ททท. เชิญร่วมงานบุญ สัมผัสมหัศจรรย์เมืองไทย สลากย้อมเมืองลำพูน 1 เดียวในโลก

จังหวัดลำพูน องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำพูน เทศบาลเมืองลำพูน องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ชมรมคนลำพูน กรุงเทพมหานคร ร่วมสืบสานมรดกล้ำค่าทางวัฒนธรรมแห่งล้านนา กำหนดจัด “สลากย้อมเมืองหละปูน เมืองบุญหลวงแห่งล้านนา” วันที่ 29-30 กันยายน 2555 ณ วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงใหม่ ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมงานบุญ และสัมผัสประสบการณ์มหัศจรรย์แห่งเมืองไทย “สลากย้อมเมืองหละปูน เมืองบุญหลวงแห่งล้านนา” ระหว่างวันที่ 29-30 กันยายน 2555  ณ วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร ภายในงาน พบกับกิจกรรม การประกวดสลากย้อม การประกวดกะโลง ฮ่ำสลากย้อม (บทกลอนที่ใช้กล่าวในการถวายสลากย้อม) ขบวนแห่สลากย้อม การแสดงซอพื้นเมือง การแสดงสื่อผสมเสนอเรื่องราวที่มาของสลากภัตร และสลากย้อมโดยเยาวชนรุ่นใหม่ นิทรรศการภูมิปัญญาชาวบ้านจากศูนย์สายใย และการแสดงทางวัฒนธรรม โดยในวันที่ 29 กันยายน 2555 จะเป็นวันแต่งดา (วันตระเตรียมงาน) และพิธีเปิดงาน ส่วนในวันที่ 30 กันยายน 2555 จะเป็นวันทาน (วันถวายสลาก) สุภาพสตรีท่านใดที่ประสงค์ร่วมทานสลากย้อม สามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำพูน โทรศัพท์ 0 5351 0243 ทั้งนี้ หลังจากที่มีการถวายสลากย้อมที่วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหารแล้ว จะมีการถวายสลากย้อม ณ วัดสันริมปิง ตำบลริมปิง วันที่ 13-14 ตุลาคม 2555 วัดอารามใหม่ป่าขาม ตำบลหนองช้างคืน วันที่ 27-28 ตุลาคม 2555 และวัดชังมงคล (วังมุย) ตำบลประตูป่า วันที่ 10-11 พฤศจิกายน 2555


การถวายทาน “สลากย้อม” ไม่ปรากฏในจังหวัดอื่น ๆ ทางภาคเหนือ มีแต่เพียงจังหวัดลำพูนเท่านั้น ที่ยังสืบปฏิบัติเรื่อยมาจวบจนปัจจุบัน ส่วนจังหวัดอื่น ๆ จะพบเห็น “ประเพณีทานสลาก” “ตานก๋วยสลาก” หรือ ”กินก๋วยสลาก” คือการทำบุญถวายเครื่องไทยทานแก่พระภิกษุสงฆ์นับตั้งแต่สมัยพุทธกาล และนับเป็นประเพณีสำคัญของชาวล้านนาที่ยังคงปฏิบัติสืบต่อเนื่องกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ในการถวายเครื่องไทยทานนั้นจะทำในช่วงฤดูผลไม้สุกหลายชนิด คือในระหว่างเดือน 12 เหนือเพ็ญขึ้นไป และไม่เกินเดือนเกี๋ยงเหนือดับ และตามประเพณีโบราณมักจะทานที่วัดสำคัญก่อนเช่น ในจังหวัดลำพูนจะต้องทานสลากกภัตรที่วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหารก่อนวัดอื่นในจังหวัด หรือที่จังหวัดเชียงใหม่จะทานที่วัดเชียงมั่น ซึ่งเป็นวัดแรกของเมืองเชียงใหม่ก่อนวัดอื่น ส่วนจังหวัดลำปางจะทานที่วัดปงยางคก ซึ่งเป็นวัดต้นตระกูลของเจ้าเจ็ดตน คือเป็นวัดที่หนานทิพย์ช้างศรัทธา ปัจจุบันนี้ คงมีเพียงจังหวัดลำพูนเท่านั้นที่ยังคงรักษาประเพณีความเชื่อนี้อยู่ เชียงใหม่ และลำปางไม่ได้ยึดถือความเชื่อนี้แล้ว สามารถถวายทานที่วัดไหนก่อนก็ได้ โดยชาวเหนือจะจัดเครื่องไทยทานลงในชะลอมสานด้วยไม้ไผ่ขนาดเล็กๆ เรียกว่า ก๋วย ในภาษาถิ่น จากนั้นก็จะนำเส้นสลากที่เขียนชื่อเจ้าของก๋วยไปวางที่วัดเพื่อให้พระภิกษุเสี่ยงจับเส้นสลากขึ้นมา เมื่อพระรูปใดจับได้เส้นสลากของใครก็จะนำก๋วยไปถวายแด่พระภิกษุรูปนั้น เชื่อกันว่าการตานก๋วยสลากเป็นการถวายทานที่ได้อานิสงส์มากเพราะเป็นการทำบุญที่ไม่เจาะจงทั้งผู้ให้ และผู้รับ และเป็นกุศโลบายหนึ่งในการสอนให้พุทธศาสนิกชนไม่ยึดมั่นถือมั่นในรูปสมบัติ

“สลากย้อม” เกิดจากความเชื่อของชาวยองโบราณที่ว่า “นางสาวผู้ใดถ้ายังไม่ได้ทานสลากย้อม ก็ยังไม่ควรแต่งงาน” บ้างก็เชื่อว่าหญิงสาวใดไม่ได้ถวายสลากย้อมถ้าแต่งงานไปชีวิตจะไม่เจริญรุ่งเรือง “ฮิบ่มา ค้าบ่ขึ้น” โดยเฉพาะหญิงสาวที่ไม่มีโอกาสได้บวชเรียน รับใช้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา หรือมีกิจกรรมและบทบาททางสังคมเหมือนผู้ชาย ดังนั้น การถวายทาน “สลากย้อม” จึงมีนัยของการแบ่งพื้นที่ทางสังคมให้แก่สตรีให้ได้มีบทบาท และนับเป็นการทำบุญครั้งสำคัญ ซึ่งจักทำได้เพียงครั้งเดียวในชีวิตเท่านั้น นอกจากนี้ การถวายทานสลากย้อมจึงเป็นกุศโลบายสอนให้เด็กหญิงชาวยองให้รู้จักการเก็บออม เรียนรู้การเย็บปักถักร้อย และงานอื่นๆ ในหน้าที่แม่บ้าน แม่เรือนอย่างสมบูรณ์แบบก่อนที่จะออกเรือนไปอีกด้วย


“สลากย้อม” เรียกตามสีสันของต้นสลากที่มีหลากสีสัน มีความสูง 10 วาหรือมากกว่านั้น และประดับประดาด้วยข้าวของเครื่องใช้ และของมีค่าต่าง ๆ มากมาย อาทิ อาทิ ตลับใส่พลู หมาก ครกตำหมากทำด้วยเงิน เข็มขัดเงิน สร้อยคอ สร้อยข้อมือทองคำ โต๊ะเครื่องแป้งครบชุด เครื่องเรือนครบชุด อัฐบริขาร เครื่องมือจารคัมภีร์ครบชุด ผ้าห่อคัมภีร์ บาตรพระ            ผ้าสบง ร่ม รองเท้าแตะ ยารักษาโรค สมุด ดินสอฯลฯ รวมถึง ผัก ผลไม้ตามฤดูกาล และบุหรี่ทำเป็นแพยาว 3-4 วา นอกจากนี้ยังมีเงินเป็นยอดจตุปัจจัยด้วย การจัดทำต้นสลากย้อมของหญิงสาวจะใช้ระยะเวลาในการเก็บหอมรอมริบอยู่หลายปี นอกจากนี้ในการทำสลากย้อมแต่ละต้น ยังสะท้อนให้เห็นถึงความสมัครสมานสามัคคี ความมีน้ำใจของชาวบ้านที่ต่างพร้อมใจกันมาช่วยแต่งดาตระเตรียมต้นสลาก หรืออีกนัยหนึ่งคือ เป็นการเปิดโอกาสให้ชายหนุ่ม และหญิงสาวได้มีโอกาสเรียนรู้ศึกษานิสัยใจคอกันในระหว่างการตระเตรียมแต่งดาต้นสลากย้อม

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานเชียงใหม่ เปิดให้บริการทุกวันระหว่างเวลา 08.30-16.30 น. โทร. 0 5324 8604, 0 5324 8607

Relate Posts :