Humans of Chiang Mai : Vokeng Photographer (จากคนเกเร หันเหสู่ตากล้องมืออาชีพ

 “โลกนี้ไม่มีคำว่าเก่ง ถ้าเก่งคือตาย อย่ามั่นใจว่าตัวเองเก่ง ถ้าคุณหยุดคุณก็ตาย”โวเก่ง
สัมภาษณ์ที่ร้านกาแฟวาวี นิมมานเหมินท์ซอย6 วันที่ 29/7/2557

        โวเก่ง (ประทีป ดวงแก้ว) อดีตคนเกเร ไม่สนใจการเรียน ชอบดื่ม ชอบเที่ยว ติดแฟน ติดเพื่อน เกือบโดนรีไทร์ออกจากมหาวิทยาลัย แต่ชีวิตพลิกผันเมื่อรู้ตัวว่าตัวเองชอบการถ่ายภาพ ขณะอายุ 29 ปี ทุ่มเทฝึกฝนอย่างหนัก เรียนรู้เอง หาโอกาสให้ตัวเอง จนทุกวันนี้ถ้าเอ่ยถึงตากล้องอันดับต้นๆของเชียงใหม่ ไม่มีใครไม่รู้จัก โวเก่ง ชายหนุ่มมากความสามารถคนนี้ กว่าจะถึงวันนี้ เขาผ่าฟันอะไรในชีวิตมาบ้าง ไปหาคำตอบพร้อมกัน!

ช่วยเล่าเรื่องที่บ้าน

ตอนเด็กๆ บ้านผมอยู่ที่อำเภอหางดง เชียงใหม่นี่แหละแต่เกือบติดกับตัวเมืองจังหวัดลำพูน ไกลจากเชียงใหม่ประมาณ 30 กิโลเมตร ที่นั่นเป็นชนบท บ้านนอกมาก ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ยังเปิดตะเกียงใช้อยู่  จำได้ว่า เคยขายน้ำมันตะเกียงให้ชาวบ้าน เพราะที่บ้านเป็นร้านขายของชำเล็กๆ

ตอนเรียนชั้นมัธยมอยู่ที่ลำพูน ผลการเรียนนี่ไม่ได้เรื่องเอาเสียเลย ภาษาเหนือเขาเรียกว่า โคตรปึก! (โง่มาก-ผู้เขียน) พ่อแม่ก็เคี่ยวเข็ญ แต่ผมชอบวาดรูป  เริ่มจากวาดเล่นในสมุดหนังสือ แต่ก็โดนตีตลอด เพราะเขาห้ามวาด ไปเรียนพิเศษก็ไม่รอด แอบหนีไปเล่น อยู่ในห้องเรียนก็ชอบพูด เวลาครูสอนก็ไม่สนใจ ติดศูนย์ทุกเทอม คือเราไม่สนใจการเรียนเลยโดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ แต่ก็มีวิชาที่ทำได้ดี คือ พละและศิลปะชื่อโวเก่งมาจากไหน

ชื่อโว มาจากเพื่อนเทคโนฯ (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา) ตั้งให้ เพราะภาษาเหนือ โว แปลว่า ขี้โม้ ชอบพูดคุย ส่วนชื่อเก่งพ่อแม่ตั้งให้

มีช่วงเกเรมากไหม
ตอนเรียนอยู่ชั้น  ม.5 เกิดคำถามกับตัวเองว่า  เราจะเรียนมหาลัยรอดเหรอ?  เรียนก็ไม่ได้เรื่อง  จึงตัดสินใจเลิกเรียน และบอกกับพ่อแม่ว่า ไม่อยากเรียนแล้ว อยากไปเรียนวาดรูป อยากไปเรียนในสายที่ชอบ ก็ลาออกเลย เดินออกจากโรงเรียนตอนนั้นเลย เพื่อนก็ดูถูกว่าหน้าอย่างมึงจะสอบได้เหรอ  ทำให้มีแรงฮึดตั้งใจไปสอบ
ก่อนหน้าจะสอบมีรุ่นพี่ติวให้ แต่เราดันไปติวผิดคณะคือจะสอบเข้าออกแบบผลิตภัณฑ์ แต่ไปติวกับพวกสถาปัตย์ พวกพี่ๆที่ติวให้ก็งงมาก วันสุดท้ายมันมาบอกว่าผมจะสอบเข้าออกแบบ อ้าว! แล้วมาติวกับกูทำไม(ฮา)  แต่ก็สอบเข้าชั้นปวช.ออกแบบผลิตภัณฑ์จนได้  ช่วงที่เรียนฮึดเต็มที่ จากเกรด 1.5 ขึ้นมา 3 กว่าๆ  มันเป็นอะไรที่สุดยอดมาก เพราะในชีวิตการได้เกรดหนึ่งคือเต็มที่แล้ว
จนมาถึงช่วงปริญญาตรี ทำธุรกิจหลายอย่าง ติดเพื่อน ติดแฟน กินเหล้าบ่อยหายหน้าไปเป็นเดือน เดือดร้อนถึงพ่อแม่ต้องออกตามหา คิดออกมั้ยสมัยก่อนยังไม่มีมือถือเหมือนทุกวันนี้ การตามตัวกันเป็นเรื่องยากมาก  เกรดก็ลดลงจาก 3  เหลือ 1.7 แต่ก็จบมาได้  จากนั้นก็มาเรียนต่อปริญญาโทนิเทศที่  ม.แม่โจ้ แต่ไม่จบการศึกษาเพราะติดปัญหาบางอย่าง ช่วงนั้นไขว้เขวลังเลมาก เคยแบบถึงขนาดไปยืนที่ระเบียงห้องแล้วคิดว่าถ้าเรากระโดดลงไปตอนนี้จะเป็นยังไง คือชีวิตมันว่างเปล่า

ได้ยินว่าเพิ่งจับกล้อง เมื่อไม่นานมานี้


ผมเพิ่งจับกล้องเมื่ออายุ 29 ปี มันเริ่มจากความคิดที่อยากให้คนอื่นจดจำ  ถ้าพูดถึงโวเก่ง นึกถึงอะไร? เราไม่อยากให้เขาจำภาพแย่ๆ กลับมานึกย้อนดูชีวิตช่วงเรียนปริญญาโท เราถ่ายภาพได้ดีในระดับหนึ่ง  ช่วงนั้นเรียกว่าบ้าจริงๆ อ่านหนังสือกล้องทุกเล่ม เข้าร้าน internet ทุกวันเพื่อ save รูปสวยๆ รูปโป๊บ้าง (หัวเราะ) แต่กล้องก็ยังไม่มี ยืมเพื่อนมาใช้จนกล้องพัง  ฝึกเอง ทำเองทุกอย่าง เดินขึ้นไปถ่ายรูปดอยสุเทพ ถ่ายรูปวัดเจ็ดยอด แม้แต่ถ่ายรูปนู้ดตัวเองในห้องน้ำก็ยังทำ ฝึกมาเรื่อยๆเริ่มรู้สึกชอบและผูกพัน ก็เลยตัดสินใจหันเหทิศทางของชีวิต ทุ่มเทเวลาทั้งหมดให้กับการถ่ายภาพ  สร้างรายได้ด้วยการนำภาพไปทำโปสการ์ดขายที่ถนนคนเดิน  มีรายได้จากตรงนี้บางวันเกือบหมื่นบาท บางวันขายได้ไม่กี่ร้อย แต่ก็ไม่ท้อ พอเริ่มมีคนจดจำมากขึ้น ก็มั่นใจว่านี่ล่ะ คือทางของเรา

คิดยังไงกับคำว่ามืออาชีพ
มันอยู่ที่คนมองเรามากกว่า มืออาชีพ หมายถึงอะไร เราทำเป็นอาชีพ วิธีการทำงาน หรือบุคลิกของเรา คือต้องแยกออกเป็นส่วน แต่คิดว่ามืออาชีพ คือ “ผลงาน” ที่มีมาตรฐาน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าใช้อุปกรณ์ดี ใช้อุปกรณ์เก่งแล้วจะเป็นมืออาชีพได้

มืออาชีพก็เหมือนกับนักฟุตบอล ที่อาจบอกว่าตัวเองเก่งแต่เตะไม่ได้เรื่อง “ตารางคะแนนไม่เคยโกหกใคร ฉันใดผลงานก็ไม่เคยโกหกฉันนั้น” ความเป็นมืออาชีพมันต้องแยกหลายอย่าง ทั้งความตรงต่อเวลา มีอุปกรณ์ที่ดีเหมาะสมกับงาน อยู่ในมาตรฐานของลูกค้า และที่สำคัญอย่าไปคิดว่าตัวเองเก่ง ต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา

คนที่รู้เรื่องอุปกรณ์ดี เรียกว่ามืออาชีพไหม

มันก็ต้องแบ่งเพราะบางคนก็เก่งจริง ถ่ายเก่ง รู้เรื่องอุปกรณ์ด้วย ทุกวงการมันมีทั้งคนที่รู้จริง ปฎิบัติจริงไม่ได้ และทั้งรู้จริงและปฎิบัติจริงได้ มันฟันธงไม่ได้  เรื่องอุปกรณ์ควรเหมาะสมกับผลงานมากกว่า กล้องระดับกลางก็สามารถสร้างงานในระดับมืออาชีพได้ อุปกรณ์ที่ดีมันตอบสนองได้เร็วกว่า Control ได้ง่ายกว่า แต่ไม่ใช่ว่ามืออาชีพจะต้องใช้ของแพงเสมอไป

ปัจจุบันมีทีมงานกี่คน

มีทีมงาน Frreelance ประจำ 5-6 คน เป็นลูกศิษย์ที่ปั้นขึ้นมาเอง


หลังจากดังแล้ว เคยโดนนินทาบ้างไหม

แรกๆไม่เข้าใจเหมือนกัน เพราะไม่ได้ไปยุ่งกับใคร แต่มันมีทุกวงการ ผมเคยโดนว่าตัวอย่างเช่นงานนี้แต่งภาพเยอะ คือจริงๆแล้วก่อนจะได้ทุกรูปมา  ผมมีการวางแผนก่อน ต้องคิดอะไรหลายอย่าง บางรูปต้องแต่ง แต่บางรูปก็ไม่ต้องแต่ง มันขึ้นอยู่กับความต้องการ

อาจจะเป็นเรื่องที่เปิดสอนถ่ายรูป หลายคนอาจจะคิดว่าได้เงินเยอะ มันไม่ได้เยอะขนาดนั้น เห็นใช้ของแพงๆผมก็ผ่อนเหมือนกัน ไม่ได้ต่างจากคนอื่น แต่เรื่องการสอนนั้นเราสอนอย่างดี สอนให้เขาเปลี่ยนมุมมองของการถ่ายภาพ ให้เขาคิดเป็น เราอยากให้วงการถ่ายภาพมีมาตรฐานไม่ใช่ถ่ายไปก่อนแล้วเอามาแต่งทีหลังอย่างเดียว เราต้องฝึกทุกอย่าง ให้มีพื้นฐานที่มั่นคง ยิ่งในยุคดิจิทัล ยิ่งทำให้การถ่ายมันง่าย สอนเด็กว่าไม่ใช่จะกดชัตเตอร์เท่าไหร่ก็ได้ แต่เราต้องรู้ว่า “กดชัตเตอร์ทุกครั้งเรากดเพราะอะไร” ทำไมต้องจัดแสงแบบนี้ ฉากแบบนี้ เราต้องรู้ความหมายของมันก่อน “ไม่ใช่ได้ภาพมาแต่ไม่รู้ความหมายของมัน”

เคยโดนขโมยงานบ้างไหม

เคยโดนนำไปใช้จริงจังเลย ล่าสุดโดนบริษัทที่กรุงเทพตัดเครดิตภาพออกแล้วนำรูปไปใช้เป็นป้ายไฟ  ก็ทำการฟ้องร้องโดยให้ทนายจัดการ คดีจบโดยมีการชดใช้ค่าเสียหาย เงินที่ได้ก็เอาไปทำบุญ เราไม่ได้หวังเงินจากจุดนี้ เราหวังว่า “อย่ามักง่าย เพราะกว่าจะได้มาหนึ่งภาพมันยาก” ถ้ามีแบบนี้อีกก็ต้องฟ้องร้องอีกแน่นอน

ตากล้องรุ่นใหม่อยากเป็นมืออาชีพต้องทำยังไงบ้าง

มันต้องเริ่มจากความพยายามก่อน ทำยังไงก็ได้ให้คนรู้จักผลงานของเรา “ต้องช่วยตัวเอง ต้องวิ่งหาโอกาส” คนเราเมื่อถ่ายรูปแล้วก็อยากให้มันออกมาสวย มันเป็นเรื่องปกติ แต่ระบบความคิดของเรามักมองที่ปลายเหตุ ว่าอยากได้รูปที่ออกมาสวย แต่ลืมกระบวนการต้นเหตุ เช่น “พื้นฐานฝึกมามากพอรึยัง มักง่ายกับการถ่ายไหม”

คิดแค่ว่าถ่ายมาก่อนแล้วเอาไปแต่งให้สวยก็ได้ มันไม่ใช่ เราต้องเปลี่ยนระบบความคิดระบบการทำงานก่อน ฝึกมองงานสวยๆไว้เป็นแรงบันดาลใจ แล้วทำให้ได้อย่างเขา พยายามมองให้ได้ว่าภาพสวยๆนั้น สวยเพราะอะไร ทำไมมันถึงสวย มีเทคนิคอะไรในการถ่าย พยายามวิเคราะห์ภาพนั้นว่าเขาถ่ายยังไง แต่งยังไง

ทุกวันนี้ผมก็ยังใช้วิธีนี้อยู่ ศึกษาภาพทั้งของไทยและต่างประเทศพร้อมๆกับการทำงาน “โลกนี้ไม่มีคำว่าเก่ง ถ้าเก่งคือตาย อย่ามั่นใจว่าตัวเองเก่ง ถ้าคุณหยุดคุณก็ตาย” สำหรับคนที่ท้อ บอกได้เลยว่าผมก็เคยเป็นเหมือนคุณ เราต้องฮึดและตอบตัวเองให้ได้ว่า  ตอนกดชัตเตอร์คุณมีความสุขไหม? ถ้าคุณมีความสุขก็จงทำมันต่อไป

เรื่องราวชีวิตของ  Humans of  Chiang Mai คนต่อไปจะเป็นใคร ติดตามกันได้ที่นี่ และถ้าหากใครมีบุคคลแห่งแรงบันดาลใจที่อยากแนะนำ ก็อย่าลืมแวะมาเม้นท์มาแชร์ให้เราได้รู้ตามช่องคอมเม้นท์ด้านล่าง หรือ
  
เจ๋งจะได้ตามไปเจาะลึกกันอย่างทันท่วงที  ราตรีสวัสดิ์ครับพี่น้องชาวเชียงใหม่

Relate Posts :