เกมกีฬาพื้นบ้าน การแข่งขันของลูกผู้ชายแผ่นดินล้านนา ที่มีศักดิ์ศรีเป็นเดิมพัน เกมสุดมันส์ที่มีเดิมพันคือการอยู่รอด ใครจะอยู่ใครจะไปมีเพียงหนึ่งเดียว ประชันฝีไม้ลายมือทุกช่วงฤดูฝน เป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากการ “ชนกว่าง”
สมัยผมเป็นเด็กประถมที่ทามาก็อตจิยังฮิตติดตลาดใครๆก็ต้องพกมาโรงเรียนทุกคน แต่กลับมีเพื่อนบางกลุ่มไม่สนใจสัตว์เลี้ยงไฮเทคชนิดนี้ พวกเขาเลือกที่จะแตกต่างไม่ตามกระแสตั้งแต่เด็ก โดยถืออ้อยมาจากบ้านพร้อมสัตว์ปีกที่เกาะอยู่บนนั้นมาโรงเรียนแทน มันทำให้ผมสงสัยเหลือเกินว่าเขาเอามาทำอะไรกัน มันจะฮิตสู้ทามาก็อตได้หรือ!? วิชาเกษตร กพอ. สลน. สปช. ก็ไม่ใช่ เพราะไม่น่าจะมีอยู่ในบทการเรียนการสอน และเหตุการณ์ที่ทำให้ผมช็อคไม่หยุดอยู่แค่นั้นก็คือตอนเลิกเรียนก่อนกลับบ้านที่ผมต้องแวะไปซื้อของเล่นบั่นทอนปัญญาหน้าโรงเรียนทุกวัน ก็ยังเจอกลุ่มชายฉกรรจ์วัยกำหนัด นั่งเรียงรายปูผ้าขายสัตว์ปีกชนิดนี้ พร้อมอ้อยให้แก่นักเรียนชายที่เข้ามารุมแย่งกันซื้อ ราวกับเป็นของแจกฟรี ยิ่งทำให้โทสะของผมแทบระเบิด อยากปาทามาก็อตจิเขวี้ยงทิ้งบัดเดี๋ยวนั้น เมื่อสืบทราบได้ความ ก็รู้ว่ามันคือ “กว่าง” แมลงหน้าฝนที่เหล่าลูกผู้ชายไม่จำกัดวัยนำมาสู้รบ ประชันฝีมือกัน เมื่อทราบแล้วผมจึงไม่รอช้าซื้อกลับบ้านมา 1ชุดทันที ตั้งแต่วันนั้นทำให้ผม ได้รู้จักกับ “น้องกว่าง”
กว่าง เป็นชื่อเรียกของด้วงปีกแข็งชนิดหนึ่ง มี 6 ขา ตัวผู้จะมีเขายื่นไปข้างหน้าและโค้งเข้า ตอนปลายแยกเป็นสองแฉก ซึ่งมีตั้งแต่ 2 เขา 3 เขา และ 5 เขา ส่วนตัวเมียไม่มีเขา เกิดจากไข่ของแม่กว่างที่ฟักตัวในดิน มีชื่อเรียกตามรูปร่าง ตามขนาด และเรียกตามแหล่งที่เกิด ในแถบภาคเหนือ กว่าง เป็นที่นิยมเล่นมานานจนกลายเป็นประเพณี และเป็นกีฬาพื้นบ้านที่มีเสน่ห์ในตัว เป็นที่นิยมกันในหมู่ผู้ชายทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยจะเล่นในช่วงฤดูฝน ประมาณเดือนสิงหาคม ถึงเดือนตุลาคม เพราะนอกจากจะเป็นช่วงที่กว่างออกมาจากดินแล้ว ยังเป็นช่วงที่ชาวบ้านสมัยก่อนว่างจากการทำงาน เพราะข้าวที่ปลูกไว้กำลังตั้งท้อง แต่พอออกพรรษาแล้วก็เลิกชนกว่าง ปล่อยกว่างกลับคืนสู่ธรรมชาติเพื่อสืบลูกสืบหลานในปีหน้าตามวัฎจักร
ส่วนวิธีการชนกว่างก็ไม่ธรรมดาครับ ค่อนข้างซับซ้อน ซ่อนเงื่อนนิดหน่อย โดยก่อนจะนำกว่างมาชนกัน เซียนกว่าง หรือมือวางจะต้องนำกว่างมาเทียบขนาด และสัดส่วนก่อนที่เรียกว่า เปรียบคู่ เมื่อตกลงจะนำกว่างมาชนกัน เจ้าของกว่างทั้งคู่ ต้องขอกว่างฝ่ายตรงข้ามมาตรวจดูก่อนว่าไม่มีกลโกง เช่น ใช้น้ำจากพริกขี้หนู ยาหม่อง หรือขี้ยาจากควันบุหรี่มาป้ายเขากว่าง จึงต้องเช็ดปลายเขากว่างคู่ต่อสู้ให้มั่นใจก่อนชน ทั้งนี้แต่ละฝ่าย จะต้องมองดูความเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้ามอย่างละเอียด โดยเกรงว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะหักขา หรือเด็ดปลายตีนกว่างของตน เป็นต้น
เมื่อเปรียบกว่างและตรวจดูกว่างเรียบร้อย ก็ตรวจดูคอน(ท่อนไม้กลมเป็นเหมือนเวทีประลองของกว่าง) ตรวจกว่างแม่อีหลุ้มว่าอยู่ประจำที่แล้ว แต่ละฝ่ายจะวางกว่างของตนบนคอน หันหน้าเข้าหากันห่างจากจุดศูนย์กลางประมาณ 1 คืบ ปกติแล้วคอนกว่างจะวางบนขาไขว่ทั้ง 2 ข้าง ขาไขว่สูงจากพื้นประมาณ 20 เซนติเมตร ใช้ขาข้างละ 1 อันฝังดิน ส่วนขาข้างบนเจาะรูตรงกลาง สำหรับสอดเดือยคอนที่ยาว ประมาณ 3 เซนติเมตรเข้าไป หมุนคอนไปซ้ายไปขวาได้ อีกมือหนึ่งก็จะหมุน ไม้ผั่นกับคอนให้เกิดเสียงดัง กว่างเมื่อได้ยินเสียง และได้กลิ่นกว่างแม่อีหลุ้ม ก็จะตรงไปที่กว่างตัวเมีย เมื่อพบกันเข้าก็จะเอาเขาสอดสลับเขากันเรียกว่า “คาม” กว่างตัวที่สอดเขาได้ดีกว่า และแรงมากกว่าก็จะหนีบ และดันคู่ชนไปข้างหน้าไปจนถึงขีดเครื่องหมายปลายคอน นับเป็น 1 คาม เจ้าของกว่างจะนำกว่างให้คลายการหนีบ แล้วนำมาชนกันใหม่ที่กลางคอนเมื่อกว่างตัวใดเจ็บ หรือมีความอดทนน้อยไม่ยอมสู้ จะแสดงออกด้วยการถอยหลัง ไม่ยอมเข้าหากว่างคู่ชน ก็ถือว่าแพ้ แต่ถ้าตามกันจนครบ 12 หรือ 15 คาม แล้วแต่จะตกลงกัน และไม่มีกว่างตัวใดแพ้ จะยกเลิกถือว่าเสมอกันไป บางครั้งเจ้าของอาจจะตกลงกันว่า สู้กันสัก 2-3 คามเป็นการจามกัน (จาม แปลว่า การทดลองชนกัน เพื่อดูลีลาไม่เอาจริง) ฟังดูยากไหมครับ ใช่ครับ ส่วนตัวผมแนะนำให้ไปเตะบอลดีกว่า : )P
และก็ตามสูตรครับ เมื่อมีการแข่งขันอะไรก็ตาม การเดิมพันย่อมต้องเกิดขึ้น โดยการชนกว่างแต่ละครั้งมักจะมีการวางเดิมพันกัน เพื่อความสนุกสนานตื่นเต้นเร้าอารมณ์มากยิ่งขึ้น ถ้าชนกว่างในบ่อน คู่ต่อสู้จะต้องไปวางเงินที่เจ้าหน้าที่ของบ่อนเพื่อความแน่นอน กว่างที่ชนะก็ทำให้เจ้าของมีหน้ามีตา แต่ถ้ากว่างแพ้แล้วมักจะถูกหักคอทิ้ง เพราะเจ้าของต้องเสียทั้งหน้าและเสียทั้งเงิน ได้แต่ยืนมองสัตว์เลี้ยงแสนรักตายไปต่อหน้าต่อตา
ที่เชียงใหม่เองก็มี “กว่างชน-ชนกว่าง” งานของดีดอยหล่อที่จัดขึ้นทุกปี ในช่วงปลายเดือนกันยายน ซึ่งเป็นที่สนใจของผู้คนในอำเภอ ดอยหล่อและพื้นที่ใกล้เคียง มีทั้งการประกวดกว่างชน ทั้งประเภทดุเดือด และประเภทสวยงามรุ่นใหญ่และรุ่นเล็ก สำหรับ กว่างดอยหล่อมีชื่อเสียงในด้านความอดทนแข็งแกร่ง พูดกันว่าเป็นกว่างที่ผ่านความลำบากในการขุดหินขุดทรายขึ้นมา จึงมีความอดทน เป็นเลิศ เมื่อใครได้กว่างดอยหล่อมาเลี้ยงไว้ชน จึงมั่นใจได้ว่ามีกว่างที่ดีและอดทน เมื่อถึงฤดูเล่นกว่างมาถึงนักเล่นกว่างจากหลายพื้นที่ จึงแสวงหากว่างดอยหล่อมาเลี้ยง บางคนถึงกับเดินทางมาที่บ้านดอยหล่อ เพื่อหากว่างชนดอยหล่อก็มี ที่จังหวัดลำปางบ้านเกิดผู้เขียน ก็ยังมีชมรมกว่างชน ที่ไม่แน่ใจว่าตั้งขึ้นมาเกทับ ชมรมไก่ชนหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีข้อดี และข้อเสียครับ นอกจากการสืบสานประเพณีวัฒนธรรมล้านนา หรือช่วยเยาวชนไม่ให้ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพย์ติด หลายคนอาจตั้งคำถามว่า การชนกว่างเป็นการทารุณสัตว์หรือไม่ ถ้าโลกสวยหน่อยก็อาจมองว่า การชนกว่างถือเป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นในฤดูผสมพันธุ์อยู่แล้ว เพราะกว่างตัวผู้ต้องการแย่งชิงกว่างตัวเมีย และแสดงให้เห็นถึงอำนาจ ที่ไม่ต่างอะไรกับมนุษย์ปถุชนที่ตบตีกัน เพื่อแย่งผู้หญิง แย่งผู้ชาย ที่หาดูได้ง่ายกว่าการชนกว่าง ตามโซเชี่ยลเน็ตเวิร์กครับ //ตามนั้น
ขอบคุณข้อมูล,ภาพจาก:
หนังสือพิมพ์พลเมืองเหนือ ฉบับเดือนมิถุนายน 2536