บ่ายแก่ ๆ บนถนนเจริญราษฎร์ ตั้งแต่ช่วงแยกสะพานนวรัฐ ไล่ยาวมาจนถึงแยกสะพานนครพิงค์ ภาพผู้คนและรถราสัญจรผ่านไปผ่านมา รวมทั้งร้านค้า ร้านอาหาร ร้านกาแฟ แกลเลอรี ที่พักอาศัย อาคารบ้านเรือน ชุมชน ที่ผสมผสานกันระหว่างสถาปัตยกรรมจีนและพื้นถิ่นล้านนามีอายุมากกว่า 100 ปี รวมทั้งอาคารสถาปัตยกรรมร่วมสมัยที่ผ่านการบูรณาการแต่ยังคงรักษาไว้ซึ่งความเป็นดั้งเดิม กลางวัน กลางคืน สลับสับเปลี่ยนบทบาท ที่ดูมีชีวิตชีวา ประหนึ่งว่าถนนสายนี้คือเส้นเลือดใหญ่ ที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนในชุมชน รวมทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางสัญจรผ่านมาหรือที่พำนักอาศัยในเมืองเชียงใหม่ เหล่านี้อาจดูเป็นภาพที่คุ้นตาสำหรับคนเชียงใหม่และคนในพื้นที่
วันนี้ Review Chiangmai มีโอกาสได้ไปสัมภาษณ์ร้านขายของกิน ของใช้ หรือ ร้านขายของชำในชุมชมย่านวัดเกตการาม เสียงกระดิ่ง นิ๊งหน่อง อาจเป็นเสียงคุ้นหูเมื่อเราเดินผ่านประตูเข้าร้านสะดวกซื้อ ยุคสมัยที่ผันเปลี่ยน หลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นในย่านนี้ ย่อมมี คงอยู่ เปลี่ยนแปลง หายไปและถูกลืมในที่สุด กลายๆว่าเป็นสิ่งธรรมดา ที่คล้ายกับภาพคุ้นตาหรืออย่างไร ?
พี่เกษรและคู่ชีวิต พยุงลูกน้อยวัยเจ็ดเดือน เพื่อหวังมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่นี่ ร้านขายของชำ 2 ชั้น 3 คูหา ตัวบ้านบอกอายุว่าผ่านมาหลายสิบหลายร้อยปี ตกทอดกันมาสู่รุ่นลูก รุ่นหลาน สินค้าในร้านเป็นพวกของใช้ต่าง ๆ ทั้งอาหารแห้ง จำหน่ายแก่ผู้คนในชุมชนย่านนี้มาจนถึงปัจจุบัน
“ตอนพ.ศ. 2534 เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน พี่กับแฟนมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่นี่ และโชคดีได้เจอคนใจดีคือเจ้าของบ้านหลังนี้ เขาให้เช่าบ้านนี้ในราคาที่ถูกมาก คล้ายๆว่าให้พี่ช่วยดูแลบ้านไปด้วย เดิมบ้านหลังนี้เป็นร้านขายยาที่สืบทอดกันมา เจ้าของเขาเลิกกิจการย้ายไปอยู่ที่อื่น พี่ก็เลยเปิดร้านขายของชำ ก็ขายให้คนในชุมชนนี้ล่ะ”
ตั้งแต่เริ่มต้นมาจนถึงปัจจุบัน มีปัญหาหรือสถานการณ์ใดบ้างที่อาจทำให้รู้สึกท้อหรือเดินหน้าต่อไปไม่ไหว
“เมื่อก่อนที่พี่มาอยู่ในย่านนี้ จะมีร้านของชำอยู่ 3 ร้าน รวมร้านพี่ด้วย แต่สองร้านนั้นเขาย้ายไปกันหมด ตอนนี้แถวนี้ก็เหลือพี่อยู่ร้านเดียว ส่วนปัญหาที่เจอก็มีบ้าง ก่อนหน้านี้มีร้านสะดวกซื้อ 24 ชม. ตั้งอยู่ในย่านเดียวกัน ห่างกันแค่ 300 เมตร ในด้านการขาย เราสู้เขาไม่ได้หรอก ใจมันก็ลุ่ม ๆ ดอน ๆ นะ เขาเปิด 24 ชม. ส่วนเราเปิดตั้งแต่ 9 โมง สามสี่ทุ่มก็ปิดแล้ว แต่จะให้เราทำอะไรได้ ก็ดำเนินกิจการของเราต่อไป เราทำกันเองสองสามี – ภรรยา ไม่มีลูกจ้าง เลยรู้สึกว่าไม่เดือดร้อนมากนัก รายได้ก็พอมี พอกิน เลี้ยงลูกสองคน”
แล้วกลุ่มลูกค้าส่วนมากมาจากไหน ?
“กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นคนในย่านนี้แหละ รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ผ่านไปมา ส่วนมากเขาชอบนะ เขาบอกว่ามันคลาสสิก อย่างช่วงนี้อากาศร้อน พวกเครื่องดื่มจะขายดีเป็นพิเศษ”
ประเภทของที่ขายในร้าน ?
“ตามที่เห็นเลย หลัก ๆ จะเป็นของใช้ในครัวเรือน สบู่ ยาสีฟัน ข้าวสาร อาหารแห้ง มาม่า ปลากระป๋อง ของส่วนมากพี่ไม่ได้เก็บตุนสินค้านะ คือคอยเช็ควันหมดอายุ เราขายออกไม่ทัน เลยลงของทีละไม่มาก หมดแล้วค่อยเติม”
แน่นอนว่าวันนี้หรือวันหน้าย่อมต้องมีการแข่งขันเกิดขึ้น พี่เตรียมแผนการรับมืออะไรไว้บ้าง ? จะยังคงรักษากิจการนี้ไว้หรือไม่ ?
“พี่ก็ไม่รู้นะ แต่ก็จะทำมันให้เต็มที่นั่นล่ะ ทำมันต่อไปนะ ทำจนรู้สึกว่าไม่ไหวจริง ๆ พี่อยู่กับมันมายี่สิบกว่าปีแล้ว จะให้ไปทำอย่างอื่นก็ไม่ถนัด ทั้งประสบการณ์ ความสามารถและความรู้ก็น้อย ตอนนี้พี่ก็พยุงร้านไป โชคดีที่ค่าเช่าไม่แพง ส่วนกำไรก็ไม่มากหรอก น้ำดื่มขวดหนึ่งกำไรบาทสองบาท แต่ก็พออยู่ได้ ตอนนี้ลูกคนโตทำงานแล้ว ส่วนคนเล็กเรียนอยู่ ม.5 พี่ก็ไม่รู้ว่าอนาคตเขาอยากจะสืบทอดกิจการนี้หรือเปล่า ก็แล้วแต่เขา ว่าอยากจะทำอะไร ส่วนวันข้างหน้า หากว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น พี่ก็จะค่อย ๆ ปรับวิธีการเอา เช่นประเภทพวกสินค้าหรือบรรยากาศในร้าน ส่วนตัวอาคารนั้นพี่ก็ยังคงรักษาไว้แบบเดิม”
หลายสิ่ง หลายอย่าง คงอยู่ เกิดขึ้น หายไป เวียนมา ซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า ภาพในย่านชุมชนตึกเก่าแห่งนี้ ซึ่งดูเป็นภาพที่คุ้นตา คล้ายภาพยนตร์ที่ฉายซ้ำ ๆ แต่ชีวิตจริง ในหลาย ๆ อย่าง เราไม่สามารถที่จะกรอกลับไปได้ จึงต้องเดินต่อไปข้างหน้า
และไม่ว่าสภาพสังคม การแข่งขันทางการค้า การพัฒนา เติบโตของโลกจะเปลี่ยนไปในทิศทางใด แต่หัวใจดวงนี้ยังคงอยู่ ณ ที่แห่งนี้ ที่ ๆ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความรัก การเห็นอกเห็นใจ ช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนในชุมชนย่านวัดเกตการาม จากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน ภาพที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เราจะจดจำหรือลืมมันไปนั้นอยู่ที่ตัวเรา ส่วนภาพที่ยังคงมีอยู่ เราจะรักษามันไว้ดูกันนาน ๆ หรือไม่ ก็ล้วนอยู่ที่ตัวเราเองเช่นกัน
ในส่วนตัวผม ร้านของชำมักทำให้นึกถึงภาพวัยเด็ก ภาพเด็กชายตัวเล็กถือเงินบาทสองบาทวิ่งเข้าไปซื้อขนม ลูกอม ของเล่น และอื่น ๆ มากมายหลายอย่างภายในร้าน ที่เหมือนร้านสะดวกซื้อในยุคนั้น ร้านขายของชำที่ยังคงหลงเหลือในปัจจุบัน ก็ต้องปรับกลยุทธ์ ปรับตัวสินค้าไปตามความต้องการของผู้บริโภค ถึงแม้ว่าจะไม่สะดวกสบาย ไม่เพียบพร้อมเท่ากับร้านสะดวกซื้อสมัยใหม่ก็ตาม แม้ว่าปัจจุบันหลายร้านจะเลือนหายเลิกกิจการไป ที่ยังคงมีอยู่ก็จะเห็น คนสูงวัย อาอึ้ม อาม่า อาเจ๊ก ดูแลกิจการ ส่วนลูกหลานก็เลือกไปทำอย่างอื่น สิ่งเหล่านี้คล้ายว่าได้เคยอยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนาน แล้วความทรงจำล่ะ จะเลือนหายไปพร้อมกับกาลเวลาไหม ?
เรื่องและรูปโดย Pornthep Chitphong