Humans Of Chiang Mai บอย : ธีระศักดิ์ ก้อนจันเทศ : Blues is about life

ธีระศักดิ์ ก้อนจันเทศ (บอย) อายุ 39 ปี

        คุณเคยฟังเพลงบลูส์ไหม ?

อาจแบ่งคนบนโลกนี้ได้เป็นสองประเภท ประเภทแรกคือคนที่เคยฟังเพลงบลูส์ อีกประเภทคือคนที่ไม่เคยฟัง หากและจะแบ่งคนที่เคยฟังให้ละเอียดขึ้นไปอีก ก็คงต้องแบ่งเพิ่มอีกสองประเภทคือ คนที่ฟังเพลงบลูส์แล้วชอบ กับคนที่ฟังเพลงบลูส์แล้วไม่ชอบ แน่นอนว่าหากไม่ชอบเราคงต้องถามสาเหตุว่าทำไม

บนชั้นสองของอาคารห้องแถวแห่งหนึ่งบริเวณกาแลไนท์บาซาร์ มีร้านที่เรียกตัวเองว่าเป็นร้านของดนตรีแนวบลูส์อยู่ร้านหนึ่งชื่อร้าน Boy Blues Bar ซึ่งก่อตั้งโดย บอย-ธีระศักดิ์ ก้อนจันเทศ หนุ่มมือกีตาร์เพลงบลูส์ บอยเป็นคนที่หลงใหลในสไตล์การเล่นของเพลงบลูส์เป็นอย่างมาก เขาได้พานพบกับดนตรีบลูส์ในสมัยเรียน และหลังจากนั้นเขากับเพลงบลูส์ก็ไม่เคยแยกจากกันเลย บทสัมภาษณ์ของเขาถึงมุมมองที่มีต่อดนตรีบลูส์ และสิ่งที่ดนตรีบลูส์มีให้เขาในวันนี้ อาจเปลี่ยนใจของใครหลายต่อหลายคนที่มองว่าดนตรีบลูส์น่าเบื่อไปได้ตลอดกาล

บริเวณหน้าร้าน Boy Blues Bar
บริเวณหน้าร้าน Boy Blues Bar และป้ายชื่อร้าน
บริเวณบันไดตกแต่งด้วยภาพแขวนของศิลปินเพลงบลูส์

        เราได้พบกับเขาในช่วงบ่ายแก่ๆวันหนึ่ง เรานัดพบกันที่ร้าน Boy Blues Bar ซึ่งเป็นร้านของเจ้าตัวเอง ร้านนี้ตั้งอยู่ที่ กาแลไนท์บาร์ซาร์ ตรงส่วนของ ฟู้ดเซ็นเตอร์ เราเริ่มต้นบทสนทนาด้วยการสอบถามถึงความเป็นมาของร้านนี้

        “ความจริงนี่เป็นที่ที่สองครับ ตอนแรกร้านตั้งอยู่อีกที่นึง ตั้งได้ประมาณปีนึงก็ย้ายมาอยู่ตรงนี้ ที่ที่อยู่ปัจจุบันนี้ ณ ตอนนั้นไม่มีใครเห็นเลยนะ เป็นที่ว่างไม่มีใครทำอะไรเลย แต่ก่อนบริษัทที่ผมเคยทำงานด้วยเขาเป็นบริษัทที่สร้างอาคารแถบนี้แหละ รวมถึงที่นี่ด้วย เขาสร้างขึ้นมาแล้วให้เช่า ตอนนั้นเขาทำเวทีรำไทยใกล้ๆที่นี่แล้วเขาให้ผมไปเล่นอะคูสติคก่อนรำไทยจะเริ่ม ตอนนั้นเองที่ผมมองเห็นทำเลบนตึกนี้ ก็นั่งมองมาเป็นปีเลยนะ สุดท้ายก็ตัดสินใจย้ายมาที่นี่ดีกว่า” บอยบอกกับเรา “ที่ปัจจุบันนี้ก็เปิดมาได้สามปีแล้วครับ รวมกับที่เก่าเกือบปีนึง ก็เปิดร้านมาสี่ปีครับ”

บอย ธีระศักดิ์ ก้อนจันเทศ

เรียกได้ว่าบอยคือนักดนตรีตัวจริง เพราะหลังจากเรียนจบสายดนตรีจากราชภัฏเชียงใหม่มา เขาก็มีโอกาสได้เป็นนักดนตรีเลย โดยได้ร่วมวงกับ อาตุ๊ก วง Brasserie

“คือผมเป็นนักดนตรีอาชีพตั้งแต่ผมเรียนจบนะ ผมจบราชภัฏเชียงใหม่เอกดนตรี กีตาร์คลาสสิค จบปุ๊ปก็เล่นดนตรีเลย ตอนนั้นก็ได้ พี่ตุ๊ก Brasserie มาเป็นครูสอนกีตาร์บลูส์ ผมก็ไปขลุกกับแกมาตั้งแต่เป็นนักศึกษาแล้ว พอเรียนจบ อาตุ๊ก แกก็รับเข้าวง ก็เป็นวงแรกเลยที่เล่น อยู่ในวงประมาณ 5 ปี ก็ออกไปเล่นหลายที่ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา สุดท้ายก็กลับไป Brasserie อีกครั้งนึง (หัวเราะ) อยู่ประมาณ 2 ปี คราวนี้ก็ออกมาทำร้านครับ”

เราทราบว่าในเชียงใหม่ร้านดนตรีสดที่จะเล่นแนว Blues แบบชัดเจนค่อนข้างจะมีน้อย นี่เองเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้บอยเลือกที่จะเปิดร้านดนตรีที่เล่นแนว Blues

“คืออย่างนี้” บอยนิ่งไปชั่วครู่ คล้ายว่าเขากำลังใช้ความคิดเพื่อจัดเรียงข้อมูลในการสนทนา

“มันไม่ค่อยมีร้านเล่นดนตรีแนวนี้สักเท่าไหร่นะ”

“แทบไม่มีเลยก็ว่าได้ที่จะเล่นแนว Blues คือผมก็ชอบและอยากเล่นแนวนี้ แต่ก่อนพอไปเล่นที่อื่นเขาก็จะบอกให้เล่นเพลงแบบนั้น เล่นสไตล์แบบนี้ เราก็คิดว่ามันไม่ใช่ ก็ได้แต่คิดว่าถ้าวันหนึ่งเรามีร้าน เราจะเล่นแต่แนว Blues นี่เลย เวลาคนเลือกมา เขาก็จะได้เลือกมาจริงๆ ให้ชัดเจนไปเลยว่าเราเล่น Blues”

แน่นอนว่าทุกอย่างย่อมมีจุดเริ่มต้น คล้ายกันกับคนอีกมากมายที่รักในเสียงดนตรี แทบทุกคนเริ่มเล่น เริ่มฟัง เริ่มชอบจากในวัยเด็กจากการฟังเพลง เห็นคนอื่นเล่นดนตรี ก็เกิดความสนใจและอยากลอง

“ตอนนั้นสักประมาณ ม.2 ผมไม่มีกีตาร์เป็นของตัวเองนะ แต่เพื่อนมันเอามาที่โรงเรียน” บอยเริ่มเล่าย้อนวัยถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาพบกับดนตรี

“เพื่อนเอามามันก็เล่นให้ดู เราก็สนใจ กินข้าวเที่ยงเสร็จก็มานั่งสุมหัวเล่นกันกับกีตาร์ตัวเดียวนี่แหละ มากันเป็นสิบคนเลยนะ (ยิ้ม) ตอนนั้นก็เล่นเพลงของนี่เลย สามโทน (หัวเราะ) ช่วงนั้นยังไม่ได้ฟังเพลงสากลเลยนะ มาเริ่มฟังเพลงสากลก็ตอน ม.5 เลย”

“ความชอบมันก็ค่อยๆเพิ่มมาเรื่อยๆ แต่ตอนนั้นผมเป็นเด็กบ้านนอก เพลงที่จะได้ยินได้ฟังก็เป็นแนวลูกทุ่ง คาราบาว อะไรแบบนั้น วัยรุ่นหน่อยก็มีของ RS หรือ Grammy นะ (หัวเราะ) พวก ไฮร็อค ไมโคร นูโว อะไรประมาณนั้น”

        นั่นอาจเรียกว่าเป็นจุดเริ่มต้นในเสียงเพลงของเขา ซึ่งก็เหมือนคนธรรมดาทั่วไป จนกระทั่งเขาได้มาพานพบกับเสียงดนตรีในแนว Blues ด้วยความบังเอิญจากภาพยนตร์ที่ฉายทางโทรทัศน์ แค่แรกฟัง เขาก็ทราบทันทีว่านี่แหละคือเสียงเพลงในแบบที่เขาใฝ่ฝัน

“ตอนนั้นอายุประมาณ 17 ปี บ้านผมไม่มีทีวี ผมก็วิ่งไปดูบ้านข้างๆ ปรากฏว่าวันนั้นมีหนังช่อง 7 ฉาย เป็นหนังเกี่ยวกับชีวิตของ Elvis แต่ผมจำไม่ได้ว่าชื่อเรื่องอะไร”

“คือในหนังเอลวิสจะไปตามหาเพื่อนในบาร์ แล้วเข้าไปปุ๊ป ตั้งแต่เริ่มเปิดประตู สิ่งที่เห็นคือภายในร้านมีแต่คนดำทั้งนั้น แล้วคนดำก็หันมามองเอลวิสกันหมด ตอนนั้นเองที่ดนตรีบนเวทีในบาร์ก็เล่นเพลงบลูส์ เป็นบลูส์ช้าๆ (ทำเสียงเพลง) โอ้โห ! นี่มันอะไร เรารู้เลยว่าเราชอบดนตรีแบบนี้ ตอนนั้นยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป็นแนวเพลงบลูส์” บอยเล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น

“จำได้ว่าดนตรีบลูส์ในหนังตอนนั้นมันสะกดเราเลยตั้งแต่แรกฟัง”

อาจเรียกได้ว่าเป็นรักแรกพบระหว่างเขากับเพลงบลูส์ผ่านภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง แม้ภาพยนตร์จะจบไป แต่มันได้ทิ้งความรู้สึกที่มีต่อเสียงเพลงบลูส์ในวันนั้นฝากไว้ในหัวใจของบอย และเป็นเสียงที่ไม่เคยจางหาย


“ตอนนั้นก็เก็บความสงสัยไว้ประมาณสองปี ผมพยายามหาเทปคาสเส็ตที่เป็นของเอลวิสมาหาฟัง แต่มันก็ไม่ใช่แบบที่ผมได้ฟังในหนังวันนั้น”

“จนกระทั่งอายุ 19 ปี ผมได้มาพบอาตุ๊กนี่แหละ ที่ร้านแกก็จะเปิดแผ่นเพลง ก็จะคล้ายๆกับที่ผมเคยฟัง พอผมได้ยินก็ เฮ้ย ! เสียงเมโลดี้นี่มันความรู้สึกของสองปีที่แล้ว ก็เลยถามอาตุ๊กไปว่านี่มันคืออะไร”

“แล้วอาตุ๊กก็บอกกับผมว่า นี่คือบลูส์”

“ตั้งแต่นั้นมามีเงินเท่าไหร่ไปหาซื้อเทปคาสเส็ตบลูส์มาทั้งหมดเลยเท่าที่จะหาได้ในตอนนั้น (ยิ้ม)”

        หลังจากนั้นชีวิต และความทุ่มเททั้งหมดของเขา ก็ตกไปอยู่ที่บลูส์ บอยบอกเราว่าช่วงนั้นแทบจะไปขลุกอยู่ที่ Brasserie ทุกวัน เพื่อให้อาตุ๊กสอนกีตาร์ เมื่อเขาพบในสิ่งที่ใช่ ก็ไม่มีสิ่งใดที่จะดึงความสนใจไปจากเขาได้อีก เขาเรียนรู้ทั้งการเล่นดนตรี ไปพร้อมๆกับโลกของดนตรีบลูส์ ทั้งเทคนิค และมือกีตาร์บลูส์ชื่อดังมากมาย

“ผมชอบหลายคนมาก ใครเป็นตำนานผมชอบหมด แต่ถ้าต้องตอบคนเดียวผมเลือก Albert Collins”

“ผมฟัง Collins เล่นกี่ครั้งผมก็ไม่เคยเบื่อเลย ฟังคนอื่นผมก็ว่าเก่งนะ แต่ฟังไปก็เบื่อ แต่กับ Collins ผมฟังได้ตลอด”

เราพอจะมองเห็นแล้วว่าดนตรีบลูส์ช่างน่าสนใจ เราจึงสอบถามต่อไปถึงสเน่ห์ที่ทำให้เขาหลงรักในเสียงเพลงบลูส์

“เอาง่ายๆก่อน เราพูดถึงดนตรีสองแบบ คือผมกำลังจะบอกว่าดนตรีบลูส์มันพิเศษยังไง”

“ดนตรีแบบแรกคือดนตรีที่ตั้งแต่ขึ้น Intro จนจบเพลง ต้องเล่นให้เหมือนทั้งหมด กับอีกแบบคือดนตรีที่ไม่มี Form ตายตัว คือผู้เล่นสามารถใส่อะไรที่เป็นตัวของเอง หรือซึมซับอะไรที่เป็นตัวของตัวเองได้ ซึ่งดนตรีบลูส์เป็นแบบหลัง”

“ยกตัวอย่างเพลงดังๆ อย่าง Hotel California คือเพลงมันดีนะ การเล่นทุกอย่างมันดีหมด แต่ลองใครเล่นไม่เหมือนสิ ไม่ได้เลย คือเล่นร้อยครั้งก็ต้องเหมือนกันร้อยครั้ง แต่บลูส์มันไม่ใช่”

“ในการเล่นดนตรีโดยเฉพาะบลูส์ แน่นอนเรามีเสียงดนตรี หรือเมโลดี้หลักของเพลง ที่จะบอกว่าเป็นเพลงนั้น ส่วนที่เหลือเราก็ถักทอไปตามบรรยากาศ ตามอุณหภูมิห้องในขณะนั้น ควรจะมากจะน้อยจะร้อนจะเย็น นั่นแหละคือสเน่ห์ของมัน”

ขอขอบคุณรูปภาพจาก facebook : boybluesbar
ขอขอบคุณรูปภาพจาก facebook : boybluesbar

อย่างที่เราทราบ ดนตรีบลูส์ถือกำเนิดมาจากคนดำที่เป็นทาส ดังนั้นดนตรี เมโลดี้ การแสดงออก ย่อมค่อนข้างที่จะมีเมโลดี้ที่แปร่งและแปลกหู เพราะในสมัยก่อน ทุกเมโลดี้ที่เปล่งออกมาจากคนดำที่เป็นทาสเหล่านั้น ล้วนแสดงออกมาจากความรู้สึกเจ็บปวด ทรมาน และเสาะหาอิสรภาพ แต่บอยบอกเพิ่มเติมกับเราว่า บลูส์ไม่จำเป็นต้องเศร้าเสมอไป

“คือบลูส์มันจะมีสีสัน มีลีลาของมัน มีแบบของมัน แต่แน่นอนว่าในเพลงบลูส์มันไม่จำเป็นต้องเศร้าเสมอไป บางเพลงมีอารมณ์รัก ก็ได้ เพลงจีบหญิง เกี้ยวกันแบบหนุ่มสาว ก็มี”

อาจกล่าวแบบไม่ตั้งใจได้ว่า ดนตรีบลูส์ คือดนตรีที่ผู้เล่นเล่นเมโลดี้ออกมาจากอารมณ์ และความรู้สึกในขณะนั้น คือการถ่ายทอดแบบตรงไปตรงมาให้ผู้ฟังได้ฟัง

“บลูส์มันสื่อสารตามที่ตัวคนร้องคนเล่นในขณะนั้นต้องการจะสื่อสาร”

“บางคนบอกว่าบลูส์น่าเบื่อ แต่นั่นเป็นความคิดสำหรับคนที่ยังไม่รู้จักบลูส์ เพลงบลูส์สนุกจะตาย มันอยู่ที่การนำเสนอ อย่างแนวอื่นอาจจะมีตายตัว แต่บลูส์มันพลิกแพลงได้เสมอ”

        หากกล่าวถึงดนตรี ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร มาจากที่ใด ดนตรีก็เป็นภาษาสากลที่ทำให้เราเข้าใจในสิ่งเดียวกันผ่านบทเพลงและเมโลดี้ ทำให้รู้จักคนเพิ่ม ได้มิตรภาพใหม่ๆ โดยเฉพาะที่ร้าน Boy Blues Bar นี้ซึ่งชัดเจนในส่วนของดนตรีบลูส์ ซึ่งดนตรีบลูส์ก็ได้นำพาคนหลากหลายมาพบกันที่ร้าน ซึ่งบอยบอกกับเราว่า ทุกวันจันทร์จะเป็นวันที่เรียกว่า Jam Night ซึ่งจะเปิดโอกาสให้นักดนตรีทั่วทุกสารทิศได้มาแจมดนตรีบลูส์กันสดๆที่ร้าน ซึ่งแน่นอนว่ามันต้องนำมาซึ่งประสบการณ์ทั้งที่ดี และไม่ดีมากมายให้ประทับใจกันในระดับที่ต่างกันไป

“ช่วงแจมกัน มันก็มีสนุกบ้าง เพี้ยนบ้าง เปรียบเทียบง่ายๆ สมมุติว่าเพื่อนเราในห้องเรียนคนหนึ่งมันขึ้นไปร้องเพลง มันจะร้องดีไม่ดี ยังไงมันเป็นเพื่อนเรา เราก็อยากฟังมันอยู่ดีใช่มั้ย (หัวเราะ) มันก็เหมือนกัน มันเป็นการสร้างสีสันอย่างนึง”


“แต่ถ้าพูดในเรื่องดนตรีคงไม่ได้ มันเป็นอีกแบบนึง คนเก่งๆที่มาแจมก็มีเยอะนะ แต่เราเอาอารมณ์รวมๆว่า”

“มันสนุกนะเอาตามจริง” บอยกล่าวพร้อมหัวเราะอย่างอารมณ์ดี

“บางครั้งเคยมีคนดังมานะ เป็นคนดังของประเทศฝรั่งเศสแต่เราไม่รู้จักเขา เขาจะมาแจมกับเรา แล้วทีนี้คนฝรั่งเศสที่อยู่ที่นี่เขารู้ว่าคนดังบ้านเขาจะมา ทีมงานเขาก็มาเตรียมการโกลาหลไปหมดเลย (หัวเราะ) เราก็เข้าใจนะ แต่ก็ไม่อยากจะปฏิบัติกับใครให้มันแตกต่างกัน เราก็เลยบอกเขาให้ใจเย็นๆหน่อย ช่วยทำให้ทุกอย่างเป็นปกติได้ไหม ไม่ต้องให้มันพิเศษอะไรแบบนั้น สุดท้ายก็ผ่านไป ซึ่งนักกีตาร์ฝรั่งเศสคนนั้นก็เล่นดีนะ เล่นน่ารัก”

แม้จะผ่านเหตุการณ์มากมายในการเปิดร้านและในการเล่นดนตรี ทั้งดีก็เยอะ ทั้งไม่ปกติก็มาก แต่นั่นก็เป็นประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้นของบอย เขายังยืนยันว่าในการเล่นดนตรีบลูส์ และทำร้าน คือสิ่งที่ทำให้เขามีความสุขที่สุด

“มันเปรียบเป็นความสุขในชีวิตผมเลยนะ เวลาผมเห็นคนมานั่งสังสรรค์ สรวญเสเฮฮา นี่คือความสุขใช่มั้ย?” บอยถามกึ่งบอกเล่า

“ทุกคนมาเจอกัน ยิ้มแย้ม ฟังเพลงไปด้วย คุยกัน มันเป็นภาพที่ดูแล้วมีความสุข”

“แล้วผมก็จะคอยดูพนักงานขาดเหลืออะไร ก็ช่วยกัน ทุกอย่างจะได้ราบรื่น”

ท่าทีและรอยยิ้มที่เป็นมิตรของเขา อาจเรียกได้ว่า ดนตรีบลูส์มีส่วนในการหล่อหลอมชีวิตของเขามาจนถึงทุกวันนี้

“ดนตรีบลูส์ให้อะไรกับผมมาก ให้ชีวิต ให้อนาคต ปรับทัศนคติด้วยนะ”

        กล่าวได้ว่าในการเล่นดนตรีบลูส์ร่วมกับผู้อื่นเป็นประจำ มีส่วนขัดเกลาทัศนคติในการเล่นของบอย และอาจรวมไปถึงในการใช้ชีวิตด้วย เพราะการเล่นบลูส์ คือการฟังกันและกัน สนับสนุนซึ่งกันและกัน มากกว่าจะเป็นการแย่งกันเล่น

“สมมุติผมเล่นดนตรีบลูส์กับคุณ มันก็เหมือนการที่ผมพูดกับคุณ คนนึงพูด อีกคนฟัง คนนึงเล่น อีกคนก็เบาเสียงของตัวเองให้ ไม่ใช่สักแต่จะพูดๆๆ แต่ต้องเปลี่ยนกันพูดด้วย”

“เช่นในการเล่น ถ้าคุณโซโล่ ผมก็จะเบาเครื่องดนตรีผม เปลี่ยนไปเป็นการสนับสนุนเสียโซโล่ของคุณให้มันเด่น และสมบูรณ์ขึ้น กลับกัน ถ้าผมโซโล่ อีกฝ่ายก็ทำแบบเดียวกัน”

“บลูส์มันปรับทัศนคติในการฟังคนอื่น ไม่ใช่แค่ในการเล่นดนตรี แต่ในชีวิตจริงเราก็ควรทำแบบนั้นเช่นกัน”

ก่อนจะจบเราอยากทราบว่า มือกีตาร์บลูส์อย่างเขา อยากจะทำอะไร หรือวางแผนอะไรอีกหรือไม่ในอนาคต

“ก็อยากจะไปสร้างร้านนอกเมือง แถวแม่โจ้ ทำเป็นร้านกาแฟกลางวันแล้วก็มีดนตรีเล่น”

ในฐานะมือกีตาร์บลูส์ที่ผ่านการเล่นมามาก เราได้ขอให้บอยแนะนำสำหรับผู้ที่รักในเสียงดนตรี โดยเฉพาะผู้ที่หลงใหลในเพลงบลูส์ แน่นอนว่าสำคัญที่สุดคือความรัก ความหลงใหล หรือ passion ที่เรามีต่อบลูส์นั่นเอง

“ต้องเริ่มไปหามาฟัง เดี๋ยวนี้หาฟังง่าย แต่สิ่งที่จะทำให้เราเข้าใจดนตรีบลูส์เร็วเนี่ย เราต้องชอบมันจริงๆ เวลาฟัง ถึงเราจะแกะเพลงมันไม่ออก แต่เมโลดี้มันจะติดหลอกหลอนในหัวของเราตลอด อย่างเวลาผมฟัง ผมไม่ได้ฟังแค่สองสามรอบ ผมฟังเป็น 20-30 รอบ หรืออย่างสไตล์กีตาร์ของคนที่ผมชอบ เทคนิค การ Licks มันก็จะอยู่ในหัวเรา ทำอะไรมันก็จะอยู่ในหัว จนเราเล่นมันออกมา แล้วมันก็จะไม่หายไปไหน มันจะอยู่กับเราตลอด พูดไปยังขนลุกเลย”

“ต้องรัก ต้องชอบมันมากๆ แล้วมันจะฝังอยู่ในใจ”

อาจกล่าวได้ว่าแม้ในกระทั่งโลกของดนตรีที่เราทุกคนมองว่าเป็นโลกแห่งเอกภาพที่มีเสียงเมโลดี้เป็นหนึ่งเพียงสิ่งเดียวก็ยังมีแยกสาขาแตกแขนงออกไปไม่ว่าจะเป็น ป๊อป ร็อค พังก์ แจ๊ส บลูส์ และอีกหลายหลาก แต่จากบทสัมภาษณ์วันนี้เราค้นพบว่าดนตรีบลูส์ไม่ได้ให้แค่ความเพลิดเพลินในการฟังเท่านั้น ในฐานะผู้เล่นก็ยังได้รับการขัดเกลาในด้านมุมมอง ทัศนคติและการอยู่ร่วมในสังคม

บลูส์อาจจะเป็นดนตรีที่หลายคนฟังแล้วบอกว่าน่าเบื่อ แต่แท้จริงแล้วหากคุณพูดเช่นนั้น คือคุณไม่ได้ใคร่รู้จักดนตรีบลูส์เลย เพราะหากจะฟังบลูส์ แน่นอนว่าต้องไม่ใช่จำกัดที่การใช้หูในการฟังเท่านั้น หากแต่ต้องใช้หัวใจในการฟัง เปรียบไปกับชีวิตมนุษย์หากเราจะตั้งใจฟังใครสนทนาอะไร เราก็ต้องใช้หัวใจในการฟังและตัดสินจึงจะสมเหตุสมผล บลูส์ก็เช่นกัน หากแต่เสียงที่สะท้อนก้องกังวานออกมาให้เราฟังและตัดสินนั้นไม่ใช่เสียงพูดแต่เป็นเสียงที่สะท้อนและถ่ายทอดออกมาจากจิตใจข้างในผ่านตัวโน้ตและเมโลดี้นั่นเอง

ข้อมูลเพิ่มเติม

  • ชื่อร้าน : Boy Blues Bar
  • ที่ตั้ง : ซอย 6 ถ. ช้างคลาน | กาแลไนท์ บาร์ซาร์, เมืองเชียงใหม่
  • เปิด-ปิด : เปิดทุกวัน (ทุกคืนวันจันทร์จะเป็นวัน Jam Night)

Relate Posts :