ปัญหาการจราจรถือเป็นปัญหาหลักสำหรับประเทศไทย คือแก้ยังไงก็ไม่หาย จะด้วยการวางผังเมืองที่มีมากันแต่สมัยพ่อขุน จำนวนรถยนต์ที่เพิ่มมากขึ้น การขนส่งมวลชนที่ยังไม่ดีพอ หรือแม้กระทั่งการจอดรถไม่เป็นที่เป็นทางในที่ห้ามจอด เหล่านี้คือปัญหาที่ขมวดปมรอวันแก้ไข
เชียงใหม่ก็เข้าข่ายเป็นเมืองแห่งรถติด ยิ่งช่วงเวลาตอนเช้าไปทำงานกับตอนเย็นเลิกงานแถวๆคูเมือง หรือช่วงที่มีสายฝนเทลงมาให้อัตรารถติดทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น หากตอนนั้นคุณกำลังติดแหงกอยู่บนท้องถนนที่เต็มไปด้วยฝูงชนของรถยนต์ มอเตอร์ไซค์นานๆ ถ้าคุณไม่บ่นล่ะก็แสดงว่าคุณเป็นคนอารมณ์ดีมาก
พอรถติดมากก็ชักจะรำคาญ ไหนจะต้องมาคอยระวังคนข้ามถนนตรงไฟแดงทางม้าลาย ที่ส่วนใหญ่พอคนข้ามกดสัญญาณไฟแล้วรถไม่ค่อยจะจอด บางคนเจอไฟต์บังคับ อยากจอดแต่จอดไม่ได้ เพราะถ้าจอดแล้วคันที่ตามหลังมาดันไม่จอด อาจจะถูกสอยเข้าด้านหลังได้โดยง่าย แต่ถ้าไม่จอดแล้วชีวิตคนที่เดินข้ามจะเป็นยังไง
มีเรื่องเล่าจากปากสหายใกล้ตัวผมเมื่อหลายปี เพื่อนผมเล่าให้ฟังว่า ขณะขับมอเตอร์ไซค์คู่ใจจะกลับบ้าน หลังจากไปร่ำสุรามาในเวลาตอนดึกสงัด ก่อนถึงสี่แยกไฟแดง รถสิบล้อที่ไม่ต้องรอสิบโมงควบตะบึงมุ่งหน้าด้วยความเร็วสูง โดยมีรถมอเตอร์ไซค์อีกคันนำหน้าสิบล้อ พอถึงสี่แยกไฟแดง สัญญาณไฟเปลี่ยนจากเขียวเป็นแดง มอเตอร์ไซค์จอดรอสัญญาณไฟ ส่วนสิบล้อที่วิ่งตามหลังมาไม่จอด ภาพนาทีระทึกใจที่ไม่ต้องออกรายการ เรื่องจริงผ่านจอ ในไม่กี่นาทีที่เจออยู่เบื้องหน้า สภาพมอเตอร์ไซค์นอนกองพร้อมร่างคนขับเละ ส่วนสิบล้อนะเหรอครับ นู้นเลยยังวิ่งฉิวต่อไป นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า “แค่จะเป็นคนดีจอดรถรอไฟเขียว อาจนำพาความหวาดเสียวจนเด๊ดสะมอเร่ได้”
ที่เล่ามาก็ไม่มีอะไรหรอกครับ หลายวันก่อนไปเจอข่าว เห็นทางขนส่งเชียงใหม่ทดลองเปิดให้บริการเส้นทางเดินรถสี่ล้อแดง 3 เส้นทางใหม่ในตัวเมือง เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาล และการแข่งขันกีฬาแห่งชาติของคนพิการ นัยนึงถือเป็นการลดปัญหาการจราจรติดขัด
ก็อย่างที่รู้กันล่ะครับ ว่าภายในคูเมืองเชียงใหม่ถนนแคบจะขยับขยายก็ลำบาก การจะจัดให้มีบริการรถบัสโดยสารประจำทางขนาดใหญ่จึงเป็นเรื่องยาก
การเปิดเส้นทางวิ่งรถใหม่จึงถือเป็นข่าวดี แต่ต้องย้ำกันก่อนครับว่า แค่เป็นการทดลองโครงการ โดยจะไปสิ้นสุดกันที่ 5 กุมภา ปีหน้า มีการประเมินผลทุกๆ 15 วัน ซึ่งถ้าเวิร์กหรือเข้าท่า ทางขนส่งรับรองว่าจะจัดเต็มเปิดเส้นทางเพิ่มอีกแน่นอน
3 เส้นทางใหม่ที่เปิดให้บริการมีดังต่อไปนี้ครับ
เส้นทางที่ 1 ออกสตาร์ตจากหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ – สี่แยกรินคำ – ถนนห้วยแก้ว – ถนนศิริมังคลาจารย์ – รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ – ถนนบุญเรืองฤทธิ์ – ประตูสวนดอก – สวนสาธารณะหนองบวกหาด – ประตูเมืองเชียงใหม่ – ถนนวัวลาย – สามแยกทิพยเนตร – โรบินสัน – สนามบิน นานาชาติ จ.เชียงใหม่ – ร.ร.วัฒโนทัยพายัพ – รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ – หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมระยะทาง 14.5 กิโลเมตร
เส้นทางที่ 2 สถานีขนส่งช้างเผือก – ถนนมณีนพรัตน์ – ถนนสิงหราช – วัดพระสิงห์ – ถนนสามล้าน – ประตูเชียงใหม่ – ถนนช่างหล่อ – ร.ร.วัฒโนทัยพายัพ – สวนสาธารณะหนองบวกหาด – ประตูเชียงใหม่ – อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ – ร.ร.ยุพราชวิทยาลัย – ตลาดสมเพชร – ถนนช้างม่อย – ตลาดวโรรส – ถนนท่าแพ – ถนนมูลเมือง – ร.ร.ยุพราช – อาชีวศึกษา – ตลาดช้างเผือก – ขนส่งช้างเผือก เส้นทางรวม 15 กิโลเมตร
และเส้นทางที่ 3 สถานีขนส่งแห่งที่ 2 (อาเขต ) – ร.ร. ดาราวิทยาลัย – ร.พ.แม็คคอมมิค – สะพานนครพิงค์ – ตลาดดอกไม้ – ถนนท่าแพ – ถนนมูลเมือง – ร.ร. ยุพราช – อาชีวศึกษา – ตลาดช้างเผือก – ขนส่งช้างเผือก – สนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่ – ถนนมณีนพรัตน์ – ถนนชัยศรีภูมิ – ถนนช้างม่อย – ตลาดวโรรส – สะพานนวรัฐ – ถนนหลังวัดเกตุ-ร.ร.ปรินส์รอแยลส์วิทยาลัย – สถานีขนส่งที่ 2 (อาเขต1) รวมระยะทาง 14 กิโลเมตร
ทุกเส้นทางการวิ่งจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที ใช้รถสองแถวแดง 30 คัน โดยกำหนด 10 คันต่อ 1 เส้นทาง แบ่งตารางการวิ่งเป็น 2 แบบ คือ วันธรรมดา เวลา 07.30-17.00น. และวันหยุดเวลา 08.30 – 18.00น. ค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย นักเรียนนักศึกษาและพระภิกษุเก็บกันแค่ 10 บาทเท่านั้น
ผมก็ได้แต่หวังว่าโครงการนี้คงจะช่วยให้การจราจรในตัวเมืองดีขึ้น เผื่อรถจะได้เลิกติด และก็อยากจะฝากพ่อแม่พี่น้องเกษตรกรชาวไร่ชาวนา ให้หันมาใช้บริการขนส่งมวลชนเยอะๆ
ที่เหลือก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่สี่ล้อแดงให้เขาจัดการ ซึ่งถ้าโอเคก็แล้วไป แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ไม่เข้าท่า รับรองได้เลยว่ารถติดหนักกว่าเดิมแน่!