info. ถนนเชียงใหม่-เชียงราย อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่
ห้วยฮ่องไคร้สมัยก่อน คือผืนป่าที่แห้งแล้ง เป็นป่าประเภทป่าเต็งรังที่ขาดความชุ่มชื้น ก่อนในหลวงของเราจะมาโมดิฟายอัพเกรดใหม่ให้เป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการศึกษา ทดลอง ที่เหมาะสมกับพื้นที่ภาคเหนือ และเผยแพร่แก่ราษฎรให้สามารถนำไปปฏิบัติได้ด้วยตัวเอง ที่ทำให้มันเปรียบเสมือนในนาม “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต”
เป็นอีกครั้งที่ชีพจรลงเท้า มาแอ่วที่นี้ โดยมีพี่วิทยากรเสียงดี ไอ้หนุ่มจากเมืองกระบี่เป็นคนมอบสาระความรู้ระหว่างการเดินดูศึกษาธรรมชาติในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้
ก่อนจะไปลุยของจริงในป่า พี่แกบอกด้วยสำเนียงคนใต้ที่มาใช้ชีวิตบนเหนือว่า “ไปชมวิดีทัศน์ก่อนนะครับ”
ปรากฏว่า ชมไปได้ 5 นาที ไอ้ผมก็ไปเฝ้าพระอินทร์กันซะแล้ว ก็แหม บ่ายๆ มาทานไรอิ่มๆ หนังท้องตึง หนังตาหย่อน การจะสู้รบปรบมือกับความง่วงในช่วงนั้นช่างเป็นอะไรที่ทรมานเสียจริงๆ
ผวาตัวอีกที พี่แกก็พร้อมพาคณะสื่อไปเยี่ยมชมเส้นทางศึกษาธรรมชาติกันได้แล้ว อ้าวไปกานนนนน
ระหว่างทางไปสภาพป่าเป็นป่าเต็งรังสลับกับป่าเบญจพรรณ ในส่วนของป่าเต็งรังจะมีการเอากระถินยักษ์มาปลูกไว้เยอะเพราะกระถินยักษ์เป็นพืชในตระกูลถั่วที่มีไนโตรเจนสูง โตเร็ว ทนแล้งได้ดี แถมยังเป็นปุ๋ยพืชสดชั้นยอดอีกต่างหาก ฉะนั้นมันจะเป็นคีย์แมนสำคัญในการช่วยให้ผืนป่าในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ มีจำนวนมากขึ้น จากแต่ก่อนไม่ใช่พืชประจำถิ่นที่นี้ แต่เดี๋ยวนี้กระถินยักษ์เขาคุมหมดแล้ว
ตลอดเส้นทางศึกษา วิทยากรหนุ่มเสียงดีก็บรรยายมาแบบจัดเต็ม ออกลีลาอย่างไม่น่าเบื่อ ประหนึ่งเหมือนกำลังดูแกเดี่ยวไมโครโฟนยังไงยังงั้น แกเล่าให้ฟังไปตามทางว่าที่ห้วยฮ่องไคร้มันอุดมสมบูรณ์ขึ้นหายแห้งแล้งก็เพราะระบบท่อส่งน้ำที่ระบายน้ำลงสู่ลำห้วยให้กับฝายเก็บกักน้ำต่างๆ ในระบบไส้ไก่และระบบก้างปลาไว้ (จินตนาการไปเลยว่ามันมีลักษณะคดเหมือนไส้ไก่และแตกกระจายเป็นกางปลาจริงๆ) แล้วสร้างฝายปิดกั้นน้ำในคูไว้เป็นช่วงๆ ให้น้ำขังอยู่ในคูได้เป็นระยะเวลานาน เพื่อให้น้ำซึมลงไปเพิ่มความชุ่มชื้นในดิน
ส่วนฝายที่ใช้ทำก็จะเป็นฝายไม้ไผ่ง่ายๆ ที่ชาวบ้านสามารถเอาไปทำได้ อายุการใช้งานก็อยู่ในขั้นโอเค แม้ว่ามันจะรับแรงดันน้ำ หนักๆไม่ได้ซักเท่าไหร่ก็ตาม แต่ในเรื่องของความเจ๋งกับระบบส่งน้ำเล็กๆ ฝายไม้ไผ่จะยืนแท่นเบอร์ 1 ก่อนใคร
พี่วิทยากรเสียงหล่อยังเล่าต่ออีกว่า ในหลวง ที่พระองค์สามารถทำให้ห้อยฮ่องไคร้เป็นแบบนี้ได้ก็เพราะ ใช้แบบหลักการเหมือนแผนที่ประเทศไทย ให้พื้นที่ชันสูงสุดเหมือนภาคเหนือ ที่เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร ก่อนจะส่งต่อน้ำไหลมายังส่วนกลาง ที่เปรียบเสมือนภาคกลางที่ทำการเกษตรปลูกข้าว พืชผัก ผลไม้ได้ และสุดท้ายตรงปลายทางส่งน้ำของห้วยฮ่องไคร้ก็เปรียบเสมือนภาคใต้ เอาไว้ใช้เป็นแหล่งประมงเลี้ยงสัตว์น้ำ
ผมฟังพี่แกเล่าจบถึงกับอึ้งในพระอัจฉริยะภาพในหลวงเลยไป 3.425 วินาที โดยมีนาฬิกา Casio G Shock รุ่น Mudman G-9000-1V G9000-1V ตรวจสอบอัตราความอึ้งแดกของผมอยู่
หนีจากเดินป่าทางคณะก็พากันมาดูการเลี้ยงกบของที่นี้ครับ กบที่นี้ก็มีกันสองสายพันธุ์ที่เลี้ยง คือกบนาของไทย และกบบูลฟร็อกของเมืองนอก กบนาจะเด่นในเรื่องของการเจริญเติบโตเร็ว สามารถจับขายได้ เพียง 3-4 เดือน แต่ปัญหาคือ มันชอบจำศีลในช่วงหน้าหนาว
ส่วนกบบูลฟร็อกเลี้ยงกบบูลฟร็อกได้ตลอดทั้งปี แม้กระทั่งในฤดูหนาว และไม่มีการจำศีลเหมือนกบนาแต่อย่างใด (อาจจะเพราะว่ามันนับถือคริสต์ด้วยรึป่าว ฮ่าๆๆ) แต่ข้อเสียก็มีเหมือนกันตรงที่ ข้อเสียใช้ระยะเวลาการเลี้ยงค่อนข้างนานกว่ากบนา แถมรูปร่าง ผิวหนัง หน้าตาไม่ชวนน่ารับประทานซักเท่าไหร่
ออกจากที่เลี้ยงกบก็พากันมาปิดท้ายที่แปลงผัก และโรงเพาะเห็ด แปลงผักที่นี้ผมชอบตรงที่เครื่องดักจับแมลงครับ เพราะมันค่อนข้างจะเจ๋งเอาเรื่อง แถมไร้มลพิษเหมือนกัน ถ้าจำไม่ผิดเขาเรียกแผ่นกาวดักแมลง มีขายทั่วไปตามร้านขายอุปกรณ์เกษตรชาวไร่ชาวนา เวลาใช้ก็แปะมันกับไม้เสียบไว้ตรงหัวแปลง จากนั้นแมลงก็จะบินมาติดกับ เนื่องด้วยที่บินมาเพราะว่ามันชอบสีเหลือง อายุการใช้งานไอ้เจ้าแผ่นนี้ก็ทนทานใช้ได้นานครับ ก็ใช้ได้จนกว่าแมลงมันจะติดเต็มเลยแหละ
ส่วนอื่นๆ แถวๆแปลงผักก็มีโรงเพาะเห็ด ที่เตาเผาถ่าน ไว้เอามาใช้ ซึ่งจริงๆแล้ว ก็ต้องบอกว่ามีอีกหลายอย่างเยอะแยะให้มาศึกษากันครับ ทั้งในเรื่องของประมง ปศุสัตว์ อนุรักษ์ข้าว การส่งเสริมการเกษตร พัฒนาที่ดิน เรียกได้เลยว่า ครบวงจรสำหรับพี่น้องเกษตรกรชาวไร่ชาวนาโดยแท้
สมแล้วกับที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มันเป็น “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” สำหรับราษฎรชาวไทยครับ
เรื่อง/ภาพ : คนหูเหล็ก