สตรีทอาร์ตเชียงใหม่ – เปิดใจหนุ่ม กราฟฟิตี้ สตรีทอาร์ต ตู้โหลดไฟ

สตรีทอาร์ตเชียงใหม่ – เปิดใจหนุ่ม กราฟฟิตี้ “สตรีทอาร์ต” เจ้าของผลงานสุดแนวตามตู้โหลดไฟกลางเมืองเชียงใหม่ จุดเด่นสะดุดตาที่นักท่องเที่ยวและวัยรุ่นพากันไปเซลฟี่ เจ้าตัวต้องการถ่ายทอดจินตนาการตามบริบทของสถานที่

เผยทุกชิ้นงานที่ทำได้รับอนุญาตจากทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หลังทำเรื่องยื่นขอมากว่า 3 ปี

คลิปสัมภาษณ์ ณัทฎ์ เด่นดวง : ศิลปิน “สตรีทอาร์ต”
สตรีทอาร์ตเชียงใหม่

วันที่ 18 ก.พ.64 รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้ภายในตัวเมืองเชียงใหม่ ที่บริเวณถนนสายท่าแพ ได้พบว่าตู้โหลดของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นศิลปะที่เรียกว่า “สตรีทอาร์ต” ซึ่งเป็นศิลปะร่วมสมัยสะดุดตาบนตู้ไฟที่ตั้งตามจุดต่าง ๆ บนถนนสายดังกล่าว

จนกลายเป็นผลงานที่ได้รับความสนใจ มีประชาชนและนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางมาถ่ายรูป แต่ก็มีหลายคนที่สงสัยอยู่ว่า

  • ผลงานดังกล่าวเกิดมาจากใคร?
  • มีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร?
  • รวมไปถึงการกระทำของงานศิลปะที่เกิดขึ้นนี้ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องให้มีการดำเนินการหรือไม่?

โดยในเวลาต่อมาทางผู้สื่อข่าวจึงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ

ซึ่งพบว่าตู้ไฟหลายตู้ตามจุดต่าง ๆ ที่บริเวณถนนสายท่าแพ ตลอดจนบริเวณลานประตูท่าแพนั้น พบว่าตู้ไฟเหล่านี้ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นงานศิลปะ “สตรีทอาร์ต” หลากสีสันสวยงาม และเป็นที่สะดุดตาของคนที่พบเห็น

โดยแต่ละจุด แต่ละตู้ก็จะมีลวดลายที่แตกต่างกันออกไป และจากการตรวจสอบข้อมูลจึงทำให้ทราบว่าผลงานเหล่านี้เป็นของ


ณัทฎ์ เด่นดวง อายุ 36 ปี ศิลปิน “สตรีทอาร์ต”

ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่มากว่า 15 ปี ที่ร่วมกับกลุ่มเพื่อนช่วยกันทำ โดยถ่ายทอดจินตนาการลงบนตู้ไฟ ที่เจ้าตัวได้ดำเนินการยื่นเรื่องขออนุญาตในการทำผลงานมากว่า 3 ปี จนกระทั่งได้รับอนุญาตจากทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคให้สามารถดำเนินการได้ และกลายมาเป็นศิลปะให้ได้เห็นกันในขณะนี้

สตรีทอาร์ตเชียงใหม่

ทั้งนี้ต่อมา ทางผู้สื่อข่าวได้ติดต่อสอบถามไปทางด้าน คุณณัทฎ์ เด่นดวง เจ้าของโปรเจ็คโครงการเปลี่ยนสีพื้นผิว ตู้โหลดของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

ซึ่งทางเจ้าตัวได้เล่าว่า ศิลปะดังกล่าวมีที่มาที่ไปจากการที่ตนเป็นคนที่ทำงานเกี่ยวกับ กราฟฟิตี้สตรีทอาร์ท อยู่แล้ว จึงเข้าใจวัฒนธรรมประมาณหนึ่งว่า หากมีโอกาสได้ไปเที่ยวเมืองไหน หรือสถานที่ต่างถิ่น คนที่เป็นกราฟฟิตี้ ก็จะมีการลงลายเซ็นไว้ตามตู้ไฟ ตู้โทรศัพท์ หรืออะไรก็ตามที่เป็นสาธารณะสมบัติ ที่บางทีคนในเมืองไม่ได้เข้าใจหรือมีความชื่นชอบในแบบเดียวกัน และเมื่อเวลาผ่านไปนานก็อาจทำให้ดูทรุดโทรม หรือดูสกปรกตามความรู้สึกของบางคน

ดังนั้นในฐานะที่ตนทำงานประเภทเดียวกันจึงอยากทำให้งานมันปรากฏออกมาเป็นงานที่สวยงามโดยการไปปิดทับงานเก่าไว้อีกรอบ แม้ว่าวันหนึ่งมันจะผ่านกาลเวลาแล้วทรุดโทรมก็ค่อยทำใหม่ ตนจึงมีแนวคิดเริ่มต้นโครงการดังกล่าวและได้ดำเนินการเข้าพูดคุยกับทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

สตรีทอาร์ตเชียงใหม่

โดยผลงานทั้งหมดที่ทำไปนั้น อาจจะไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องเป็นเอกลักษณ์ของเชียงใหม่โดยสิ้นเชิง ซึ่งตนรู้สึกว่าคนเชียงใหม่อาจจะไม่ได้ต้องการความเป็นเชียงใหม่ไปเสียทั้งหมด ซึ่งบางชิ้นงานที่ทำไว้ก็มีการนำลวดลายล้านนามาใช้ และ

ทำให้รู้สึกว่าเป็นตัวงานที่มีความสวยงาม และสามารถอยู่กับชุมชนได้โดยที่คนที่อยู่ในชุมชนรู้สึกดีกับมัน และอยากรักษามันไว้

โดยงานของตนก็จะมีงานแนว ป๊อปอาร์ท หรือสิ่งที่คุ้นตาแต่ไม่ได้สนใจนำมาใส่ลงในพื้นที่ตรงนั้น อย่างเช่น โซนที่เป็นลายผ้าลีซอ หรือเป็นลายหมอนขิด เนื่องจากบริเวณดังกล่าวก็เป็นถนนที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านไปมาเยอะ และมีการขายผ้าพื้นเมืองตนจึงหยิบตรงจุดนี้มาเพื่อให้เป็นจุดสังเกตเห็นว่าบริเวณโซนดังกล่าวมีจุดเด่นอะไร และอย่างเช่นโซนที่เป็นงาน ป๊อปอาร์ท ก็อาจเป็นงานที่ต้องการให้รู้สึกว่ามีความสดใสเป็นสีสัน และเป็นการประชาสัมพันธ์องค์กรไปในตัวด้วย


สำหรับผลงานที่ดำเนินการทำไปแล้วนั้นประกอบด้วย

ตู้โหลดใหญ่ตรงบริเวณประตูท่าแพ 2 ตู้ ที่อยู่ฝั่งซ้ายและขวาของประตู ส่วนตู้เล็กมีทั้งหมด 19 ตู้ ตั้งแต่บริเวณลงสะพานนวรัฐมาจนถึงข่วงประตูท่าแพ รวม 21 ตู้

โดยในส่วนของโปรเจ็คที่จะทำต่อหลังจากนี้ก็จะเป็นไปตามไตรมาสของปีงบประมาณ และตามความเหมาะสมที่ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องทำ

โดยหากมีโปรเจ็คเข้ามาทางตนและทีมงานก็จะมาออกแบบว่าแต่ละจุดควรจะเป็นแบบไหน เนื่องจากแต่ละงานต้องดูบริบทของสถานที่นั้น ๆ ด้วย ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่จะต้องพูดคุยกันกับทางเจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคตลอด

สตรีทอาร์ตเชียงใหม่

ซึ่งแต่ละตู้นั้นก็จะใช้เวลาไม่เท่ากัน ประกอบกับเสน่ห์ของการเป็น “สตรีทอาร์ต” นั้นอยู่ที่ความรวดเร็ว ซึ่งอาจจะทำเสร็จภายในเวลา 2 วัน หากเป็นตู้โหลดใหญ่ ส่วนตู้โหลดเล็กก็จะนับเป็นชั่วโมง แต่โดยส่วนตัวตนก็ไม่ได้อยากให้งานรีบเร่ง และอยากให้งานออกมาดี จึงต้องให้เวลากับแต่ละชิ้นงาน

คุณณัทฎ์ บอกอีกว่า อย่างไรก็ตามในส่วนของฟีดแบค เกี่ยวกับผลงานของตัวเองที่ทำไปนั้น หากเกี่ยวกับการทำงานหรือการพูดคุยทั่วไปก็ได้รับฟีดแบคกลับมาในแง่ที่ดีโดยส่วนใหญ่

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นตนก็เชื่อว่าทุกอย่างมักมี 2 ด้าน

ทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ ซึ่งบางคนอาจจะมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้มันใหม่ไป หรือบางคนอาจจะได้ตัวงานเก่าๆ แต่ตนก็แค่อยากให้ลองเปิดใจดู ซึ่งสิ่งที่ตนทำก็พยายามทำให้เข้ากับบริบทของสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากวันหนึ่งมันยังอยู่ได้ก็แปลว่าผลตอบรับก็น่าจะมาในด้านบวกมากกว่าสำหรับตน

สตรีทอาร์ตเชียงใหม่

นอกจากข่าว สตรีทอาร์ตเชียงใหม่ แล้ว ยังมีข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกเพียบ

Relate Posts :