“ในคืนนี้มีดาวเป็นล้านดาว แต่ใจฉันมีเธอ แค่เพียงดวงเดียว สอดประสานสบตาเคียงข้างกัน อยากจะขอจูบดาวใต้เงาดวงจันทร์…”
คืนวันที่ 17พฤศจิกายน ตั้งแต่เวลา เที่ยงคืนไปถึงตีห้า หลายคนคงนั่งจับเจ่ารอดูฝนดาวตกลีโอนิดส์กันนะครับ ขณะที่บางคนก็อาจจะยังไม่รู้ว่ามีฝนดาวตก ก็ซึ่งผมก็คือหนึ่งในนั้นที่ไม่รู้เรื่องอะไรกับชาวบ้านเขา ดีที่ว่ารู้ข่าวจากเพื่อนใน Social Network พอจะไหวตัวทันมีเวลาได้ถ่างตาดูฝนดาวตก โดยไม่รีบไปเข้าเฝ้าพระอินทร์ซะก่อน
เช็คข่าวเสร็จสรรพจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ปรากฏการณ์ฝนดาวตกจะเกิด 2 ครั้ง ในปลายปีนี้ คือฝนดาวตกลีโอนิดส์ วันที่ 17-18 พฤศจิกายน และในเดือนธันวาคมยังมีฝนดาวตกเจมินิดส์หรือฝนดาวตกคนคู่ในวันที่ 13-14 ธันวาคม
พอถึงเวลาถ่างตารอดู ก็ไม่เห็นวี่แววดาวตกซักดวง อาจจะด้วยท้องฟ้าไม่มืดพอ มีแสงไฟรบกวน หรือในช่วงจังหวะที่ไม่เจอ บวกด้วยความอ่อนล้า กระผมจึงขอลาไปนอนรอโอกาสหน้าฟ้าใหม่
เพราะฝนดาวตกลีโอนิดส์นี้ปกติตามจริงมันก็มีให้ดูกันทุกปีในช่วงเดือนกลางพฤศจิกายน หากใครยังพอจำกันได้ ครั้งล่าสุดที่มันเทกระหน่ำลงมาเป็นห่าใหญ่คือปี 2541และปรากฏการณ์แบบนั้นจะมีอีกทีคือ 19ปีข้างหน้า หรือในปี 2574 นู้นเลย
ในเมื่อพลาดจากฝนดาวตกลีโอนิดส์ไปแล้ว ตัวสำรองเรายังมีเจ้าฝนดาวตกเจมินิดส์ให้ได้รอดูกันในเดือนธันวา แถมอัตราการตกมีมากกว่า 120ดวงต่อชั่วโมง และสังเกตได้ง่ายกว่าฝนดาวตก ลีโอนิดส์ เนื่องจากมีความเร็วของดาวตกไม่มากนัก ประมาณ 35 กิโลเมตรต่อวินาที
ที่สำคัญที่เชียงใหม่เขามีจัดกิจกรรมให้ดูดาวอีกด้วย
กิจกรรมที่ว่าคือ กิจกรรม “เปิดฟ้า..ตามหาดาว” จัดโดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ซึ่งในปีนี้มีจัดกันถึง 6 ครั้งดังนี้
ครั้งที่ 1 วันที่ 17-18 พฤศจิกายน 2555(ฝนดาวตกลีโอนิดส์) ณ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เชียงใหม่
ครั้งที่ 2 วันที่ 13-14 ธันวาคม 2555 (ฝนดาวตกเจมินิดส์) ณ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เชียงใหม่
ครั้งที่ 3 วันอาทิตย์ที่ 13 มกราคม 2556 ณ ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เชียงใหม่
ครั้งที่ 4 วันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556 ณ หอดูดาวสิรินธร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ครั้งที่ 5 วันพฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ 2556 ณ หอดูดาวสิรินธร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ครั้งที่ 6 วันเสาร์ที่ 2 มีนาคม 2556 ณ หอดูดาวสิรินธร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ใครสนใจจะควงแขนแฟนไปดูดาวก็สามารถสมัครเข้าร่วมกิจกรรมตามกำหนดการดังกล่าวได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.narit.or.th หรือ Facebook สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Twitter:@N_Earth หรือเบอร์โทร. 053-225569 ต่อ 305
สำหรับข้อแนะนำการชมฝนดาวตกนั้น ควรเป็นสถานที่ท้องฟ้ามืดสนิทไม่มีแสงไฟรบกวน จะได้สังเกตเห็นดาวตกมีความสว่างมาก ทั้งนี้ วิธีการชมฝนดาวตกให้สบายที่สุด คือ ให้นอนรอชม แต่อย่าเผลอหลับไปก่อนล่ะครับ ประเดี๋ยวจะได้ชมพระอาทิตย์ขึ้นในตอนเช้าแทน ฮ่าๆๆ
อุปกรณ์ที่แนะนำสำหรับการสังเกตการณ์ได้แก่ ที่ต้องเตรียมก็คงเก้าอี้พับหรือเสื่อสำหรับนอนดู กระดาษและปากกาสำหรับจดบันทึกจำนวนของฝนดาวตก กล้องถ่ายรูปสำหรับบันทึกภาพปรากฏการณ์ ยิ่งสมัยนี้กล้องบางตัวสามารถแชร์ภาพผ่าน Facebookได้เลยทันทียิ่งดีไปใหญ่ เพื่อนจะได้มากดไลค์กันกระจาย อาจจะมีชา กาแฟ ขนมขบเคี้ยว มาทานเล่นก็ได้ แต่เครื่องดื่มของมึนเมาอย่าเลยครับ เพราะดาวที่ตกอาจจะหลายดวงกว่าที่เจออยู่ ฮ่าๆๆ
ส่วนใครที่มีแฟนหรือจะควงแขนกิ๊กไปดูดาวตกอย่างโรแมนติกด้วยกัน ก็ดูเข้าท่าดีไม่หยอก แต่ขอบอกก่อนนะครับว่าระวังแฟนกับกิ๊กวางมวยกัน
สำหรับใครที่ยังโสด ก็เตรียมตัวอธิษฐานจากดาวตกขอให้มีแฟนได้เลยทันที
ไม่แน่บางทีกลับจากดูดาวครั้งนี้ อาจจะเจอคนดีๆที่ใช่รอคุณอยู่ก็ได้ ใครจะไปรู้