“AIS Digital For Thais” มุ่งนำดิจิทัลยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและผู้ประกอบการก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0

เอไอเอส มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ภายใต้แนวคิด “Digital For Thais” นำเทคโนโลยีดิจิทัล ร่วมสร้างประโยชน์และคุณค่าให้แก่สังคมและประเทศ ใน 4 แกนหลักที่เป็นหัวใจสำคัญของประเทศ พร้อมยกระดับเกษตรกรที่เป็นอาชีพหลักของชาติให้ก้าวทันกระแสการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัล

นางวิไล เคียงประดู่ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานประชาสัมพันธ์ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส  กล่าวว่า เอไอเอส มุ่งมั่นในการนำนวัตกรรมดิจิทัลไปช่วยเสริมความแข็งแกร่งในรากฐานหลักของประเทศ ผ่านแนวคิด “Digital For Thais” เพื่อเพิ่มศักยภาพ สร้างโอกาสการเข้าถึงและความเท่าเทียมกันของเทคโนโลยีไปสู่ประชาชน ในโครงสร้างพื้นฐานหลัก 4 ด้านที่สำคัญของประเทศ ทั้งด้านการศึกษา การเกษตร สาธารณสุข และธุรกิจสตาร์ทอัพ เพื่อขับเคลื่อนประเทศก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทั่วประเทศให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

โดยด้านการศึกษา ซึ่งเป็นรากฐานอันสำคัญในการพัฒนาคนให้มีศักยภาพ เอไอเอสจึงได้เพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนไทยได้เข้าถึงแหล่งข้อมูลทั้งวิชาการและสาระบันเทิง ด้วยการติดตั้งเครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงและมอบกล่องสานรัก สานความรู้ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของเด็กๆ ที่อยู่ห่างไกลทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันได้ติดตั้งกล่องสานรักฯ ให้กับโรงเรียนต้นแบบไปแล้ว จำนวน 34 แห่ง  ด้านการเกษตร ซึ่งเป็นอาชีพหลักที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านาน  แต่เนื่องจากในปัจจุบันการประกอบอาชีพของเกษตรกร รวมถึงพฤติกรรมการบริโภคสินค้าเปลี่ยนแปลงไป เอไอเอสจึงได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลส่งเสริมการทำงานของเกษตรกรให้ก้าวไปสู่เกษตรกร 4.0 ด้วยแนวคิด “สอน เสริม สร้าง” ผ่านแพลตฟอร์มฟาร์มสุข เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงข้อมูลสำคัญในการทำการเกษตร เพื่อเพิ่มคุณภาพของผลผลิตของเกษตรกรให้สูงขึ้น รวมทั้งยังได้พัฒนาแพลตฟอร์มร้านฟาร์มสุข เพื่อเป็นช่องทางตลาดออนไลน์ให้เกษตรกรสามารถขายสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปที่หลากหลายจากทั่วทุกภูมิภาค โดยขณะนี้มีร้านค้าบนร้านฟาร์มสุขจำนวน 357 ร้าน และสินค้าจำนวน 1821 รายการ


นอกจากนี้  เอไอเอสเชื่อว่าการมีสุขภาพที่ดีเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตในทุกๆด้าน จึงได้ส่งเสริมการทำงาน ด้านสาธารณสุข ผ่าน “แอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์” เครือข่ายสังคมออนไลน์เฉพาะกลุ่ม เพื่อเป็นเครื่องมือสื่อสารในการปฎิบัติงานด้านสาธารณสุขชุมชนเชิงรุกของหน่วยบริการสุขภาพ และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารระหว่างสมาชิกในกลุ่ม ทำให้สามารถรับรู้ข้อมูล ข่าวสาร ความเคลื่อนไหวด้านสาธารณสุขและภัยสุขภาพในชุมชนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ถูกต้องแม่นยำ สามารถใช้งานได้กับทุกเครือข่าย แต่เมื่อใช้งานบนเครือข่ายเอไอเอสจะไม่เสียค่าบริการอินเทอร์เน็ต ปัจจุบัน หน่วยบริการสุขภาพและ รพ.สต.เปิดใช้งานแอปฯอสม.ออนไลน์ จำนวน 2,200 แห่งทั่วประเทศ  และมีผู้ใช้งานจำนวน 48,000 คน

สำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพ เอไอเอส ได้ร่วมพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพ รวมถึงผู้ประกอบการในระดับชุมชน โดยนำความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลไปส่งเสริมให้แก่ผู้ประกอบการ และวิสาหกิจชุมชน เพื่อนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริการต่างๆในการไปต่อยอดธุรกิจ และพัฒนาสินค้าให้สามารถเติบโตทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศได้อย่างยั่งยืน

ด้านนายพรรัตน์ เจนจรัสสกุล  หัวหน้าส่วนงานปฎิบัติการภูมิภาค-ภาคเหนือ เอไอเอส กล่าวว่า

“ในพื้นที่ภาคเหนือ ได้ขยายโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคม เพื่อรองรับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทั้ง 4 ด้านให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม  โดยด้านการศึกษา ผ่านโครงการ “สานรัก สานความรู้” ด้วยการติดตั้งกล่องสานรักฯให้แก่โรงเรียนต้นแบบในภาคเหนือไปแล้ว จำนวน 13 แห่ง  สำหรับด้านการเกษตร ในพื้นที่ภาคเหนือ มีร้านค้าที่นำสินค้ามาจำหน่ายบนร้านฟาร์มสุข จำนวน 64 ร้านค้า สินค้า จำนวน 333 รายการ  ด้านสาธารณสุข ในพื้นที่ภาคเหนือ มีการเปิดใช้แอปฯ อสม.ออนไลน์ จำนวน 540 รพ.สต. ผู้ใช้งานจำนวน 10,430  ราย  สำหรับการส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพในภาคเหนือ เอไอเอส ได้ส่งเสริมกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพ จำนวน 13 รายในจังหวัดเชียงใหม่ และยังได้ร่วมมือกับศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคเหนือ จังหวัดลำปาง นำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลไปส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนและสตรี ให้สามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปประยุกต์ใช้ในการเป็นเครื่องมือพัฒนาตลาดออนไลน์ได้อย่างมีคุณภาพ


นายพงษ์ศักดิ์ ตันวิสุทธิ์ หัวหน้าส่วนงานดิจิทัลฟอร์ไทย เอไอเอส กล่าวว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการเกษตร เอไอเอสได้พัฒนาแพลตฟอร์มฟาร์มสุข เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพ  โดยมีส่วนประกอบสำคัญ คือ แอปพลิเคชัน “ฟาร์มสุข” ซึ่งจะเป็นคลังความรู้และภูมิปัญญาต่างๆให้เกษตรกรไทยเข้าถึงข้อมูลสำคัญในการทำการเกษตร   ทั้งในรูปแบบของวิดีโอ บทความ และเทคโนโลยีต่างๆ อาทิเช่น ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในแปลงเพาะปลูกจากอุปกรณ์ NB-IOT ข้อมูลราคาซื้อ-ขายผลผลิตทางการเกษตร รวมไปถึงข้อมูลด้านการพยากรณ์อากาศที่มีความแม่นยำสูง เพื่อให้เกษตรกรสามารถวางแผนการเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ยังได้สร้างช่องทางตลาดออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน “ร้านฟาร์มสุข” ให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป รวมถึงสินค้าที่เป็นภูมิปัญญาของชุมชนหรือ OTOP  โดยเอไอเอสมีทีมงานที่ช่วยบริหารจัดการให้เข้าถึงเทคโนโลยีและช่องทางการจัดจำหน่าย ทั้งการแนะนำการทำตลาดออนไลน์ การปรับปรุงผลิตภัณฑ์ การถ่ายภาพสินค้าให้น่าสนใจ  เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า สร้างโอกาส สร้างรายได้ และยกระดับการจำหน่ายสินค้าของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเข้าสู่ช่องทางออนไลน์ สอดรับกับนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ของภาครัฐอย่างแท้จริง

Relate Posts :