วันอังคารที่ 16 มีนาคม 2564 รศ.ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และ คุณสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการเครือ CP-CPF เป็นผู้แทนลงนามความร่วมมือทางวิชาการและความร่วมมือพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากพืชกัญชง ระหว่าง เครือ CP-CPF และ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยได้รับเกียรติจาก ท่านประธานอาวุโสธนินท์ เจียรวนนท์ เป็นประธานและสักขีพยานในพิธี ทั้งนี้มีคณะผู้บริหาร ของทั้งสองหน่วยงาน เข้าร่วมงาน ณ อาคาร ซี.พี.ทาวเวอร์ ถ.สีลม กรุงเทพฯ
การลงนามความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และ เครือ CP-CPF จะร่วมมือกันวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อให้ได้มาซึ่งสารสกัดกัญชงอันเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้บริโภค และนำมาเป็นส่วนประกอบของอาหารที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงต้นทาง ทั้งสายพันธุ์ แหล่งเพาะปลูก และวิธีการปลูก ตอบโจทย์อาหารปลอดภัยสู่
“ครัวของโลก”
ได้อย่างยั่งยืน โดยจะทำการวิจัยระบบมาตรฐานในการเพาะปลูก รวมถึงแนวทางการบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่คุณค่า ซึ่งสอดคล้องตามนโยบายภาครัฐที่ต้องการส่งเสริมให้กัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจ ช่วยเพิ่มรายได้และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้เกษตรกร ตลอดจนสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้ประชาชน
รศ.ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า “ความร่วมมือวิจัยพัฒนาที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งในวงการการศึกษาของไทย ด้วยองค์ความรู้ ความชำนาญของมหาวิทยาแม่โจ้ และความพร้อมของเครือ CP-CPF ที่มีหน่วยงานด้านพืชครบวงจรเข้ามาร่วมกันพัฒนา ขณะเดียวกันก็มีหน่วยงาน RD Center ของ CPF ที่มีความพร้อมในการวิจัยพัฒนาอาหาร ช่วยต่อยอดห่วงโซ่คุณค่าให้ครบถ้วน อันจะเป็นส่วนสำคัญในการรองรับผลผลิตของเกษตรกรด้วย ซึ่งมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกัญชงและกัญชา มาตั้งแต่ปี 2554 มีความเชี่ยวชาญในการปลูกในระบบอินทรีย์ ปัจจุบันงานวิจัยพัฒนาพืชกัญชงและกัญชากำลังเป็นที่สนใจอย่างมาก แต่ไม่มีความร่วมมือใดที่จะครบถ้วนรอบด้านและมีความพร้อมเท่ากับความร่วมมือครั้งนี้ ผมมั่นใจว่าเราจะค้นพบสายพันธุ์ที่ดี มีเทคนิควิธีการปลูกที่ดี และใช้ประโยชน์จากพืชกัญชงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนตอบสนองการผลิตในอุตสาหกรรมอาหารได้อย่างเพียงพอ สร้างประโยชน์ต่อเกษตรกร ต่อผู้บริโภค และต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ”
ด้าน CEO คุณประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ กล่าวว่า “การวิจัยพัฒนาพืชกัญชงเป็นเรื่องท้าทาย ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายและปลอดภัยต่อผู้บริโภค เมื่อได้ร่วมมือกับ ม.แม่โจ้ ซึ่งมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ เชื่อว่าจะสามารถผลิตพืชกัญชงคุณภาพ ในปริมาณที่มากพอสำหรับการผลิตอาหารของ CPF โดยอาหารสำเร็จรูปที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากกัญชงซึ่งเป็นสารที่ดีต่อสุขภาพจะออกสู่ตลาดได้ภายในปีนี้ ขึ้นอยู่กับการประกาศของภาครัฐ”
พืชกัญชง
ทั้งนี้ พืชกัญชง เป็นพืชที่มีคุณค่าของสารสำคัญมากมาย อาทิ CBD ที่งานวิจัยในต่างประเทศพบว่า มีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายด้าน ทั้งระบบประสาทและสมอง ระบบหัวใจ นอกจากนี้ ยังมีสารกลุ่มเทอร์ปีนที่ช่วยผ่อนคลาย และสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ส่วนเมล็ดของพืชกัญชง มีคุณค่าทางโภชนาการสูงมาก เป็นแหล่งโปรตีนที่มีกรดอะมิโนจำเป็นต่อร่างกายครบถ้วน รวมถึง มีไขมันโอเมก้า 3,6,9 ซึ่งดีต่อร่างกาย นอกจากนี้กากเมล็ดกัญชงยังนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ได้อีกด้วย แต่เนื่องจากว่ากัญชงเป็นพืชที่ดูดซึมสารอาหารจากดินได้ทั้งหมด ดังนั้นการควบคุม และระบบการจัดการเป็นเรื่องสำคัญ นอกเหนือจากสายพันธุ์ที่ต้องวิจัยและพัฒนามาอย่างดีเช่นกัน ทั้งนี้ เพื่อให้ได้กัญชงที่ปลอดภัยที่สุด
ความร่วมมือในการวิจัยพัฒนากัญชง
อย่างครบวงจรตั้งแต่สายพันธุ์ การเพาะปลูก ไปจนถึงการแปรรูปเป็นอาหารในครั้งนี้ จะสร้างประโยชน์ให้เกษตรกรมีสายพันธุ์และเทคนิควิธีดูแลพืชอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการในวิถีอินทรีย์ และนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นอาหารสำเร็จรูป จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อห่วงโซ่การผลิตทั้งระบบเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารของประเทศ ตอบโจทย์อาหารสุขภาพ ตอกย้ำวิสัยทัศน์ “ครัวของโลก” ได้อีกทางหนึ่ง
ขอบคุณ ข้อมูล/ภาพ : CPFGroup
ฝ่ายสื่อสารองค์กร ม.แม่โจ้ / รายงาน