เทศกาล งานประเพณีเชียงใหม่ในรอบปี

เชียงใหม่ขึ้นชื่อลือชาอยู่แล้วกับเรื่องประเพณีและวัฒนธรรมอันเก่าแก่ และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่ซ้ำแบบใคร ซึ่งสืบทอดมาจากบรรพบุรุษอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่มีความผูกพันกับพุทธศาสนาและความเชื่อดั้งเดิม

เมื่อบวกกับที่เชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยว  ประเพณีวัฒนธรรมสำคัญเหล่านี้  จึงถูกเกี่ยวโยงผูกพันกันกับนักท่องเที่ยวผู้มาเยือน มาได้สัมผัสกลิ่นไอความเป็นล้านนา เรียนรู้วิถีของความเป็นอยู่ที่นี้ ลองไปดูกันครับว่ามีประเพณีเทศกาลสำคัญอะไรบ้าง หากจะคุณมาเที่ยวเชียงใหม่กันในช่วงแต่ละเดือนในรอบปี เอาแบบไล่เรียงกันไปเป็นจากหัวปีไปท้ายปีล่ะกันครับ

เทศกาลร่มบ่อสร้าง จัดขึ้นในเดือนมกราคมของทุกปี ที่ศูนย์หัตถกรรมทำร่มบ่อสร้าง อำเภอสันกำแพง มีการแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน มีการแสดงทางวัฒนธรรม ขบวนแห่ ประเพณีพื้นบ้าน

งานไม้แกะสลักบ้านถวาย จัดขึ้นในเดือนมกราคม ที่หมู่บ้านถวาย อำเภอหางดง มีการจำหน่ายและสาธิตการแกะสลักไม้ และหัตถกรรมพื้นบ้าน


ประเพณีตานหลัวพระเจ้า เป็นประเพณีการนำฝืนมาเผาให้พระพุทธเจ้า ได้ผิงไฟ จัดในเดือน 4 เหนือ (ประมาณเดือนมกราคม) จัดที่วันยางหลวงหรือวัดป่าแดด อ.แม่แจ่ม เท่านั้น

มหกรรมไม้ดอกไม้ประดับ จัดขึ้นในอาทิตย์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี บริเวณสวนสาธารณะบวกหาด มีขบวนรถบุปผาชาติ และนางงามบุปผาชาติ

ปีใหม่เมือง (สงกรานต์) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี เป็นประเพณีที่สำคัญและยิ่งใหญ่ของชาวเชียงใหม่ แบ่งเป็นวันที่ 13 เป็นวันมหาสงกรานต์ มีขบวนแห่พระพุทธสิหิงค์ และพิธีสรงน้ำพระ วันที่ 14 เข้าวัดก่อเจดีย์ทราย และวันที่ 15 เมษายน ประเพณีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และมีการเล่นสาดน้ำตลอดช่วงเทศกาล

ประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์ จัดขึ้นในเดือนเมษายน ในวันที่ 15 เป็นต้นไป ของทุกปี ที่บริเวณตัวเมืองจอมทอง มีขบวนรถจากชุมชน ห้างร้าน กลุ่มต่างๆ กว่า 40 ขบวน แห่ไปตามเมืองจอมทอง อำเภอจอมทอง จนถึง วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมานานกว่า 200 ปี ตามตำนานเกิดขึ้นที่อำเภอเภอจอมทอง ถือเป็นแห่งแรกของประเทศไทยและแห่งเดียวในโลก ประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์ กลายเป็นต้นแบบของการแห่ไม้ค้ำสะหลีของชาวล้านนา จนได้รับความนิยมไปทั่วภาคเหนือ และเป็นประเพณีที่เริ่มมีชื่อเสียงโด่งดัง และได้รับความนิยมอย่างมาก


ประเพณีเข้าอินทขิล จัดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ที่วัดเจดีย์หลวง เป็นการบูชาเสาหลักเมืองโดยการนำดอกไม้ธูปเทียนมาใส่ขันดอก

จุลกฐิน หลังจากผ่านเทศกาลออกพรรษา แล้วยังมีกฐินที่เรียกว่า จุลกฐิน หรือที่คนโบราณเรียกว่า “กฐินแล่น” ที่มีลักษณะพิเศษ คือ ไม่ใช่ถึงเวลาก็สามารถไปทอดที่วัดได้ หากแต่คิดจะร่วมจุลกฐินแล้ว ต้องเตรียมตัวก่อนเข้าพรรษาด้วยซ้ำไป  โดยเริ่มตั้งแต่ปลูกฝ้าย ดูแลรักษาให้งอกงาม จนต้นฝ้ายโตแตกเป็นปุยพอดีเมื่อถึงเวลาทอดกฐิน และมีสาวพรหมจรรย์ 6 นางนุ่งขาว ห่มขาว ฟ้อนรำออกจากวิหารไปสู่ไร่ฝ้าย ตอนบ่ายตั้งขบวนด้วยความรื่นเริงปลื้มใจที่ถวายกฐิน เสร็จจากนั้นแห่ผ่านทุ่งนาด้วยกลองสะบัดชัย ตามด้วยการฟ้อนเจิง ศิลปะเก่าแก่ของพ่อเฒ่ามาถวาย ที่วัดยางหลวง วัดเก่าแก่ของ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่

ประเพณียี่เป็ง จัดขึ้นในช่วงวันลอยกระทงของทุกปี ราวเดือนพฤศจิกายน มีการตกแต่งบ้านเรือนและสถานที่ต่างๆ ด้วยโคมชนิดต่างๆ มีการปล่อยโคมลอย มีการลอยกระทง ประกวดกระทงและนางนพมาศ

ตรวจเช็คปฏิทินเที่ยวกันให้ดี แต่ละเดือนแต่ละช่วงมีอะไรให้ดู เวลาแพ็คกระเป๋ามาเที่ยว จะได้มากันถูกช่วงเวลาของมันครับ

Relate Posts :