บอย อิมเมจิ้น สถาปนิกผู้ออกแบบเสียงเพลง ในซอยเล็ก ๆ ตรงข้ามมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เดินเลย 7-11เข้าไปเพียงไม่กี่ก้าว คุณจะเห็นร้านเหล้าเล็กๆซุกตัวอยู่ตรงนั้น เป็นร้านเหล้าเล็ก ๆ โปร่ง ๆ ที่สัมผัสได้ถึงความครึกครื้นสนุกสนาน ทั้งจากเสียงดนตรีและจากเสียงหัวเราะของผู้คนที่สามารถสัมผัสได้ตั้งแต่ย่างเท้าเข้าไป
แต่ตอนที่คุณเดินไปซื้อเครื่องดื่มตรงเคาน์เตอร์บาร์ ระหว่างรอคิดเงิน หากลองมองไปทางซ้ายมือ คุณจะเห็นผู้ชายรูปร่างผอมสูงชอบสวมเสื้อยืดสีขาวท่าทางสะอาดสะอ้านคนหนึ่งกำลังนั่งดื่มกับเพื่อนฝูงอยู่ตรงนั้นเป็นประจำ
ในบางครั้งหรือในบางวันเขาอาจยิ้มให้คุณ อาจกล่าวทักทายหรืออาจนั่งเงียบเฉย มองเหม่ออยู่คนเดียวในบางนาที แต่ถึงกระนั้นเราก็ยังพอจะคุ้นๆหูอยู่บ้างว่าเขาชื่อ “บอย”
ก่อนหน้านี้เราเคยพบเจอเขาอยู่หลายครั้ง เคยยิ้มให้กันบ้าง แต่ก็อยู่แค่เพียงขอบเขตของการทักทาย ไม่เคยมีโอกาสได้พูดคุยอะไรกัน จนกระทั่งงานเพลงของเขา กลายเป็นเพลงที่ใครต่อใครสามารถร้องตามได้ ในการพบเจอกันครั้งนี้หากไม่ได้คุยกับเขาในเรื่องของงานเพลงอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เราคงรู้สึกผิดบาปและละอายใจอย่างไรชอบกล
หลังแนะนำตัวทักทายกันตามมารยาท บอยเล่าประวัติคร่าวๆของเขาให้ฟังว่า เขาเป็นคนแม่โจ้โดยกำเนิดเรียนจบคณะสถาปัตยกรรมจากลาดกระบัง ปัจจุบันเขาเปิดออฟฟิตเล็กๆ รับทำงานตามที่ได้ร่ำเรียนมาอยู่ที่บ้าน เพราะคิดเอาไว้แต่แรกแล้วว่าถ้าเรียนจบจะกลับมาทำงานที่บ้าน “เพราะที่นี่เรามีรากฐานอยู่พอสมควร ถ้าจะให้ไปเริ่มต้นที่กรุงเทพ ก็ต้องวางกันใหม่ แต่สุดท้ายก็ต้องกลับมาอยู่บ้านอยู่ดี สู้เรากลับมาเริ่มวางอะไรที่นี่เลยดีกว่า”
ส่วนเรื่องงานเพลงนั้น เขาบอกว่าเขาทำไปตาม “วิถีแห่งเต๋า” คือถ้ายังไม่ตกผลึกหรือยังคิดไม่แตก ก็จะยังไม่ทำ
“จริงๆงานเพลงมันเริ่มมาจาก งานครบรอบร้านอิมเมจิ้นบาร์ ก็คิดว่าน่าจะทำเพลงสนุกๆขึ้นมาสำหรับงานนี้ เลยเริ่มทำกัน แล้วทีนี้มีเพื่อนคนหนึ่งคือคุณแทน (มือกลองวง Monster Circus) เขาก็มาช่วยทำ แล้วก็ชักชวนกันต่อว่าลองมาทำกันไหม ซึ่งตอนนั้นผมยังคิดว่าการทำเพลง ซึ่งหมายถึงการทำดนตรี หรือการบันทึกเสียงอะไรมันเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเรา เพราะยังไปคิดถึงการทำเพลงในยุคก่อน แต่คุณแทนเขาก็อธิบายให้ฟังว่าเดี๋ยวนี้มันไม่ยาก คือสมัยนี้มันสามารถใช้โปรแกรมมาทำให้มันง่ายขึ้น ผมก็เลยสนุกก็ลองเริ่มทำกันมา”
ทำกันเรื่อยๆไม่ได้เร่งรีบ?
“ครับ ก็ทำกันมาตั้งแต่ปี 52 ทำกันเป็นเพลงๆไป คือพอเขียนเพลงได้ก็มาทำดนตรี มาอะไรกัน คือเราเน้นเวลาว่างตรงกันเป็นหลักไม่ได้เร่งรีบ”
สังเกตจากเนื้อเพลง หลายๆเพลงดูเหมือนจะมาจากหนังสือ ?
“ครับ เป็นความคิด เป็นประโยคที่มาจากหนังสือเป็นหลัก ก็อ่านหนังสือมาตลอด อย่างของหลี่ไป๋ที่มาเป็นประโยคในเพลง ผมชอบอ่านหนังสือพวกนิยายจีนอย่างของโกวเล้ง, หวงอี้, ส่วนของไทยก็ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ของ รงค์ วงษ์สวรรค์หรือเป็นทางอื่นไปเลย อย่างคุณก่อศักดิ์ ซีพี ก็อ่านครับ คือจะอ่านเป็นช่วงเป็นชุดไปขึ้นอยู่กับว่าตอนนั้นเราสนใจอะไร”
ชอบรงค์ วงษ์สวรรค์ แล้วมีผลกับภาษาในการเขียนเพลงไหม?
“ผมอ่านรงค์ วงษ์สวรรค์เรื่องแรกคือ “บ้านนี้มีห้องแบ่งเช่า” ซึ่งพออ่านแล้วก็ชอบ เพราะงานของรงค์จะมีอารมณ์ขัน ส่วนเรื่องภาษานี่ไม่ต้องพูดกัน ก็อย่างที่ทราบๆกันว่าสุดยอดแค่ไหน อย่างตอนเขียนเนื้อเพลงผมก็ได้หยิบมาใช้บ้าง อย่างคำต่างๆพวกเงาสีสันของแดดหรือคำว่าในเงาเวลา คำพวกนี้มันทำให้เราเห็นภาพ มันเป็นภาษาที่มีบรรยากาศ”
แล้วในพาร์ทของดนตรีล่ะ?
“อย่างเรื่องดนตรี เมื่อก่อนสมัยเรียนผมก็เล่นเพลงเพื่อชีวิตเป็นหลัก แต่คือเหมือนเราไม่ค่อยเข้าใจในเทคนิคหรือวิธีการร้อง ก็ร้องก็เล่นกันไปตามประสา แล้วก็มาเล่นพวกเพลงสากลเก่าๆบ้าง ทีนี้พอดีตอนหลังผมมาฟังเพลงของแจ็ค จอห์นสัน ก็เออ ทีนี้ก็รู้สึกว่ามัน ใช่เลย มันทำให้เรารู้สึก มันทำให้เข้าใจวิธีการร้องและการเล่นมากขึ้น ว่าเออ มันได้นะ มันลงตัวไม่ต้องใช้แรงมากเวลาร้องก็ไม่เหนื่อย แต่มันจะได้อารมณ์ ได้ความรู้สึกมากกว่า ไม่ต้องร้องต้องเล่นด้วยวิธีการเก่าๆ มันเหมือนกับว่าเราได้ฟังได้ร้องแล้วมันเข้าใจในวิธีการร้องและการเล่นมากขึ้น”
เหมือนเริ่มค้นพบอะไรใหม่ๆ?
“ใช่ครับ พอเราทำได้ เราเข้าใจ เราจะรู้สึกว่ามันไม่ยากอย่างที่เราคิด เราก็มีความสุขกับการทำงาน มีความสุขกับการคิดการทำเพลง เหมือนเราเข้าใจแล้วมันก็จะพัฒนาได้ คือพยายามทำความเข้าใจให้ได้ก่อน แล้วมันจะไม่ยากน่ะครับ”
แล้วงานเพลงใหม่ๆหรืองานชุดต่อๆไปล่ะ?
“ยังไม่ได้คิดเลยครับ (หัวเราะ) คือผมไม่ได้คิดไม่ได้วางเลยว่าจะต้องทำต่อหรืออะไร เพราะด้วยเรื่องของเวลาด้วย ผมมีงานอื่นที่จะต้องทำด้วย เลยไม่ได้คิดว่าต้องทำตอนไหนเมื่อไหร่ แต่คืออย่างที่บอกว่าถ้ามันมีความคิด มีเรื่องราวมีอะไรที่ลงตัวก็เขียนเพลงกันออกมาได้ ซึ่งจะนานจะเร็วมันบอกไม่ได้จริงๆครับ (หัวเราะ) เหมือนเรื่องวิถีแห่งเต๋า คือถ้าคิดไม่แตก ความคิดยังไม่จบก็ยังจะไม่ทำ”
ในฐานะที่เป็นคนเชียงใหม่ มองเชียงใหม่เป็นเมืองยังไงบ้างครับ?
“ผมไม่ค่อยได้มองมันอย่างจริงๆจังๆซักที (นิ่งคิด) ผมอาจไม่ค่อยได้สนใจมอง ผมว่าเชียงใหม่ก็ไม่ต่างจากที่อื่นแล้ว โลกมันแคบลง ทุกอย่างมันถึงกันหมด แต่ดูเหมือนที่นี่จะไม่มีชุมชนแล้ว เพราะไม่มีใครรักษามันเอาไว้”
อ่านเรื่องของ บอย อิมเมจิ้น ไปแล้ว เรื่องราวชีวิตของ Humans of Chiang Mai คนต่อไปจะเป็นใคร ติดตามกันได้ที่นี่ และถ้าหากใครมีบุคคลแห่งแรงบันดาลใจที่อยากแนะนำ ก็อย่าลืมแวะมาเม้นท์มาแชร์ให้เราได้รู้ตามช่องคอมเม้นท์ด้านล่าง จะได้ตามไปเจาะลึกกันอย่างทันท่วงที ราตรีสวัสดิ์ครับพี่น้องชาวเชียงใหม่
อ่านรีวิวอื่น ๆ ได้ในเพจ รีวิวเชียงใหม่ เลยจ้า