43 ข้อที่คุณควรรู้จักเกี่ยวกับชายชื่อ เหมา-ธีรวุฒิ แก้วฟอง ก่อนไปเลือกตั้งผู้ลงสมัครตำแหน่ง นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่

เข้าสู่โค้งสุดท้าย ก่อนการเลือกตั้งผู้ลงสมัครตำแหน่ง นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ในวันที่ 28 มีนาคมนี้แล้ว จากผู้สมัครที่เสนอชื่อเข้ามา เราค้นพบว่าชายชื่อ เหมา-ธีรวุฒิ แก้วฟอง ภายใต้คณะก้าวหน้า มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจอย่างมาก และมีนโยบายที่ร่วมสมัย ช่วงโค้งสุดท้ายนี้เราจึงอยากแนะนำให้ผู้อ่านได้รู้จักกับผู้สมัครคนนี้อย่างรวดเร็ว ผ่าน 43 ข้อ เกี่ยวกับตัวเหมา เท่ากับเลขอายุของเค้า

1. เหมา-ธีรวุฒิ แก้วฟอง
คือ ชายชาวเชียงใหม่ที่เกิด เติบโต และคิดจะตายอยู่ที่เชียงใหม่ นี่คือความรักที่เขามีต่อจังหวัดบ้านเกิดของเขา และไม่คิดจะย้ายไปอยู่ที่ไหน

2. เหมาเป็นผู้ชายตลกเป็นที่รักของพี่ๆ น้องๆ ชาวเชียงใหม่จำนวนมาก

3. เมื่อไม่นานมานี้เหมาตัดสินใจลงสมัครเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ เพื่อที่จะได้เข้ามาพัฒนาเชียงใหม่บ้านเกิดของเขาให้ดีกว่าเดิม

4. เหมาใฝ่ฝันอยากจะเป็นผู้ว่าฯ ตั้งแต่เด็ก

5. “สมัยยังเป็นเด็กเรียนอยู่ที่สันกำแพง แกเป็นเด็กที่เรียนเก่งจนสามารถสอบติดเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถ้าชอบที่จะทำอะไรแล้วจะเป็นคนเอาจริงเอาจังมากๆ ทีนี้สมัยเด็กเวลาเล่นกับเพื่อน แกจะชอบขึ้นไปยืนบนถังหมักใบชาที่บ้าน แล้วบอกเพื่อนๆ ว่าตัวเองเป็นผู้ว่าฯ แล้วเพื่อนฝูงก็นั่งฟังแกพูดอยู่ด้านล่าง” คุณแม่ของเหมากล่าว

6. เหมาเรียนระดับมัธยมที่สาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และได้เป็นประธานเชียร์ของรุ่นในการคุมการแปรอักษรต่างๆ

7. เดิมเหมามีชื่อเล่นจริงๆ ว่า บี “ตอนเรียนมัธยมเหมาเป็นนักฟุตบอลโรงเรียน แล้วมันมีเหตุการณ์ที่นักเตะทีมชาติไทยและทีมชาติจีนเตะแข่งขันกัน แล้วมีนักเตะชาวจีนคนนึงที่ชื่อว่าเหมา เล่นบอลแบบมุดใต้สตั๊ดจนสุดท้ายก็เลือดออก แล้วทีนี้วันต่อมาเหมาก็ประกาศกับเพื่อนขณะซ้อมเตะบอลที่โรงเรียนว่าเขาจะเป็นเหมาและเลียนแบบท่าทางการเล่นบอลของนักเตะทีมชาติจีนอย่างเหมือนจนทำให้เพื่อนๆ เรียกเขาว่า ‘เหมา’ และกลายเป็นชื่อเล่นเรื่อยมาถึงวันนี้” มาตร เพื่อนสนิทตั้งแต่สมัยมัธยมของเหมา

8. เหมาเข้าเรียนระดับมหาลัยที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิยาลัยเชียงใหม่ ทั้งในระดับปริญญาตรีและระดับปริญญาโท

9. วิชาในคณะที่เหมาชอบ คือ วิชาการปกครองท้องถิ่น และ ปรัชญาการเมือง ด้วยเหตุผลว่าอาจารย์สอนสนุกดี

10. อาจารย์ในคณะรัฐศาสตร์ที่เหมาชอบก็คือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง

11. หัวข้องานวิจัยระดับปริญญาโทที่เหมาทำ คือ บทบาทหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของราชการในส่วนภูมิภาคกับส่วนท้องถิ่นโดยทำในช่วงที่เชียงใหม่ประสบปัญหาน้ำท่วมใหญ่

12. เหมาเข้าทำงานเป็นข้าราชการตั้งแต่เรียนจบระดับปริญญาตรี โดยทำงานที่สำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ กระทรวงมหาดไทย

13. เหมาทำงานเป็นข้าราชการจนสอบได้ในระดับข้าราชการระดับชำนาญการพิเศษ(C8เดิม) ในอายุ35ปี แต่ปฏิเสธที่จะเลื่อนระดับเพราะไม่อยากย้ายออกจากเชียงใหม่

14. ระหว่างทำงานราชการ เหมาได้คิดและพัฒนาระบบจัดการฐานข้อมูลเรื่องร้องเรียนของจังหวัดเชียงใหม่ขึ้นมา โดยการป้อนข้อมูลเข้าไปในระบบคอมพิวเตอร์ ทำสามารถทำงานได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น ด้วยเหตุผลเรียบง่ายว่าเขาเป็นคนขี้เกียจ จึงมีไอเดียคิดระบบที่ช่วยให้การทำงานของเขา ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งได้ผลดี จนกระทรวงมหาดไทยขอนำระบบที่เข้าคิดค้นไปใช้ต่อ


15. เหมามองว่าข้าราชการส่วนใหญ่เป็นคนที่ขยัน แต่ที่การทำงานไม่เกิดประสิทธิภาพเพราะตัวระบบที่ไม่ดี ควรได้รับการแก้ไข

16. เหมาไม่มีคติประจำใจ หรือ ไอดอลที่ตนเองชื่นชอบ แต่มีศิลปินที่ชอบคือ พี่แจ้-ดนุพล แก้วกาญจน์, พี่เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ และนักดนตรีช่วงยุค 70-90s

สตูดิโองานไม้ที่บ้าน

17. เหมามีงานอดิเรกหนึ่ง คือ การทำงานไม้ ที่เขาจริงจังถึงขนาดสร้างสตูดิโองานไม้ที่บ้าน และเปิดเพลงของ David Bowie ขณะทำงานไม้

18. ตลอดยี่สิบปีที่ทำงานในระบบราชการ เหมาเจอการรัฐประหารในประเทศ 2 ครั้ง

19. ระหว่างที่เริ่มอิ่มตัวในงานข้าราชการ เหมาใช้เวลาว่างมาเริ่มต้นทำธุรกิจกับเพื่อน ผลิตคราฟต์เบียร์ขายเป็นเจ้าแรก ของเชียงใหม่ภายใต้แบรนด์ My BEER Friend ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก

20. “ถ้านึกถึงเหมา ผมจะนึกถึงความสนุกสนาน เขาเป็นคนร่าเริง และจอมโปรเจกต์ มีไอเดียใหม่ๆ ผุดตลอด มีกิจกรรมสนุกๆ ให้ทำตลอด และสำหรับผมเหมาเป็นนักท้องถิ่นนิยม ที่เราทำเบียร์ด้วยกันก็เพราะว่ามีจุดมุ่งหมายอยากให้เชียงใหม่มีของดี”

แม็ก หุ้นส่วน My BEER Friend และเพื่อนตั้งแต่สมัยมัธยมของเหมา

21. ก่อนหน้านั้นเหมาเคยได้เข้าไปลงทุนช่วยชุมชนแถวบ้านสร้างแบรนด์ผลิตเหล้าท้องถิ่น หรือ สาโท โดยทำเป็นแบรนด์ออกมาชื่อ มานะ มานี ปิติ ชูใจ ซึ่งได้รับความนิยมในระดับหนึ่ง ก่อนปล่อยให้ชาวบ้านนำไปพัฒนาต่อ

22. นอกจากการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องดื่ม เหมายังเป็นผู้ที่ชื่นชอบการกินลาบเป็นชีวิตจิตใจ เหมาบอกว่า ลาบ คืออาหารหลักของเขา จนมีครั้งหนึ่งเขาไปกินลาบแล้วเห็นป้ายร้านประกาศเซ้งอยู่ ก็ตัดสินใจเดินไปกดตังค์แล้วมาเซ้งร้านเพื่อเปิดร้านลาบตามไอเดียของตัวเองทันที

23. วันนั้นหลังจากเซ้งร้านเสร็จเขากลับบ้านไปพร้อมกับโชว์กุญแจให้ภรรยาของเขา และบอกว่ารู้ไหมนี่อะไร เราเซ้งร้านลาบมาล่ะ แล้วก็โดนเมียบ่นไปตามระเบียบ

24. “พี่เหมาเป็นคนที่ตั้งใจทำอะไรแล้วจะตั้งใจทำจริงๆ จะโฟกัสในสิ่งนั้นมากๆ นั่นคือข้อดีของเขา และเป็นคนที่มีโปรเจกต์เยอะมาก เป็นคนไม่ชอบอยู่นิ่งนานๆ ซึ่งแต่ละอย่างก็ เช่น ร้านลาบ ก็สามารถทำไปได้ด้วยดี อย่างคราวนี้ที่จะลงสมัครเลือกตั้งนายกเทศมนตรี ตอนมาบอกเราก็ช็อค แต่พี่ผ่านมามันก็มีเหตุการณ์ให้เราช็อคมาโดยตลอดและดูจะเล่นใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เหมือนตอนนี้ แต่พี่เหมาก็สามารถพามันเป็นไปได้ด้วยดีทุกครั้ง เราเลยเชื่อใจเขา” แตนภรรยาของเหมา

25. จากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เกิดร้าน หมอดูทักว่าจะได้ลาบ ซึ่งเขามีไอเดียสนุกๆ ว่าอยากลองทำให้อาหารเมืองเหนือเป็นได้เป็นร้านอิซากายะของญี่ปุ่น และเป็นอิซากายะคนเมือง

26. เหมาเริ่มต้นสนใจตำแหน่ง นายกเทศบาลจังหวัดเชียงใหม่ เพราะเห็นว่าเป็น ระบบการปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนที่สุด และได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเพื่อเข้ามาบริหารให้ชีวิตของชาวเชียงใหม่ดีขึ้น

27. ในวัย 43 ปี เหมาตัดสินใจทิ้งหน้าที่การงานข้าราชการที่มั่นคง เพื่อลองมาลงสมัครเลือกตั้งตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ภายใต้กลุ่มเชียงใหม่กว่าที่เขาก่อตั้ง กับ คณะก้าวหน้า ที่มี ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นประธาน

28. เหตุผลที่ทำให้เหมากล้าตัดสินใจเสี่ยงลงสมัครเลือกตั้ง ส่วนหนึ่งเกิดจากการรอดชีวิตในเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตกเมื่อปลายปี 2563 ขณะเขาติดตามรองผู้ว่าฯ ไปปฏิบัติงานในพื้นที่ บทเรียนที่เขาได้รับจากอุบัติเหตุครั้งนั้นคือมันจะเป็นบทเรียนแรกและจะไม่มีครั้งที่สองอีกต่อไป นอกจากนั้นเหตุการณ์ครั้งนั้นยังทำให้เหมาได้ทบทวนว่าชีวิตของเขาไม่สามารถรีรอไปได้มากกว่านี้ ในเมื่อเขามีความคิดที่อยากจะลองทำ เขาก็ควรจะเริ่มต้นเลย

29. เหมาเชื่อว่าเชียงใหม่มีต้นทุนที่ดี มีภาคประชาชนที่ขับเคลื่อนสังคมเชียงใหม่อย่างแข็งแรงหลากหลายกลุ่ม เหมาเลยอยากที่จะเข้าไปเป็นในส่วนของภาครัฐที่เข้ามาสนับสนุนกิจกรรมของกลุ่มคนเหล่านี้ให้ได้ผลยิ่งขึ้น 


30. เหมามองว่าเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีต้นทุนที่ดีหลายอย่าง แต่สามารถดีได้กว่านี้ จึงตัดสินใจก่อตั้งกลุ่มเชียงใหม่กว่าขึ้นมา โดยรวบรวมกลุ่มคนรุ่นใหม่หลากหลายสาขาวิชาชีพที่มีไอเดียอยากจะพัฒนาเชียงใหม่ให้ดีกว่าเดิม

31. เทศบาลนครเชียงใหม่ ได้งบประมาณมาบริหารงานในจังหวัดสูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ด้วยงบประมาณ 1,600 ล้านบาท ซึ่งเหมามองว่าการบริหารที่ดีจะทำให้เชียงใหม่สามารถน่าอยู่ได้กว่านี้

32. ด้วยเหตุที่เหมามองว่าเชียงใหม่มีดีอยู่แล้ว เขาจึงขับเคลื่อนผ่าน 3 วิสัยทัศน์ ‘อยู่ม่วน กิ๋นดี มีสุข’ ที่มี 9 นโยบายอยู่ภายใน 3 หัวข้อดังกล่าวที่ครอบคลุมความเป็นอยู่ที่ดีของคนเชียงใหม่

33. หนึ่งในนโยบายที่แสดงให้เห็นว่าเขาคิดขึ้นมาจากความต้องการของประชาชนเชียงใหม่ คือ ไนท์แคร์หรือการดูแลของศูนย์ดูแลเด็กเล็กในตอนกลางคืน เพื่อตอบสนองต่อพ่อ-แม่ที่ทำงานภาคกลางคืนของเชียงใหม่ และเป็นหนึ่งในวิสัยทัศน์ที่สามารถนำไปใช้ได้ทั่วประเทศ

34. นโยบาย ‘เชียงใหม่ซาวนาที’ ที่เขาอยากจะร่วมมือกับภาคคมนาคมในเมืองเชียงใหม่ โดยมีเป้าประสงค์ที่จะจัดการวิ่งรถที่สามารถขนส่งชาวเชียงใหม่ไปสถานที่ต่างๆ ให้ได้ภายในระยะเวลา 20 นาที

35. ในตัวเมืองเชียงใหม่มีพื้นที่รกรางและพื้นที่ที่ไม่ถูกใช้ประโยชน์ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของเทศบาลอยู่จำนวนมาก ซึ่งเหมามองว่าการเข้าไปปรับพื้นที่เหล่านี้จะช่วยให้ตัวเมืองเชียงใหม่มีศักยภาพขึ้นอย่างมาก นอกจากช่วยแก้ปัญหาร้านค้าขายตามทางเท้าได้แล้ว ยังสามารถสร้างพื้นที่สีเขียวให้เกิดขึ้นกลางเมืองได้อีกจำนวนมาก ดีกว่าปล่อยให้เป็นที่ร้างเปล่าประโยชน์

36. อย่างที่บอกว่าเหมาเชื่อว่าเชียงใหม่มีสิ่งที่ดีอยู่แล้ว เขาจึงพยายามค้นหาความเป็นไปได้จากสิ่งที่เชียงใหม่มีและพัฒนาต่อ หนึ่งในนั้นคือ การค้นพบครัวขนาดใหญ่ภายในศูนย์แสดงสินค้านานาชาติ ที่ไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ เขาเชื่อว่าเขาสามารถบริหารจัดการพื้นที่ตรงนี้ ให้กลายเป็นครัวกลางของเทศบาลในการดูแลประกอบอาหารให้นักเรียนโรงเรียนเทศบาล จนเกิดเป็นโครงการ ‘อิ่มเช้า อิ่มเที่ยง โดยครัวกลาง’ ที่เพิ่มมื้ออาหารเช้าเข้ามาเลี้ยงเด็กๆ ในโรงเรียนเทศบาลและศูนย์เด็กเล็ก ซึ่งสามารถช่วยแบ่งเบาภาระของพ่อ-แม่ได้อย่างมาก

37. ช่วงหาเสียง เหมาไม่ชอบเรื่องการติดป้ายหาเสียงเลย แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธการติดป้ายหาเสียงได้ เพื่อให้คนจำนวนมากได้เห็น แต่เขากับทีมก็ได้มีแนวคิดติด QR Code ไว้ทุกป้ายหาเสียงของเขา เพื่อให้ประชาชนที่พบปัญหาเดือดร้อนจากป้ายหาเสียง เช่น มีการติดตั้งที่เกะกะสามารถแจ้งเข้ามา และทางทีมเชียงใหม่กว่า จะเข้าไปแก้ไขให้โดยทันที

38. ตลอดทุกนโยบายที่เขาคิดขึ้นมากับทีมภายใต้วิสัยทัศน์ ‘อยู่ม่วน กิ๋นดี มีสุข’ จะมีการจัดการให้คนเชียงใหม่สามารถติดตามและใช้บริการได้อย่างง่ายดายผ่าน ซูเปอร์แอพพลิเคชั่นที่เขากับทีมตั้งใจพัฒนาขึ้นมา และเปลี่ยนให้การปกครองท้องถิ่นเป็นการเมืองสมัยใหม่ที่โปล่งใสโดยการทำ Open Data เปิดเผยทุกข้อมูลการทำงานของเทศบาลผ่านแอพพลิเคชั่นด้วยเช่นกัน ลองเข้าไปดูตัวอย่างแอพฯ กันได้ที่ลิงก์นี่

39. ตลอดช่วงการลงพื้นที่หาเสียง พูดคุยกับประชาชน เหมายอมรับทำให้เห็นบางมุมของเชียงใหม่มากยิ่งขึ้น ทำให้เขามองเชียงใหม่ไม่เหมือนเดิม ตัวเขาเองก็ไม่เหมือนเดิมเพราะเขาได้เห็นเชียงใหม่ที่ลึกยิ่งขึ้นและมองมันอย่างเข้าใจกว่าเดิม และตั้งใจที่จะเข้าไปช่วยแก้ไข

40. ภาพของบทบาทนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ในความคิดของเหมา ควรจะเป็นคนที่ติดดิน ซึ่งเขาบอกว่าถ้าหากพื้นที่งานเขาอยู่ใกล้ๆ เขาก็สะดวกที่จะขี่มอเตอร์ไซค์ไปทำงานมากกว่า ไม่จำเป็นต้องมีขบวนรถตู้อะไร และที่สำคัญที่สุดวิธีคิดของนายกเทศมนตรีฯ ควรจะมองว่าในเชียงใหม่มีกลุ่มคนที่ทำหน้าที่อะไรอยู่แล้ว เทศบาลควรทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยเชื่อมความร่วมมือและช่วยสนับสนุนคนที่ทำเรื่องต่างๆ มาโดยตลอดอยู่แล้วให้สามารถทำได้เกิดผลยิ่งขึ้น ด้วยการสนับสนุนของเทศบาล ไม่ใช่คิดว่าตัวเองแน่ คิดงานเองได้ แต่ควรเป็นคนเชื่อมความร่วมมือทุกภาคส่วนให้เกิดผลงานต่อเชียงใหม่ที่ดีที่สุด

41. นะ Polycat ศิลปินรุ่นใหม่ที่ได้รับความนิยมทั่วประเทศได้ช่วยแต่งเพลง ก้าวไปกับฉัน เพื่อช่วยหาเสียงให้กับเหมา

เพลง ก้าวไปกับฉัน

42. ถ้าได้รับเลือกสิ่งแรกที่เหมาจะทำทันที คือ การกำจัดสิ่งที่ไม่สวยงามของเมืองเชียงใหม่ออกไป เช่น ไฟสีประหลาดๆ ที่ส่องตามสถานที่สำคัญของเมือง เพราะเป็นสิ่งที่สามารถทำได้เลยทันทีโดยไม่ต้องเขียนโครงการแต่อย่างใด

43. ถ้าไม่ได้รับเลือกในการเลือกตั้งครั้งนี้ เหมาตัดสินใจแล้วว่าเขาก็ยังคงจะทำเชียงใหม่กว่าต่อไป เพราะอยากจะช่วยพัฒนาบ้านของเขาที่เขาได้ไปรับฟังปัญหาของชาวบ้านต่อไป

เรื่อง อนิรุทร์ เอื้อวิทยา

Relate Posts :