“บริเวณนี้และย่านนี้เมื่อก่อนเป็นโครงการศูนย์การค้าอาเขตที่พลุกพล่านไปด้วยสถานบันเทิงสำหรับชาวเชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็น ลานสเก็ต ดิสโก้เธค ผับ บาร์ โรงแรม ศูนย์การค้า เพื่อที่จะต้องการรองรับการขยายตัวของเมืองและสถานีขนส่ง และด้วยเหตุนี้เองสถานที่แห่งนี้จึงมีที่มาชื่อว่าอาเขตนั่นเอง”
สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ที่บนถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ เชียงใหม่ – ลำปาง ประกอบไปด้วยสองสถานีใหญ่ได้แก่ สถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งที่ 2 หรือเรียกกันติดปากว่า “อาเขต” ส่วนสถานที่ใหม่ตึกใหม่เรียกว่า สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดเชียงใหม่ แห่งที่ 3 ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของอาเขตนั่นเอง ส่วนสถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งที่ 1 นั้น ตั้งอยู่ที่ถนนโชตนา ต.ช้างเผือก เป็นจุดคิวรถสำหรับการโดยสารภายในจังหวัดเชียงใหม่เท่านั้น หลายคนอาจจะเคยเดินทางด้วยรถโดยสารจากบริษัททัวร์ต่างๆ ทางสถานีขนส่งอาเขตหรือแห่งที่ 2 กันแล้ว เราลองมาดูสถานีใหม่กันว่ามีอะไรแปลกใหม่และน่าสนใจหรือไม่ เอาไว้เป็นแนวทางให้กับคนที่อยากจะเดินทาง ทั้งคนที่ทราบแล้วและยังไม่ทราบ
หากพูดถึงตัวของอาคารแล้วก็แน่นอนว่าสด ใหม่และสะอาดกว่าตึกเดิมอีกฝั่งอยู่แล้วครับ อาคารเป็นตึกสองชั้นโดยหากเดินเข้าทางบริเวณด้านหน้าของตัวอาคารก็จะพบกับจุดบริการขายตั๋วจากบริษัทต่างๆ มากมาย มองไปทางด้านซ้ายจะพบกับบริเวณขายตั๋วโดยสารของทางรถเมล์เขียวจุดใหญ่ ช่วงเวลาบ่ายๆ เย็นๆ คนจะเยอะครับ สำหรับรถเมล์เขียวจะเป็นการเดินทางภายในภาคเหนือเป็นส่วนใหญ่ รถใหญ่นั่งสบายบริการเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นทั้ง เชียงใหม่ – เชียงราย เชียงใหม่ – น่าน เชียงใหม่ – สามเหลี่ยมทองคำ และอีกสายหนึ่งที่เป็นที่นิยมได้แก่ เชียงใหม่ – ภูเก็ต ซึ่งมีรถทุกวันเวลา 15.00 น. และเดินทางไปถึงสถานีขนส่งจังหวัดภูเก็ตก็เวลาประมาณ 17.00 น. ของอีกหนึ่งวันครับ รถใหญ่ 24 ที่นั่ง นั่งสบายมีทีวีส่วนตัวให้ดูด้วยนะ ราคาก็อยู่ที่ 1,990 บาทครับ (ผมเคยขึ้นมาแล้วครับ เมื่อยนิดนึงแต่ถ้าไม่รีบก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจครับ)
ชาวต่างชาติเพิ่งลงจากรถทัวร์เดินวนอยู่ในสถานีหลายรอบมาก เพราะยังไม่รู้จะทำยังไงดี
จุดบริการซื้อตั๋วรถของ Green Bus คนแน่นต่อคิวยาวแน่นเอี๊ยด
รถโดยสารสายเชียงใหม่ – ภูเก็ต ระดับ VIP หรูหรา
ส่วนทางด้านขวามือก็จะเป็นในส่วนของบริษัทรถจากทางบริษัทเอกชนต่างๆ ครับ ไม่ว่าจะเป็นสมบัติทัวร์ ลิกไนท์ทัวร์ เพชรประเสริฐทัวร์ เป็นต้น ส่วนใหญ่ก็จะเป็นสาย เชียงใหม่ – กรุงเทพฯ ครับ รถมีให้เลือกหลายระดับ ทั้ง ป.2 ป.1 และ VIP สำหรับความแตกต่างของแต่ละระดับนั้นจำแนกได้ดังนี้ ป.2 ไม่มีห้องน้ำบนรถ ใครปวดก็อั้นอย่างเดียวล่ะครับ ป.1 มีห้องน้ำบนรถและยังจอดแวะพักให้รับประทานอาหารตามจุดต่างๆ ด้วยครับ ส่วน VIP นี่ก็ตามชื่อเลยครับ หรูหรากว้างสบาย มีห้องน้ำ แจกอาหารว่างและแวะพักทานอาหาร ณ ห้อง VIP ครับ
จุดขายสินค้า ของฝาก ฯลฯ
จุดรับฝากสัมภาระ
เดินตรงมายังทางเดินเรื่อยๆ ทางซ้ายมือก็จะเป็นจุดบริการด้านข้อมูลของสถานีขนส่งฯ และร้านค้าต่างๆ ราคาที่นี่ก็แพงกว่าข้างนอกนิดหน่อยครับ ถ้าขี้เกียจเดินไปเซเว่นฯ หรือร้านสะดวกซื้ออื่นๆ ก็ซื้อที่นี่ได้ ทางด้านจุดรอรถก็มีอยู่ประมาณ 3 – 4 จุดครับที่นั่งก็จะว่างอยู่เรื่อยๆ เลือกนั่งได้ตามสบายครับ ชานชาลาของสถานีขนส่งฯ แห่งนี้มีอยู่ 21 จุด ซึ่งแต่ละจุดจะติดป้ายบอกว่าจุดนี้ไปที่นี่ จุดนี้ไปที่นั่นแต่ก็ไม่แน่เสมอไปครับ ยังไงตอนซื้อตั๋วก็สอบถามทางพนักงานขายให้เรียบร้อยก่อนเป็นการดีที่สุดครับ สำหรับคนที่มาก่อนเวลาและสัมภาระรุงรังก็ไปฝากได้ที่จุดฝากกระเป๋า ชิ้นละ 20 บาท เปิดบริการตั้งแต่เวลา ตี 3 – 21.00 น. อยู่บริเวณหลังสุดของสถานีครับ ส่วนห้องน้ำที่นี่ก็สะอาดพอสมควร ค่าใช้บริการครั้งละ 3 บาท มีบริการอยู่ 2 จุด
ห้องพักผู้โดยสารบริเวณชั้น 2 โล่งพอสมควร
สิ่งหนึ่งที่แปลกและพิเศษกว่าที่เดิมสำหรับสถานีขนส่งแห่งนี้คือ จุดพักรอรถบริเวณชั้น 2 พร้อมแอร์เย็นๆ และร้านค้าบริการรวมไปถึง Internet Cafe น่าแปลกใจที่ไม่ค่อยมีคนขึ้นมานั่ง ทั้งๆ ที่ที่นั่งเยอะมาก แอร์เย็นฉ่ำ
จุดบริการตุ๊ก-ตุ๊ก
จุดบริการรถสี่ล้อแดง
สำหรับบริเวณรอบตัวสถานีจะประกอบไปด้วยจุดบริการต่างๆ สำหรับคนที่เดินทางมาถึงจังหวัดเชียงใหม่แต่ไม่มีคนมารับหรือไม่มียานพาหนะ ถึงแม้ว่าในช่วงเวลาเช้ารถโดยสารจะเข้าจอดที่ฝั่งอาเขตมากกว่าแต่ฝั่งใหม่ก็ไม่น้อยเช่นกัน หากเดินออกมายังทางฝั่งซ้ายของชานชาลา จะพบกับคิวรถตุ๊กๆ ครับ ราคาเริ่มต้นก็อยู่ที่ 120 บาทและมากน้อยขึ้นอยู่กับระยะทาง วัดพระสิงห์ 150 บาท มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 200 เป็นต้นครับ เดินขึ้นมาทางถนนหลักอีกสักนิดก็จะเป็นคิวรถสองแถวหรือรถแดงนั่นเอง การโดยสารรถแดงที่นี่มีหลายรูปแบบครับ ถ้าไม่รีบไม่ร้อนก็นั่งตามเส้นทางก็ได้ครับ เริ่มจากสถานีขนส่งฯ กาดหลวง ประตูท่าแพ ประตูเชียงใหม่ สวนดอก และไปสิ้นสุดที่คิวรถช้างเผือก ราคา 20 บาทตลอดสาย อาจจะนั่งนานหน่อยแต่ก็ประหยัดไปได้หลายตัง ส่วนหากใครรีบร้อนก็เหมารถเลยครับ ไปสนามบินต่อก็คนละ 50 บาท ไปมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50 บาทเช่นกัน เวลาทำการก็ตั้งแต่ตี 3 – 19.00 น. ครับ หากใครที่มาเชียงใหม่ครั้งแรกจะให้ทางรถแดงเป็นไกด์นำเที่ยวเขาก็คิดไม่แพงครับ ขั้นต่ำวันละ 300 บาทเท่านั้น ส่วนคนที่อยู่ใกล้ๆ ก็นี่เลยครับ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง 30 บาทเท่านั้น เฉพาะระยะใกล้ๆ เท่านั้นนะ ส่วนถ้าต้องการความสะดวกสบายสูงสุดต้อง Taxi Meter ครับ จะจัดเป็นราคาเหมาหรือราคาตามมิเตอร์ก็แล้วแต่สะดวกครับ ไปในเมืองก็ 150 บาท ส่วนถ้าไปส่งที่บ้านห่างจากตัวเมืองก็แพงหน่อยครับประมาณ 300 บาท
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับสถานีขนส่งผู้โดยสาร แห่งที่ 3
- หากใครที่ถามว่าแห่งที่ 2 กับแห่งที่ 3 แตกต่างกันอย่างไร ได้คำตอบจากนายสถานีมาว่าแห่งที่ 3 จะเป็นรถที่เดินทางภายในภาคเหนือตอนบนซะส่วนใหญ่ สายกรุงเทพฯ บ้างนิดหน่อยและเป็นการให้บริการโดยบริษัทเอกชน ส่วนแห่งที่ 2 จะเป็นการเดินทางจากกรุงเทพฯ และสายอีสานเป็นหลักและให้บริการโดย บริษัท ขนส่ง จำกัด
- ใครที่นำรถส่วนมาสามารถนำไปจอดได้ที่ลานจอดรถของสถานีขนส่งผู้โดยสารฯ บริเวณวัดกู่คำ ค่าบริการ มอเตอร์ไซค์ 10 บาทต่อวัน และรถยนต์ 40 บาทต่อวัน
- ที่นี่มีบริการ Wi-Fi ฟรี ถ้าใครต้องการใช้ติดต่อได้ที่ร้านวนัสนันท์ได้เลย
ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้วเราลองเดินไปชมฝั่งเก่าหรือสถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งที่ 2 กันด้วยเลยครับ สถานีนี้เรียกสั้นๆ แบบติดปากว่า “สถานีขนส่งอาเขต” นั่นเอง
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวโดยตำรวจท่องเที่ยวเชียงใหม่
จุดขายตั๋วอันเงียบสงบเมื่อเทียบกับอีกฝั่ง
Welcome to Chiang Mai
สำหรับสถานีเก่าแต่คลาสสิคนี้หลายคนคงมาใช้บริการบ่อยซึ่งคงจะทราบกันดีว่า “ขาใหญ่” ของที่นี่คือ บริษัท ขนส่ง จำกัดหรือเรียกติดปากกันสั้นๆ ว่า บขส. นั่นเอง และตามที่ได้กล่าวถึงข้างต้นเส้นทางนี้จะเน้นการเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางที่กรุงเทพมหานครและภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนล่างเป็นส่วนใหญ่ ส่วนบริษัทที่ให้บริการการเดินรถ ได้แก่ อินทราทัวร์ เอื้องหลวงทัวร์ จักรพงษ์ทัวร์ อ.ศึกษาทัวร์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีจุดให้บริการการเดินทางไปยัง อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอนโดย บริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด ซึ่งมีทั้งรถตู้และรถบัส (พัดลม) ซึ่งให้บริการตั้งแต่เช้ามืดจนถึงพลบค่ำ ราคารถตู้อยู่ที่ 150 บาทต่อท่านและรถบัสอยู่ที่ 78 บาท ต่อท่าน
สภาพของรถเมล์เชียงใหม่ในปัจจุบัน
บริเวณด้านหลังจุดจอดรถ เชียงใหม่ – ปาย
สถานีขนส่งอาเขตยังเป็นสถานที่ต้นทางและปลายทางของ “รถเมล์เชียงใหม่” หลายท่านอาจจะลืมไปแล้วว่าเชียงใหม่ก็มีรถเมล์นะ ใช่แล้วครับคันสีขาวๆ ผุๆ เก่าๆ นิดนึง แบ่งช่วงเวลาของการเดินทางเป็นสองช่วง ได้แก่ 6.00 – 10.00 น. และ 15.00 – 19.00 น. ราคา 15 บาทตลอดสาย พร้อมแอร์เย็นฉ่ำ บรรยากาศเหงาๆ เพลินอารมณ์ไปอีกแบบ
จุดบริการนครชัยแอร์ พร้อมที่นั่งส่วนตัวและจุดขายตั๋วที่โดนเด่นและทันสมัย โทร 1624
โซนอาหารและร้านค้าต่างๆ บริเวณด้านนอกของสถานีขนส่งอาเขต ราคาตามมาตรฐานโลก 25 – 30 บาท
จุดให้บริการรถสี่ล้อแดงเป็นจุดเดียวกับทางสถานีขนส่งแห่งที่ 3
แน่นอนว่าสถานีขนส่งอาเขตตั้งอยู่ใกล้เมืองเชียงใหม่เป็นอย่างมากและเป็นที่นิยมทั้งสำหรับชาวต่างชาติและชาวไทย ดังนั้นบริเวณรอบๆ สถานีขนส่งจึงมีร้านค้าและแหล่งพักผ่อนหย่อนใจเปิดตัวขึ้นมาอยู่เต็มไปหมดไม่ว่าจะเป็น Star Avenue Lifestyle Mall ที่อยู่ติดกับตัวสถานีขนส่งเลยและรวมไปถึงห้างสรรพสินค้าอย่าง Central Festival เชียงใหม่ ที่คอยรองรับผู้ที่เดินทางและสัญจรไปมาให้เข้ามาพักผ่อน รอรถรอเวลาของการเดินทางครั้งต่อไปของนักเดินทางทั้งขาจรและขาประจำ
ยังไงหากมีข้อสงสัยหรือต้องการซักถามเรื่องตารางเดินรถและราคาค่าโดยสารสามารถติดต่อโดยตรงได้ที่สำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ โทร. 1594 จ้าาา
บรรยายเรื่องตะลุยแดนพิศวงอาเขต โดย Mr Bushido