วัฒนธรรมการกินอาหารของชาวล้านนา

จะพูดไปวัฒนธรรมการกินอาหาร เรียกได้ว่าเป็นศิลปะอย่างหนึ่งในการกิน คือ รู้ว่าควรจะกินอย่างไร การวางตัวแบบไหน ถ้าต้องไปรับประทานอาหารในที่ต่างบ้านต่างเมือง พูดง่ายๆแบบภาษาแถวบ้านปนสำเนียงนักเลงก้นซอยเขาเรียก “กินให้เป็น” ครับ นั้นแหละถึงจะเรียกได้ว่าเกิดมาเป็นคน คนที่มีศิลปะ

มาว่ากันที่เรื่องวัฒนธรรมการกินของชาวล้านนา คนที่นี้นิยมรับประทานพืชที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ  อาจจะเป็นผักป่า หรือว่าผักข้างรั้ว กินข้าวเหนียวเป็นอาหารหลักไม่ต่างจากคนอีสาน  นิยมปรุงอาหารโดยไม่ใส่น้ำตาล  มีรสเค็มนำหน้าและเผ็ดเล็กน้อย ใช้กะทิปรุงน้อยกว่าภาคกลาง  นิยมแกงแบบน้ำขลุกขลิก และน้ำพริกต่างๆก็ค่อนข้างแห้ง เพราะอย่าลืมว่าชาวล้านนารับประทานด้วยวิธีปั้นข้าวเหนียวเป็นก้อนเล็กๆ แล้วจิ้มลงไปในน้ำแกง (เขียนมาถึงตรงนี้ก็เกิดอาการหิวข้าวทันที)

ผักป่า ที่คุณน้องเนย รักษ์โลก ไม่แยแสที่จะกิน  แต่คนล้านนาเขากิน เป็นผักที่ได้มาจากป่า หรือจากแพระ (ป่าละเมาะ) ในฤดูร้อน ได้แก่ ปลีกล้วย ยอดมะขาม ยอดมะม่วง ผักเสี้ยว ผักเฮือด ส่วนในฤดูฝน จะมีอาหารจากป่ามากหน่อย เช่น หน่อไม้ เห็ด ผักหวาน ผักปู่ย่า ในทุ่งนามีผักสีเสียด ผักกาดนา หรือผักจุมปา ผักแว่น ผักบุ้ง เป็นต้น สำหรับการจัดสำรับอาหาร ที่นี้ก็จะ จัดใส่ขันโตกหรือโก๊วะข้าว ที่ทำมาจากไม้ ซึ่งนิยมใช้ไม้สักในการทำขันโตก  ปัจจุบัน  มีการนำเอาหวายมาสานเป็นขันโตกได้ด้วย


ในกรณีงานทำบุญใหญ่ เช่น งานปอยหลวง  งานปอยหน้อย หรืองานบวชเณร งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่   หรือจะเป็นงานศพ  ฯลฯ  ชาวล้านนานิยมใช้ถาด ซึ่งหาซื้อได้ทั่วไปในท้องตลาด เหมือนผ้าอนามัยตาม 7-11 เป็นถาดที่มีลวดลาย ส่วนใหญ่ จะเป็นลายดอกไม้สีสดใส มาใช้เป็นภาชนะใส่อาหารแทนขันโตก  ปัจจุบันยังพบว่ามีการใช้อยู่ในแถบนอกเมือง

และสุดท้ายการรับประทานอาหารอาหารของชาวล้านนา มักจะให้พ่อแม่ หรือญาติผู้ใหญ่ที่อาวุโสที่สุดในบ้านรับประทานเป็นคนแรก จากนั้น ลูกๆ หรือผู้อ่อนอาวุโสจึงจะลงมือรับประทาน ซึ่งเป็นประเพณีนิยมมาแต่โบราณกาล  มาอย่างนมนานแล้ว


มาถึงตรงนี้ก็คงจะพอทราบกันแล้วแหละว่าเป็นยังไง จริงๆก็ไม่มีอะไรซับซ้อน ซ่อนเงื่อนหรอกกับวัฒนธรรมการกินของคนที่นี่ถ้าถามว่าเรื่องแบบนี้สำคัญและควรจะรู้มั้ย ถ้ามาเที่ยวเชียงใหม่? ขอบอกไว้เลยว่า สำคัญมาก หากคุณได้มีโอกาสเป็นลูกเขย ลูกสะใภ้ ของคนที่นี่ครับ

Relate Posts :