อะไรคือกาดหมั้ว?

มีโอกาสได้สัมผัสกาดหมั้วกันหลายครั้งเวลาไปทำข่าว แรกๆมาอยู่นี้ใหม่ๆ ก็สงสัยนะว่า มันคือตลาดอะไรในความหมายที่แท้จริง

สำหรับผมถ้าให้คำนิยาม น่าจะเป็นตลาดขายของทั่วไปที่เน้นหนักไปทางของกิน จากพ่อค้าแม่ค้าหลากหลาย ที่ต่างขนสินค้าตัวเองมาจำหน่ายให้ชาวบ้านได้เลือกซื้อกัน

ซื้อไปกินไปด้วย ผมว่ามันสนุกกันอย่างยิ่ง…

หยิบนั้นหน่อย หยิบนี้หน่อย ของอร่อยๆกันทั้งนั้น  โน้น ก็ไส้อั่ว นี้ก็น้ำพริกหนุ่ม แคบหมู อู้ฮู้ ของกินมันละลานตากันจริงๆครับ ยิ่งมองบรรยากาศโดยรอบแบบสบายๆ ไม่เน้นความฮาร์ดคอทางด้านฝีปากแม่ค้า ผมว่ามันอบอุ่นน่ารักดี

กาดหมั้วถ้าว่าตามความเป็นมาตั้งแต่สมัยนมนานแต่ไม่นมยาน บอกว่า กาดหมั้ว เป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านที่นำของมาขาย มีอายุประมาณ  200-300 ปี โดยมีการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษมาจนถึงปัจจุบัน ลักษณะของกาดหมั้วเป็นกาด ( ตลาด ) ในชุมชนที่มีขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ชาวบ้านจะนำผลผลิตทางการเกษตรมาขาย พ่อค้าวัวต่างจะนำไม้ขีด เกลือ ซึ่งเป็นสินค้าที่หายากทางภาคเหนือมาขาย ภาพของกาดหมั้วจึงเป็นตลาดในช่วงเช้าตั้งแต่ตีห้า มาจนถึงเวลาช่วงสาย ๆ ของวัน


ลักษณะกาดไม่ค่อยมีแบบแผนสักเท่าใดนัก เป็นกาดแบบชาวบ้าน ๆ อุปกรณ์ที่จะใช้จะมี เปี้ยด ซ้า บุง ก๋วย หาบของมาขายรวมกัน ใช้จ้อง ( ร่ม ) สีแดงขนาดต่าง ๆ ทั้งใหญ่และเล็กในการกันแดด ของที่ใช้บรรจุห่อ มีตองกล้วย ตองตึง ผักผลไม้ที่นำมาขายมีหลายอย่าง เช่น ผักหวาน ผักกาดจ้อน ผักหละ ผักแหละ ผักฮี้ ผักเฮือด ผลไม้ก็มีอย่างพวก บ่าผาง บ่าหลอด บ่าขามป้อม และผลไม้พื้นบ้านทุกอย่าง

ส่วนอาหารที่ขายจะเป็นอาหารประเภท แกง คั่ว ยำ จี่ ปิ้ง นึ่ง ป่าม อ็อก เช่น ขนมเส้น ปลาหลาม ไข่อ่อง ยำจิ้นไก่ แกงผักหวาน แอบปลา แอบจิ้น แอบอ่องออ ไส้อั่ว แคบหมู น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกต๋าแดง น้ำพริกแมงดา น้ำพริกฮ้าใส่บ่ากอก น้ำพริกน้ำปู๋ น้ำพริกอ่อง ( น้ำพริกบ่าเขือส้ม ) จิ้นส้มปลาส้ม ในส่วนขนมก็มี ขนมปาด ขนมวง ขนมจ้อก ขนมข้าวต้ม และขนมเกลือ

สำหรับบรรยากาศการขายของ อย่างที่ผมได้สัมผัสและบอกไป จะมีความเป็นกันเอง ความสนุกสนานในการจับจ่ายซื้อของ การพูดคุย การพบปะผู้คนมากมาย ถามสารทุกข์สุขดิบว่าแต่ละคนเป็นยังไงกันบ้าง

หากมองไปถึงการจับจ่ายใช้สอยในปัจจุบันคุณอาจจะนึกถึงห้างสรรพสินค้า ที่คอยอำนวยความสะดวกรวดเร็วให้ แต่ก็อย่าลืมว่า มันมาในรูปแบบของการไปเร็วมาเร็ว แถมของบางอย่างคุณอาจหาซื้อมันไม่ได้ และของบางชิ้นก็ราคาแพงเกินกว่าปกติด้วยซ้ำ


นับแค่อาหารพื้นเมืองก็แทบจะเหมาหัวไปหมดแล้วว่า อะไรมีขายไม่มีขาย ไม่ต้องพูดถึงเรื่องความสดใหม่ ของที่กาดหมั้วมันกินขาดกันเห็นๆ ส่วนที่เห็นเอาไปขึ้นห้าง ไม่รู้ผ่านอะไรมาบ้างกว่าจะตกถึงมือเรา

สุดท้ายยังไงซะ กาดหรือตลาดในความหมายของเรา ก็ยังจำเป็นกับวิถีของคนในชุมชน เพราะนอกกจากการจับจ่ายใช้สอยแล้ว สิ่งที่สำคัญมากกว่านั้นคือ การได้พบปะพูดคุยกันของคน ถามไถ่ชีวิตความเป็นอยู่ซึ่งกัน

นั่นแหละ คือวิถีของ “กาดหมั้ว” ที่ขนาดชาวต่างชาติยังหลงรักเลยครับ

Relate Posts :