เปิด 5 ประตูเชียงใหม่ ให้รู้ๆกันไป

ประตูเชียงใหม่ ร้อยทั้งร้อยผมว่าใครมาเชียงใหม่ในคูเมืองแรกๆ เป็นอันต้องงกับประตูเมืองแน่ๆว่า มันมีกี่ที่? เฮ้ยเมื่อกี่เราผ่านตรงนี้รึเปล่า? อ้าวทำไมมาออกที่เดิม? ตรงนี้เราผ่านมาแล้วไม่ใช่เหรอ?

แม้จะมี GPS นำทาง หรือแผนที่แบบพับ แก้ให้หายงง แต่บอกตรงๆเวลาไปเจอของจริง มันก็ยังสับสนอยู่ดีล่ะครับ เพราะผมก็เป็น หลังจากการวิจัยมาอย่างเป็นยาวนานจากผู้คร่ำหวอดในวงการ ประตูเมืองเชียงใหม่ ก็พอจะจำแนกทิศทางการวางของที่ตั้งประตูเมืองแต่งและแห่ง และที่มาที่ไปว่าเป็นอย่างไร

แรกเริ่มเดิมทีเดิมกำแพงเมืองเชียงใหม่นั้นมีสองชั้น คือกำแพงชั้นนอก สร้างราวพุทธศตวรรษที่ 22 และ กำแพงชั้นในซึ่งเป็นกำแพงแต่เดิมสมัยสร้างเวียง โดยประตูเมืองในปัจจุบันจะเป็นประตูเมืองของกำแพงชั้นในซึ่งมีประตูทั้งหมด 5 ประตู ได้แก่

ประตูช้างเผือก

เดิมมีชื่อว่า ประตูหัวเวียง เป็นประตูชั้นในด้านทิศเหนือ เปลี่ยนชื่อในรัชสมัยของพระเจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 1 เนื่องจากได้ทรงโปรดให้สร้างอนุสาวรีย์รูปช้างเผือกขึ้น


ประตูเชียงใหม่

เดิมมีชื่อว่า ประตูท้ายเวียง เป็นประตูชั้นในด้านทิศใต้

ประตูท่าแพ

เดิมมีชื่อว่า ประตูเชียงเรือก เป็นประตูชั้นในด้านทิศตะวันออก ที่มาของชื่อเนื่องจากประตูด้านนี้เป็นประตูที่จะไปยังท่าน้ำของแม่น้ำปิง ซึ่งมีแพจำนวนมากอยู่

ประตูสวนดอก

เป็นประตูชั้นในด้านทิศตะวันตก ที่มาของชื่อเนื่องจากบริเวณนั้นเป็นเป็นที่ตั้งของพระราชอุทยานของพญาเม็งราย


ประตูแสนปุง

หรือ ประตูสวนปรุง เป็นประตูที่เจาะกำแพงชั้นในด้านใต้สร้างขึ้นใหม่ในรัชสมัย พญาสามฝั่งแกน เนื่องจากในรัชสมัยของพระองค์ได้สร้างเจดีย์ราชกุฏคารขึ้น ดังนั้น เพื่อความสะดวกแก่พระราชชนนีที่โปรดประทับอยู่ที่ตำหนักนอกกำแพงเมืองด้านทิศใต้จะได้ทรงสะดวกในการเสด็จมาสักการะพระเจดีย์ จึงทรงโปรดให้เจาะกำแพงเมืองด้านนั้น และตั้งชื่อว่า ประตูสวนแร ต่อมาเนื่องจากบริเวณนั้นเป็นที่ใช้ประหารนักโทษ ใช้หอกหลาวทิ่มแทงปุง (พุง) ชาวบ้านจึงเรียกว่าประตูสวนปุง หรือ ประตูแสนปุง นับแต่อดีต เชียงใหม่มีประเพณีที่ว่าหากมีการเสียชีวิตภายในเขตกำแพงเมืองเชียงใหม่ จะต้องนำศพออกจากตัวเมืองผ่านทางประตูนี้เท่านั้น ซึ่งก็ยังยึดถือประเพณีนี้อยู่จนถึงปัจจุบัน

สำหรับประตูของกำแพงเมืองชั้นนอก มีทั้งหมด 7 ประตู 4 ประตูแรกเป็นประตูเดิมที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 22 ได้แก่ ประตูเชียงเรือก (เชียงเลือก) หรือประตูท่าแพ (ชั้นนอก) อยู่ทางทิศตะวันออก ประตูหล่ายแกง ประตูขัวก้อม และประตูไร่ยา (ประตูหายยา)

ส่วนอีก 3 ประตูที่สร้างเพิ่มในรัชสมัย พระเจ้าช้างเผือกธรรมลังกา เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 2 ก็มีประตูศรีภูมิ ประตูช้างม่อย และประตูกะโหล้ง

อ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้วก็พอจะทำให้ทราบถึงที่มาที่ไปกันครับ ว่าแต่ละที่มีความเป็นมากันยังไง แต่ก็ยังไม่หายสงสัยกันอยู่ดีว่าทิศทางของประตูรอบเมือง และเพื่อความชัดเจน ผมก็จะลงแผนที่ให้ดูเอาไปประกอบล่ะกันนะครับ

สุดท้ายที่อยากจะฝาก ก็ไม่มีอะไรมาไปกว่าการ ขอให้โชคดี อย่าหลงทางกับประตูเมืองเชียงใหม่เวลามาเที่ยวนะครับ

Relate Posts :