ปกติเวลาไปเที่ยวที่บ้านแม่กลางหลวง อำเภอแม่แจ่ม ส่วนใหญ่ชาวบ้าน เขามักจะไปกันในช่วงหน้าฝนกันใช่มั้ยครับ นัยว่าไปชมความงามของนาขั้นบันไดอันเขียวขจี มีกลิ่นไอฝนปนหนาวมาแตะจมูกทักทายผู้มาเยือนทั้งหลายแหล่
แต่ที่ผมไป มันไปกันตอนหน้าหนาวที่ยังไม่หนาว แถวชาวบ้านแถวนั้นก็พากันเกี่ยวข้าวกันหมดเรียบร้อยโรงเรียนยุ้งฉางไปแล้ว จากที่จะได้ดูทุ่งข้าวอันเหลืองอร่ามงามตารอการเก็บเกี่ยว เท่าที่เห็นและเป็นอยู่ ก็เหลือไว้แค่ตอซังข้าวไว้ให้ดูกันต่างหน้าเท่านั้น
พยายามมองโลกให้สวยงามเข้าไว้ แม้ว่ามันจะเป็นตอซังข้าวแข็งๆทื่อๆชี้โด่ขึ้นมา แต่หากเรามองมันไกลๆ ก็พอจะคิดไปว่า ที่เห็นนั้นมันเป็นรวงข้าวสีทองเหลืองอร่ามอยู่ ทริปนี้มาเที่ยวกับคณะสื่อมวลชนของ ททท.เชียงใหม่ กันในสไตล์ลุยๆ ผมเดินดุ่มๆลงไปในทุ่งนาคนเดียว ขณะที่พี่ๆสื่อมวลชนที่มาด้วยกันต่างก็เหลียวมองว่า “มันลงไปทำอะไรของมันว่ะ”
ผมลงไปแปบเดียวพร้อมกลับขึ้น โดยมีตอซังข้าวอยู่ในมือหนึ่งอัน ก่อนจะเอามาทำเป็นปี่เป่าเล่น เสียงปี๊ด…. ปี้ … ปี๊ด….อยู่คนเดียว
ทุกคนต่างพากันงงว่าผมทำอะไร และที่เป่าอยู่มันคืออะไร ทำยังไง ทำไมแกถึงทำได้
ในเมื่อทุกคนพากันงง พร้อมปฏิเสธกันเสียงแข็งว่าไม่รู้จักเลย ปี่ซังข้าวอะไรนิ ผมก็จะพาไปรู้จักว่ามันคืออะไร และทำกันแบบไหน
ปี่ซังข้าว ก็คือ ปี่ที่ทำจากตอซังข้าวนั้นแหละ วิธีทำก็สุดแสนจะง่ายมาก เมื่อเราได้ตอซังข้าวที่เหมาะสมขนาดแล้ว ก็เลือกตัดเอาปล้องสวยๆ มาแค่ปล้องเดียว แล้วก็บี้ๆ ตรงใกล้ๆจะถึงหัวข้อปล้องด้านบน เอาเศษหญ้ายาวๆ แหย่ลงไปในรู กระบอกซังข้าว เพื่อไล่เอาเศษข้างในออก แค่นี้เราก็เอามาเป่าเป็นเครื่องดนตรีง่ายๆได้เช่นเดียวกัน
ยิ่งตัดปล้องสั้นเสียงจะยิ่งแหลม แต่ปล้องยาวก็จะเสียงต่ำ ซึ่งถ้าไว้ปล้องยาวๆ เราสามารถแกะออกมาเป็นรูเหมือนกับขลุ่ยเป่าเป็นโน้ตเสียงเพลงสบายบรื๋อออ เลย
หากใครเป็นเด็กบ้านนอกแบบผมคาดว่าพอถึงหน้าฤดูเก็บเกี่ยวข้าว มันต้องเคยเล่นปี่ซังข้าวกันบ้างแหละ
จากกำหนดการเดิมคือการมาดูนาขั้นบันไดมีรวงข้าวสีทองสวยๆ ผมกลับพบว่าตัวเองได้เจออะไรที่คุ้มค่ามากจากการผิดหวังดูนาขั้นบันได
นั้นคือการได้ย้อนอารมณ์ของตัวเองไปในวัยเด็ก ได้ไปเล่นอะไรในแบบที่ปัจจุบันนี้คงหาได้ยาก ชนิดที่ว่าเด็กสมัยนี้และผู้ใหญ่บางคนคงไม่รู้จักเรื่องแบบนี้เลยด้วยซ้ำ