ศูนย์การเรียนอาภา – APA การศึกษาทางเลือกเชียงใหม่
เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มครูและผู้ปกครองที่ใช้แนวทางวอลดอร์ฟในการจัดการศึกษาให้เด็กมาเกือบสิบปี โดยดำเนินการตามแนวปรัชญาของสไตเนอร์ที่ว่า “การศึกษามิใช่การสอนหนังสือหรือการให้ข้อมูลความรู้แก่เด็ก แต่คือการบ่มเพาะความเป็นมนุษย์ และปลุกความสามารถที่ซ่อนอยู่ในตัวเด็กให้ปรากฏออกมา เพื่อช่วยให้เด็กบรรลุศักยภาพสูงสุดในตัวเอง เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่สร้างสรรค์ มีอิสระทางปัญญา รู้จักตนเอง รู้จักโลก และสามารถกำหนดแนวทางชีวิตของตนได้อย่างอิสระตามศักยภาพที่มี ซึ่งมนุษย์จะบรรลุศักยภาพสูงสุดของตนได้นั้น ต้องสัมผัสหรือค้นพบส่วนต่างๆ ในตนเองเสียก่อน ดังนั้น การศึกษาวอลดอร์ฟจึงเน้นความจำเป็นของการพัฒนาความเป็นมนุษย์แต่ละคนในฐานะปัจเจก เป็นการพัฒนาที่ครอบคลุมทั้งทางร่างกาย อารมณ์ สติปัญญา และจิตวิญญาณ รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ผู้เป็นปัจเจกกับผู้อื่น โลก ธรรมชาติ และจักรวาล”
อย่างไรก็ตาม ปรัชญานี้ไม่ได้นำมาใช้สอนเด็กโดยตรง ศูนย์การเรียนอาภา นำแนวทางการศึกษานี้มาประยุกต์ให้เข้ากับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของไทย โดยเฉพาะวัฒนธรรมท้องถิ่นของภาคเหนือ หลักสูตรการเรียนการสอนได้ถูกออกแบบให้ตรงกับความต้องการของเด็กในแต่ละช่วงวัย เพื่อตอบสนองพัฒนาการของเด็ก การสอนของครูคำนึงถึงความสมดุลในการเรียนรู้ด้วยกายผ่านการลงมือทำ ผ่านการสัมผัสความรู้สึกและความประทับด้วยหัวใจ และผ่านการใช้ศักยภาพด้วยการคิด
และเพื่อให้เป็นการสอดคล้องกับแนวทางการศึกษา ศูนย์การเรียนอาภา ยึดแนวทางการบริหารจัดการชุมชน ตามแนวทางมนุษยปรัชญาเช่นกัน ทั้งนี้เรามองว่าการศึกษาเพื่อเด็กเป็นหัวใจสำคัญในการทำงานของเรา ดังนั้นครูผู้เข้าใจพัฒนาการเด็กตามแนวทางการศึกษานี้จึงเป็นหลักในการจัดหลักสูตรการศึกษา การบริหารงาน มองภาพรวม และกำหนดทิศทางของชุมชน โดยมีพลังสนับสนุนจากกลุ่มผู้ปกครองมาช่วยเสริมในส่วนของภาคเศรษฐกิจ และส่วนต่าง ๆ ที่จะมาประกอบกันเข้า เพื่อส่งเสริมให้การจัดการเรียนการสอนตามแนวทางที่เราตั้งใจไว้เป็นไปได้อย่างราบรื่น สอดประสานกันในทุกภาคส่วนอย่างกลมกลืน
ศูนย์การเรียนอาภา ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 1001 ม.2 ต.สันกลาง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ จัดให้มีการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ประถมศึกษา ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3
Email : [email protected]
แนวทางการศึกษา
หลักสูตรของวอลดอร์ฟนอกจากจะคอยแนะนำการสอนพัฒนาเด็กแบบเป็นขั้นตอนแล้ว ยังเน้นเรื่องของการทำงานบ้าน โดยเด็กชั้นประถมจะมีการบ้านเพียงอย่างเดียวคือให้เลือกงานบ้าน 1 อย่างแล้วทำไปตลอดทั้งปี เช่น ล้างจาน ก็ช่วยที่บ้านล้างจานไป 1 ปี พอขึ้น ป.2 ก็เลือกงานบ้านเพิ่มอีกหนึ่งอย่าง นอกจากนี้ยังมีการปรับหลักสูตรให้เข้ากับพื้นที่ด้วย อีกไม่นานเด็กๆ ที่นี่จะได้เรียนดนตรีพื้นเมือง สะล้อ ซอ ซึง เรียนฟันดาบ ฟ้อนเจิง เพราะความตั้งใจที่ให้โรงเรียนเป็นภาควัฒนธรรม ไม่ใช่ภาคธุรกิจ
ประวัติที่มาของการศึกษาวอลดอร์ฟ
โรงเรียนวอลดอร์ฟแห่งแรกถือกำเนิดขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ เป็นช่วงที่ชาวเยอรมันรู้สึกเจ็บปวดกับสงครามที่เพิ่งผ่านไป นักคิดและปัญญาชนจำนวนไม่น้อยต่างมุ่งแสวงหาแนวทางที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม ขจัดความโหดร้ายทารุณต่อมนุษยชาติให้หมดสิ้นไป หนึ่งในนั้นคือนักอุตสาหกรรมหัวก้าวหน้า เอมิล มอลต์ เจ้าของโรงงานยาสูบวอลดอร์ฟ-แอสโทเรีย ในเมืองสตุทการ์ด ในปี ค.ศ.๑๙๑๙ เขาได้เชิญ รูดอร์ฟ สไตเนอร์ นักปรัชญาชาวออสเตรียที่มีชื่อเสียงในขณะนั้นมาบรรยายเรื่อง “การศึกษาและการสร้างสังคมใหม่” ให้คนงานฟัง จากบทบรรยายได้สร้างความประทับใจให้กับเหล่าคนงานจนเกิดคำถามว่า โรงเรียนแบบนี้จะมีขึ้นเพื่อลูกของพวกเราหรือ? มอลต์จึงขอร้องให้สไตเนอร์ช่วยเปิดโรงเรียนขึ้นตามปรัชญาของเขา, Anthroposophy หรือ มนุษยปรัชญา เพื่อเป็นสถานศึกษาสำหรับลูกหลานคนงานในโรงงาน ในเดือนกันยายนปีเดียวกันนั้น โรงเรียนวอลดอร์ฟแห่งแรกซึ่งไม่มีการเก็บค่าเล่าเรียนได้ถือกำเนิดขึ้น โดยได้เปิดขึ้นพร้อมนักเรียน ๓๐๐ คน ใน ๘ ระดับชั้นเรียน ปัจจุบันมีโรงเรียนวอลดอร์ฟ หรือ โรงเรียนสไตเนอร์ กว่า ๑,๐๐๐ แห่งใน ๕๐ ประเทศทั่วโลก
แนวคิดด้านมนุษยปรัชญาของสไตเนอร์นี้ สามารถปรับใช้ได้กับทุกบริบทของการดำเนินชีวิต และเป็นพื้นฐานสำคัญในการทำงานของครู อย่างไรก็ตาม ปรัชญานี้ไม่ได้นำมาใช้สอนเด็กโดยตรง แต่หลักสูตรการเรียนการสอนได้ถูกออกแบบโดยผ่านมุมมองของปรัชญานี้ เพื่อให้ตรงกับความต้องการของเด็กในแต่ละช่วงวัย เพื่อตอบสนองพัฒนาการของเขา การสอนของครูคำนึงถึงความสมดุลในการเรียนรู้ด้วยกายผ่านการลงมือทำ ผ่านการสัมผัสความรู้สึกและความประทับด้วยหัวใจ และผ่านการใช้ศักยภาพด้วยการคิด
สไตเนอร์เชื่อว่ากระบวนการเรียนรู้ในวัยเด็กนั้นแตกต่างจากผู้ใหญ่ เพราะเด็กมีทัศนะและวิธีการมองโลกทีต่างออกไป หากครูละเลยความสำคัญของสิ่งนี้ แล้วแทนที่ด้วยการใช้ทัศนะแบบผู้ใหญ่ อันเป็นทัศนะที่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ทางเชาว์ปัญญา จะส่งผลเสียต่อความสามารถในการพัฒนาตนเองขึ้นมาเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้
ด้วยแนวคิดดังกล่าว ทำให้เด็กนักเรียนในโรงเรียนวอลดอร์ฟอ่านหนังสือออกช้ากว่าเด็กวัยเดียวกันในโรงเรียน นั่นเพราะเด็กนักเรียนในโรงเรียนวอลดอร์ฟไม่ได้ถูกเร่งรัดให้อ่าน เด็กแต่ละคนมีช่วงเวลาที่เหมาะสมของตนเอง หากเด็กได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี เอื้อต่อการเรียนรู้ มองเห็นหนังสืออยู่รายรอบตัว และมีประสบการณ์ที่ครูหรือผู้ปกครองอ่านหนังสือนิทานให้ฟังเป็นประจำ เมื่อถึงเวลาที่กำหนดอยู่ภายในเด็กจะหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านเอง ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้เด็กพัฒนาการอ่านได้ดี และมีนิสัยรักการอ่าน
ทั้งนี้ พบว่าเด็กที่อ่านออกได้ช้ากว่าเพื่อนๆ แล้วรู้สึกกังวลหรือเกิดปมด้อยนั้น ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากความคาดหวังของผู้ปกครอง เมื่อเห็นว่าลูกยังอ่านไม่ได้เทียบกับเด็กวัยเดียวกันคนอื่น ความหวั่นวิตกของพ่อแม่นี่เองที่จะถ่ายทอดไปสู่ลูก ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่จะต้องเข้าใจ ยอมรับ และรอเวลาที่เด็กพร้อมจะอ่าน
การศึกษาวอลดอร์ฟให้ความสำคัญกับสุนทรียภาพ ศิลปะ และจินตนาการ โดยมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเรียนรู้ พัฒนาการ และความเจริญงอกงามในจิตใจของเด็ก การจัดสภาพแวดล้อมและอาคารสถานที่ในโรงเรียนจึงมุ่งเน้นความเป็นธรรมชาติ รายล้อมด้วยต้นไม้ ดอกไม้ ผืนหญ้า กองทราย และสายน้ำ ซึ่งสภาพแวดล้อมเช่นนี้จะช่วยให้เด็กรู้สึกสงบ มีสมาธิ เอื้อต่อการเรียนรู้ที่ดีทั้งโลกภายนอก และโลกที่อยู่ภายในตนเอง
การกระตุ้นให้เด็กเกิดการพัฒนาด้วยจินตนาการของตนเอง เป็นจุดเน้นสำคัญจุดหนึ่งของการศึกษา วอลดอร์ฟ เด็กอนุบาลเล่นของเล่นจากวัสดุธรรมชาติ หรือของเล่นทำมือที่ไม่สมบูรณ์ เช่น ตุ๊กตาผ้าเช็ดหน้า ซึ่งส่งเสริมพัฒนาการจินตนาการให้แข็งแรง ในขณะที่ของเล่นสำเร็จรูปที่สวยงามสมบูรณ์แล้ว จะไม่มีพื้นที่สำหรับเด็กในการพัฒนาการจินตนาการเลย หรือครูอนุบาลเล่านิทานเทพนิยายให้เด็กฟังด้วยปากเปล่า อาจมีหุ่นง่ายๆ ประกอบการเล่า แต่จะไม่มีสื่อมากเกินไป เพราะเป็นการจำกัดจินตนาการของเด็ก ไม่มีการเปิดเทปนิทานแทนการเล่าปากเปล่า เพราะภาษา เสียงจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นภาษาที่ไม่มีชีวิต และไม่สามารถส่งพลังสั่นสะเทือนเข้าไปกระตุ้นการตอบสนองที่ละเอียดอ่อนภายในของเด็กได้ดีเท่าภาษาพูดของครูที่อยู่ตรงหน้า
ด้วยเหตุนี้ โรงเรียนวอลดอร์ฟจึงไม่สนับสนุนการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ (โดยเฉพาะในเด็กปฐมวัยและประถมศึกษา ป.๑-ม.๒ ) ในแง่ที่สื่อเหล่านี้ปิดกั้นจินตนาการของเด็ก ทั้งยังกระทบต่อพัฒนาการทางกายภาพ และสัมผัสรับรู้ของเด็ก ยังไม่นับรวมเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมกับเด็กอีกด้วย
แนวคิดสำคัญบางประการที่เป็นพื้นฐานของหลักสูตรการศึกษาวอลดอร์ฟ
สไตเนอร์ได้แบ่งพัฒนาการตลองช่วงชีวิตมนุษย์ไว้ช่วงละ ๗ ปี ช่วงที่เด็กมีพัฒนาการในระบบการศึกษา คือ ตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ ๒๑ ปี ผ่านหลักสูตรการสอน สภาพแวดล้อม บรรยากาศในการเรียนที่ศูนย์การเรียนของเรา เราพยายามที่จะตอบสนองต่อพัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงวัย เพื่อช่วยให้เด็กๆ เกิดพลังในการที่จะงอกงามเติบโตเป็นปัจเจกที่มีอิสรภาพ เด็กๆ ได้รับการดูแลหล่อเลี้ยงทั้งทางกายภาพ ในมิติของอารมณ์ความรู้สึก และความต้องการเชิงจิตวิญญาณ พวกเขาได้รับการศึกษาทั้งในแง่ของการลงมือทำและในแง่ของสติปัญญา
หัวใจหลักของการศึกษาวอลดอร์ฟ คือ การศึกษาเป็นศิลปะ ( Education is an Art.)ไม่ว่าวิชาที่สอนนั้นจะเป็นคณิตศาสตร์ ประวัติศาสตร์ หรือฟิสิกส์ การนำเสนอของครูต้องมีชีวิต และพูดโดยตรงกับประสบการณ์ของเด็ก เพื่อให้การศึกษากับเด็กทั้งเนื้อทั้งตัวของเขา การสอนจะต้องสามารถสัมผัสถึงตัวเด็กได้ถึงหัวใจเจตจำนงในการลงมือทำ และความคิด
ครูประจำชั้น
ลักษณะที่สำคัญของการศึกษาวอลดอร์ฟ คือการให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างครู เด็กนักเรียน และผู้ปกครอง ผ่านแต่ละขวบปี เราเชื่อว่าความไว้วางใจและความเข้าอกเข้าใจจะเติบโตได้ผ่านการหล่อเลี้ยงด้วยความสม่ำเสมอ จากการมีครูประจำชั้นคนเดิมและเพื่อร่วมห้องกลุ่มเดิม ด้วยเหตุนี้ เด็กอนุบาลแต่ละห้อง จะมีเด็กอายุตั้งแต่ ๓ ขวบครึ่งถึง ๖ ขวบ อยู่ในห้องเดียวกัน กับครูและเพื่อนกลุ่มเดิมเป็นเวลา ๒ หรือ ๓ ปี ก่อนที่จะขึ้นชั้นประถมหนึ่ง
ในระดับประถมศึกษา หากเป็นไปได้ครูประจำชั้นจะสอนเด็กๆ ชั้นเดิมไปจนตลอด ๘ ปี (ในแนวการศึกษาวอลดอร์ฟ ระดับประถมศึกษาเป็นช่วงระยะเวลา ๘ ปี ตั้งแต่ ป.๑-ม.๒)
เวลาหนึ่งปีเป็นเพียงช่วงเวลาที่ครูจะใช้เพื่อที่จะได้รู้จักนักเรียนในชั้น และเพื่อที่นักเรียนจะได้รู้จักและไว้วางใจในครูของพวกเขา
สำหรับเด็กๆ เวลาแต่ละปีในระดับประถม คือ พัฒนาการของสภาวะสำนึกของพวกเขาในลักษณะเดียวกับที่พัฒนาการของสภาวะสำนึกของมนุษยชาติค่อยๆ เปิดคลี่ออกผ่านยุคสมัยต่างๆ หลักสูตรได้ถูกออกแบบเพื่อส่งเสริมการพัฒนาของสภาวะสำนึกนี้ สำหรับครูแล้ว การเดินทางผ่านเวลา ๘ ปี เป็นเหมือนหนทางการพัฒนาภายในของครู เพราะครูประจำชั้นจะมีประสบการณ์ต่อพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงของเด็ก ในขณะเดียวกันเด็กๆ จะเรียกร้องการปรับเปลี่ยนและการพัฒนาภายในของครู เพื่อให้สามารถเข้าใจและตอบสนองพวกเขาได้เสมอ
เมื่อก้าวเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น อัตลักษณ์ (Ego/ตัวตน/ปัจเจก) จะมีประสบการณ์ใหม่ คือ การพบกับอิสรภาพส่วนบุคคล (personal freedom) และการให้การศึกษาในช่วงนี้ต้องเน้นการเปิด เพื่อให้เด็กได้พบพลังงานใหม่ๆ โรงเรียนวอลดอร์ฟในระดับมัธยมศึกษา (ม.๓-ม.๖) ครูประจำชั้นจะถูกแทนที่ด้วย ครูประจำวิชา ผู้ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการของเด็กที่ต้องการครูผู้สามารถและมีทักษะที่เชี่ยวชาญ มีความชำนาญในวิชาความรู้นั้นจริงๆ ครูมัธยมจะเป็นผู้ซึ่งเชี่ยวชาญเฉพาะในสาขาวิชานั้นๆ การสอนของครูถูกตระเตรียมเพื่อนำไปสู่ความเข้าอกเข้าใจในเชิงเหตุผล และการใช้ความคิดไตร่ตรอง รวมถึงความคิดมุมมองในเชิงปรัชญาต่อโลกทั้งหมด สิ่งที่เด็กเคยได้สัมผัสมาก่อน ภาพที่มีความงดงามเชิงศิลปะในระดับประถม มาในวัยนี้ได้ถูกนำมาพิจารณาใหม่ ผ่านการวิเคราะห์ และทำงานกับเรื่องนั้นๆ ด้วยพลังใหม่ของปัจเจก คือ การใช้เหตุ-ผล เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจ
บทเรียนหลักและจังหวะในแต่ละวัน
โรงเรียนวอลดอร์ฟ พยายามสร้างให้ความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับครูเกิดผลงอกงามได้อย่างมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในระดับประถมศึกษาสิ่งนี้ถูกทำให้เกิดขึ้นผ่านลักษณะพิเศษของโรงเรียนวอลดอร์ฟ คือ ครูประจำชั้น และ “บทเรียนหลัก”
ทุกวันในช่วงเช้าประมาณ ๒ ชั่วโมงแรกของแต่ละวัน นักเรียนจะได้เรียนบทเรียนหลักกับครูประจำชั้นของพวกเขา ในช่วงเช้าที่สมองของเด็กๆ ยังสดชื่น ปลอดโปร่ง เขาจะได้เรียนอย่างลึกซึ้งจริงจังในวิชาหลักหนึ่งๆ เป็นเวลา ๓ หรือ ๔ สัปดาห์ (วิชาหลักเช่น ภาษาไทย, เลข, ประวัติศาสตร์, วิทยาศาสตร์ เป็นต้น) ด้วยวิธีนี้ จังหวะของแต่ละวันจะเริ่มต้นด้วยการทำงานซึ่งต้องให้ความตั้งใจและสมาธิจดจ่อกับวิชานั้นๆ อย่างจริงจัง ครูเองก็สามารถสอนวิชานั้นๆ ได้อย่างละเอียดในเชิงลึก และสามารถใช้หลากหลายวิธีในการนำเสนอวิชานั้นๆ มีเวลาพอที่จะทำให้หัวข้อต่างๆ มีชีวิตขึ้น ผ่านบทกลอน ภาพวาด การปั้น การเคลื่อนไหว และละคร อย่างไรก็ตาม การเรียนในเชิงวิชาการที่ใช้ความคิดก็ยังคงมีอยู่โดยถูกนำมาผสมผสานกับศิลปะ การใช้จังหวะท่วงทำนอง และการลงมือปฏิบัติจริงผ่านเวลา ๓-๔ สัปดาห์ หัวข้อต่างๆ จะถูกนำมาสำรวจอย่างถ้วนทั่วผ่านมุมมองต่างๆ เพื่อที่จะเปลี่ยนไปเรียนอีกหัวข้อ/วิชาหนึ่งต่อไป
วิชาซึ่งควรจะได้ฝึกฝนจะทำซ้ำหลายๆ ครั้ง ในช่วงเวลาไม่นานนัก (ประมาณ ๔๕ นาที) เช่น ภาษาต่างประเทศ เป็นต้น นักเรียนจะได้เรียนในช่วงเช้าหลังจากเรียนบทเรียนหลักแล้ว ในช่วงบ่ายจะเป็นวิชาที่ต้องลงมือทำ หรือเป็นกิจกรรมในเชิงสังคม เช่น เกม กีฬา วาดรูป หัตถกรรม งานไม้ งานสวน
ภาพรวมของหลักสูตรทั้งหมดนั้น เป็นภาพของการทำงานร่วมกันและสอดประสานกันอย่างลงตัวและสวยงามของวิชาต่างๆ ที่เราสอนนักเรียน เรื่องที่นักเรียนเรียนในบทเรียนหลัก ปรากฏขึ้นอีกครั้งผ่านกิจกรรมที่เด็กทำในช่วงบ่าย เช่น เรื่องเล่าของตำนานเทพเจ้านอร์สในบทเรียนหลักของ ป.๔ ปรากฏเป็นภาพวาดเส้นลายเงื่อนของ Celtic ชนเผ่าผู้นับถือเทพเจ้านอร์สในวิชาวาดเส้น เป็นต้น ความท้าทายของงานหัตถกรรม งานไม้ และงานศิลปะอื่นๆ ไม่ได้ถูกมองเป็นวิชาเสริมที่แยกขาดออกจากหลักสูตรหลัก หรือเป็นวิชาที่ไม่มีความสำคัญ หรือเป็นเพียงวิชาเลือก แต่เป็นส่วนสำคัญในฐานะที่แต่ละวิชามีส่วนช่วยเติมเต็มให้หลักสูตรในแต่ละขวบปีของนักเรียนครบถ้วนสมบูรณ์
หลักสูตรการศึกษาวอลดอร์ฟ
หลักสูตรการเรียนการสอนในแนววอลดอร์ฟถูกออกแบบให้ทำงานสอดคล้องอย่างกลมกลืนกับพัฒนาการตามธรรมชาติของช่วงวัยของเด็ก และเพราะว่าแต่ละช่วงของพัฒนาการของเด็กนั้น คือ การสะท้อนแต่ละขั้นตอนของพัฒนาการของมนุษยชาติเรา ดังนั้น เรื่องราวเรื่องเล่าของมนุษยชาติ ตั้งแต่เทพนิยาย ตำนาน พระคัมภีร์เก่า ตำนานเทพเจ้านอร์ส อินเดียโบราณ เทพเจ้าปกรณัมกรีก เหล่านี้ล้วนเป็นแกนหลักของหลักสูตร นอกเหนือจากเรื่องราวเรื่องเล่าเหล่านี้ที่เป็นวิชาเรียนหลักของแต่ละชั้นปี วิธีการนำเสนอ วิธีการเล่าเรื่องของครู งานที่ครูให้นักเรียนทำ กิจกรรมเสริมต่าง ๆ ที่ครูออกแบบมาล้วนต้องสอดรับและเหมาะเจาะกับพัฒนาการของนักเรียนและความสามารถของนักเรียนในแต่ละช่วงวัยด้วยเช่นกัน
เด็กเล็ก (ก่อนวัยเรียน) จะเลียนแบบและได้รับการเลี้ยงดูผ่านต้นแบบและตัวอย่าง ลักษณะเด่นที่สำคัญในการศึกษาก่อนวัยเรียนคือ การเล่นอิสระ โดยมีการนำทาง แต่ไม่กำกับ รวมทั้งประสบการณ์ในการเคลื่อนไหวและการใช้สัมผัสรู้ (sense) ต่าง ๆ ผู้ให้การศึกษาส่งเสริมพัฒนาการที่เหมาะสมทางกายและใจของเด็กผ่านจังหวะแบบแผน อันเป็นการวางรากฐานสำหรับความทรหดอดทน และวินัยในตนเอง
เด็กวัยเรียน (ประถมศึกษาปีที่ ๑ ถึงมัธยมศึกษาปีที่ ๒) จะเรียนรู้จากครูผู้ใช้วิธีหลากหลาย เตรียมบทเรียนอย่างสร้างสรรค์ และแนะนำความรู้ในเรื่องหลัก ๆ ทั้งปวงแก่นักเรียน โดยผ่านบทเรียนหลัก ครูจะสร้างสัมพันธ์ที่แท้จริงกับนักเรียนโดยเฉพาะครูประจำชั้น เมื่อเด็กโตขึ้น การเรียนรู้จะเป็นทางการมากขึ้นภายในบทเรียนที่สร้างสรรค์
ประถมศึกษาปีที่ ๑ ราวกับเป็นสะพานเชื่อมต่อระหว่างเด็กอนุบาลกับเด็กประถม เด็ก ๆ พร้อมแล้วที่จะเรียนรู้อย่างเป็นทางการ หากแต่เด็กยังคงมีสภาวะสำนึกคล้ายเด็กอนุบาล ความเข้าใจยังคงต้องโยงกับภาพ เรื่องราว และตัวเอง จินตนาการยังคงมากล้น และพลังแห่งการเลียนแบบยังคงมีอยู่มาก ยังไม่เหมาะกับการอธิบายแบบใช้เหตุผลหรือนามธรรม แต่เหมาะกับการลงมือทำด้วยตัวเอง ดังนั้นเราจึงสอนโดยเริ่มจากการแนะนำให้รู้จักตัวอักษร ตัวเลข อาณาจักรของถ้อยคำ/เสียง อาณาจักรของจำนวน/ตัวเลข/การนับ ผ่านเรื่องราวเรื่องเล่าที่มีชีวิตชีวา เน้นการบ่มเพาะเรื่องการอยู่ร่วมกันในห้องอย่างเป็นหนึ่งเดียว ปลูกฝังระเบียบวินัยและนิสัยที่ดี และให้ภาพของโลกและชีวิตผ่านเทพนิยาย
ปีที่ ๒ ธรรมชาติของเด็ก ป.๑ และ ป.๒ มีส่วนคล้ายคลึงกันมาก การสอนวิชาหลักภาษไทยและเลขในชั้นนี้จึงเป็นการดำเนินการก่อสร้าง ต่อเติมรายละเอียดไปจากเดิมที่ได้วางรากฐานไว้แล้ว อย่างไรก็ตาม เด็กประถมสองรับรู้โลกภายนอกโดยเอาตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องน้อยลง เด็ก ๆ ต้องการเรื่องราวที่สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น และในช่วงวัยนี้ที่ภาวะอารมณ์ชอบ – ไม่ชอบ พอใจ – ไม่พอใจ คำถามเกี่ยวกับความดี – ไม่ดี ปรากฏขึ้นในใจมากมาย การให้การศึกษาโดยการฉายให้เห็นภาพของมนุษย์ทั้งสองด้าน คือด้านที่มืดมิด/ไม่ดี ผ่านเรื่องเล่าสุภาษิตที่เกี่ยวกับสัตว์ หรือนิทานอีสป และด้านที่เชิดชูลักษณะอันน่ายกย่องของมนุษย์ผ่านตำนานนักบุญ นักบวช ชาดก จึงเป็นสิ่งที่เหมาะกับวัยนี้
ปีที่ ๓ วัยเด็กที่สดใสจบสิ้นลงแล้ว จินตนาการอันเพริศแพร้วเป็นเพียงอดีตเท่านั้น เด็กได้ลงมาสู่โลกอย่างแท้จริง โลกภายในและภายนอกที่เคยเป็นหนึ่งเดียวกัน บัดนี้กลับขาดสะบั้นลง กลายเป็นสองโลกที่แยกจากกันโดยสิ้นเชิงภาวะโดดเดี่ยว หวาดกลัว ลังเลกับสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นซึ่งเด็กวัยนี้ต้องเผชิญนั้น การศึกษาดูแลเขาโดยการเล่าการกำเนิดโลกจากตำนานต่าง ๆ เพื่อให้เด็กมั่นใจและรู้ที่มาที่ไปว่ามนุษย์เป็นใคร บทเรียนเรื่องการทำนา การเลี้ยงสัตว์ที่ทำให้เด็กได้เชื่อมโยงกลับสู่พื้นโลกอีกครั้ง บทเรียนเรื่องการชั่งตวงวัด เรื่องของเวลาและนาฬิกา เรื่องของระบบเงินตรา เหล่านี้ล้วนทำให้เขารู้ว่า มนุษย์มีความสามารถ มีศักยภาพที่จะทำอะไรได้บ้าง เพื่อให้ตนอยู่รอดและเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ซึ่งตัวเขาเองก็ทำได้เช่นกัน
ปีที่ ๔ เด็กเติบโตขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง เด็กวัยนี้มีพลังทำงานและสร้างสรรค์มากมาย พวกเขาก้าวผ่านช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลงในขวบปีก่อนมาแล้ว มาบัดนี้เขารู้สึกถึงเนื้อตัวของเขาที่แยกออกจากสิ่งรอบตัวอย่างสิ้นเชิง ในภาวะที่แยกจากโลกนี้ การศึกษาที่จะสร้างความเข้มแข็งและความสงบในใจให้กับเด็ก คือการศึกษาเกี่ยวกับตัวมนุษย์เอง และการศึกษาให้เห็นถึงคุณค่าและความน่าอัศจรรย์ของการเป็นมนุษย์นั้น วิธีการที่ดีที่สุดคือการศึกษาเกี่ยวกับอาณาจักรสัตว์ และในภาวะที่เขารู้สึกแยกออกมาจากทุกสิ่งนี้ ควรให้การศึกษาที่ทำให้เกิดการรับรู้ว่า เมื่อเขาแยกออกมาเป็นตัวเองแล้ว เขาควรต้องดูแลและรับผิดชอบผู้อื่นด้วย การสอนเรื่องเศษส่วนในวิชาเลข สอดรับกับภาวะของการแยกตัว การสอนเครื่องดนตรีอังกะลุง ส่งเสริมภาวะของการแยกตัวที่ยังมีความรับผิดชอบดูแลผู้อื่น
ปีที่ ๕ เด็กเริ่มคุ้นเคยกับการแยกตัวออกมามากขึ้น ทำให้การมองโลกเริ่มมีมุมมองใหม่ ๆ ขอบข่ายการรับรู้ของเด็กเพิ่มขึ้น มีความเชื่อมั่นในตนเอง เด็กจะละทิ้งความเป็นเด็กอีกช่วงหนึ่งไว้เบื้องหลัง เพื่อก้าวต่อไปข้างหน้า การสอนเป็นก้าวต่อจากฐานเดิมที่วางไว้แล้ว เพื่อเตรียมเด็กให้พร้อมกับการเดินหน้าต่อไป เด็กมีการเรียนประวัติศาสตร์ที่เล่าถึงการกระทำและความบากบั่นของมนุษย์ เพื่อปลุกความเป็นมนุษย์ในตัวเอง และทำให้เขามองเห็นตัวเองและเห็นวิวัฒนาการของมนุษยชาติ ซึ่งเมื่อถึงเวลาหนึ่งเขาเองก็ต้องช่วยผลักดันให้รุดหน้าต่อไป เด็กเรียนรู้ภูมิศาสตร์ที่นำเด็กออกห่างจากตัวเองไปสู่เทศะอันกว้างขวางยิ่งขึ้น นำเด็กขยายความสำนึกไปสู่ประชาชาติทั้งปวงในโลก และช่วยให้เด็กมีความใกล้ชิดกับชุมชน ตำนานและมหากาพย์กรีกที่สละสลวยละเมียดละไม เหมาะกับสภาพอารมณ์อันอ่อนไหวของพวกเขา ในชั้นประถมห้า เราควรสอนให้เด็กเคารพปัจเจกภาพของผู้อื่น ในขณะที่ปัจเจกภาพของตนเองกำลังพัฒนาอย่างแกร่งกล้า โดยผ่านบทเรียนวิชาภาษา
ปีที่ ๖ การแปรสภาพก่อนหน้านั้น นำมาซึ่งการแยกตัวเองออกจากโลกภายนอกอย่างสิ้นเชิงเป็นครั้งแรก ในช่วงนี้เด็กสามารถเริ่มคิดถึงโลกอย่างเป็นนามธรรมได้ เพราะตัวเขาไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของมันอีกต่อไป เป็นช่วงที่สามารถแนะนำวิชาวิทยาศาสตร์กายภาพเช่น ฟิสิกส์ ธรณีวิทยา แร่ธาตุวิทยา เรขาคณิตได้แล้ว เด็กต้องการที่จะรู้เกี่ยวกับสาเหตุและความเป็นไปของสิ่งต่าง ๆ กฎเกณฑ์ของการทำงานของสรรพสิ่งรอบตัว แม้ในวิชาศิลปะก็มีการเน้นไปที่ปัญหาพิเศษทางศิลป์และเทคนิคของศิลปะ ซึ่งไม่เคยเป็นที่สนใจก่อนหน้านี้ จากที่เคยเรียนวิชาประวัติศาสตร์ยุคโบราณเมื่อปีก่อน ปีนี้ได้ก้าวเข้าสู่ประวัติศาสตร์ยุคใหม่ โดยเริ่มจากยุคเสื่อมของกรีก ความรุ่งเรืองและตกต่ำของโรม ให้ภาพโลกเชิงกวีสู่โลกเชิงวิทยาศาสตร์ เปรียบเหมือนกับภาวะที่เกิดกับพวกเขา ที่ต้องละทิ้งวัยเด็กไว้เบื้องหลัง เพื่อก้าวสู่สภาวะสำนึกการคิดแบบผู้ใหญ่ในช่วงอายุนี้
มัธยม ๑ เด็กวัย ๑๓ ปี เป็นการก้าวเข้าสู่วัยรุ่น มีความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านกายภาพ และด้านความคิดเห็นที่เป็นเหตุเป็นผล มีแง่คิดและมุมมองมากขึ้น มีความเป็นตัวของตัวเองซึ่งต้องการให้ผู้ใหญ่ตระหนักรู้และยอมรับเขา เด็กยืนอยู่บนโลกแห่งความเป็นจริงมากขึ้น มีวิธีคิดที่สามารถวิเคราะห์แยกแยะได้แจ่มชัดขึ้น ความละเอียดอ่อนซับซ้อนในเชิงอารมณ์เพิ่มมากขึ้น แต่เด็กก็ยังไม่สันทัดกับการรับมือกับความรู้สึกที่อ่อนไหว ท่วมท้นเท่าใดนัก อย่างไรก็ดี เด็กพยายามที่จะถอยออกมาเพื่อมองเข้าไปให้เห็นความรู้สึกที่เกิดขึ้น เพื่อที่จะเข้าใจสภาวะนั้นๆ และพยายามควบคุมอารมณ์ตนเองอย่างเต็มที่เท่าที่วัย และประสบการณ์ของเขาจะเอื้ออำนวย
การศึกษาสำหรับเด็กวัยนี้ เป็นเนื้อหาที่ต้องทำให้เขาเข้าใจได้จริงๆ เด็กเริ่มมองหาที่มาที่ไป เหตุและผล แม้ว่าจะยังไม่ถึงขั้นรายละเอียดที่ลึกซึ้งนัก เด็กจะเริ่มเรียน ฟิสิกส์ กลศาสตร์ คาน รอก การใช้แรง เครื่องทุ่นแรง เพื่อให้สมกับวัยที่พลังเริ่มมา รู้ผ่อนหนักผ่อนเบา รู้จักวางกำลังให้ถูกที่ เป็นต้น ประวัติศาสตร์เข้าสู่ช่วงอาณาจักรโรมันล่มสลาย อารยชน สู่ยุคมืด และการค้นพบดินแดนใหม่ ของ Columbus Marco Polo เป็นต้น
มัธยม ๒ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ ถือเป็นปีสุดท้ายในระดับประถมต้นตามแนวทางการศึกษาวอลดอร์ฟ เด็กๆ ได้แสดงให้เห็นถึงคุณภาพที่กำลังจะเปลี่ยนแปลง เด็กมีความคิดอ่านที่เป็นเหตุผล มีหลักการที่ชัดเจนขึ้น จนกระทั่งอยากเป็นอิสระหรือดูแลตนเอง เนื้อหาการเรียนรู้มีความหลากหลาย มีลักษณะของการวิเคราะห์แยกส่วนมากขึ้น ได้เรียนวิชาเคมีที่เป็นนามธรรม ชีววิทยาที่อธิบายให้เด็ก ๆ เข้าใจการทำงานของร่างกายตนเองในเชิงวิชาการมากยิ่งขึ้น
วัยรุ่นในชั้นมัธยมปลาย ควรเรียนรู้จากบทเรียนหลักที่เป็นวิชาการมากขึ้นตามลำดับ ฝึกวิธีมองและวิเคราะห์สาระของบทเรียนในเชิงวิพากษ์ และนำไปสู่ข้อวินิจฉัยของตนเอง ทั้งหมดนี้ปรากฏให้เห็นในงานที่ทำกันอย่างอิสระมากขึ้นตามลำดับในวิชาต่าง ๆ นอกจากนั้นความมั่นใจในตนเอง ความรับผิดชอบส่วนตัว และสำนึกในพันธะต่อโลกจะค่อย ๆ ปรากฏออกมา ระดับมัธยมปลายจะมีวิธีการเรียนรู้ที่มีลักษณะเฉพาะคนมากขึ้น การธำรงชั้นเรียนทั้งชั้นให้เป็นหน่วยเดียวกันเป็นการส่งเสริมความสามารถทางสังคมของเด็กวัยนี้
มัธยม ๓ ระหว่างวัย ๑๔-๒๑ ปีคือช่วงของวัยรุ่นอย่างเป็นทางการ ระยะช่วงนี้เด็กเรียนรู้ผ่านเชาว์ปัญญา ก้าวจากการคิดที่เป็นภาพมาสู่การคิดที่เป็นนามธรรม เด็กวัย ๑๕ ปีได้พัฒนาความคิดของเขา จากวัยเด็กที่การใช้ความคิดยังเกี่ยวพันกับความชอบไม่ชอบส่วนตัว เมื่อถึงวัยนี้ เขาจะค่อย ๆ มีความคิดที่แจ่มชัด แต่ก็ยังเป็นความคิดที่ต้องการการฝึกฝน เพราะเขายังมีความคิดเป็นทวิลักษณ์ ขาว-ดำต่างกันชัดเจน การสอนเด็กโดยใช้งานศิลปะ Monotone ใช้สีขาว-ดำ และแสดงให้เห็น shadeต่าง ๆ ของดำ-เทา-ขาว ช่วยฝึกฝนให้เขาสามารถมองเห็นเฉดสี ส่งผลสู่การคิดที่มีความละเอียดและการมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ตามความจริงอย่างที่มันเป็น การสอนต้องท้าทายความคิดของเด็ก เด็กวัยรุ่นจะมีประสบการณ์ต่อระดับต่างๆ ของอารมณ์มนุษย์ อุดมคติ เป้าหมาย ตลอดจนการแสดงออกของบุคลิกภาพ
ดนตรี เด็ก ๆ จะเริ่มฝึกเล่นเครื่องดนตรีตั้งแต่ชั้นประถม ๑ เทอม ๒ ผ่านการเลียนแบบจากการดูครูเป่าขลุ่ย และหูฟังเทียบเสียง โดยเริ่มจากเพลงที่คุ้นเคยก่อน และจะเรียนเครื่องสายตะวันตก ( ไวโอลิน หรือ เชลโล ) เมื่อขึ้นชั้นประถม ๔ เทอมปลาย หรือ ต้นประถม ๕ ในชั้นประถม ๔ เด็ก ๆ จะได้เรียนอังกะลุง ในชั้นประถม ๕ เด็ก ๆ จะได้เรียนเครื่องดนตรีพื้นเมืองเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งเครื่อง และในการเล่นเครื่องสายตะวันตกก็จะเริ่มเล่นเครื่องสายรวมวง ในชั้นที่โตขึ้นช่วงมัธยม นักเรียนจะได้เรียนเครื่องดนตรีที่เป็นเครื่องคอร์ด เช่น กีตาร์ เพื่อให้ได้มีประสบการณ์กับเครื่องดนตรีใหม่ที่ไม่ใช่เครื่องดนตรีเมโลดี้ที่เล่นมาตั้งแต่ประถมต้น เราสนับสนุนให้เด็กได้เล่นเครื่องดนตรีต่าง ๆ ตามวัยที่เหมาะสม ผู้ปกครองสามารถสนับสนุนเด็ก ๆ ในการเรียนดนตรีให้มีประสิทธิภาพได้ตั้งแต่อนุบาล ด้วยการไม่พาไปยังที่ที่มีเสียงอึกทึก ไม่เปิดเพลงเสียงดัง เพื่อให้ความสามารถในการฟังยังคงอยู่กับตัวเด็ก
เข้าค่าย/เดินป่า/ทัศนศึกษา การไปทัศนศึกษา ทั้งการเดินป่าและการเข้าค่ายเป็นกิจกรรมเพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้นอกสถานที่ ถือเป็นกิจกรรมสำคัญกิจกรรมหนึ่งของหลักสูตร เป็นการเปิดกว้างสู่ประสบการณ์การเรียนรู้และนักเรียนทั้งชั้นควรจะเข้าร่วม ครูประจำชั้นจะมีจดหมายแจ้งข้อมูลและขออนุญาตผู้ปกครองในการไปทัศนศึกษาทุกครั้ง การตอบกลับจดหมายเป็นเรื่องจำเป็น หรือแจ้งให้ครูทราบหากไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ ค่าใช้จ่ายในการไปทัศนศึกษาหรือเข้าค่ายเป็นส่วนที่ผู้ปกครองจ่ายเพิ่มเติม
Reverence, Ritual, Rhythm ความเคารพนบนอบ, พิธีกรรม และจังหวะ เป็นเรื่องสำคัญที่การศึกษาวอลดอร์ฟปลูกฝังและบ่มเพาะในตัวเด็ก โดยผ่านเทศกาล เทศกาลและการเฉลิมฉลองถือเป็นสิ่งสำคัญในการศึกษาวอลดอร์ฟ มิใช่เพราะเป็นการส่งเสริม อนุรักษ์ประเพณีดั้งเดิม หรือเป็นไปเพื่อจุดประสงค์ทางศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แต่เพราะเป็นการหล่อเลี้ยงดวงจิตของแต่ละคน และเป็นการนำพาชุมชนให้มาร่วมกันอย่างมีความหมาย เทศกาลเป็นการเฉลิมฉลองแห่งชีวิต แล้วเทศกาลเฉลิมฉลองอะไร?
เทศกาลเป็นการเฉลิมฉลองฤดูกาลต่างๆ ในปีหนึ่งๆ และเป็นการเชื่อมเราเข้ากับโลกรอบตัวเรา เทศกาลจึงเป็นจังหวะของธรรมชาติในแต่ละปี ซึ่งจังหวะนี้จะช่วยเสริมสร้างกายเนื้อของเด็กให้แข็งแรงขึ้น เทศกาลยังเป็นการฉลองการมาร่วมกันของพลังแห่งพื้นโลก และพลังของจักรวาล เป็นการฉลองความกลมกลืนระหว่างโลกกับจักรวาล ระหว่างวัตถุกับดวงจิต เป็นโอกาสให้เด็กและผู้ใหญ่ด้วยเช่นกัน ได้สัมผัสรับรู้อีกครั้งถึงความสัมพันธ์ของตนกับพื้นโลก และความสัมพันธ์กับดวงตะวัน ดวงจันทร์ และดวงดาว
ทั้งในระดับอนุบาลและประถม ครูประจำชั้นจะพาเด็กๆ ไปสู่บรรยากาศของเทศกาลแห่งชีวิต นำไปสู่ความลี้ลับของจิตวิญญาณที่อยู่เบื้องหลังฤดูกาลต่างๆ ที่เปลี่ยนผ่านไปในแต่ละปี ผ่านเรื่องเล่า ตำนาน นิทาน บทเพลง ที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละวัย และผ่านบรรยากาศการเฉลิมฉลองที่เต็มไปด้วยความสุขและความเคารพนบนอบ
การรับสมัครนักเรียน
APA-อาภา ยินดีรับเด็กชายหญิงเข้าเรียนตั้งแต่อายุ สามขวบครึ่งขึ้นไปถึง 6 ขวบในระดับอนุบาล ส่วนในระดับประถมเปิดรับนักเรียนระดับประถม 1-6 อายุ 6 ขวบครึ่งขึ้นไป แต่ละชั้นรับนักเรียนได้จำนวนจำกัดในระดับที่ครูสามารถดูแลรับผิดชอบได้อย่างทั่วถึงเท่านั้น สำหรับผู้ปกครองที่สนใจ ขั้นตอนการสมัครเรียนมีดังนี้
- ศึกษาหาข้อมูลรายละเอียด และทำความเข้าใจเกี่ยวกับการศึกษาแนววอลดอร์ฟก่อนตัดสินใจเพราะโรงเรียนต้องได้รับความร่วมมือจากทางบ้านในการดูแลและพัฒนาเด็กจากความเข้าใจ ทั้งนี้อาจหาข้อมูลได้จากหนังสือ การบรรยาย อบรม และทาง internet (ควรเป็นแหล่งที่เชื่อถือได้) รวมทั้งสามารถเข้าร่วมศึกษาในห้องเรียนพ่อแม่ร่วมกับผู้ปกครองอาภา เพื่อทำความเข้าใจเบื้องต้นว่าแนวทางของโรงเรียนสอดคล้องกับความต้องการหรือไม่
- หนังสือแนะนำให้อ่าน
- หนังสือคุณคือครูคนแรกของลูก
- หนังสือรากฐานพัฒนาการชีวิตฯ
- หนังสือนิทานก่อนนอน “เมฆเริงรำสายน้ำร้องเพลง” เล่ม 1 และ 2
- หนังสือศิลปะการสอนที่มีชีวิต
- หนังสือสะพานสายรุ้ง
- หนังสือหัวเลี้ยวหัวต่อ
- หนังสืออนุบาลวอลดอร์ฟ ปฐมบทแห่งการเรียนรู้
- หนังสือ Waldorf การศึกษาเพื่อความเป็นมนุษย์
- หากสนใจให้ลูกเข้าเรียนที่นี่ สามารถติดต่อนัดหมายเพื่อมาพบปะพูดคุยทำความเข้าใจในกระบวนการเรียนการสอน ปรัชญา และแนวทางของโรงเรียน ตลอดจนการปฏิบัติตัวและการทำงานร่วมกันระหว่างบ้านและโรงเรียน ติดต่อเพื่อนัดหมายได้ที่ ผู้ปกครองอาสา แม่เอ๋ 084-611-4739 วันจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 9.00 – 16.00 น.
- หลังจากผ่านการพูดคุยรายละเอียดแล้วควรกลับไปปรึกษาหารือใคร่ครวญกันในครอบครัวสักระยะหนึ่ง หากตกลงใจว่าต้องการให้ลูกเข้าเรียนที่ APA จึงติดต่อนัดหมายเพื่อมาสมัครเข้าเรียนตามขั้นตอนต่อไป