ครัวป้าอ้อย – วันนี้รีวิวเชียงใหม่จะพาทุกคนไปพบกับร้านอาหารตามสั่งที่อาจจะดูธรรมดา แต่บอกเลยว่าเป็นร้านที่สุดแสนจะพิเศษอย่าง “ครัวป้าอ้อย” ร้านอาหารตามสั่งที่ไปไกลถึงได้การันตีจากมิชลิน พร้อมกับบทสัมภาษณ์ที่สุด Exclusive พร้อมด้วยกับการเล่าถึงเหตุการณ์ที่ระทึกขวัญพอสมควรกับเหตุการณ์ที่รถบรรทุกเกือบพุ่งชนร้าน
แนะนำตัวป้าอ้อยและครัวป้าอ้อย
“ป้าอ้อย” หรือ ศศิธร วรรณการโสภณ อายุ 65 ปี เจ้าของร้านครัวป้าอ้อย โดยป้าอ้อยนั้นเรียนจบด้านคหกรรมมาก่อน และได้ทำงานให้กับโรงแรมในกรุงเทพฯ หลายแห่งในโซนของ Coffee Shop ที่ทำอาหารหลากหลาย ก่อนที่จะย้ายมาอยู่ที่เชียงใหม่ ซึ่งที่เชียงใหม่นั้นป้าอ้อยก็ยังได้ทำงานในโรงแรมเช่นเดิม รวมไปถึงที่เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีด้วย
ส่วนร้านครัวป้าอ้อยนั้นมีอายุมากว่า 15 ปีแล้ว โดยโลเคชันก่อนหน้านี้ ครัวป้าอ้อยตั้งอยู่ที่โซนสันติธรรมและได้ย้ายมาอยู่ตรงข้ามโครงการ MORe SPACE ในปัจจุบัน
จุดเริ่มต้นของครัวป้าอ้อย
อย่างที่บอกไปว่าป้าอ้อยนั้นเรียนจบคหกรรมและได้ทำงานที่โรงแรมในกรุงเทพฯ ก่อนที่จะย้ายมาอยู่ที่เชียงใหม่ ซึ่งรีวิวเชียงใหม่ก็ได้ถามป้าอ้อยถึงเหตุผลในการย้ายจากกรุงเทพฯ
ป้าอ้อยบอกเหตุผลที่ย้ายมาเชียงใหม่เป็นเพราะว่ากรุงเทพฯ นั้นแออัดเกินไปแล้วจึงย้ายมาเชียงใหม่ โดยเหตุผลที่เลือกเชียงใหม่เป็นเพราะว่าเชียงใหม่เป็นเมืองน่ารัก ผู้คนในเชียงใหม่ก็น่ารักแถมยังมีอากาศที่ดีกว่าที่กรุงเทพฯ อีกด้วย การเป็นอยู่ที่เชียงใหม่ก็ดีกว่ากรุงเทพฯ
หลังจากที่ทำงานในโรงแรมเวสทีนและในช่วงแรก ๆ ที่เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีเปิด ซึ่งด้วยอายุที่มากขึ้นป้าอ้อยก็ได้ออกจากงาน แต่ด้วยความที่ทั้งตัวเองเรียนจบคหกรรมมาและทำงานโรงแรมมาตลอด เสมือนว่าการทำอาหารนั้นมันอยู่ในร่างกาย อยู่ในสายเลือดของป้าอ้อยไปแล้ว ป้าอ้อยทนอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ ป้าอ้อยเบื่อกับการอยู่เฉย ๆ เลยมาเปิดร้านอาหารตามสั่ง
ที่มาของชื่อ “ครัวป้าอ้อย”
พอคิดที่จะเปิดร้านอาหารตามสั่ง ป้าอ้อยจึงเลือกใช้ชื่อว่า “ครัวป้าอ้อย” โดยป้าอ้อยให้เหตุผลว่าชื่อนี้มันฟังดูอบอุ่นดี ให้ความรู้สึกเหมือนว่าไปกินข้าวร้านป้าหรือกินข้าวบ้านป้า ถ้าจะใช้ว่าครัวพี่อ้อยหรือครัวเจ๊อ้อยมันก็ดูที่ยังจะอายุดูอ่อนไป
การเดินทาง (ย้ายร้าน) ที่น้ำตาร่วงของครัวป้าอ้อย
ถ้าใครที่รู้จักครัวป้าอ้อยตั้งแต่เริ่มมีชื่อเสียง คงจะรู้จักจากโลเคชันที่สันติธรรม แต่ความจริงแล้วทำเลแรกที่ครัวป้าอ้อยอยู่นั้นไม่ได้เริ่มเปิดตั้งแต่แรก
โลเคชันแรกของครัวป้าอ้อยนั้นคืออยู่ติดกับร้านข้าวซอยแม่สาย โดยที่ป้าอ้อยจะเปิดร้านขายอาหารตามสั่งไป ส่วนคุณลุงสามีของป้าอ้อยก็จะเปิดเป็นร้านซ่อมรถโบราณ เปิดได้ประมาณ 5 ปีแต่ด้วยเหตุผลบางอย่างทำให้ป้าอ้อยต้องย้ายโลเคชัน ซึ่งด้วยเงื่อนไขที่ต้องการที่ที่มีพื้นที่พอสมควร เพื่อที่จะได้มีที่เพียงพอสำหรับร้านอาหารตามสั่งของป้าอ้อยและร้านซ่อมรถโบราณของคุณลุง ซึ่งที่ใหม่ที่ป้าอ้อยได้ก็คือโซนอำเภอแม่ริม
ที่แม่ริมป้าอ้อยใช้คำว่า “น้ำตาร่วง” และ “เจ๊ง” เลย เพราะว่าป้าอ้อยบอกว่าขายไม่ดีเลย ไม่ใช่ว่าขายไม่ได้ มันพอขายได้แต่ขายไม่ดี ส่วนคุณลุงนั้นก็พอได้อยู่ เพราะก็มาฐานลูกค้าที่ยังตามไปซ่อมอยู่ แต่กับครัวป้าอ้อยนั้นถึงขั้นเสียน้ำตาเลย และเมื่อการอยู่ที่แม่ริมนั้นไม่ประสบความสำเร็จ อยู่ที่แม่ริมได้ประมาณ 6 เดือน ป้าอ้อยก็ชีพจรลงเท้าอีกครั้ง โดยครั้งนี้ย้ายมาอยู่ในโซนอาหารของตลาดมาลีน พลาซา หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ป้าอ้อย (เกือบ) แขวนตะหลิวที่มาลีน พลาซา
หลังจากที่ย้ายจากแม่ริมมาอยู่ในโซนที่มีแต่คนพลุกพล่าน เต็มไปด้วยทั้งนักท่องเที่ยวและเด็ก ๆ นักเรียน นักศึกษา ป้าอ้อยมีความหวังอีกครั้งที่จะทำให้ร้านกลับมามีชีวิตอีกครั้ง และคิดว่าคนเยอะขนาดนี้ ถ้ายังขายไม่ได้อีกก็คงต้อง “เลิกขาย” และ “แขวนตะหลิว”
แต่เส้นทางของป้าอ้อยก็ยังไม่สวยงามอีก (เหมือนเดิม) เพราะว่าถ้าหากใครที่เคยไปตลาดมาลีน พลาซาจะรู้ว่าโซนร้านอาหารนั้นจะเริ่มเปิดและเริ่มขายตั้งแต่ช่วงกลางวัน ซึ่งเป็นธรรมดาที่ในช่วงเช้าและช่วงกลางวันจะยังไม่ค่อยมีคนมาเดิน เพราะส่วนใหญ่แล้วจะมาเดินเล่นซื้อของกันในช่วงเย็น ทำให้ในช่วงกลางวันครัวป้าอ้อยไม่มีลูกค้าเลย
พอตกเย็นมาป้าอ้อยบอกว่าขายได้ก็จริง แต่ขายได้เพียงแค่ชั่วโมงเดียวในช่วงเวลา 1 ทุ่ม ลูกค้าจะเยอะเพียงแค่ชั่วโมงเดียว แต่ด้วยทั้งร้านมีแค่ป้าอ้อยและพนักงานอีกแค่ 1 คน ครัวป้าอ้อยก็ไม่สามารถรับลูกค้าไว้ได้ทั้งหมด ประกอบกับด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ทำให้ป้าอ้อยเปิดร้านที่มาลีน พลาซาได้เพียงแค่ 4 เดือนก็ต้องปิดร้านไป กลับมาเป็นคนว่างงานอีกครั้ง
ในช่วงท้ายการเล่าไทม์ไลน์ตั้งแต่ตอนอยู่แม่ริมมาจนถึงตลาดมาลีน ป้าอ้อยบอกว่าถึงขั้นเสียน้ำตา เดินร้องไห้ เพราะเกิดอาการท้อ น้อยใจว่าทำไมถึงขายไม่ได้ ขายไม่ดีเลย
สันติธรรมและคนเกาหลีชุบชีวิตครัวป้าอ้อย
หลังจากที่เสียน้ำตาให้กับแม่ริมและตลาดมาลีน พลาซาไป ผ่านไปอาทิตย์เดียวหลังจากที่เลิกขายที่ตลาดมาลีน พลาซา หลานของป้าอ้อยก็โทรมาบอกว่าที่โซนสันติธรรมมีที่ว่าง เป็นมุมเล็ก ๆ แถมค่าเช่าก็ไม่ได้แพงอะไร ถ้าศัพท์สมัยใหม่ก็จะเรียกว่า “ปล่อยจอย” ป้าอ้อยปล่อยจอยในการทำครัวป้าอ้อยแล้ว เหมือนกับว่าเลิกกดดันตัวเอง เลิกกดดันกับยอดขายต่าง ๆ แล้ว ขายไปเรื่อย ๆ ซึ่งคราวนี้คุณลุงก็เลิกทำร้านซ่อมรถโบราณและมาช่วยป้าอ้อยในการทำร้านแล้ว
และเหมือนเทพีแห่งโชคจะเข้าข้างป้าอ้อยบ้างแล้ว เพราะป้าอ้อยบอกว่าเริ่มขายดีขึ้นแล้ว แถมมีคนเกาหลีที่มาเรียนและพักแถวนั้นมาเป็นลูกค้าประจำอีกด้วย และเหมือนเทพีแห่งโชคเข้าข้างป้าอ้อยซ้ำอีกรอบ เพราะหลังจากที่คนเกาหลีทำภารกิจที่เชียงใหม่เสร็จ ก่อนกลับบ้านเกิดของตัวเอง เขาได้ขอที่อยู่ของครัวป้าอ้อยและเขียนโปสการ์ดให้กับป้าอ้อย โดยเขียนว่า “ครัวบ้าอ้อย” (เราไม่ได้เขียนผิดนะครับ เขาเขียนว่าครัวบ้าอ้อยจริง ๆ)
เหตุผลที่บอกว่าเทพีแห่งโชคเข้าข้างป้าอ้อยอีกครั้ง เพราะภายหลังมารู้ว่าคนเกาหลีคนนั้นทำหนังสือขายและที่ขอที่อยู่ของป้าอ้อยไว้ก็เพราะว่าหลังจากนั้นเขาก็ฝากหนังสือผ่านเพื่อนมาให้ป้าอ้อย โดยหนังสือเล่มนั้นคือหนังสือแนะนำที่เที่ยวในเชียงใหม่ ซึ่งเนื้อหาข้างในหนังสือมีการพูดถึงครัวป้าอ้อยและบอกว่าถ้าใครมาเที่ยวเชียงใหม่ต้องมากินที่ครัวป้าอ้อย เป็นที่อาหารอร่อย คุณภาพเหมือนโรงแรมแต่ราคาไม่แพง และหลังจากนั้นเกิดการบอกต่อแบบปากต่อปากจนครัวป้าอ้อยเริ่มมีชื่อเสียง
ครัวป้าอ้อยกับเคล็ดลับความอร่อย
เปลี่ยนมาคุยในพาร์ทของอาหารบ้างดีกว่า อย่างที่เราเห็นในเมนูของครัวป้าอ้อยว่าจะมีทั้งเนื้อวากิวและปูนิ่มซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ค่อนข้างมีราคา รีวิวเชียงใหม่จึงได้ถามป้าอ้อยว่าทำไมต้องใช้วัตถุดิบขนาดนี้ด้วย
ป้าอ้อยบอกว่าก็นี่แหละ “เคล็ดลับ” ความอร่อย ป้าอ้อยบอกว่ามันต้องเป็นแบบนั้นระดับนั้นเลย อาหารมันถึงจะอร่อย ถ้าไม่ใช่แบบนั้นป้าอ้อยก็จะไม่ขาย และทุกอย่างผ่านกระบวนการการคำนวณมาแล้วว่าขายแบบนี้ไปมันก็ยังจะได้กำไร ถ้าไม่ได้กำไรก็จะไม่ทำ
นอกจากนี้เคล็ดลับอื่น ๆ ในการทำอาหารให้อร่อยนอกจากวัตถุดิบต้องดีแล้ว ป้าอ้อยบอกว่าวิธีการทำก็สำคัญ การปรุงอาหารนั้นอย่าไปเยอะ ควรปรุงในสิ่งที่อาหารจานนั้นควรจะเป็น ตัวอย่างเช่น ผัดกะเพรา เมนูผัดกะเพราก็ใส่แค่ใบกะเพรา ใส่ทำไมแคร์รอต ใส่ทำไมถั่วฝักยาว ใส่ถั่วฝักยาวได้ถ้าลูกเยอะ เพราะจะได้ประหยัด (ตรงนี้ป้าอ้อยแวะเล่นมุก) และที่สำคัญก็คือผัดกะเพราจะไม่ใส่น้ำตาล โดยการปรุงผัดกะเพราของครัวป้าอ้อยก็คือซอสหอยนางรม, ซีอิ๊วดำ, ผงชูรส (นิดหน่อย) และอาจจะมีน้ำซุปเล็กน้อย
มิชลินคือสิ่งที่มีความหมายและรางวัลต่อป้าอ้อย ครัวป้าอ้อย
“โหหหห” นี่คือคำอุทานแรกหลังจากที่เราถามป้าอ้อยไปว่าด้วยประสบการณ์ที่ทำงานในโรงแรมก็คงได้ยินคำว่ารางวัลมิชลินมาบ้าง พอออกมาเปิดร้านของตัวเองและร้านของตัวเองก็ได้มิชลินกับเขาบ้าง มิชลินมีความหมายอย่างไรกับป้าอ้อยบ้าง
ป้าอ้อยบอกว่ารางวัลนี้มันมีความหมายกับป้าอ้อยและครัวป้าอ้อยมาก ๆ มันเป็น “ความสำเร็จอยู่ในใจ” ของป้าอ้อย มันเป็นเหมือนเครื่องการันตี เครื่องยืนยันว่าสิ่งที่ป้าอ้อยทำลงไป ประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ได้มา ความอดทนต่อความล้มเหลวที่ผ่านมา มันไม่ได้สูญเปล่าไปไหน มันคุ้มกับสิ่งที่ป้าอ้อยอยากส่งมอบให้กับลูกค้า เพราะป้าอ้อยไม่เคย “มักง่าย” กับลูกค้า เรื่องนี้ไม่เคยอยู่ในความคิดของป้าอ้อยเลย จะมักง่ายไม่ได้เพราะเขากินเข้าไปในร่างกายของเขา เขาเอาเงินมาให้เรา เพราะฉนั้นสิ่งที่เราจะเอาให้เขากินต้องเป็นของที่ดี
ครัวป้าอ้อยกับ “รอยยิ้ม” ต้อนรับลูกค้า
นับตั้งแต่ที่กลายเป็นร้านที่ถูกแนะนำในหนังสือแนะนำที่เที่ยวในเชียงใหม่ของคนเกาหลีคนนั้น รวมไปถึงหลังจากที่ได้รางวัลจากมิชลิน ลูกค้าที่ครัวป้าอ้อยก็เพิ่มมากขึ้น เราจึงถามป้าอ้อยว่ามีวิธีการรับมือกับการที่ลูกค้าเยอะอย่างไรบ้าง
ป้าอ้อยบอกว่าต้องใช้ “รอยยิ้ม” และบอกว่าป้าอ้อยทำและปรุงอาหารเพียงคนเดียว (ในช่วงที่สันติธรรม) พอย้ายมาในที่ปัจจุบันที่ร้านพอจะมีพื้นที่ให้วางโซฟาสำหรับลูกค้าให้นั่งรอ พนักงานก็จะบอกลูกค้าอาจจะรอนานนิดหน่อย ใช้น้ำเสียงที่น่าฟัง พูดดี ๆ กับลูกค้า ส่งมอบรอยยิ้มให้กับลูกค้า ห้ามหน้าบึ้งใส่ลูกค้า
และที่สำคัญ “อย่า” คิดว่าตัวเองขายดี อย่าเด็ดขาด! ต้องอ่อนน้อมถ่อมตนกับลูกค้า
เหตุการณ์รถ 6 ล้อ (เกือบ) พุ่งชนร้าน
และจะไม่ถามถึงเหตุการณ์ที่เพิ่งเป็นไวรัลก็ไม่ได้ เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่รถบรรทุก 6 ล้อเกือบพุ่งชนเข้ามาในครัวป้าอ้อย เราได้ขอให้ป้าอ้อยช่วยเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ฟังหน่อย
ป้าอ้อยเล่าว่าเป็นรถบรรทุกที่คนขับจอดไว้บริเวณทางออกของ MORe SPACE เพื่อที่จะเดินไปซื้อกล้วยทอดในฝั่งตรงข้าม โดยที่ยังติดเครื่องและยกเบรกมือไว้ แต่ขณะที่เดินกลับมาที่รถ รถก็ดันไหลพุ่งมาที่ร้านของป้าอ้อยและจนเช้ากับรถยนต์ของป้าอ้อย โชคดีที่ในเหตุการณ์นี้ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บและทางรถบรรทุกก็มีประกันด้วย สุดท้ายเหตุการณ์นี้ก็จบลงด้วยดี
อนาคตของครัวป้าอ้อย
เวลาล่วงเลยมาเกือบ 20 ปีแล้วที่ป้าอ้อยเปิดครัวป้าอ้อยมา ย้ายร้านก็มาหลายครั้งจนมาลงตัวกับที่ตรงนี้ เราถามป้าอ้อยว่าในอนาคตมีแผนอย่างไรบ้างในเรื่องของการขยับขยายหรือเพิ่มสาขา
ป้าอ้อยบอกว่าในตอนนี้ยังไม่คิดถึงเรื่องของการขยายร้าน เพราะว่าถ้าขยายร้านก็จะต้องเพิ่มค่าใช้จ่าย เพิ่มพนักงานบุคลากรไปอีก แต่ในอนาคตอาจจะยกร้านให้ลูกไปทำต่อ ส่วนการเปิดสาขาเพิ่มนั้นก็ยังไม่คิดเช่นกัน เพราะการทำร้านอาหารที่มีสาขานั้นเป็นอะไรที่ควบคุมยาก เพราะการทำอาหารนั้นไม่สามารถชั่งตวงได้ ชั่งตวงได้ยาก ต้องใช้ฝีมือและประสบการณ์ ไม่ได้เหมือนกับการทำขนมหรือเบเกอรีที่มีการชั่งตวงแบบเป๊ะ ๆ
ครัวป้าอ้อย เมนูแนะนำ
ในวันที่เราไปถ่ายทำนั้น นอกจากเมนูที่ขึ้นชื่ออย่างกะเพราเนื้อวากิวและเมนูปูนิ่ม ทั้งปูนิ่มผัดผงกะหรี่และปูนิ่มผัดพริกไทยดำ ซึ่งเป็น 2 เมนูที่คิดว่าใครมาก็ต้องลองสั่งแน่นอน เราจึงขอสั่งเมนูที่ธรรมดา ๆ ดูบ้าง อย่างเมนูไข่ซิ่งและทะเลผัดผงกะหรี่
เมื่ออาหารมาเสิร์ฟและได้กินแล้ว บอกได้เลยว่าเหมือนว่าเราได้กลับไปกินกับข้าวร้านของลุง ๆ ป้า ๆ ในสมัยวัยเรียน คือต่อให้มันเป็นเมนูง่าย ๆ ที่ใคร ๆ ก็ทำได้ แต่รสมือ รสชาติและความรู้สึกระหว่างกิน มันกลมกล่อม นวลลิ้นนวลปาก มันอบอวลไปด้วยความอบอุ่นที่ป้าอ้อยส่งให้เราผ่านอาหาร
วันเวลาเปิด-ปิดและพิกัด
- พิกัด: ตรงข้ามโครงการ MORe SPACE CNX
- เวลาเปิด-ปิด: ทุกวัน (ปิดวันจันทร์) 10.00 น. – 19.00 น.
- GPS: https://maps.app.goo.gl/ecVX4SEho7ZpacbW6
- ที่จอดรถ: หน้าร้าน
ช่องทางการติดต่อ
- เบอร์โทรศัพท์: 081-7160938 (ไม่รับจองโต๊ะ)
- Facebook: ครัวป้าอ้อย (Aunt Aoy Kitchen)
ดูคลิปครัวป้าอ้อยได้ที่: