ประเพณีใส่ขันดอกบูชาเสาอินทขิล ณ วัดเจดีย์หลวง เมืองเชียงใหม่

ประเพณีใส่ขันดอกบูชาเสาอินทขิล – เป็นพิธีถวายเครื่องสักการะเก่าแก่ของล้านนา โดยจะเป็นการถวายดอกไม้ บูชาเสาอินทขิล (เสาหลักเมืองเชียงใหม่) ด้วยความเชื่อที่ว่าจะช่วยให้บ้านเมืองประสบพบเจอแต่สิ่งที่ดี ทั้งยังช่วยให้มีความมั่งคั่ง ส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองและความเป็นศิริมงคลแก่ทั้งบ้านเมืองและหมู่เฮาที่มาสักการะอีกด้วยเน้อ

โดยในปีนี้ ประเพณีใส่ขันดอกได้จัดขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 16 – 22 พฤษภาคม 2566 ณ วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เมืองเชียงใหม่ ตั้งแต่ช่วงเช้าถึงช่วงค่ำ ใครที่ยังไม่เคยไปหรืออยากรู้ว่าประเพณีใส่ขันดอกนั้นเป็นยังไง ตามแอดมาได้เลยยย!


โดยช่วงเวลาของการมาใส่ขันดอก แบ่งออกเป็นสองช่วงเวลา ก็คือช่วงเช้าและช่วงเย็น โดยการเดินทางก็สามารถเดินทางมาได้ที่ วัดเจดีย์หลวง ตัวเมืองเชียงใหม่ โดยเราสามารถหาที่จอดรถได้รอบบริเวณด้านหน้าวัด ( แนะนำเป็นรถจักรยานยนต์จะสะดวกกว่า )  โดยหากมาถึงที่วัดแล้วก็สามารถหาเลือกซื้อตะกร้าดอกไม้สำหรับใส่ขันดอก แล้วเดินเข้าไปภายในวัดเพื่อเข้าร่วมงานประเพณีได้เลย

ตระกร้าดอกไม้ที่จะใช้ในการใส่ขันดอกนั้น จะบรรจุไปด้วยดอกไม้ธูปเทียน และข้าวตอก โดยสามารถเลือกซื้อตระกร้าดอกไม้ ทั้งจากที่ขายตามทาง หรือจะเป็นจากที่ทางวัดจัดไว้ให้แล้ว ก็สามารถนำดอกไม้ไปวางสักการะตามพานที่ถูกจัดเรียงไว้ รวมถึงทางหน้าพระพุทธรูปที่ตั้งอยู่หน้าอุโบสถด้านในวัดได้เลย

หลังจากวางดอกไม้สักการะลงบนพานจนครบเสร็จหมดแล้ว เราก็มาสรงน้ำพระพุทธรูปกันต่อเลย โดยที่นี่จะมีการจัดเตรียมขันสลุง วางไว้บนขันโตก พร้อมใส่น้ำวางไว้ให้ เมื่อเราสรงน้ำเสร็จ ก็ต้องเติมน้ำจากในโอ่ง แล้ววางขันสลุงไว้ให้คนถัดไปมาสรงน้ำต่อ

ในงานพิธีเอง นอกจากจะมีการใส่ขันดอกและสรงน้ำพระพุทธรูปแล้ว ในงานยังมีเวทีที่จัดขึ้นไว้สำหรับการประกวด และการแสดงฟ้อนรำขันดอกในช่วงค่ำ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ


ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมล้ำค่าของชาวล้านนาที่สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน โดยการฟ้อนขันดอก เป็นการรำนาฏศิลป์ที่มีความสวยงาม และอ่อนช้อย ดึงดูดสายตาของคนที่เดินผ่านไปผ่านมาบริเวณนั้น

เสร็จจากการทำพิธีใส่ขันดอกทางด้านหน้าแล้ว เดินเข้ามาในตัวอุโบสถเอง ก็ยังมีการเปิดให้ผู้คนได้เข้าไปไหว้สักการะพระพุทธรูป พร้อมมีการตักบาตรเหรียญ การติดตุง 12 ราศี และก็ปิดทองพระพุทธรูปเสริมศิริมงคลแก่ตัวเราด้วยน่า

หลังจากเสร็จการทำพิธีในด้านหน้าวัดแล้ว เราก็เดินเลาะมาทางด้านหลังของอุโบสถ ก็จะพบกับเจดีย์หลวงวรวิหาร พระอารามหลวงเก่าแก่ที่อยู่คู่เมืองเชียงใหม่มาอย่างยาวนาน โดยภายในจะเป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกต

ทางด้านล่างของเจดีย์ จะมีการเปิดให้มีการสรงน้ำพระธาตุ โดยการดึงขันน้ำขึ้นไปบนพระธาตุ

บริเวณรอบเจดีย์เอง ก็จะมีการจัดพื้นที่ให้ผู้คน ได้มาวางดอกไม้สักการะ สรงน้ำพระเจ้าฝนแสนห่า และพระพุทธรูปตามวันเกิด โดยหากบางท่านที่สนใจจุดประทีป ทางวัดเองก็มีจัดเตรียมไว้ให้ด้วยเช่นเดียวกัน

ทางระแวกข้างเจดีย์ จะมีการแบ่งพื้นที่ให้เป็นโซนขายอาหาร โดยจะมีร้านตั้งขายอาหารเรียงรายต่อกัน ให้ผู้คนได้เดินมาแวะพักรับประทานอาหาร พร้อมกับมีเครื่องเล่นงานวัดอย่าง ชิงช้าสวรรค์ มาให้พี่ๆ น้องๆ ได้มาแวะขึ้นเล่นกันอีกด้วย


ร้าน “ขายอดีต” เป็นอีกร้านในบริเวณพื้นที่ขายอาหาร ที่ถ่ายทอดกลิ่นอายการเดินงานวัด โดยภายในร้านจะขายขนมและอุปกรณ์เล่นเกมสมัยวัยเยาว์ของใครหลายๆ คน อาทิเช่น ขนมอมซ่า หมากฝรั่งตาแมว เรียกว่ามาเดินแล้ว ต้องได้หยิบอะไรสักอย่างกลับไปกันบ้างแหละ

เดินวนกันมาจนถึงจุด ไฮไลต์ ของการมาร่วมประเพณีใส่ขันดอก นั่นก็คือการได้มาวางดอกไม้สักการะลงบนพานแดงที่วิหารอินทนิลนี่แหละ โดยบริเวณตัววิหารแห่งนี้ จะมีการจัดพื้นที่สำหรับวางดอกไม้สักการะ พร้อมมีการเปิดวิหารจตุรมุขทรงไทย ให้ผู้คนได้มีโอกาสเข้าไปสักการะเสาหลักเมือง

หลังจากเข้ามาด้านในของวิหารจตุรมุขอินทขิลก็จะเจอกับเสาอินทขิล หรือ เสาหลักเมืองของจังหวัดเชียงใหม่ ( เฉพาะผู้ชายเท่านั้นถึงจะเข้าได้ )โดยเราสามารถนำดอกไม้มาวางสักการะขอพรให้บ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง ส่งเสริมโชคลาภแก่ตนเองได้ เรียกว่านอกจากจะได้มาเดินชมความสวยงามของประเพณีเก่าแก่งดงามของล้านนาแล้ว ยังได้บุญ ได้สิ่งที่เป็นศิริมงคลกลับบ้านไปด้วย 

หากใครที่กำลังอยากมาร่วมงานประเพณีใส่ขันดอก บอกเลยว่าให้รีบไปกัน เพราะงานประเพณีใส่ขันดอกที่จัดขึ้น ณ วัดเจดีย์หลวง จะจัดแค่วันที่ 16 – 22 พฤษภาคม 2566 เท่านั้น ใครคิดจะชวนเพื่อน ชวนแฟน ชวนคนในครอบครัวมาไหว้พระทำบุญกัน ก็ต้องรีบมาแล้วเน้อเจ้า



อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่

Relate Posts :