ถ้าพูดถึงดินแดนล้านนา กลุ่มชาติพันธุ์ไทอาศัยอยู่ก็มีกันอย่างหลากหลาย หลักๆก็จะมีกลุ่มไทยวนหรือคนเมือง กลุ่มไทลื้อ กลุ่มไทใหญ่ และกลุ่มไทเขิน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่ไม่ใช่กลุ่มคนไทอาศัยร่วมอยู่ด้วย ฉนั้นไปดูกันว่าแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์มีที่มาที่ไปกันอย่างไรบ้างครับ
ไทยวน หรือคนเมือง คือกลุ่มคนกลุ่มใหญ่ที่อาศัยอยู่บริเวณภาคเหนือของประเทศไทย มักตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำไหลผ่านระหว่างหุบเขา เช่น ลุ่มแม่น้ำปิงเป็นที่ตั้งของเมืองเชียงใหม่และลำพูน ลุ่มแม่น้ำวังเป็นที่ตั้งของเมืองลำปาง ลุ่มน้ำยมเป็นที่ตั้งของเมืองแพร่ และลุ่มแม่น้ำน่านเป็นที่ตั้งของเมืองน่าน เป็นต้น ชาวไทยวนประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักตามภูมิประเทศที่อาศัยที่ตั้งถิ่นฐาน
ชาวไทลื้อ ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณตอนใต้ของจีน มีเมืองเชียงรุ่ง ในเขตสิบสองปันนา มณฑลยูนาน เป็นศูนย์กลาง ชาวไทลื้อจึงมีประวัติศาสตร์ร่วมกับจีนมาเป็นเวลายาวนาน ในช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมามีกลุ่มชาวไทลื้อบางส่วนได้อพยพและถูกกวาดต้อนลงมาอยู่ทางตอนเหนือของพม่า ตอนเหนือของลาว ตอนเหนือของเวียดนาม และทางตอนเหนือของประเทศไทย ในบริเวณจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ และน่าน เมื่อย้ายมาตั้งถิ่นฐานตามที่ต่างๆ แล้ว ชาวไทลื้อก็มีการปรับตัวเข้ากับท้องถิ่นได้อย่างกลมกลืน
ไทเขิน หรือ ไทขึน เป็นชนชาติหนึ่งที่เรียกตนเองตามพื้นที่อยู่อาศัยในลุ่มแม่น้ำ “ขึน”โดยมีเมืองเชียงตุงเป็นศูนย์กลาง เป็นเมืองในหุบเขา อยู่ทางตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน ในเขตการปกครอง สหภาพพม่า ภายหลังได้มีการกวาดต้อนชาวไทเขินบางส่วนลงมายังอำเภอเมือง และอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ว่างเว้นจึงทำงานหัตถกรรมประเภทเครื่องเงิน เครื่องเขิน และเคี่ยนไม้ (กลึงไม้)
ไทใหญ่ มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่รัฐฉาน สหภาพพม่า เรียกตัวเองว่า “คนไต” แต่ชาวล้านนาทั่วไปมักเรียกว่า “เงี้ยว” โดยเองหลวงที่ถือเป็นศูนย์กลางคือ เมืองตองจีหรือตองกี นอกจากนั้นยังมีชาวไทใหญ่ส่วนหนึ่งที่ได้อพยพมาอาศัยอยู่ในประเทศไทย เช่น จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดเชียงราย และอำเภอเชียงดาว อำเภอเวียงแหง ทางตอนเหนือของจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้ยังมีกลุ่มชาวไทยใหญ่ทีอาศัยอยู่ในทางตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลยูนานสาธารณรัฐประชาชนจีน เช่น เมืองมาว เมืองวัน เมืองหล้า เมืองขอน เป็นต้น และบางส่วนของรัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย โดยเฉพี่ตำบลช้างปานี แขวงเมืองสิพพสาครและอรุณาจลประเทศ
ลัวะ หรือ ละว้า หรือ ละเวือะ คือชนเผ่าพื้นเมืองก่อนชาติพันธุ์ไท เป็นเจ้าของพื้นที่ดั้งเดิมก่อนการสร้างชาติรัฐล้านนา ในอดีตลัวะเคยมีวิวัฒนาการที่เจริญรุ่งเรือง มีการสร้างบ้านแปลงเมือง มีระบบการปกครอง มีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตเป็นอัตลักษณ์เป็นของตนเอง เมื่อถูกชาติพันธุ์ไทรุกรานจึงถอยร่นสู่ที่ราบเชิงเขาและสันเขา ปัจจุบันตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตอนเหนือของลาว และทางภาคเหนือของประเทศไทย โดยการกระจัดกระจายอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย และน่าน
กะเหรี่ยง หรือ ปกาเกอะญอ คนล้านนามักเรียกว่า “ยาง” พม่าเรียกว่า “กะยิ่น” ฝรั่งเรียกว่า “กะเรน” กลุ่มชาติพันธุ์นี้เรียกตัวเองว่า “กะเหรี่ยง” ประกอบด้วยกะเหรี่ยงหลากหลายกลุ่ม กลุ่มใหญ่ๆ คือ ปกาเกอะญอ (สกอว์) โพล่ง (โปว์) ตองสู้ (ปะโอ) และบะแก (บะเว) แต่เดิมกะเหรี่ยงตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณต้นแม่น้ำสาละวิน สหภาพพม่า ต่อมาได้อพยพเข้ามาตามแนวตะเข็บชายแดนไทย-พม่า สู่ภาคเหนือและภาคตะวันตกของประเทศไทย ใน 15 จังหวัด เช่น เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน ตาก และกาญจนบุรี แม้กะเหรี่ยงจะได้ชื่อว่าเป็นชาวเขา แต่ก็มิได้อาศัยบนเขาสูงเสียทั้งหมด บางส่วนสร้างบ้านแปลงเรือนอาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ราบ หรือพื้นที่ราบเชิงเขา เหมือนกลุ่มชาติพันธุ์ไทอื่นๆ
ดารอั้ง หรือชาวไทใหญ่เรียก “ปะหล่อง”เป็นชนเผ่าที่มีที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บนดอยสูง กระจัดกระจายอยู่บริเวณรัฐฉาน รัฐคะฉิ่น สหภาพพม่า และมณฑล ยูนนาน ประเทศจีน แต่ด้วยภัยสงคราและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศพม่า ช่วงปี พ.ศ.2511-2527 ชาวดาราอั้งส่วนมากต้องข้ามน้ำสาละวินลัดเลาะจากเชียงตอง เมืองปั่น ในเขตเชียงตุง มายังฝั่งประเทศไทย มาอาศัยบริเวณบ้านนอแล บ้านห้วยเลี้ยม บ้านแคะนุ ซึ่งเป็นหมู่บ้านใกล้กับพื้นที่รับผิดชอบของสถานีเกษตรหลวงอ่างข่าง อำเภอฝาง และส่วนหนึ่งจัดให้อยู่ บ้านปากแดง บ้านแม่จร บ้านห้วยโป่ง อำเภอเชียงดาว บ้านห้วยหวาย บ้านห้วยทรายขาว อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ และบ้านสันต้นปุย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย