แม้ว่าหน้าหนังทั้งโปสเตอร์และตัวอย่างหนังจะฉาบให้คนเข้าใจว่านี่คือ ‘หนังเกย์’ หรือหนังเพศทางเลือก แต่ พี่ชาย My Hero เป็นหนังที่เล่าเรื่องของ ‘ลูกผู้ชาย’ แบบแมน ๆ เลยทีเดียว
พี่ชาย My Hero หรือชื่อภาษาอังกฤษคือ How to Win at Checkers (Every Time) คือหนังที่ถูกคัดเลือกฉายในเทศกาลหนังเบอร์ลิน และได้รับคำชมอย่างล้นหลาม เพราะมันเป็นหนังเกย์อย่างนั้นหรือ…เกรงว่าคงจะไม่ใช่ เราสามารถพูดถึงหนังเรื่องนี้ได้มากกว่าประเด็นเกย์ทั่วไป จะมองว่าเป็นหนัง Coming Of Age หรือเป็นหนังที่ขบประเด็นสังคมไทยก็ย่อมได้ ซึ่งเสน่ห์ของหนังเรื่องนี้คือการถ่ายทอดทุกประเด็นที่กล่าวมาด้วยความเรียบง่าย แต่กินใจและซึมลึกอย่างร้ายกาจ
ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากการผนวก 2 เรื่องสั้นคือ At the Café Lovely และ Draft Day จากหนังสือเรื่อง Sightseeing ของนักเขียนเชื้อชาติไทย – อเมริกัน รัฐวุฒิ ลาภเจริญทรัพย์ ซึ่งเนื้อหาเดิมไม่มีตัวละครที่เป็นเกย์เลยสักคน ผ่านฝีมือการกำกับครั้งแรกของ จอช คิม ผู้กำกับชาวเกาหลี เล่าเรื่องของ 2 พี่น้องกำพร้าพ่อแม่ เอก (ถิร ชุติกุล) และโอ๊ต (อิงครัต ดำรงค์ศักดิ์กุล) ที่ผูกพันกันมาก จนวันหนึ่งที่เอกต้องเข้ารับคัดเลือกการเกณฑ์ทหารประจำปี โอ๊ตจึงพยายามทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้พี่ชายได้เป็นทหารเกณฑ์ นำไปสู่เหตุการณ์พลิกผันที่ทำให้ชีวิตของทั้งคู่ต้องเปลี่ยนไป
เรื่องราวทั้งหมดเล่าผ่านสายตาของน้องชายที่โตเป็นหนุ่ม (โทนี่ รากแก่น) ย้อนอดีตไปถึงความทรงจำของเขาที่มีต่อพี่ชาย หนังวางตัวละครพี่ชายให้เป็นเกย์บ้าน ๆ ดูแมน ๆ ซึ่งก็คือเกย์ปกติที่ไม่แสดงออกที่เห็นได้ตามทั่วไปในสังคมไทย แต่พบเห็นได้ยากในสื่อบันเทิงไทย พี่ชายมีแฟนเป็นเกย์ผิวขาวฐานะดีชื่อไจ๋ (อาเธอร์ นวรัตน์) แม้ว่าทั้งคู่แตกต่างกัน แต่ก็ไม่ได้เป็นความรักที่ดราม่าแบบเรื่องเล่าใน Club Friday ใครที่หวังว่าจะเสียน้ำตากับฉากเกย์พ่อแม่ไม่ยอมรับ รักต้องห้าม กะเทยโดนผู้ชายหลอก หรือขนบเดิม ๆ แบบนั้น หนังเรื่องนี้ไม่มีให้เห็น หนังบอกแค่ว่าทั้งคู่รักกันมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม แน่นอนว่าน้องชายรับรู้ว่าพี่ชายเป็นเกย์ เช่นเดียวกับคุณป้าที่ดูแลอุปการะดูแลทั้ง 2 พี่น้อง แต่ไม่มีตัวละครใดในเรื่องมีท่าทีว่ารังเกียจเพศที่สามหรือตัวละครที่เป็นเกย์เลยแม้แต่น้อย
ความคมคายที่ไม่ได้ตั้งใจอยู่ตรงที่ฉากของเรื่อง คือสังคมชานเมืองที่เข้าใจความซับซ้อนของเพศที่สามน้อยมากกว่าสังคมเมือง แต่ทั้งละครไทยและภาพยนตร์ไทยมักจะเล่าให้คนเข้าใจว่าการเป็นเกย์แมน ๆ ไม่แสดงออกในเมืองใหญ่เป็นเรื่องที่ ‘รับไม่ได้’ แต่การเป็นตุ๊ดเป็นแต๋วเป็นเกย์ออกสาว กรี๊ดกร๊าดเป็นตัวตลก ‘เป็นเรื่องเข้าใจได้’ โดยหนังได้เพิ่มมิติของเพศที่สามในตัวละครที่ชื่อคิตตี้ (ณัฐรัฐ เลขา) เธอเป็นสาวดุ้น (ความหมายตามตัว) เธอใส่ชุดว่ายน้ำโดยไม่แต๊บ แต่เธอก็ได้กินหนุ่ม ๆ ในแถบนั้นแทบทั้งหมด (ทั้งโดนกินและเป็นผู้กินเอง) และเธอไม่ใช่ตัวละครที่กรี๊ดกร๊าด หรือโดนแสดงท่าทีรังเกียจเดียดฉันท์ เธอเป็นแค่คนหนึ่งในสังคมที่ดิ้นรนเพื่อปากท้องตามปกติเหมือนเรา ๆ เพียงแต่อยู่ในเพศภาพแบบนั้นเท่านั้นเอง
ถึงได้บอกว่าความเป็นเกย์ของหนังเรื่องนี้เล่าออกมาแบบเรียบง่าย ไม่ฟูมฟาย ไม่ดราม่า แต่เป็นมิติของเกย์ที่มีอยู่ในสังคมจริง เป็นตัวละครที่มีลมหายใจและจับต้องได้จริง นี่คือสิ่งที่ทำให้หนังเกย์เรื่องนี้แตกต่างจากหนังเกย์ไทยทั่วไปที่เคยมีมา
ในเมื่อหนังแทบจะไม่ได้แตะประเด็นของเกย์ สิ่งที่หนังเล่ากลับเป็นเรื่องของขนบ ‘ลูกผู้ชาย’ ในสังคมไทย ทั้งเรื่องการรับผิดชอบต่อครอบครัว (บทบาทของผู้ชาย) การไปเป็นทหารรับใช้ชาติ (หน้าที่ของผู้ชาย) ซึ่งในหนังก็ต่อประเด็นเรื่องลูกผู้ชายผ่านตัวละครเกย์แมน ๆ ที่แบกรับทั้ง 2 อย่างไว้ด้วยตัวคนเดียว
อย่างหน้าที่ต่อครอบครัวที่ต้องดูแลน้องชาย นั่นคือการทำหน้าที่พี่ชายที่ดี ทางตรงคือการเลี้ยงดูน้องชาย รับผิดชอบแทนน้องชาย สอนน้องชายให้ดำรงชีวิตได้ด้วยตัวเอง ทางอ้อมคือเป็นตัวอย่างให้น้องชายได้เรียนรู้การเอาตัวรอดในสังคม ส่วนหน้าที่ของลูกผู้ชาย เขาก็ไปทำการคัดเลือกรับใช้ชาติโดยไม่มีการตุกติก ไม่เหมือนผู้ชายที่ทำตัวนักเลงแต่กลับเลี่ยงหน้าที่ของลูกผู้ชายไทย จนทำให้อดนึกถึงข่าวเรื่องดาราชายเกณฑ์ทหารในบ้านเราไม่ได้ ซึ่งในหนังก็ย้ำหนักย้ำหนาว่าหน้าที่ของผู้ชายไทยคือการรับใช้ชาติศาสนา พระมหากษัตริย์ จงภูมิใจเถิดหากได้ทำหน้าที่นี้
แม้กระทั่งตัวละครที่ไม่แมนอย่างคิตตี้เองเธอก็แมนพอที่จะไปคัดเลือกการรับใช้ชาติแบบมั่นใจ หรือช่วยเด็กให้พ้นจากการโดนนักเลงรังแก ถึงบอกว่าเกย์ในหนังเรื่องนี้แมนกว่าที่คิด
แต่ก็ใช่ว่าเกย์ทุกคนในเรื่องจะแมนไปหมด ก็มีบ้างที่ไม่แมน แต่ตลกตรงที่คนที่ไม่แมนกลับเป็นคนที่มีฐานะทางสังคมดีกว่าคนอื่น ๆ ในเรื่อง เหมือนกับหนังพยายามบอกว่าในระดับของคนในสังคมก็บ่งบอกถึงความแมนได้เช่นกัน และก็เป็นคนที่ปากกัดตีนถีบ ดิ้นรนให้ตัวเองมีชีวิตรอด ที่แมนพอจะเคารพกฎ กติกา ไม่ทำอะไรที่ฉ้อฉล แม้ว่าชีวิตของเขาจะมีทางเลือกไม่มากนักก็ตาม
สุดท้ายแล้ว ‘ลูกผู้ชาย’ ที่แท้จริง กลับกลายเป็นคนชายขอบอย่างกลุ่มคนเพศที่สามที่อยู่ในเงามืดของสังคม ซึ่งเขาก็เป็น ‘ลูกผู้ชาย’ โดยสมบูรณ์ทั้งทางพฤตินัยและนิตินัย เพียงแค่รสนิยมทางเพศเท่านั้นที่ไม่ใช่ แต่นั่นกลับทำให้เขาดูเป็น ‘ลูกผู้ชาย’ ที่โครตจะแมนมากกว่าผู้ชายจริง ๆ บางคนเสียอีก
เช็ครอบฉายภาพยนตร์ได้ที่ : MajorCineplex
ที่มา : Oceansevenseas