ไนท์บาซาร์ วันนี้จะมาเล่า 8 เรื่องที่คนเชียงใหม่ควรรู้เกี่ยวกับไนท์บาซาร์กันฮะ จะเป็นยังไงไปดูกันเลย!
1. เชียงใหม่ไนท์บาซาร์
เกิดจากแนวคิดของพ่อค้าชาวจีนในเชียงใหม่ ในนามของมูลนิธิสามัคคีการกุศล ที่ต้องการให้มีพื้นที่สำหรับการตั้งขายสินค้า จำพวกหัตถศิลปะ เครื่องจักรสาน ผ้าและเครื่องประดับพื้นเมืองฝีมือของชาวเชียงใหม่ โดยเริ่มจัดเป็นครั้งแรกที่สนามบอลของโรงเรียนช่องฟ้า โดยมีกลุ่มเป้าหมายหรือกลุ่มลูกค้าหลักเป็นชาวต่างชาติ เพราะเห็นว่าในยุคนั้นชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวตะวันตก นิยมซื้องานจำพวกหัตถศิลป์ของเชียงใหม่กลับไปเป็นที่ระลึก
2. สองฝั่งถนนของไนท์บาซาร์
ซึ่งเริ่มตั้งแต่บริเวณหัวถนน เจริญประเทศ ไปถึงถนนช้างคลาน และมีทางแยกออกไปทางศรีดอนชัย แต่สำหรับที่นี่จะมีจุดใหญ่ๆอยู่สามจุด คือ กาแล ตลาดอนุสารและไนท์บาซาร์ ฝั่งโรงแรม ซึ่งแต่ละจุดนั้นมีวัตถุประสงค์ต่างกัน เช่น ตลาดอนุสารจะเป็นศูนย์รวมของอาหารหลากรส โดยช่วงแรกเป็นศูนย์รวมของร้านอาหารจำพวกซีฟู้ดอาหารทะเล ที่มีราคาค่อนข้างสูง แต่ต่อมาก็มีการปรับเปลี่ยนเป็นอาหารนานาชาติ สำหรับนักท่องเที่ยวและคนไทยที่มาเดินเลือกซื้อสินค้า
คณะคาบาเร่ต์โชว์และคณะนักมวยประเภทชกโชว์ลีลา ยืนแจกใบปลิวเรียกลูกค้าต่างชาติ ที่สนใจชมการแสดง อยู่หน้าศูนย์อาหาร ที่เน้นกินมากกว่าเน้นดื่ม
ส่วนคนที่อยากดื่มหรือหาที่ดื่มมองบรรยากาศและผู้คนท่ามกลางแสงสีของไนท์ บาซาร์ในยามค่ำคืน ก็ควรจะเป็นที่กาแล เพราะที่นั่น เป็นลานเบียร์ เป็นมุมดื่ม และเป็นที่นั่งคุยหรือนั่งพัก จิบอะไรต่อมิอะไรกันได้พอเพลินๆ ส่วนฝั่งตรงข้ามกับกาแล จะเป็นไนท์บาซาร์ พลาซ่า ซึ่งแต่เดิมจะเป็นส่วนของโรงแรมและจำหน่ายสินค้านำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีราคาค่อนข้างสูงในยุคแรก แต่ปรับเปลี่ยนมาเป็นสินค้าทั่วไปในช่วงต่อมา
3. ไนท์บาซาร์
เป็นพื้นที่ค้าขายของคนสามกลุ่มด้วยกัน คือ ไทย จีน และมุสลิม เพราะในซอยถนนเจริญประเทศจะมีมัสยิดตั้งอยู่กลางซอย และเป็นชุมชนขนาดใหญ่ของชาวมุสลิมในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งในซอยนั้นยังเป็นศูนย์รวมของอาหารฮาลาล สำหรับนักท่องเที่ยว ชาวมุสลิมและชาวอาหรับที่มาเที่ยวเชียงใหม่ และถ้าเป็นเย็นวันศุกร์ นอกจากอาหารยังมีสินค้าจำพวกเครื่องเทศหรือเครื่องหอมจากอาหรับมาวางจำหน่ายให้พี่น้องมุสลิมได้เลือกซื้อกันตามอัธยาศัย
4. สินค้าที่ ไนท์บาซาร์
ถูกปรับเปลี่ยนจากงานหัตถศิลป์มาเป็นสินค้าจำพวกของก๊อปเกรดเอในเวลาต่อมา ด้วยว่าลูกค้าในระยะหลังไม่ใช่ลูกค้าชาวตะวันตกเป็นหลักแต่เป็นลูกค้าชาวจีนและคนไทยที่มาเที่ยวเชียงใหม่ เพราะหลังจากพ่อค้าชาวจีนยุติการบริหาร ก็มีหน่วยงานอีกหลายส่วนเข้ามาดูแล จากการแบ่งล็อกในช่วงแรก ก็เปลี่ยนเป็นการเช่าพื้นที่แบบถาวร คือไม่ใช่สินค้าเร่ขายเหมือนตอนเริ่มต้น หากแต่สินค้าที่ระลึกก็ยังมีให้เห็นอยู่มากมาย แต่เป็นสินค้าที่ระลึกที่ถูกผลิตจากโรงงานมากกว่างานหัตถศิลป์ประเภทแฮนด์เมด ที่อาจจะมีเพียงชิ้นเดียวเหมือนในยุคเริ่มต้น
5. บริเวณทางเข้าออกของไนท์บาซาร์
ฝั่งกาแล จะมีประตูเล็กให้เดินเข้าออกระหว่างแผงค้าขาย ซึ่งมี Gimmick ตรงป้ายประตู เรียกว่า ประตูแม้ว เพราะแต่เดิมเป็นจุดจำหน่ายสินค้าของชาวเขาให้กับนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะทั้งจำพวกผ้าทอลาย หมวก และของที่ระลึกอื่นๆ
6. รองเท้าผ้าใบและสินค้าจำพวกกระเป๋าและเสื้อยืด
เป็นของก๊อปจากแบรนด์ดังเป็นหลัก ซึ่งไม่ได้มีไว้เพื่อขายลูกค้าต่างชาติ หากแต่ยังเป็นที่นิยมสำหรับลูกค้าคนไทย ด้วยราคาที่ไม่สูงมากอย่างที่คิดเป็นสินค้าประเภทซื้อแล้วใช้ได้ตามวาระ รวมถึงสินค้านำเข้าจากจีน ประเภทบุหรี่ไฟฟ้า มีดสปริง ไฟแช๊คแก๊ส เสื้อยืดสกรีนโลโก้แบรนด์ดัง ในราคาเริ่มต้นแค่ไม่กี่ร้อยบาท
7. ชื่อไนท์บาซาร์
นั้นมีความหมายตรงตัว ว่าเป็นตลาดขายของกลางคืน แต่หลายคนคงจะคิดว่าทำไมไม่ใช้ชื่อ ไนท์พลาซ่า นั่นเพราะ บาร์ซาร์ มีความหมายว่าเป็นตลาดจำหน่ายสินค้า ซึ่งเป็นคนละความหมายกับคำว่าพลาซ่า
แต่เดิมนั้นที่นี่จะมีเพียงห้องน้ำและป้อมยามตรงหัวถนนเป็นกองอำนวยการ สำหรับติดต่อพื้นที่หรือช่วยเหลือนักท่องเที่ยว แต่ตอนนี้เรื่องของความปลอดภัยเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่คอยดูแลอยู่ตามจุดบนถนน และยังมีหน่วยงานที่คอยดูแลพื้นที่คอยให้บริการอยู่ตลอด
8. ที่จอดรถใน ไนท์บาซาร์
ไม่ได้ยากเย็นอย่างที่คุณคิด เพราะมีบริการที่จอดรถอยู่หลายจุดทั้งฝั่งพลาซ่าและฝั่งกาแลหรือหากตรงมาถึงสุดถนน ยังมีพื้นที่ให้บริการจอดรถฟรีอยู่ในโรงเรียนและวัดศรีดอนไชย