวและยั่งยืน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-21 กันยายน 2561 ณ จังหวัดเชียงใหม่ นครปฐม และกรุงเทพมหานคร

กิจกรรมการฝึกอบรมระยะสั้นสำหรับผู้บริหารระดับสูงและเจ้าของธุรกิจท่องเที่ยว (Senior Executive Education) หลักสูตร การบริหารนวัตกรรมเพื่อเสริมศักยภาพพื้นที่ชุมชนรองรับระบบนิเวศใหม่ที่เกื้อกูลการออกแบบบริการ (Innovation Administration for Service Design Ecosystem) ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจชุมชนบนฐานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมด้วยนวัตกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทาน จัดโดยคณะพัฒนาการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยแม่โจ้ สนับสนุนโดยกระทรวงศึกษาธิการ และได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ได้แก่ คณะวิทยาศาสตร์ คณะผลิตกรรมการเกษตร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ Maejo University Business Incubator หรือ MJUBI สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สวทน. มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนาทักษะการบริหารขั้นสูงที่ส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมภายในองค์กร เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงและเจ้าของธุรกิจท่องเที่ยวสามารถเข้าใจ สื่อสาร ขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมให้กับกลุ่มนวัตกรของหน่วยงาน และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย คู่ขนานกับการสร้างระบบกลไกบนฐานปฏิบัติการทางการศึกษา (Education Platform) สร้างคุณค่าร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากสหสาขาวิชาชีพ (Value Co-Creation) รวมถึงสร้างประสบการณ์และเพิ่มพูนวิสัยทัศน์ให้กับผู้บริหารระดับสูงและเจ้าของธุรกิจท่องเที่ยว ตามพลวัตการเปลี่ยนแปลงสอดคล้องกับภูมิทัศน์ทางการเมือง (Political Landscape) และออกแบบปัจจัยหนุนเสริมทำให้ชุมชนเกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมได้ (Political Capacity)

กิจกรรมดังกล่าว แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การฝึกอบรมเชิงปฎิบัติการ หลักสูตรการบริหารนวัตกรรมการบริการสำหรับแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน ได้รับเกียรติจาก อาจารย์อรรจน์ สีหะอำไพ อนุกรรมการร่างอนุบัญญัติตามพระราชบัญญัติมัคคุเทศก์และธุรกิจนำเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้เกียรติบรรยายให้ความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ ในหัวข้อ “การพัฒนาวิสัยทัศน์และสร้างภาวะผู้นำ” และ “การบริหารนวัตกรรมไทยในยุค 4.0: สร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างไรในองค์กร” เมื่อวันที่ 17-18 กันยายน 2561 ณ โรงแรมเลอ เมอริเดียน เชียงใหม่


นอกจากนี้ ผู้เข้ารับการฝึกอบรมยังได้บินลัดฟ้าไปศึกษาดูงานแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน ธุรกิจร้านอาหารหรือสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง โดดเด่นด้านนวัตกรรมการบริการ (Service Innovation) ระหว่างวันที่ 19-21 กันยายน 2561 ณ กรุงเทพมหานครและนครปฐม อาทิ โครงการพัฒนาย่านสร้างสรรค์ “เจริญกรุง” ณ TCDC กรุงเทพมหานคร, ศึกษาแนวคิด“สามพรานโมเดล” โมเดลธุรกิจที่ยั่งยืนบนพื้นฐานความเป็นธรรมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงภายใต้การขับเคลื่อนโดยมูลนิธิสังคมสุขใจ โดยได้รับเกียรติจาก คุณอรุษ นวราช กรรมการผู้จัดการ สามพรานริเวอร์ไซด์ เลขานุการมูลนิธิสังคมสุขใจ ต้อนรับคณะและให้ข้อมูล พร้อมเรียนรู้วิถีการทำเกษตรอินทรีย์ในกิจกรรมปฐมออแกนิคฟาร์ม อ.สามพราน จ.นครปฐม , เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ “มิวเซียมสยาม” พร้อมค้นหาไอเดียใหม่ ๆ และสัมผัสประสบการณ์การออกแบบบริการจากร้านอาหารหลากหลายรูปแบบ อาทิ ร้าน “เทพบาร์…บาร์วัฒนธรรม” “เสน่ห์จันทน์” ร้านอาหารไทยโบราณตำรับชาววังระดับมิชลินสตาร์ และ “บ้านผัดไทเจริญกรุง” ร้านอาหารสตรีทฟู้ด ในเครือ Issaya Siamese Club เป็นต้น กิจกรรมในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากคุณสิทธิโชค ศรีโช คอลัมนิสต์อาหาร หนังสือ “Rabbit today” ร่วมเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ด้านการบริหารนวัตกรรมการบริการตลอดการศึกษาดูงานด้วย

อาจารย์อนุวัต เชื้อเย็น คณบดีคณะพัฒนาการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยแม่โจ้ หัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยว่า “กิจกรรมในครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง ผู้บริหารที่ได้เข้าร่วมการอบรมได้ร่วมเปิดประสบการณ์ และสัมผัสมุมมองใหม่ ถือเป็นการเพิ่มพูนวิสัยทัศน์สำหรับผู้บริหาร โดยทางโครงการมีความมุ่งหวังว่าผู้บริหารที่เข้าร่วมโครงการฯ จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้นวัตกรที่อยู่ในชุมชนทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ มีความเกื้อกูลซึ่งกันและกัน และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแหล่งท่องเที่ยวพื้นที่ต่าง ๆ ด้วยการนำความรู้ในเรื่องการบริหารจัดการนวัตกรรมในพื้นที่ชุมชนเป็นแกนกลาง ที่จะทำให้เกิดการเพิ่มมูลค่าในห่วงโซ่อาหารและการเกษตรในพื้นที่ให้ลงไปถึงเศรษฐกิจฐานรากของแต่ละชุมชน” สำหรับผู้ที่สนใจติดตามรายละเอียดกิจกรรมเพิ่มเติมได้ที่ ‭www.facebook.com/mjursi‬


Relate Posts :