เฮือนม่วนใจ๋ – วันนี้รีวิวเชียงใหม่จะพาทุกคนไปเจอกับร้านอาหารเหนือแท้ ๆ ที่ครองใจทั้งคนเชียงใหม่และนักท่องเที่ยว ที่ใครต่อใครอยากจะกินอาหารเหนือหรืออาหารเมืองเวลามาเชียงใหม่ก็ต้องมาร้านนี้ ร้านนี้ก็คือ “เฮือนม่วนใจ๋” ร้านอาหารเหนือที่รสชาติเหนือแท้ ๆ แถมจะพาไปพบกับเรื่องราวสุด Exclusive ว่ากว่าจะมาเป็นเฮือนม่วนใจ๋ต้องผ่านเรื่องราวอะไรมาบ้าง
แนะนำตัวเชฟจรัญและร้านเฮือนม่วนใจ๋
จรัญ ธิพึงหรือ “เชฟจรัญ” เจ้าของและเชฟประจำร้านเฮือนม่วนใจ๋ เชฟจรัญนั้นเป็นคนเชียงใหม่แท้ ๆ อำเภอแม่แตง โดยเริ่มแรกนั้นเชฟจรัญทำงานอาชีพอื่นมาก่อน ก่อนที่จะมาเป็นเชฟ โดยทำอาชีพอื่นอยู่ประมาณ 2 ปีแต่รู้สึกว่าไม่ชอบจึงลาออก ประกอบกับในตอนนั้นน้องสาวของเชฟจรัญนั้นไปเรียนภาษาที่ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เชฟจรัญจึงได้บินตามไปอยู่กับน้องสาว และนี่คือจุดเริ่มต้นของเชฟจรัญและเฮือนม่วนใจ๋
ส่วน “เฮือนม่วนใจ๋” เปิดมาตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2554 หรือ 13 ปีที่แล้ว โดยตลอดระยะเวลา 13 ปีที่ผ่านมา ร้านเฮือนม่วนใจ๋นั้นครองใจทั้งคนเชียงใหม่และนักท่องเที่ยวเวลาที่มาเที่ยวเชียงใหม่แล้วเกิดอยากกินอาหารเมืองหรืออาหารเหนือแท้ ๆ เฮือนม่วนใจ๋จึงมักเป็นจุดหมายของผู้คนเหล่านั้น
เฮือนม่วนใจ๋ ประวัติร้านอาหารเหนือที่เริ่มต้นซิดนีย์
ในปีพ.ศ. 2532 เชฟจรัญได้บินตามไปอยู่กับน้องสาวที่ไปเรียนภาษาที่ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย โดยเชฟจรัญนั้นได้ทำงานตามร้านอาหารไทยที่ไปเปิดอยู่ที่นั่น ซึ่งการทำงานอยู่ที่ร้านอาหารนี่แหละทำให้เกิดเป็นที่มาของเฮือนม่วนใจ๋ โดยหลังจากที่ทำงานอย่างอื่นมาและไม่ชอบ แต่พอเชฟจรัญได้มาทำงานในครัวนั้นเชฟจรัญได้เกิดความชอบทำอาหารขึ้นมา ซึ่งในช่วงเวลา 2 ปีที่อยู่ที่ซิดนีย์ เชฟจรัญนั้นได้ทำงานให้กับร้านอาหารไทยชื่อดังในซิดนีย์อย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Chiang Mai Orchid, Talay’s Thai, ตำหนักไทย, Thai Connection เป็นต้น
แต่จุดหักเหของชีวิตก็มาอีกครั้ง เมื่อน้องสาวเรียนภาษาเสร็จเป็นที่เรียบร้อย พอกลับมาประเทศไทยได้ซักพัก น้องสาวของเชฟจรัญก็ได้ย้ายไปอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากมีแฟนเป็นชาวญี่ปุ่น และเมื่อไปอยู่ประเทศญี่ปุ่น น้องสาวของเชฟจรัญก็ได้ทำการเปิดร้านอาหารอยู่ที่ญี่ปุ่น และได้ขอให้ครอบครัวไปช่วยทำร้านอาหารที่ประเทศญี่ปุ่น รวมถึงเชฟจรัญด้วยเช่นกัน
ร้านอาหารเหนือร้านแรกของโตเกียว
สำหรับร้านอาหารที่น้องสาวของเชฟจรัญเปิดที่ญี่ปุ่นนั่นก็คือร้านอาหารไทย และด้วยความที่ทั้งคนไทยและคนเหนือในญี่ปุ่นมีจำนวนมาก ทางเชฟจรัญและครอบครัวก็ได้หันมาทำร้านร้านอาหารเหนือในกรุงโตเกียว โดยเป็นร้านอาหารเหนือแท้เจ้าแรกในโตเกียว โดยใช้ชื่อว่าร้าน “ชาวไทย”
เชฟจรัญเล่าว่าร้านชาวไทยนั้นไม่มีการปรับสูตรใด ๆ เลย เพราะอยากคงรสชาติและความเป็นเหนือแท้ ๆ ช่วงแรกของการเปิดคนญี่ปุ่นกินเผ็ดแบบอาหารเหนือของไทยไม่ได้เลย พริกเม็ดเดียวก็ร้องแล้ว แต่พอนานวันไปกลับกลายเป็นว่าคนญี่ปุ่นชอบกินเผ็ด กินพริกเป็นเม็ด ๆ แบบสบาย ๆ เลย
ส่วนคนไทยนั้นต่อให้อยู่ต่างเมือง ต่างจังหวัดก็จะนั่งรถไฟกันมากินที่ร้านชาวไทย เพราะว่านี่คือร้านอาหารเหนือแท้ ๆ เจ้าแรกของโตเกียว ซึ่งไม่ใช่ว่าที่โตเกียวไม่มีร้านอาหารเหนือเลย เชฟจรัญบอกว่ามีอยู่เหมือนกันแต่ว่ารสชาติไม่ได้มีความเป็นเหนือแท้แบบที่ร้านชาวไทยทำ
กลับจากญี่ปุ่นมาเปิด “เฮือนม่วนใจ๋”
หลังจากที่ใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยแบบบินไป ๆ มา ๆ อยู่หลายปี ในที่สุดเชฟจรัญก็ตัดสินใจกลับมาอยู่ประเทศไทย ส่วนร้านชาวไทยที่ญี่ปุ่นก็ให้น้องสาวดูแลต่อ (ปัจจุบันร้านชาวไทยมีสาขาที่ญี่ปุ่นทั้งหมด 8 สาขา) โดยในช่วงแรกนั้นเชฟจรัญกลับมาเปิดร้านก๋วยเตี๋ยว ซึ่งเริ่มแรกเปิดอยู่ที่แถวสถานีรถไฟก่อนที่จะย้ายมาอยู่ที่หน้ามหาลัยราชภัฏ
ร้านก๋วยเตี๋ยวของเชฟจรัญนั้นเปิดได้ไม่นาน อาจจะด้วยเรื่องของทำเลหรืออะไรก็ตามแต่ เชฟจรัญก็ได้ปิดร้านก๋วยเตี๋ยวนั้นไปและมีความคิดที่อยากจะเปิดร้านอาหารเหนือ ซึ่งก็ได้ปรึกษากับครอบครัวแล้ว น้องสาวก็แนะนำให้ใช้บ้านของครอบครัวเปิดเป็นร้านไปเลย ซึ่งสุดท้ายเชฟจรัญก็ตัดสินใจที่จะใช้บ้านของครอบครัวมาเป็นร้านตามคำแนะนำของน้องสาว และกลายเป็นโลเคชันของร้านเฮือนม่วนใจ๋มาจนถึงทุกวันนี้
เฮือนม่วนใจ๋ ร้านอาหารเหนือที่ถูกค้นพบโดย “ความบังเอิญ“
ตลอดการสัมภาษณ์กับเชฟจรัญ มีบ่อยครั้งมากที่เชฟจรัญใช้คำว่า “จังหวะชีวิต”, “ดวง”, “โชคดี” หรือแม้แต่คำว่า “บังเอิญ” กับร้านเฮือนม่วนใจ๋ซึ่งพอมาตกตะกอนและคิดภาพตามที่เชฟจรัญเล่าแล้ว มันก็คงจริงอย่างที่เชฟว่าจริง ๆ
เริ่มต้นจากการที่เฮือนม่วนใจ๋เป็นที่รู้จักก็เป็นเพราะความบังเอิญ โดยที่เชฟจรัญเล่าว่าในช่วงแรกของการเปิดร้านนั้นแทบไม่มีใครรู้จัก เพราะต้องยอมรับว่าโลเคชันของร้านนั้นไม่ได้ดีมากเท่าไหร่ ต้องเข้าซอยมานิดหน่อยถึงจะเจอร้าน แต่มีอยู่วันหนึ่งที่ได้มีคนญี่ปุ่นที่ได้รู้จักตอนที่เปิดร้านที่ญี่ปุ่นบังเอิญขี่รถมอเตอร์ไซค์ผ่านหน้าร้านและจำเชฟจรัญได้ จึงได้นำเฮือนม่วนใจ๋เขียนลงนิตยสารและนำไปเผยแพร่ให้คนญี่ปุ่นได้รู้จักเฮือนม่วนใจ๋ จนเริ่มเป็นที่รู้จักของเหล่านักท่องเที่ยว
อีกหนึ่งความบังเอิญนั่นก็คือ มีอยู่วันหนึ่งที่ได้มีผู้ชายคนหนึ่งบังเอิญได้มาพบกับเฮือนม่วนใจ๋ และด้วยบรรยากาศของร้านที่นำบ้านมาตกแต่งที่อาจจะทำให้เกิดความประทับใจ ผู้ชายคนนึงจึงได้วนกลับมาที่เฮือนม่วนใจ๋อีกครั้ง แต่ครั้งนี้ไม่ได้มาเพียงเพื่อกินอาหาร แต่ครั้งนี้กลับมาพร้อมทีมงานเพื่อถ่ายภาพลงนิตยสาร และผู้ชายคนนั้นไม่ใช่ใครที่ไหนครับ เขาคือเจ้าของนิตยสาร “บ้านและสวน” นิตยสารเกี่ยวกับบ้านและสวนชื่อดังของประเทศไทย
นี่แหละ 2 ความบังเอิญจากความบังเอิญแบบนับไม่ถ้วนที่ทำให้เฮือนม่วนใจ๋กลายเป็นที่รู้จักของคนไทยกับเหล่านักท่องเที่ยวและโด่งดังไปทั่วโลก
เฮือนม่วนใจ๋ เมนูที่ “ควรค่า” แก่การมาลอง
กลับมามาในพาร์ทปัจจุบัน เราได้ถามกับเชฟจรัญว่าที่เฮือนม่วนใจ๋ เมนูไหนที่เป็นหัวใจของร้านและควรค่าแก่การมาลองบ้าง เชฟจรัญก็ตอบกลับมาทันทีว่า “ทุกเมนู” เพราะว่าทุกเมนูที่เฮือนม่วนใจ๋นั้นเชฟจรัญและทีมงานทุกคนนั้นตั้งใจและใส่ใจจริง ๆ
นอกจากนี้ยังมีเรื่องเซอร์ไพรส์ในเรื่องของลูกค้ากับอาหารอยู่เหมือนกัน เพราะเชฟจรัญบอกว่ามีลูกค้าชาวต่างชาติที่เป็นฝรั่งยื่นภาพของเมนูหนึ่งมาให้และบอกว่าจะกินเมนูนี้ เมนูที่ว่านั่นก็คือ “ยำหน่อน้ำปู๋” ที่เซอร์ไพรส์ก็เพราะว่าเราไม่คิดว่าจะรู้จักยำหน่อ แถมยังเป็นยำหน่อที่ใส่น้ำปูที่เป็นเครื่องปรุงที่เฉพาะจริง ๆ เพราะทำจากปูนาสด ๆ ยิ่งถ้าไม่ใช่คนไทยหรือเพื่อนบ้านของเราก็เชื่อว่าน่าจะไม่มีใครรู้จักเครื่องปรุงที่ชื่อว่าน้ำปูอยู่เหมือนกัน
เฮือนม่วนใจ๋กับการใช้วัตถุดิบท้องถิ่น
ในเมื่อเปิดร้านอาหารเหนือ อาหารท้องถิ่น ถ้าจะไม่ถามเกี่ยวกับวัตถุดิบท้องถิ่นที่นำมาประกอบอาหารก็คงไม่ผิดแปลกไปอยู่บ้าง เราจึงถามเชฟจรัญว่าคิดว่าวัตถุดิบท้องถิ่นนั้นส่งผลต่อรสชาติของอาหารที่เฮือนม่วนใจ๋ไหม เชฟจรัญก็ตอบว่าส่งผลอยู่แล้ว ส่งผลแน่นอน เพราะว่าวัตถุดิบของภาคไหนก็คือของภาคนั้น แถมสภาพอากาศก็ไม่เหมือนกันอีกด้วย วัตถุดิบท้องถิ่นมีผลต่อรสชาติแน่นอน
นอกจากนี้เชฟจรัญยังเสริมอีกว่าที่ร้านเฮือนม่วนใจ๋นั้นจะคอยสนับสนุนเกษตรกรท้องถิ่นอยู่เสมอ โดยเชฟจรัญนั้นเลือกซื้อพืชผักจากเกษตรกรอำเภอแม่แตง แถมเชฟจรัญยังเป็นคนไปเดินเลือกซื้อด้วยตัวเองอีกด้วย
รสชาติอาหารเหนือแบบดั้งเดิมในความคิดของเชฟจรัญ เฮือนม่วนใจ๋
ในฐานะเป็นคนเมือง (คนเหนือ) แถมยังเปิดร้านอาหารเหนืออีก คำถามที่ต้องถามอีกหนึ่งคำถามก็คือ “รสชาติอาหารเหนือตามแบบฉบับดั้งเดิมควรเป็นอย่างไร” รวมไปถึงคำถามถึงวิธีการรักษาความดั้งเดิมของรสชาติอาหารเหนือ
เชฟจรัญบอกว่ารสชาติของอาหารเหนือแบบดั้งเดิม (ในความคิดของเชฟจรัญ) ส่วนใหญ่นั้นจะไม่มีความจัดจ้านมากซักเท่าไหร่ แถมไม่มีน้ำตาลอีกด้วย (ความหวานมาจากผัก) เวลากินเข้าไปก็จะกินได้สบาย ๆ ปลอดภัย รสชาติกลมกล่อม แถมมีประโยชน์อีกด้วยเนื่องจากวัตถุดิบหลาย ๆ อย่างเป็นสมุนไพร
ในส่วนของการรักษารสชาติให้มีความดั้งเดิมนั้น อันดับแรกคือเราต้องรู้จักการการปรุงอาหารเหนือ รู้จักวัตถุดิบที่นำมาปรุง เพื่อเมื่อสัดส่วนลดนั่นหน่อย ลดนี้หน่อย จะไม่ได้เสียรสชาติความดั้งเดิม
เฮือนม่วนใจ๋กับการจัดการอุปสรรคต่าง ๆ
กลับมาในพาร์ทของความจริงจังแบบเข้ม ๆ กันอีกซักหน่อย โดยเราถามเชฟจรัญว่าตั้งแต่เปิดร้านมา 13 ปี เคยเจออุปสรรคในการเปิดร้านอาหารเหนืออะไรบ้างไหม แล้วอุปสรรคหรือปัญหาอะไรที่คิดว่าท้าทายที่สุด
เชฟจรัญตอบว่าอุปสรรคหรือปัญหาที่ท้าทายที่สุดก็คือ “คน” ซึ่งเชฟจรัญให้เหตุผลว่าเป็นเพราะหลาย ๆ คนที่เข้ามาทำงานที่เฮือนม่วนใจ๋มักจะไม่ค่อยจริงจังในการทำงาน ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับตอนที่เชฟจรัญไปทำงานอยู่ที่ออสเตรเลียหรือญี่ปุ่น คนไทยมักจะรอแต่คำสั่ง ไม่ค่อยที่จะวิ่งเข้าหัวหน้าแล้วถามว่ามีอะไรให้ช่วยไหม
โดยการแก้ไขปัญหาของเชฟจรัญในเรื่องนี้ก็คือใช้ประสบการณ์ที่สะสมมาแก้ไข แถมเอาตัวเองลงไปขลุกอยู่กับทุกคน ทุกขั้นตอน ให้ตัวเองได้เห็นทุกคน เห็นทุกขั้นตอน
เฮือนม่วนใจ๋และชีวิตหลังได้มิชลินไกด์
ถ้าหากเราจะไม่ถามถึงรางวัลมิชลินก็คงไม่ได้เหมือนกัน ซึ่งจนถึงตอนนี้เฮือนม่วนใจ๋ก็ได้รางวัลมิชลินไกด์มาแล้ว 5 ปีซ้อนและกำลังเข้าปีที่ 6 ติดต่อกัน เราเลยถามกับเชฟจรัญว่ามีวิธีในการรักษามาตรฐานอย่างไรถึงทำให้ได้มิชลินติดต่อกันมาได้ขนาดนี้
เชฟจรัญก็บอกว่าการได้มิชลินมันก็เหมือนเป็นการ “ขี่หลังเสือ” มันมีความรู้สึกกลัว พะวง กลัวว่าจะทำผิดพลาด จึงต้องมีความระมัดระวังอยู่ในทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการทำอาหารหรือแม้กระทั่งการบริการ โดยในส่วนของการทำอาหารตัวเชฟจรัญก็จะต้องคุมอย่างละเอียด และที่สำคัญจะต้องอยู่กับทีมงานตลอด เพื่อที่จะได้คุมและอยู่ในสายตายตลอดเวลา
เอฟเฟกต์ของมิชลินต่อเฮือนม่วนใจ๋
ในคำถามนี้เราแบ่งเป็น 2 พาร์ท พาร์ทแรกคือเอฟเฟกต์ต่อตัวเชฟจรัญ ส่วนอีกพาร์ทก็จะเป็นเอฟเฟกต์ต่อตัวร้านเฮือนม่วนใจ๋ ซึ่งเราถามว่ารางวัลมิชลินไกด์นี่ส่งผลต่อตัวเชฟจรัญและเฮือนม่วนใจ๋อย่างไรบ้าง
สำหรับเอฟเฟกต์จากรางวัลมิชลินต่อตัวเชฟจรัญก็คือ เชฟจรัญรู้สึกภูมิใจมาก ๆ ถือว่าเป็นรางวัลที่เป็นที่สุดในใจเลยก็ว่าได้ เพราะอย่างที่เรารู้ ๆ กันว่ารางวัลมิชลินเหมือนแชมป์ฟุตบอลโลกหรือรางวัลบัลลงดอร์ในวงการฟุตบอล รางวัลมิชลินเป็นเหมือน “ที่สุด” ของวงการอาหารแล้ว ยิ่งเชฟจรัญเคยทำงานในร้านอาหารต่าง ๆ มากมาย อยู่กับอาหารมาครึ่งชีวิต จึงไม่แปลกเลยที่เชฟจรัญจะรู้สึกดีใจและภูมิใจที่สามารถพาเฮือนม่วนใจ๋เข้ามาเป็นหนึ่งในลิสต์ของมิชลินไกด์เชียงใหม่
ส่วนเอฟเฟกต์ของมิชลินต่อร้านเฮือนม่วนใจ๋ก็คือได้ลูกค้าจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น เพราะปกติก่อนที่จะได้มิชลินนั้น ลูกค้าก็เยอะเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โดยนอกจากคนเชียงใหม่แล้วก็จะมีลูกค้าจากต่างจังหวัด แต่พอเข้าไปอยู่ในลิสต์ของมิชลินไกด์เชียงใหม่ ลูกค้าจากต่างประเทศก็เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก
เมนูที่ต้องสั่งให้ได้เมื่อมาถึงเฮือนม่วนใจ๋
ก่อนจากกันไป รีวิวเชียงใหม่ก็ได้ถามคำถามสุดท้ายกับเชฟจรัญว่าถ้ามาเฮือนม่วนใจ๋แล้ว เมนูที่ไหนคือเมนูที่ต้องสั่งให้ได้ หรืออยากให้ลองเมนูไหนเวลาที่มาเฮือนม่วนใจ๋
เชฟจรัญแบ่งให้เรา 2 ช่วง ก็คือช่วงเวลาปกติกับช่วงเวลาตามฤดูกาล โดยเมนูในช่วงตามฤดูกาลนั้นเชฟจรัญแนะนำเป็นเมนู “เห็ดถอบ” ไม่ว่าจะเป็นแกงเห็ดถอบหรือคั่วเห็ดถอบ และเมนูตามฤดูกาลอื่น ๆ ต่อมาเมนูในช่วงเวลาปกติ ก็จะเป็นเมนูที่ปกติแต่พิเศษเมื่อมากินที่เฮือนม่วนใจ๋ เช่น แกงแค, ยำจิ๊นไก่, แอ๊บปลา, แอ๊บหมู ถ้าเป็นพวกตำ (ไม่เหมือนกับส้มตำของภาคอีสานนะครับ) ก็จะเป็นตำมะเขือ, ตำขนุน เป็นต้น
(อ่านเพิ่มเติม: 30 อาหารเหนือ ตี้คนเมืองเปิ้นกินกั๋น!)
วันเวลาเปิด-ปิดและพิกัด
- พิกัด: ถ.ราชพฤกษ์ ต.ช้างเผือก อ.เมือง
- เวลาเปิด-ปิด: ทุกวัน (ปิดวันพุธ) 11.00 น. – 15.00 น. และ 17.00 น. – 21.00 น.
- GPS: https://maps.app.goo.gl/W4dhxz74LZ2mvG5N6
- ที่จอดรถ: ที่จอดรถของร้าน
ช่องทางการติดต่อ
- เบอร์โทรศัพท์: 098-2618029
- Facebook: Huen Muan Jai เฮือนม่วนใจ๋
ดูคลิปเฮือนม่วนใจ๋ได้ที่: